วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทุกข์หลังเกษียณของข้าราชการพม่า

u-pe-myint

วิทยุหนึ่งเครื่องและจักรยานอีกหนึ่งคัน คือสมบัติล้ำค่าเพียงสองสิ่งของ อู เพ มิ้นท์ ทุกๆ เช้า เขาจะขี่จักรยานไปที่เจดีย์ใกล้ๆ บ้านและพบปะเพื่อนฝูงวัยเกษียณด้วยกันที่ร้านน้ำชา ตกกลางคืน เขาก็จะฟังข่าวจากวิทยุ

อู เพ มิ้นท์ วัย 75 ปี อาศัยอยู่ในห้องเช่าบนถนนซิตตอว์ง ตำบลดะกงเซ็กก่าน กับลูกสาวอีก 3 คนที่ยังไม่แต่งงาน ทั้ง 3 คนมีอาชีพรับจ้างเย็บผ้า เขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า การมีบ้านเป็นของตัวเอง

อู เพ มิ้นท์ เกษียณอายุราชการจากข้าราชการตำรวจในเซกก่านเมื่อปี 1999 เมื่ออายุได้ 60 ปี ตลอดเวลาที่เขายังรับราชการอยู่ เขาและครอบครัวได้รับสวัสดิการณ์บ้านพักฟรีมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยและไฟฟ้าฟรีที่ทำให้ข้าราชการเงินเดือนน้อยอย่างเขาและครอบครัวสามารถอยู่รอดได้

แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด ข้าราชการที่เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งในปี 2011 มีจำนวนกว่า 9 แสนคน ต้องออกจากบ้านพักสวัสดิการณ์ภายในเวลา 4 เดือนนับตั้งแต่เกษียณ สำหรับหลายคน การอาศัยเงินบำนาญจากรัฐเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่น่ากลัว

"ผมไม่สามารถย้ายออกไปทันทีหลังเกษียณเพราะไม่มีเงินเก็บเลย ในตอนนั้น ผมมีเงินเดือนแค่ 3 พันจั๊ต(ประมาณ 99 บาท)" อู เพ มิ้นท์ กล่าว "ผมยังคงอยู่ที่บ้านพักข้าราชการต่อไปอีก 2 ปี โดยการขอร้องให้อนุญาตให้อยู่ต่อ หัวหน้าที่สถานีตำรวจใจดี ผมได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อได้"

แต่ในปี 2011 เมื่อที่พักไม่เพียงพอสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ อูเพมิ้นท์ จึงต้องหาที่อยู่ใหม่

"ข้าราชการที่มีมรดกจากพ่อแม่หรือมีเงินเก็บจะไม่ลำบากเมื่อพวกเขาเกษียณแล้ว บางครั้ง พวกเขาก็อาศัยอยู่บ้านเดียวกับญาติๆ วัยสูงอายุ" เขากล่าว "แต่สำหรับทุกคน การเกษียณอายุเป็นช่วงที่บากลำบาก"

"บางครั้ง (ลูกชายหรือลูกสาว) จะรับราชการต่อเมื่อพ่อแม่เกษียณ พวกเขาจึงสามารถอยู่ในบ้านพักข้าราชการต่อได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน"

ตอนที่เขาต้องออกจากบ้านพักข้าราชการ อูเพมิ้นท์ย้ายไปอยู่ห้องเช่ายูซานะการ์เด้นท์ซิตี้ ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ 10,000 จั๊ต (ประมาณ 331 บาท) ทุกวันนี้ค่าเช่าขึ้นไป 3 เท่า แต่เขาก็ยังพอที่จะจ่ายได้เพราะยังมีรายได้ของลูกสาวทั้ง 3 คน และเงินบำบาญที่มีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2011 แต่กรรมสิทธิ์การได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซักที่นั้น ยังไกลเกินฝัน

"คนที่เกษียณแล้วส่วนใหญ่อยู่บ้านเช่า" เขากล่าว "บางคนก็ตายไปโดยที่ไม่เคยได้เป็นเจ้าของบ้านสักครั้งในชีวิต"

 

เงินบำนาญที่ไม่เพียงพอ

หลายคนโชคร้ายกว่าอูเพมิ้นท์  มะขิ่นโซทุต สมาชิกกลุ่ม Social Team for the Aged ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพ อาหารและการเงินแก่ผู้สูงอายุที่ยากจน มาตั้งแต่ปี 2009 กล่าวว่า เกือบ 2 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่องค์กรได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอดีตข้าราชการ เนื่องด้วยต้องย้ายออกจากบ้านพักข้าราชการและไม่มีญาติพี่น้องช่วยเหลือ บางคนถึงกับต้องอาศัยอยู่ข้างถนน

"พวกเขามีทั้งอดีตครู และเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงแรกๆ ของการเกษียณอายุ พวกเขายังคงมีสุขภาพดีอยู่ จึงออกไปทำงานเป็นหมอนวด หรืออาศัยของบริจาคเลี้ยงตัวเอง" มะขิ่นโซทุต กล่าว

กลุ่ม Social Team for the Aged ให้เงินช่วยเหลือคนวัยเกษียณเดือนละ 2,000 จั๊ต(ประมาณ 66 บาท) รวมทั้งน้ำมันถั่วเหลือง ข้าวสาร ยา และนมข้นหวาน นอกจากนี้ยังได้สร้างกระท่อมมุงจากในพื้นที่ที่เช่าสำหรับคนแก่ที่ไร้บ้านด้วย มะขิ่นโซทุตกล่าวว่า เงินเดือนของข้าราชการที่ต่ำมากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาการเงิน เพราะไม่สามารถเตรียมตัวหลังจากที่สิทธิในการได้รับสวัสดิการบ้านพักหมดลง

"เงินเดือนของพวกเขาต่ำมากในตอนที่ยังรับราชการ และเงินบำนาญหลังเกษียณก็น้อยมาก" เธอกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการขึ้นเงินบำนาญแล้ว รัฐบาลก็ได้พยายามช่วยเหลือข้าราชการหลังเกษียณด้วยเช่นกัน ในช่วงต้นปี 1990 รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินสำหรับข้าราชการในพื้นที่ดะกงเมียวติ๊ดที่เพิ่งได้รับการพัฒนา ในขณะที่ข้าราชการเกษียณอายุจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบัน แต่หลายคนก็ถูกบีบให้ขายที่ส่วนของตัวเอง เพราะต้องการใช้เงิน

"ในปี 1992 รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินให้ข้าราชการ" อูเพมิ้นท์กล่าว "ผมไม่มีเงินสร้างบ้านในที่ดินดังกล่าว และเราก็เลี้ยงลูกด้วยเงินเดือนที่น้อยนิด เงินเกือบจะไม่พอใช้ ผมจึงขายไป"

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ชี้ให้เห็นว่า มีความต้องการที่จะบรรเทาปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยไม่เฉพาะแต่ข้าราชการเกษียนอายุเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนวัยเกษียณทุกกลุ่มอีกด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี อูโซเต่ง ได้บอกกับสำนักข่าว Myanmar Time ว่า หน่วยงานภาครัฐระดับภูมิภาคจะสำรวจข้อมูลผู้กินเงินบำนาญที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง

"หลังจากที่ได้ข้อมูลมาแล้ว เราต้องหาทางออกที่ดีที่สุดซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของแต่ละเขต" เขากล่าว "ตอนนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอน (ภายใน) 3 หรือ 4 เดือนเราจะได้ข้อมูลจากการสำรวจสัมโนประชากรปี 2014"

ทว่า ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลมีแผนจะดำเนินการอย่างไรกับข้อมูลเหล่านั้น จะมีโครงการจัดสรรที่ดินเหมือนที่ดะกงเมียวติ๊ดในช่วงปี 1990 หรือไม่

สำหรับตอนนี้แล้ว การเกษียณไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดชีวิตการทำงานของข้าราชการแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากต้องทำงานเป็นยามรักษาความปลอดภัยหลังจากเกษียณ เพราะพวกเขามีระเบียบวินัยและตื่นตัวอยู่ตลอด

 
ความเอื้อเฟื้อที่จำต้องพึ่งพา

 
สำหรับบางคน การทำงานก็ไม่ใช่ทางเลือกของเขา และถูกบีบคั้นให้ต้องพึ่งพาอาศัยความกรุณาจากเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือเพื่อนบ้าน หรือไม่ก็ต้องย้ายออกไปอยู่บ้านพักคนชรา

อูซอว์ละ วัย 80 ปี อาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการในเขตหล่ายในช่วงที่ยังรับราชการอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ ในตอนที่เขาเกษียณเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว เขาไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ภรรยาของเขาเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลูกชายคนเดียวของเขาก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งขาดการติดต่อมาหลายปีแล้ว

จนในที่สุด เพื่อนคนหนึ่งของเขาให้เขาย้านเข้ามาอยู่ที่อพาร์ทเมนต์ของเขาเขานอนห้องด้านหน้า และใช้จ่ายประจำวันด้วยเงินบำนาญ

แต่นั่นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเจ้าของตัดสินใจขายอพาร์ทเมนต์เพราะมีปัญหาเรื่องเงิน อูซอว์ละจึงถูกบีบให้ออกไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา ตะบาวะ ตะยาร์ เย็กตาร์ ในเขตตาลยิน

"ผมไม่ได้อยากอยู่ที่ตะบาวะ ตะยาร์ เย็กตาร์" เขากล่าว "แต่ผมมีทางเลือกไม่มากนัก"

ตะบาวะ ตะยาร์ เย็กตาร์ ก่อตั้งขึ้นโดยพระโอตะมะสาระในปี 2008 ซึ่งตั้งอยู่ตรงเชิงเขาเจดีย์ตานลยิน ประกอบด้วยอาคาร 30 ชุด ในพื้นที่ 10 เอเคอร์ คนแก่มากกว่า 2,000 คน ซึ่งมีทั้งคนที่เกษียณอายุ คนที่เจ็บป่วย และคนที่ไม่มีญาติดูแล อาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับพระสงฆ์และแม่ชี

ดอว์ละละขิ่น อดีตครูกำลังคิดที่จะไปอยู่ที่บ้านพักคนชราแห่งนี้เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักได้แล้ว "ฉันทำงานเป็นครูมาเกือบ 30 ปี แต่ (เมื่อเกษียณ) ฉันไม่มีที่ดินซักผืนหรือข้าวซักกระป๋องเดียว" เธอกล่าว

เธอเริ่มอาชีพครูที่โรงเรียนประถมในชนบทแห่งหนึ่งในเขตฉ่วยตอง ภาคพะโค เมื่อปี 1968 และเกษียณอายุราชการเมื่อปี 1998 เพราะไม่สามารถหยุดงานเป็นเวลานานโดยไม่มีค่าจ้างมาดูแลสามีที่ป่วยได้ ซึ่งอาชีพครูนั้น ไม่มีบ้านพักสวัสดิการเหมือนข้าราชการอาชีพอื่น

"ในบรรดาข้าราชการทั้งหมด ครูเป็นอาชีพที่ได้รับโอกาสน้อยที่สุด" เธอบอก "ในตอนนั้นเราเคยมีบ้านที่ฉ่วยตอง เมื่อสามีฉันป่วย ฉันได้ขายบ้านไปเพื่อนำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล"

สามีของเธอเสียชีวิตไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เธอและลูกสาวยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเช่า ลูกสาวของเธอทำงานที่ธนาคารเอกชนแห่งหนึ่ง เงินเดือน 200,000 จั๊ต (6,637 บาท) ดอว์ละละขิ่น หารายได้เสริมมาสมทบกับเงินเดือนลูกสาวด้วยการสอนพิเศษ เธออาศัยอยู่ที่ Yuzana Garden City มาเป็นเวลา 14 ปี ค่าเช่าจากเดิม 20,000 จั๊ต(663 บาท) ขึ้นมาเป็น 120,000 จั๊ต(3,982 บาท) เธอและลูกสาวเพิ่งจะย้ายออกมาอยู่ที่บ้านหลานสาวในเขตต่าเก่ต๊ะ

"เจ้าของบ้านขอเพิ่มค่าเช่า ฉันจึงส่งลูกสาวไปอยู่กับหลานสาวที่เขตต่าเก่ต๊ะ" เธอบอก "และเมื่ออะไรๆ เข้าที่แล้ว ฉันคิดว่าฉันจะไปอยู่ที่บ้านพักตะบาวะ ตะยาร์ เย็กตาร์ "

 

จาก For civil servants, retirement brings problems, not peace
By Zon Pann Pwint | Monday, 23 June 2014http://www.mmtimes.com/index.php/in-depth/10794-for-civil-servants-retirement-brings-problems-not-peace.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น