วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

7 คำถามกับการยกเลิกเซ็นเซอร์สื่อในพม่า



การยกเลิกการตรวจสอบสื่อก่อนการเผยแพร่ของรัฐบาลพม่า ประเทศที่มีเสรีภาพสื่ออันดับรั้งท้ายของโลก เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่ติดตามข่าวได้ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อในพม่ามีเสรีภาพที่แท้จริงแล้วหรือไม่  สำนักข่าวอิระวดีได้วิเคราะห์ปรากฏการที่เกิดขึ้นในวงการสื่อ ไว้ดังนี้

 

คณะกรรมการพิจารณาและตรวจสอบสื่อ (PSRD) แจ้งบรรณาธิการว่าอย่างไร

 

นายติ้นส่วย ประธาน PSRD  แจ้งแก่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า สำนักพิมพ์ไม่ต้องส่งงานเขียนให้คณะกรรมการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์อีกต่อไป และมีผลในทันที อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในกระทรวงข่าวสาร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง )

 

ได้เวลาที่สื่อมวลชนจะออกมาเฉลิมฉลองแล้วใช่หรือไม่ ?

นักข่าวในพม่าที่เคยต้องเผชิญกับแรงกดดันและถูกจับกุมต่างยินดีกับการประกาศดังกล่าว ที่ไม่ต้องส่งงานเขียนให้กับกองเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์อีกต่อไป แต่ทว่า คณะกรรมการทั้งหลายยังคงจับตามองพวกเขาอยู่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่เพียงพอสำหรับเสรีภาพในวงการสื่อ ซึ่งการประกาศเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลสั่งปิดสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับและได้รับแรงกดดันจากการประท้วงของสื่อมวลชน

 

ดังนั้น จะไม่มีการเซ็นเซอร์อีกต่อไป ประเทศพม่าจะเพลิดเพลินไปกับเสรีภาพสื่อใช่หรือไม่

ยังไม่ขนาดนั้น รัฐบาลจะยังคงตรวจสอบหนังสือพิมพ์อยู่ ส่วนคณะกรรมการยังคงทำงานต่อไป ยังไม่มีการยุบหน่วยงานแต่อย่างใด กฎหมายสิ่งพิมพ์ฉบับปี 1962 สมัยนายพลเนวิน ยังคงมีผลอยู่ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ บรรณาธิการยังต้องดำเนินการตามกฎทั้ง 16 ข้อ โดยเนื้อหาต้องไม่เป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศ  ทั้งนี้ พรบ.อิเล็กทรอนิกส์ยังคงใช้อยู่ ซึ่งพรบ.ฉบับนี้ได้ส่งนักเคลื่อนไหว บล็อกเกอร์ และผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมิเดียต้องติดคุก หลังส่งข้อความ ข้อมูล และรูปภาพต้องห้าม ในอินเทอร์เน็ตมาแล้วนักต่อนัก สรุปว่า พม่ายังคงมีการตรวจสอบสื่อที่เข้มข้นและจะยังคงดำเนินต่อไป

 

แล้วกฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่ จะมีการนำมาใช้หรือไม่

กระทรวงข่าวสารพม่ากำลังร่างกฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่และจะยื่นต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาในไม่ช้า ซึ่งร่างกฎหมายได้รับการแก้ไขมาหลายครั้ง   ประกอบด้วย 10 บทบัญญัติด้วยกัน ในจำนวนนั้นข้อหนึ่งเกี่ยวกับจรรยาบรรณและความรับผิดชอบของนักข่าว ซึ่งนักข่าวในพม่าร้องเรียนว่า พวกเขายังไม่เคยเห็นร่างฉบับนี้ และไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแต่อย่างใด

 

อะไรคือประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับการเผยแพร่ในสื่อพม่า

เมื่อไม่นานมานี้ นักข่าวได้รับคำเตือนไม่ให้เผยแพร่เรื่องความรุนแรงในรัฐอาระกัน หนังสือพิมพ์สองฉบับถูกสั่งปิดหลังจากเผยแพร่ข่าวสุขภาพของหม่องเอ และข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพม่า  รัฐบาลพม่ายังคงกังวลเรื่องการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่น ข่าวนายพลและธุรกิจส่วนตัว ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพ การโจมตีชนกลุ่มน้อย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าง จีน อินเดีย และไทย รวมไปถึงเกาหลีเหนือที่มีความสัมพันธ์ทางการทหารกับกองทัพพม่า

 

แต่สื่อพม่าภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งก็ยังมีเสรีภาพมากกว่าที่ผ่านมา?

ถูกต้อง สื่อท้องถิ่นในพม่าในปัจจุบันสามารถเผยแพร่ข่าวที่เคยถูกห้ามในอดีตหลายข่าว อย่าง การเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน นางอองซาน ซูจี กลุ่มนักศึกษาปี 88 การยึดที่ทำกิน การอภิปรายในรัฐสภา และกระบวนการปฏิรูปในพม่า เต็.เส่งประกาศในการปราศรัยและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับความสำคัญของสื่อ นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า เขาต้องการเห็นเสรีภาพสื่อและเตรียมเปิดไฟเขียวให้จัดตั้งสภาสื่อสารมวลชนได้อีกด้วย

 

สื่อในพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

นักข่าวจะผลักดันให้มีการยุบ PSRD และยกเลิกการควบคุมสื่อทั้งหมดต่อไป พร้อมทั้งผลักดันให้มีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน  ในความเป็นจริง หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทจากรัฐบาลและนักธุรกิจมากขึ้น กระทรวงข่าวสารยังคงควบคุมการออกใบอนุญาต และสิ่งพิมพ์ที่ทำให้รัฐบาลเสื่อมเสียจะยังคงถูกเล่นงานโดยใช้พรบ.การพิมพ์และการเผยแพร่ฉบับเดิม ซึ่งผู้เผยแพร่ก็ยังคงจะได้รับโทษหนัก

 

อย่างไรก็ตาม พม่าอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งก็อาจจะยังมีข้อผิดพลาดและความขัดแย้งกับสื่อต่อไป การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อจะยังคงดำเนินต่อไป และนักข่าวจะต้องแสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพและความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว การใช้เสรีภาพที่พวกเขาต้องการนักหนาเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

จาก บทความ What Does Ending Pre-censorship Really Mean?
สำนักข่าว Irrawaddy 21 สิงหkคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น