วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ประธาน KNU คนใหม่พบเต็งเส่ง หารือสันติภาพในขั้นต่อไป



นายพลมูตู เซพอว์ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU ได้พบกับประธานาธิบดีเต็งเส่งเมื่อวันเสาร์(5 มกราคม 2556) ที่ผ่านมา โดยการหารือกันครั้งนี้ เพื่อการเจรจาสันติภาพในขั้นต่อไป ทั้งนี้ เต็งเส่งได้ให้การต้อนรับนายพลมูตูเป็นอย่างดี ท่ามกลางกระแสข่าวการแตกแยกของผู้นำ KNU ออกเป็น 2 ฝ่าย

 



คณะที่ติดตามนายพลมูตู เซพอ ได้แก่นาย ซอ เคว ทู วิน เลขาธิการ KNU คนใหม่ และยังมีนายซอมาน มาน เลขาธิการร่วมคนที่ 2 รวมไปถึงคณะกรรมการกลางบางส่วน ตามแถลงการณ์ของประธานาธิบดีเต็งเส่ง เกี่ยวกับการหารือกับ KNU ระบุว่า เต็งเส่งนั้นมีหน้าที่นำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนในพม่าในช่วงอายุการทำงานของเขา โดยกล่าวเรียกร้องให้ทาง KNU ร่วมมือกันทำงาน เพื่อสิทธิที่เสมอภาคของทุกกลุ่มในพม่าแม้แต่ละกลุ่มจะมีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันก็ตาม โดยยังระบุ ถึงเวลาจำเป็นต้องสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

 

ในแถลงการณ์ของรัฐบาลยังระบุว่า นายพลมูตู ประธาน KNU คนใหม่นั้นได้แสดงให้เห็นอย่างหนักแน่นที่ต้องการจะสร้างสันติภาพในรัฐกะเหรี่ยงและ KNU ยืนยันจะไม่ถอยหลัง นายพลมูตูได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่องการอพยพไปประเทศที่สามของชาวกะเหรี่ยงที่ไร้บ้าน การคืนสถานะพลเมืองกลับคืนสู่ผู้พลัดถิ่นภายใน หลักนิติธรรมและโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง

 

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทาง KNU ได้เลือกคณะกรรมกลาง 45 คน ซึ่งเป็น คณะหน้าใหม่ทั้งหมด ยกเว้นนางซิปโป รา เส่ง ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธาน KNU ที่เคยอยู่ในคณะชุดเก่า หนึ่งในสมาชิก KNU เปิดเผยกับสำนักข่าวฉานว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของ KNU ครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาเพราะมีแบ่งพรรค แบ่งพวกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน และมีการเลือกผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองว่าเป็นอย่างไร มากกว่าจะคำนึงถึงประสบการทำงานและความสามารถเหมือนทุกครั้ง ทั้งที่ในอดีตการเลือกตั้งคณะกรรมกลางถือว่ามีความเป็นธรรมและโปร่งใสมาก

 

มีรายงานว่า ขณะนี้ ผู้นำ KNU ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการเจรจาสันติภาพและเจรจาทางการเมืองกับรัฐบาลพม่าอย่างเร่งรีบ เและฝ่ายที่ต้องการดำเนินการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าอย่างระมัดระวังรอบคอบ สมาชิกของ KNU ยังระบุว่า

สิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามต่อ KNU และขั้นตอนการเจรจาสันติภาพคือการที่รัฐบาลพม่าสั่งไม่ให้ KNU มีกองทัพหรือขยายกองทัพ ในขณะที่รัฐบาลพม่าเองกลับสามารถมีกองทัพได้ โดย KNU จะต้องระมัดระวังเรื่องนี้

 

สมาชิก KNU คนเดิมยังแสดงความคิดเห็นว่า การที่จะแก้ไขทางการเมืองในพม่าให้ยั่งยืน นั่นคือ1.ควรจะมีการทบทวนและแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 และ 2.พม่าควรจะให้การยอมรับในการปกครองระบอบสหพันธรัฐ เขากล่าว

ทั้งนี้ KNU ถือเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี และถือเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เก่าแก่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย KNU ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อปีที่แล้ว หลังรัฐบาลพลเรือนพม่าประกาศจับมือกับกลุ่มอาวุธทุกกลุ่มเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพม่า

 

ที่มา Mizzima / สำนักข่าว SHAN

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น