วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พม่าจะกลับมาครองแชมป์ส่งออกข้าวได้อีกหรือไม่?

พม่ามีความพยายามจะกลับมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอีกครั้งเหมือนในอดีตที่เคยครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก

ย้อนกลับไปในปี 1930 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำเศรษฐกิจล่มสลายในช่วงที่ถูกควบคุมโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น พม่าเคยส่งออกข้าวถึงปีละ 7 ล้านตันเลยทีเดียว ในขณะที่ในปี 2011 ปริมาณการส่งออกข้าวเหลือเพียง 778,000 ตัน



ส่วนประเทศไทย แชมป์ในปัจจุบันที่มีปริมาณการส่งออกข้าว 10 ล้านตันต่อปี เริ่มจะหนาวๆ ร้อนๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจมีสิทธิ์ทวงบัลลังก์คืนได้เหมือนกัน

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ยังเชื่อว่า พม่าคงยังไม่กลับมาในปีสองปีนี้ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น ชาวนายังคงเป็นหนี้พอกพูนในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำ  นี่คือข้อมูลจากรายงานข่าวของสำรอยเตอร์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

รายงานข่าวยังระบุว่า การประเมินการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพม่าตั้งแต่รัฐบาลชุดล่าสุดเข้ามาทำงานพบว่า “ความเปลี่ยนแปลงล่าช้าเกินไป” หรือเป็นไปในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่เขตชนบท แทบมองไม่มีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นร้อยปี ยังอาศัยแรงงานวัวและเคียวเป็นเครื่องมือหลัก

การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมบวกกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพเป็นตัวถ่วงให้ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้นและเพิ่มมูลค่าในการส่งออกได้ บวกกับในส่วนของการคมนาคมขนส่งยังย่ำแย่และโรงสีข้าวพลังงานไอน้ำสมัยศตวรรษที่ 19 ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญเช่นกัน

เยมินอ่อง เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมข้าวของพม่า เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการขนส่งข้าวจากปากแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักมายังย่างกุ้ง ด้วยระยะทาง 120 ไมล์ พบว่า สูงกว่าการส่งจากย่างกุ้งไปยังสิงคโปร์ทางเรือ แล้วอย่างนี้การส่งออกข้าวของพม่าจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้อย่างไร

“การผลิตข้าวของพม่าที่ได้รับผลกระทบจากการการควบคุมของรัฐบาลมาเป็นเวลานาน ต้องการความพยายามอยากมากในการพัฒนาปรับปรุงเรื่องของสินเชื่อ ปัจจัยการผลิต และเครื่องมือในการเก็บรักษา” ซารามานดู โมฮานตี หัวหน้าของภาควิชาสังคมศึกษา สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในกรุงมนิลา กล่าว

“สิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือและระบบการเงิน ที่ล่มสลายมาหลายปีจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติ ต้องการการปรับปรุงอย่างมาก ถ้าพม่ายังฝันจะกลับไปเป็นเหมือนในยุคเฟื่องฟูที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก”

“ประเทศไทยที่อยู่ในระดับต้นๆ อาจอยู่ได้ไม่นานถ้าพม่าและกัมพูชาดำเนินการร่วมกันและปรับปรุงการผลิตข้าวให้ทันสมัยรวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศมีความอุดมสมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มผลผลิต และคว้าส่วนบแบ่งตลาดไปจากไทยได้”

ในปี 2010 รัฐบาลพม่าได้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่า(MRIA)  ขึ้นมา โดยได้รวมเอาผู้ผลิต ผู้ค้าและสมาคมโรงสีข้าวไว้ด้วยกัน และได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้โดยที่รัฐบาลไม่มีส่วนร่วมหรือเข้ามาแทรกแซง แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่จะต้องลงทุนจำนวนมาก แค่การก่อสร้างโรงสีใหม่หรือปรับปรุงโรงสีเดิมที่มีอยู่แล้วเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เงินมากถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินทุนมาจากไหน รายงานจาก IRRI ระบุว่า พม่าอาจจะนำระบบของอุรุกวัย ม้ามืดที่มีผลผลิตข้าวมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก มาใช้ โดยผลิตได้ 8 ตันต่อเฮกเตอร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ลักษณะของภาคการผลิตข้าวของอุรุกวัยมีการการบูรณาการแนวดิ่งและมีความโปร่งใสระหว่างชาวนา โรงสี นักวิจัยและรัฐบาล”

โรงสีให้เครดิตกับชาวนา 70 เปอร์เซ็นต์ของทุนการผลิต ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือและปัจจัยกาผลิตอื่นๆ และมีการประกันความเสียหายเพื่อป้องกันการสูญเสียผลผลิต นอกจากนี้ โรงสีข้าวในอุรุกวัยยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ค้าต่างชาติ และมีการประสานงานกันระหว่างโรงสีข้าว ชาวนา และนักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงพันธุ์พืชในศูนย์วิจัยของประเทศ โดยมีเงินทุนในการวิจัยมาจากการค้าข้าว

“ผู้บริโภคข้าวในเอเชียส่วนใหญ่เป็นจนจน แต่ขณะเดียวกันการบริโภคข้าวคุณภาพจากซุปเปอร์มาเก็ตของคนชั้นกลางก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

พม่าสามารถนำประสบการณ์ของอุรุกวัยไปใช้ในการผลิตข้าว แต่ก่อนอื่น พม่ายังมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ทำกินอยู่ซึ่งทำให้สถานการณ์ข้าวในพม่าย่ำแย่ ซึ่งชาวนาจำนวนมากกลัวว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากกว่าชาวนา โดยที่ผ่านมา ร่างกฎหมายที่ทำกินสองฉบับที่เพิ่งออกมาใหม่ อาจเปิดโอกาสให้รัฐยึดที่ทำกินของชาวบ้านได้มากขึ้น

การกลับคืนสู่บัลลังก์แชมป์เก่าผู้ส่งออกข้าวยังต้องเจออุปสรรคอีกหลายขั้น เพราะอยู่ในช่วงที่ประเทศกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงราคาข้าวของตลาดโลกที่ตกต่ำเพราะมีผู้ส่งออกมากขึ้น ประเทศไทยที่ติดอันดับต้นก็ยังต้องเจอคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียที่กำลังมาแรง ส่วนพม่าถึงแม้จะต้องเจองานหนักเพื่อให้ติดอันดับผู้ส่งออกข้าว แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว พม่าถือว่าอยู่ในท็อปไฟฟ์

 

จาก Can Burma Become World Rice Bowl Again? โดย  WILLIAM BOOT

อิระวดี 14 สิงหาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น