วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สื่อพม่ากับเสรีภาพที่ยังขาดหาย

ที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะเห็นภาพนักข่าวหลายสำนักทั้งในและต่างประเทศสามารถหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญได้อย่างเสรี ในยุคที่พม่ากำลังพยายามให้โลกภายนอกเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่สำหรับสื่อในประเทศแล้ว เสรีภาพในการนำเสนอข่าวยังคงถูกคุกคามอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

[caption id="attachment_4937" align="alignleft" width="420" caption="ภาพจาก Mizzima"][/caption]

ทั้งนี้ บทความเรื่อง Time for Media to Seize Freedom จากสำนักข่าว Irrawaddy โดยจ่อซวาโม นักข่าวพม่า ระบุว่า  กองเซ็นเซอร์พม่ายังคงลงดาบสิ่งพิมพ์อย่างหนักจนบรรดานักข่าวแทบจะไม่กล้าจะนำเสนอข่าว โดยทั้งตัดถ้อยคำและประโยคที่พวกเขาคิดว่า “ไม่เหมาะสม” ออก นอกจากนี้ยังมีการลงโทษถึงขั้นห้ามตีพิมพ์เป็นการตัดอนาคตหนังสือพิมพ์กันเลยทีเดียว

 

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์สองฉบับคือ Voice Weekly และ Envoy ถูกสั่งระงับการตีพิมพ์โดยไม่มีกำหนดเนื่องจากนำเสนอบทความหลายชิ้นที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ หรือ ชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองตรวจสอบและการจดทะเบียนสื่อสิ่งพิมพ์ (Press Scrutiny and Registration Division - PSRD)

 

นี่คือการลงดาบหนังสือพิมพ์ครั้งล่าสุดของกองเซ็นเซอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักข่าวท้องถิ่นในย่างกุ้งเปิดเผยว่า นับวันจะเข้มงวดมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอาระกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงแล้วต้องกองเซ็นเซอร์ไม่ได้ต้องการควบคุมเนื้อหาเฉพาะประเด็นที่อ่อนไหวเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงเรื่องเบาๆ อย่าง สุขภาพของอดีตนายพล การปรับครม. และข่าวอื่นๆ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สส.ของพรรคการเมืองที่รัฐบาลหนุนหลัง

 

นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อย่าง Venus และ Yangon Times ก็ได้รับการเตือนเป็นครั้งสุดท้ายจากกองเซ็นเซอร์จากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสุขภาพของหม่องเอ อดีตนายกฯ ของรัฐบาลเผด็จการชุดที่แล้ว

 

เพราะเหตุใดกองเซ็นเซอร์ยังคงกังวลเรื่องไม่เป็นเรื่องพวกนี้ นักข่าวหลายคนสงสัยว่า ผู้อำนวยการกองเซ็นเซอร์ จ่อซาน และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็งเส่ง

 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากกองเซ็นเซอร์สั่งระงับการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ เครือข่ายนักข่าวพม่าและสมาคมนักข่าวพม่า ได้ออกมาเรียกร้องให้กองเซ็นเซอร์ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว โดยได้ออกแถลงการณ์สองฉบับโดยระบุว่า คำสั่งของกองเซ็นเซอร์สวนกระแสกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งนักข่าวส่วนใหญ่เชื่อว่า นายจ่อซาน เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพม่า และในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือว่า เขาอาจจะถูกปลดออกจากกระทรวงข่าวสารไปในไม่ช้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักข่าวต่างตั้งตารอให้ถึงวันนั้น

 

นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีเต็งเส่งเข้าทำหน้าที่เมื่อเดือนมีนาคม 2554 มาตรการที่ใช้ควบคุมสื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่นักข่าวหลายคนต้องการเห็นเสรีภาพสื่อที่มากกว่านี้ หลังเต็งเส่งให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน

 

ทว่า ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนจะถูกทอดทิ้งโดยไม่มีคำอธิบาย กองเซ็นเซอร์น่าจะถูกยุบไปแล้วถ้านายจ่อซานรักษาคำพูด  ซึ่งที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าน่าจะยกเลิกอย่างเป็นทางการในปลายเดือนมิถุนายน แต่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่และกลับเข้มงวดขึ้นเรื่อย

 

รัฐบาลชุดก่อนได้รับการขนานนามจากสื่อต่างประเทศว่าเป็น ศัตรูของสื่อ ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ได้ดีไปกว่าชุดก่อนและยังคงให้กองเซ็นเซอร์ทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งภายใต้แรงกดดันนี้ทำให้สื่อต้องควบคุมตัวเองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจหากต้องการทำธุรกิจด้านนี้ต่อไป ในกรณีนี้ คำว่า “อิสรภาพ และ ความเป็นมืออาชีพ” จึงไม่มีความหมายในวงการนี้

 

เห็นได้ชัดจากการเดินทางไปพม่าครั้งล่าสุดของผู้เขียน เมื่อผู้เขียนได้สัมภาษณ์นายวินติ่น อดีตนักข่าวอาวุโสและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ที่บ้านพักของเขาเพื่อนำเสนอในรายการ “Face-to-Face” ซึ่งเขามักจะพูดเสมอว่าบรรดาผู้นำรัฐบาลชุดนี้คือหัวขโมยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคำพูดดังกล่าวจะถูกตัดทิ้งอย่างไม่ต้องสงสัยถ้าส่งบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไปให้กองเซ็นเซอร์

 

ในเวลานั้นผู้เขียนรู้สึกได้ถึงใบมีดที่กำลังจ่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนนักข่าวที่อยู่ในประเทศคุ้นเคยกันดี มันทำให้ความกล้าและจริยธรรมของสื่อของพวกเขาเหือดหายไป

 

โธมัส เจฟเฟอร์สัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ข้อมูลข่าวสารคือเงินตราของประชาธิปไตย” เพื่อให้ได้เงินตราเหล่านั้น พม่าต้องการเสรีภาพสื่อ  แต่นักข่าวต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของตัวเองเพราะไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลได้ว่าจะมองเสรีภาพเหล่านั้นให้กับพวกเขาได้

 

วินติ่นกล่าวกับผู้เขียนขณะสัมภาษณ์ว่า “เราทุกคน รวมทั้งสื่อมวลชน ยังคงอยู่ในถ้ำที่มืดมิด ถ้าไม่มีทางออก สื่อมวลชนก็ต้องทลายมันออกไป”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น