วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รองประธานาธิบดีพม่าเยือนหมู่บ้านชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกัน

มีรายงานว่า จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีของพม่าได้เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านในหมู่บ้านชาวมุสลิมโรฮิงยาในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกันเมื่อวันศุกร์ (3 สิงหาคม) ที่ผ่านมา เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลที่เลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยา

 





 

ขณะที่โฆษกของรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐอาระกันเปิดเผยว่า การเยือนรัฐอาระกันของประธานาธิบดีครั้งนี้ ก็เพื่อประเมินสถานการณ์ หลังเหตุความขัดแย้งและความรุนแรงผ่านมาสองเดือน มีรายงานว่า จายหมอกคำจะเข้าเยี่ยมทั้งชาวมุสลิมโรฮิงยาและชาวยะไข่ที่อาศัยอยู่ในค่ายที่พักพิงชั่วคราว โดยจะเข้าเยี่ยมประชาชนทั้งในเมืองมงดอว์ และคาดว่าจะเดินทางเยือนเมืองเจ้าก์พูและเมืองชิตต่วย เมืองหลวงของรัฐด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดกันว่า การเยี่ยมหมู่บ้านชาวมุสลิมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลต้องการลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากนานาชาติ เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและประเทศมุสลิมโจมตีรัฐบาลพม่าว่า อยู่ข้างเดียวกับชาวพุทธยะไข่ต่อต้านชาวมุสลิม กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเปิดเผยรายงานว่า ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกัน ชาวโรฮิงยาถูกเป็นเป้าโจมตีและกวาดล้างจากเจ้าหน้าที่ของทางการพม่า สอดคล้องกับองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้รายงานว่า มีชาวโรฮิงยาราว 100 คนถูกฆ่า บางส่วนถูกข่มขืนและถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุม

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐอาระกันปฏิเสธรายงานเหล่านี้ว่าไม่เป็นความจริง โดยกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ให้ความเสมอภาคกับทั้งชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่ ขณะที่ทางการรายงานว่า มีชาวพุทธยะไข่ 14,328 คน และชาวโรฮิงยา 30,740 คน ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดขณะนี้อาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงชั่วคราว 89 แห่งที่กระจายอยู่ในหลายเมืองของรัฐอาระกัน

 

อีกด้านหนึ่ง ชาวพุทธยะไข่แสดงความไม่พอใจที่นานาชาติอยู่ข้างเดียวกับชาวโรฮิงยาฝ่ายเดียว โดยการเยือนรัฐอาระกันของนายโทมัส โอเจีย ควินตานา ทูตด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวยะไข่ว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากนายโทมัสได้เยี่ยมและพูดคุยกับชาวโรฮิงยาในค่ายที่พักพิงชั่วคราว ไม่เข้าเยี่ยมชาวยะไข่ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน

 

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีประชาชนส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันหน้าสำนักงานยูเอ็นในกรุงย่างกุ้ง โดยผู้ประท้วงได้ถือป้ายสนับสนุนประธานาธิบดีเต็งเส่งที่มีแนวคิดไม่ยอมรับชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของประเทศพม่า

 

 

 

ที่มา Irrawaddy

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น