วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ครั้งหนึ่งที่ “สี่ป้อ” ย้อนรอยเมืองเจ้าฟ้า จิบชาข้างริมแม่น้ำตู้

unnamed


รถค่อยๆไต่ขึ้นภูเขาสูงชันอย่างระมัดระวังลูกแล้วลูกเล่าเพื่อนำเราสู่จุดหมายปลายทางนั่นคือ เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของรัฐฉานการเดินทางมารัฐฉานครั้งนี้ ผู้เขียนมาด้วยเหตุผลส่วนตัวที่น้ำเน่าพอๆกับละครช่วงหัวค่ำ เมื่อลูกสาวจากประเทศไทยมาตามหา    หลุมศพพ่อที่รัฐฉาน หลังจากที่พลัดพรากจากกันเป็นเวลานานแสนนาน ภารกิจตามหาพ่อและแบกเป้เที่ยวเมืองไตจึงเริ่มขึ้นไปพร้อมๆกัน “วันนี้อุณภูมิ 33 องศา ร้อนปกติ นั่นแสดงว่าคุณมาถึงที่นี่แล้ว ขอต้อนรับสู่เมืองสี่ป้อครับ” คนขับรถแท็กซี่บอกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

คนไตหลายคนพูดว่า “หลอยสูงยาวๆ น่ำแม่ใหญ่ๆตี้อยู่ปี้น่องไต” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ภูเขาสูงทอดยาว แม่น้ำกว้างใหญ่ เป็นดินแดนของพี่น้องไต" (คนไทใหญ่) เห็นท่าจะจริงก็คราวนี้  เพราะระหว่างเดินทางผ่านหลายเมืองของรัฐฉาน จนถึงเมืองสี่ป้อ มีภูเขาสูงชันทอดยาวคดเคี้ยว สวยงามสมคำร่ำลือ เรื่องถนนหนทางในภาคเหนือค่อนที่จะข้างที่จะดีกว่าภาคอื่นๆของรัฐฉานก็ว่าได้ เพราะมีถนนลาดยางตลอดทาง แม้ถนนจะค่อนข้างแคบไปหน่อยก็ตาม ระหว่างทางเห็นรถบรรทุกขนสินค้าเป็นพักๆ ลดเลี้ยวไปตามไหล่เขาสูงชัน ต้องบอกว่า คนขับรถที่นี่เขาขับรถเก่งกันเกือบทุกคนจริงๆ หากดูจากถนนหนทางในพม่า แต่อย่าหวังจะได้งีบหลับบนรถ เพราะคนขับรถที่นี่จะบีบแตรทักทายกันไปตลอดทางจนกว่าจะส่งผู้โดยสารถึงที่หมายปลายทาง เรียกว่าบีบแตรกันทุกๆ 5 วินาที เราเหมารถแท็กซี่จากเมืองเหม่เมี้ยวไปสี่ป้อใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ค่าเหมารถตกอยู่ที่ 58,000 จั๊ต (ประมาณ 1,800 บาท) ซึ่งเป็นราคามาตรฐานของที่นี่

unnamed 6

เรามาถึงเมืองสี่ป้อประมาณช่วงบ่ายๆ และได้เข้าพักที่โรงแรม  Mr.Charles ตามที่เพื่อนแนะนำ ซึ่งห้องพักสะอาดกว่าโรงแรมในเมืองใหญ่ๆ  ระหว่างที่กำลังเดินผ่านหน้าเคาเตอร์โรงแรม ต้องสะดุดตากับภาพของเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าแห่งเมืองสี่ป้อ นั่งเคียงคู่กับอดีตมหาเทวี อิงเง เซอร์เจน ใต้ภาพของทั้งสอง มีรูปภาพหญิงสาวสองคนหน้าตาสวยสง่า ภายหลังจึงทราบจากพนักงานโรงแรมว่า หญิงสาวทั้งสองคนคือ“เจ้าเกนรีและเจ้ามายารี” เจ้าหญิงของคนสี่ป้อนั่นเอง  แต่เจ้าหญิงของรัฐฉานทั้งสององค์นี้ไม่เคยกลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดอีก นับตั้งแต่เดินทางออกจากประเทศภายหลังเนวินยึดอำนาจ

unnamed 1                                                        เจ้าหญิงมายารีและเจ้าหญิงเกนรี ธิดาทั้งสองของเจ้าฟ้าสี่ป้อ

การเดินทางสู่สี่ป้อ สำหรับนักท่องเที่ยวนั้นสามารถเดินทางโดยเครื่องบินลงที่มัณฑะเลย์แล้วต่อรถไปอีกที ถือว่าสะดวกที่สุด   สิ่งที่ทำให้แปลกใจเมื่อเดินทางถึงสี่ป้อก็คือ มีชาวยุโรปในเมืองสี่ป้อเยอะมาก เยอะกว่าที่เราเห็นในกรุงย่างกุ้ง หรือในทะเลสาบอินเลเสียอีก ทุกมุมถนนของตัวเมืองสี่ป้อจึงเต็มไปด้วยฝรั่ง  ทั้งๆที่ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว พวกเขามาทำอะไรที่นี่นะ ? ตอนหลังถึงได้มารู้จากคนขับรถแท็กซี่ว่า นอกจากเรื่องราวของเจ้าฟ้าที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่แล้ว สี่ป้อยังมีการท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ ทั้งเดินป่า ปีนเขา เที่ยวน้ำตกและเที่ยวชมหมู่บ้านชาวพื้นเมือง ว่ากันว่า เส้นทางเดินป่าของที่นี่ยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ได้เหมือนครั้งสมัยเจ้าฟ้ายังปกครองอยู่ อีกทั้งสะพานรถไฟก้กเทก กลางหุบเขาที่สร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็เป็นสถานที่ซึ่งใครก็อยากจะมาเห็นและมาลองนั่งรถไฟสายนี้สักครั้ง จึงไม่แปลกที่ใครต่อใครต่างเลือกเมืองแห่งนี้เป็นจุดหมายปลายทาง อดไม่ได้จริงๆที่จะบอกว่า ยังมีชาวต่างชาติอีกประเภทหนึ่งที่มาเมืองแห่งนี้ด้วยวัตถุประสงค์อื่น นั่นคือ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่มาหาเห็ดและสมุนไพรเอาไปทำยา

unnamed 5                                                                                           ภาพวิวแม่น้ำตู้ในยามเช้า

เมืองสี่ป้อ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆก็จริง แต่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวที่ยาวนาน มีเจ้าฟ้าปกครองเมืองแห่งนี้ด้วยกัน 10 พระองค์ ยาวนานกว่า 200 ปี แต่ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองสี่ป้อนั้นอาจยาวนานกว่านั้น ในตัวเมืองสี่ป้อยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลายผสมผสานกับวัฒนธรรมไทใหญ่ สิ่งที่อยู่คู่กับเมืองสี่ป้ออีกอย่างหนึ่งคือ แม่น้ำตู้ หรือน่ำตู้ ในภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นสายน้ำเส้นเลือดใหญ่สำคัญหล่อเลี้ยงคนที่นี่ ในตัวเมืองสี่ป้อ เรายังเห็นแม่น้ำตู้ไหลผ่านคูคลองเล็ก คลองน้อยที่เชื่อมต่อกัน คลองที่นี่จึงไม่เหม็น เพราะมีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองสี่ป้อ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองสี่ป้อก็คือ ต้นไม้ใหญ่สองข้างทางอายุหลายสิบปีที่คอยให้ความร่มรื่นให้กับผู้ผ่านไปมาและยืนหยัดเคียงข้างคนสี่ป้อ แม้ในยามที่ผ่านทุกข์หรือสุข

ระหว่างเดินเที่ยวในตัวเมือง ธุรกิจที่เหมือนจะไปได้ดีรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองสี่ป้อ เห็นจะเป็นร้านหนังสือที่ดูเหมือนจะแตกต่างจากในอดีต ตรงที่มีการนำหนังสือต้องห้ามมาขายกันเกลื่อนเมือง เช่นหนังสือที่โจมตีนายพลตานฉ่วย หนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองพม่า ซึ่งถ้าหากเป็นในอดีต คนขายอาจถูกจับเข้าตารางตั้งแต่ยังไม่ได้วางขายเสียด้วยซ้ำ และไหนๆรัฐบาลพม่าออกมาประกาศปาวๆว่าพม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้ว เราอดไม่ได้ที่จะถามคนที่นี่ว่า จะไปลงคะแนนให้พรรคการเมืองไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงได้คำตอบมาว่า คนสี่ป้อนั้นเค้าเทใจให้กับพรรคของพี่น้องไต อย่างพรรค “เสือเผือก” (พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ - Shan Nationalities Democratic Party - SNDP) ไม่ต้องบอกว่า พรรคอื่นๆอาจจะต้องหาเสียงหนักหน่อย หากการเลือกตั้งใหญ่ปี 2558 มาถึง

unnamed 7                                                                                    ตลาดสดเมืองสี่ป้อ

เราไม่ลืมที่จะแวะเที่ยวตลาดสดของเมืองสี่ป้อ ซึ่งเริ่มขายกันตั้งแต่เช้ามืดมากๆ ใครอยากดูวิถีชีวิตของคนที่นี่ ต้องตื่นเช้าๆ ตลาดที่นี่สะอาดมากกว่าเมืองใหญ่ๆ ทุกๆเช้า ชาวบ้านจากบนดอยนำของป่า ผักสดๆ และใบชามาขายยังตลาดแห่งนี้ ภาพคนเดินจับจ่ายซื้อของ บรรยากาศในตลาดสด กลับเป็นภาพที่น่ามองสำหรับผู้มาเยือนอย่างบอกไม่ถูก ตลาดที่สี่ป้อมีอยู่ 2 แบบ คือตลาดสดตอนเช้าๆ กับตลาดที่ขายของชำทั่วไปที่เปิดขายกันช่วงสายๆไปจนถึงเย็น สิ่งที่ชอบเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้ก็คือ การท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นไปในเชิงแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากนัก   ผู้คนที่นี่ก็ยังใช้ชีวิตปกติโดยไม่ได้ให้ความสนใจกับนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่  เรายังสามารถเดินบนถนนด้วยความสบายใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครดึงมือให้ไปซื้อของ แต่ไม่รู้ว่า ผู้คนที่นี่จะยังคงความเป็นตัวเองได้นานสักแค่ไหน เมื่อพม่ากำลังเป็นสาวเนื้อหอม และการท่องเที่ยวกำลังเบ่งบาน

20140203-Kotake bridge 1


20140203-Kotake bridge 2


                                                       สะพานรถไฟก้กเทก กลางหุบเขาที่สร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังแวะตลาดเสร็จ เรานั่งพักจิบชาที่ร้าน “Black House” ซึ่งไม่ไกลจากตลาดสดมากนัก ร้าน Black House ดัดแปลงบ้านไม้มาเป็นร้านกาแฟ และเหตุที่ใช้ชื่อว่า Black House เพราะบ้านทาด้วยสีดำทั้งหลัง เป็นบ้านไม้แบบไตๆ เจ้าของร้าน Black House เป็นสองสามีภรรยาวัยกลางคนช่วยกันดูแลกิจการ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีความสุขข้างริมน้ำตู้ เป็นชีวิตที่ใครเห็นก็ต้องอิจฉา เพราะร้านแห่งนี้ อยู่ติดกับแม่น้ำตู้ เป็นจุดที่จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำตู้ได้อย่างเต็มตา วิวธรรมชาติที่สวยงามของแม่น้ำตู้นั้นราวกับภาพวาด ทำให้เราแทบไม่อยากลุกไปไหน และทำให้บรรยากาศจิบชาที่เมืองสี่ป้อกลายเป็นวันพิเศษที่ไม่มีวันลืม  ข้างๆร้าน Black House ยังมีร้านไวน์ที่มีจุดชมวิวสามารถมองเห็นแม่น้ำตู้ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามไม่แพ้กัน สิ่งที่ไม่ควรพลาดอีกอย่างหนึ่งของการมาเยือนสี่ป้อก็คือ การยือนหอเจ้าฟ้าสี่ป้อ ใครจะไปสี่ป้อ แนะให้อ่านหนังสือชื่อ “สิ้นแสงฉาน” จะยิ่งทำให้อยากเดินทางไปที่นี่มากยิ่งขึ้น จากการสอบถามคนที่นี่ ดูเหมือนว่า เราได้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป หลายคนบอกเราว่าไม่สามารถเข้าไปในหอเจ้าฟ้าได้ บ้างบอกเราสามารถเข้าไปดูได้รอบๆแต่ไม่สามารถถ่ายรูปได้  จากที่ดูแผนที่นั้น ก่อนที่เราจะเจอหอเจ้าฟ้า เราต้องผ่านสถานีตำรวจก่อน แม้จะหวั่นๆกลัวๆอยู่ไม่น้อย  แต่ในที่สุดก็ตัดสินไปดูหอเจ้าฟ้าให้เห็นกับตาตัวเองสักครั้ง

จากโรงแรม เราเดินออกไปจนสุดปากซอยแล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานขึ้นเนินไปนิดเดียว ก็จ๊ะเอ๋กับสถานีตำรวจ ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ต้องบอกว่าเป็นสถานีตำรวจที่ใหญ่มาก ผ่านสถานีตำรวจมาได้นิดเดียว  เราเลี้ยวขวาเดินตรงไปจะเจอวัดแล้วเลี้ยวซ้ายอีกที แล้วถามคนแถวนั้นมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เดินทางมาถึงประตูหอเจ้าฟ้าสี่ป้อ ใช้เวลาเดิน(อย่างเร่งรีบ)ประมาณ15 นาที เมื่อประตูรั้วไม่ได้ปิดล็อคไว้ เราจึงเดินเข้าไปอย่างเงียบๆ เพราะหากตะโกนโหวกเหวกหน้าบ้าน กลัวว่า จะเป็นที่สนใจเกินไป เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า ทางการพม่าอนุญาตให้คนนอกไปเยี่ยมหอเจ้าฟ้าได้หรือไม่ จึงขอยอมเสียมารยาทสักวันหนึ่งเพื่อให้ได้เข้าไปในอาณาบริเวณหอเจ้าฟ้าก็ยังดี  ทันทีที่ผ่านประตูรั้วเข้ามา สิ่งที่เห็นสิ่งแรกคือต้นมะขามขนาดใหญ่หลายต้นรายรอบอาณาเขตบริเวณหอเจ้าฟ้า สวนดอกไม้ของเจ้าฟ้า ตอนนี้เหลือก็แต่หญ้าที่ขึ้นรกเต็มไปหมด

_MG_0089


แต่ก็ยังมีดอกไม้ขึ้นแซมเป็นจุดๆกับภาพหอเจ้าฟ้ารูปทรงสไตล์ยุโรปสองชั้นที่ค่อยๆปรากฎอยู่เบื้องหน้า  ซึ่งปัจจุบันนี้ หอเจ้าฟ้าทรุดโทรมและเก่าลงไปมากจริงๆ เพราะไม่ได้รับการซ่อมแซมมานานหลายปี หอเจ้าฟ้าแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2467   แต่แม้ในความทรุดโทรม ที่นี่กลับยังคงสวยงามในความรู้สึกของผู้มาเยือน อดไม่ได้ที่จะคิดว่า ในอดีต ที่นี่จะสวยงามแค่ไหน ในยามที่เมืองสี่ป้อรุ่งเรืองภายใต้เจ้าฟ้าจ่าแสง  เจ้าฟ้าหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศและกลับมาทำงานเพื่อประชาชนของพระองค์

หลังเข้ามาในเขตหอเจ้าฟ้าสักพักนึง มีหญิงวัยกลางคนออกมาต้อนรับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม  พร้อมกับแนะนำตัวว่าเป็นผู้ดูแลหอเจ้าฟ้าแห่งนี้ ต่อมาจึงทราบว่า ท่านคือ เจ้าจ๋ามพงษ์ เป็นเจ้าฟ้าหญิงจากเมืองใหย มาแต่งงานกับเจ้าอูจ่า หลานชายแท้ๆของเจ้าจ่าแสง   หรือพูดง่ายๆคือ ท่านมีศักดิ์เป็นหลานสะใภ้ของเจ้าจ่าแสงนั่นเอง เราไม่ลืมที่จะเดินสำรวจรอบๆบริเวณหอเจ้าฟ้า เดินออกไปจากตึกหอเจ้าฟ้าไม่กี่ย่างก้าวก็จะเห็นแม่น้ำตู้อยู่ข้างๆ เราไม่ลืมแวะดูสระว่ายน้ำสีมรกต สนามเทนนิสของเจ้าฟ้า ที่ระบุไว้ในหนังสือ "สิ้นแสงฉาน"  ไม่นานเราได้เข้าไปในห้องๆหนึ่งในตัวตึกหอเจ้าฟ้า ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นห้องรับแขก และห้องแสดงภาพประวัติเจ้าฟ้าสี่ป้อ   โดยมีเจ้าจ๋ามพงษ์ ได้เล่าย้อนลำดับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรื่องราวของเจ้าฟ้าสี่ป้อ

unnamed 4                                                                                                ระเบียงหอเจ้าฟ้าสี่ป้อ

หากพูดถึงราชวงศ์เจ้าฟ้าสี่ป้อ เจ้าฟ้าที่มีความโดดเด่นที่สุดคือ เจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย เรื่องราวชีวิตของเจ้าจ่าแสงยังน่าสนใจเมื่อท่านได้พบรักกับหญิงต่างชาติชาวออสเตรีย อิงเง เซอร์เจน ระหว่างไปเรียนด้านวิศกรรมเหมืองแร่ที่สหรัฐอเมริกา ทั้งสองได้แต่งงานกันและกลับมาที่รัฐฉาน อิงเง เซอร์เจนถึงได้รู้ว่าเจ้าจ่าแสงคือเจ้าฟ้าผู้ครองเมืองสี่ป้อ และในเวลาต่อมา สาวต่างชาติผู้นี้ถูกสถาปณาให้ขึ้นเป็นเจ้าหญิงสุจันทรี และเป็นมหาเทวีของเจ้าฟ้าสี่ป้อ เจ้าจ่าแสงนั้น เป็นเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่มีหัวคิดสมัยใหม่และหัวคิดประชาธิปไตย รักความเท่าเทียมและความซื่อสัตย์โปร่งใส  ท่านพยายามพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ ทั้งในด้านเกษตรกรรม การศึกษาและด้านสุขภาพอนามัย ในเวลาต่อมา หอแห่งนี้ ยังได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าหญิงน้อย 2 พระองค์ที่ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ เจ้าเกนรีและเจ้ามายารี เรื่องราวของเจ้าฟ้าครอบครัวนี้ดูเหมือนจะราบรื่นมีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น  แต่แล้วในวันฟ้ามืดปกคลุมเมืองสี่ป้อและรัฐฉานก็เกิดขึ้น เมื่อนายพลเนวินยึดอำนาจในปี 2505 นายพลผู้นี้ได้ล้มล้างถอนรกาถอนโคนเครือเจ้าฟ้าในรัฐฉานจนเกือบหมดสิ้น หอเจ้าฟ้าหลายแห่งถูกทำลาย รวมถึงเจ้าจ่าแสงก็ถูกจับกุมตัวไปและหายสาบสูญไปจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านน่าจะเสียชีวิตแล้ว นับตั้งแต่นั้นมา หอเจ้าฟ้าถูกปิดลง ประชาชนถูกกดขี่ ครอบครัวเจ้าฟ้าถูกพลัดพราก ไม่กี่ปีต่อมา หลังเนวินยึดอำนาจ มหาเทวีอิงเง เซอร์เจน ได้พาเจ้าหญิงน้อยทั้งสองพระองค์หนีออกจากพม่า และใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้ไม่เคยกลับมาเหยียบสี่ป้ออีกเลย

unnamed 8

จากคำบอกเล่าของเจ้าจ๋ามพงษ์ ทุกๆปี อดีตมหาเทวีอิงเง เซอร์เจน และเจ้าหญิงทั้งสองยังคงเขียนจดหมายถึงรัฐบาลพม่า เพื่อทวงถามว่า เจ้าจ่าแสงนั้นอยู่ที่ไหน  ซึ่งจดหมายนี้ได้เขียนส่งถึงทุกรัฐบาลพม่า ตั้งแต่ยุครัฐบาลเผด็จการนายพลเนวิน นายพลตานฉ่วย จนมาถึงรัฐบาลเต็งเส่ง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆจากปากรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับชะตากรรมของเจ้าจ่าแสง

เจ้าจ๋ามพงษ์ยังบอกเล่าว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพม่าได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหารประเทศ  เพราะทุกวันนี้ ตัวท่านเองหรือคนในประเทศพม่าทั่วไปเริ่มมีสิทธิเสรีมากขึ้นและหอเจ้าฟ้าแห่งนี้ก็ได้รับอนุญาตเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมได้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่คนภายนอกส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ เจ้าจ๋ามพงษ์ยังบอกเล่าว่า สิ่งที่ท่านทำได้ทุกวันนี้ก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของรัฐฉานให้กับลูกหลานชาวไตและนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เรื่องราวเหล่านี้หายไป แม้ในวันที่สิ้นยุคเจ้าฟ้าแล้วก็ตาม โดยเจ้าจ๋ามพงษ์หวังเพียงว่า หอเจ้าฟ้าแห่งนี้จะเป็นเหมือนสถานที่ ที่จะให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ และสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน และต้องการที่จะรักษาหอเจ้าฟ้าแห่งนี้สืบไปให้กับลูกหลานชาวไต เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่เฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์แต่รวมถึงในด้านจิตใจของคนไต

IMG_9831


เราบอกลาหอเจ้าฟ้า ด้วยความรู้สึกหดหู่ผิดหวังอย่างบอกไม่ถูก เหมือนดูละครจบแบบไม่สมหวัง ที่ครอบครัวเจ้าฟ้าต้องพลัดพราก อย่างไรก็ตาม แม้ระบบเจ้าฟ้าในสี่ป้อจะสูญสิ้นไปอย่างถาวร แต่เจ้าฟ้ากลับยังอยู่ในใจของชาวสี่ป้อจากรุ่นสู่รุ่น เห็นได้จากที่ทุกๆบ้านยังคงแขวนรูปเจ้าจ่าแสง เพื่อแสดงการระลึกถึงและแสดงความเคารพต่อท่าน

"เรายังไม่ได้เมืองไต (รัฐฉาน) คืนมา แม้จะล่วงเลยผ่าน 10 ปีมาแล้วก็ตาม สัญญาป๋างโหลง หายไปไหน หรือถูกทำลายไปพร้อมกับนายพลอองซาน จนถึงตอนนี้ ใครโกหกใคร ไม่บอกก็รู้ เราคนไตรู้ดีอยู่แก่ใจ แต่ไตจะไม่เป็นคนโกหก " บทเพลงเก่าไทใหญ่ที่เคยฟังตอนสมัยเด็กๆกลับมาดังก้องอยู่ในหัวอีกครั้ง ซึ่งยังคงใช้ได้ดีกับยุคปัจจุบันของประเทศพม่า 

 

เรื่องโดย หมอกเต่หว่า/ภาพโดย Jai Jai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น