วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ โครงเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินอาจกระทบการสร้างสันติภาพในพม่า

610x342xIMG_6845.jpg.pagespeed.ic.u1GX3fghZP


มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation - SHRF) ออกรายงานแสดงความเป็นห่วงว่า โครงการสร้างเขื่อนบนแม่นำสาละวิน นอกจากกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว อาจยังส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพม่า เนื่องจากในพื้นที่สร้างเขื่อนยังพบว่า มีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม จึงเรียกร้องให้ยุติสร้างเขื่อน


ทั้งนี้ ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า พื้นที่สร้างเขื่อนในเมืองกุ๋นโหลง ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองโก้ดข่ายนั้นยังไม่มีความมั่นคง เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่ควบคุมของกองกำลังโกกั้ง และเขตปกครองของกองทัพว้า นอกจากนี้ยังพบมีผู้ลี้ภัยในพื้นที่ จากการปะทะกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างทหารพม่า และทหารดาระอั้ง( Ta’ang National Liberation Army -TNLA) รวมถึงทหารคะฉิ่น KIA (Kachin Independence Army) ขณะที่ปัจจุบันพบว่า มีทหารพม่าทั้งหมด 5 กองพันประจำอยู่ในเขตพื้นที่สร้างเขื่อน


ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายมิ้นซอว์ รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของพม่าได้บอกในรัฐสภาว่า มีแผนจะสร้างเขื่อน 6 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน ทั้งนี้ ทาง SHRF ได้เรียกร้องให้ยุติสร้างเขื่อนดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความโปร่งใสและไม่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่โครงการอีกด้วย


นางขวัญเล็ก โฆษกของ SHRF เปิดเผยว่า ขณะนี้ ไร่นาและที่ดิน ซึ่งเป็นของชาวบ้านราว 2 หมื่นคน จาก 60 กว่าหมู่บ้านตามแม่น้ำสาละวินกำลังถูกทำลาย บ้านเรือนของชาวบ้านหลายหลังเริ่มถูกทำลายนับตั้งแต่ เริ่มมีการก่อสร้างถนนเชื่อมไปยังโครงการเขื่อน โดยชาวบ้านไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ “ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากโครงการนี้ ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนนี้ควรจะยุติ” นางขวัญเล็กยังกล่าวว่า เตรียมล่ารายชื่อชาวบ้านตามแม่น้ำสาละวินทั้งในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยงคัดค้านโครงการเขื่อน และเตรียมส่งรายชื่อเหล่านี้ไปไปให้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง รัฐสภา ทางราชการอื่นๆของพม่า บริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมไปถึงรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย


มีรายงานว่า หากโครงการเขื่อนทั้ง 6 แห่งนี้แล้วเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ 15,000 เมกกะวัตต์ “สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ 90 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนเหล่านี้จะถูกส่งไปให้ประเทศไทยและจีน 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกนำไปใช้ในเมืองอื่นๆของพม่า ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้อะไรเลย” นางขวัญเล็กกล่าว


ตามข้อมูลของเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินนั้น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท Three Gorges Project Development Corp ของจีน (ผู้ถือหุ้นโครงการเขื่อนสามผาในจีน) บริษัท เบอร์ม่า ฉ่วย ถ่าว ไฮโดร เพาเวอร์ (Burma’s Shwe Taung Hydropower Company) และรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าของพม่า


แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น