ในบรรดาประเทศสมาชิกองค์การอาเซียน ประเทศไทยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศพม่ายาวที่สุดถึง 2,401 กิโลเมตร และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงในทุกด้านจากพม่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้อพยพที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามอย่างรุนแรงทุกฤดูร้อนและหนีเข้ามาพึ่งความปลอดภัยในไทย ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายกว่าสามล้านคน ปัญหาโรคเอดส์และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่มาจากผู้อพยพและแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติดที่ทะลักมาจากฝั่งพม่าโดยเผ่าว้าแดงเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลักลอบเข้ามาในเขตไทย ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยอย่างกว้างขวางและยาวนานกว่า 40 ปี ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ปัญหาเหล่านี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลไทยยินดีและยินยอมเอาเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยที่มีกับพม่าไปผูกมัดกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและความอยู่รอดของระบอบเผด็จการ ของทหารพม่า (ไม่ใช่ความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศและประชาชนพม่า) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตราบใดที่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถ แยกแยะเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ออกจากเรื่องของความมั่นคงของระบอบเผด็จการทหารพม่า และยังยินดี ยินยอมสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารพม่าให้อยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้จากพม่า ตราบนั้นไทยก็จำต้องประสบ กับปัญหาในทุกๆ ด้านดังกล่าวข้างต้นต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณผิด ทำให้ระบอบเผด็จการทหารพม่าเข้าใจว่าฝ่ายไทยยินดีและยินยอมให้ฝ่ายพม่านำเรื่องความมั่นคงของระบอบเผด็จการทหารพม่ามาเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของไทยที่มีในพม่า เป็นผลทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยที่มีในพม่าตกเป็นตัวประกันให้กับความอยู่รอดและความมั่นคงของระบอบเผด็จการทหารพม่า ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ไทย-พม่าจึงเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ปราศจากความเท่าเทียมระหว่างกัน โดยไทยตกเป็นเบี้ยล่างและเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มีเพียงฝ่ายนักการเมือง พรรคการเมือง และพ่อค้าบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ขณะที่ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหาย ทุกด้าน เนื่องจากลักษณะของความสัมพันธ์ไทย-พม่าที่เกิดขึ้น ฝ่ายพม่าเป็นผู้มีอิทธิพลกำหนดรูปแบบ เนื้อหาและทิศทาง โดยฝ่ายไทยยินยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลชี้นำของระบอบเผด็จการทหารพม่าเพียงเพื่อหวังแลกกับ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพม่า อันเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ผิดปกติมาก ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ทุกอย่างจะก้าวหน้ายังประโยชน์ให้แก่ฝ่ายไทยได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่โดยตรงกับการที่ไทยจำต้องยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายพม่าเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับความปราณี ความพอใจของ ระบอบเผด็จการทหารพม่าเป็นสำคัญ ที่เป็นเช่นนี้มาโดยส่วนใหญ่เป็นเพราะ รัฐบาลไทยหลายยุค (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีพลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และนายสมัคร สุนทรเวช) ล้วนมองความสัมพันธ์ ไทย-พม่าว่ามีเพียงมิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของพรรคและพวกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
ความจริงในประเด็นนี้ได้รับการพิสูจน์ยืนยันอย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น จากนโยบาย พฤติกรรม และการดำเนินการของรัฐบาลพลตรีชาติชายฯ พลเอก ชวลิตฯ นายบรรหารฯ พ.ต.ท. ทักษิณฯ และนายสมัครฯ ที่ล้วนยินดีสวมบทบาทเป็นทนายแก้ต่างให้กับระบอบเผด็จการทหารพม่าอย่างออกหน้าออกตา ไร้ศักดิ์ศรี ไร้จริยธรรม ไร้คุณธรรม ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตน พรรคและพวกหวังได้รับจากฝ่ายเผด็จการทหารพม่าโดยปราศจากการคำนึงถึงผลเสียหายต่อความมั่นคง ภาพลักษณ์ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือ ของประเทศไทยในเวทีประชาคมโลก ตลอดจน ภาระหนักหน่วงในด้านต่างๆ ที่ประเทศและประชาชนไทยจำต้องแบกมาตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา*
นโยบายต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2)
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย (ยุค 2 พ.ศ.2543-2544) เป็นรัฐบาลเดียวที่พยายามทบทวนปรับปรุงแก้ไขนโยบายต่างประเทศ ที่มีต่อพม่าอย่างจริงจังและอย่างเป็นรูปธรรมและผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือที่ดี เป็นที่ชื่นชมยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่า จะเป็นในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยของไทย เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม โดยประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนพึงยึดเป็นรูปแบบ เพราะเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับประเพณี ค่านิยมประชาธิปไตย และผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ของไทยอย่างแท้จริง (ไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น) นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพในโลกด้วยเช่นกัน อาทิ การร่วมมือกับสหประชาชาติส่งกองกำลังทหารไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพภายใต้ธงของสหประชาชาติในประเทศติมอร์ตะวันออก เหล่านี้ล้วนเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดและส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในประชาคมโลก ตลอดจนเป็นการปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับการยกย่องนับถือจากประชาคมระหว่างประเทศ
ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศไทยต่อพม่าในยุคของรัฐบาลชวน(2)ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรมและทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับนับถือจากประชาคมระหว่างประเทศว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง และเป็นประเทศที่ใฝ่สันติ ส่งเสริมสันติภาพโลก และความร่วมมือในภูมิภาค ตลอดจนเคารพและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พอสรุปสาระสำคัญได้ว่าเป็นเพราะมีนโยบายที่ยึดเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง โดยมีเหตุผลสำคัญหลายประการดังนี้
ประการแรก เป็นนโยบายต่อพม่าที่ตระหนักดีว่าผลกระทบร้ายแรงในทุกด้านที่ไทยต้องประสบตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุโดยตรงมาจากรากเหง้าของปัญหาในพม่า (เช่น ระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เอื้ออาทรต่อประชาชนพม่า) ไม่ได้รับการแก้ไข ตรงกันข้ามกลับได้รับการซ้ำเติมให้เลวร้ายกว่าเดิมมาตลอดโดยฝ่ายระบอบเผด็จการทหารพม่า อีกทั้ง ตระหนักดีด้วยว่า หากระบบการเมืองในพม่ายังคงปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรม ประเทศไทยก็ยังจะต้องได้รับผลกระทบร้ายแรงที่มีสาเหตุโดยตรงจากวิกฤตร้ายแรงทางการเมืองและเศรษฐกิจในพม่า
ประการที่สอง เป็นนโยบายต่างประเทศที่ศึกษาและมองปัญหาวิกฤตการณ์ร้ายแรงในพม่าจากบริบทและเหตุการณ์ที่เป็นจริง (ไม่ใช่จากความเชื่อหรือจากการสมมุติเอาเองว่าเป็นจริงเพียงเพื่อ ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของพรรคและพวกอย่างเช่นสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลตรี ชาติชายฯ พลเอก ชวลิตฯ นายบรรหารฯ พ.ต.ท. ทักษิณฯ นายสมัครฯ เป็นอาทิ) โดยสามารถทำความเข้าใจ ได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ (หรือยุคหลังสงครามเย็น) ว่ามีมิติหลายด้านมาก ทั้งยอมรับว่าประเด็นเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ล้วนเป็นค่านิยมสากลที่ได้รับการยอมรับ สนับสนุน และส่งเสริมจากเหล่าอารยะประเทศของประชาคมโลก
ประการที่สาม เป็นนโยบายต่อพม่าที่ตระหนักดีว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ตลอดจนข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติทุกปีที่ประณาม ตำหนิ และเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าหาทางเจรจากับฝ่ายค้านเพื่อยุติปัญหาขัดแย้งระหว่างกันโดยสันติวิธี และเพื่อเร่งให้พม่ามีพัฒนาการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ตอกย้ำและบ่งชี้ชัดว่าประชาคมโลกมองปัญหาในพม่าว่าไม่ใช่เป็นเรื่องภายในของพม่าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระหว่างประเทศด้วย เพราะมีเรื่องของการละเมิดหลักการที่เป็นสากลอย่างต่อเนื่อง ร้ายแรง และกว้างขวาง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม โดยฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ประการที่สี่ เป็นนโยบายต่อพม่าที่ตระหนักดีว่าการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเป็นมิตรและมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่สร้างปัญหาให้กัน ตลอดจนเป็นความสัมพันธ์ที่มีหลายมิติ ไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หรือมีการตั้งเงื่อนไข หรือข่มขู่กัน (อย่างที่ระบอบเผด็จการทหารพม่าได้ใช้วิธีการนี้กับรัฐบาลไทยและพ่อค้าที่มักง่ายและตะกละตะกลาม อย่างได้ผลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา)
ประการที่ห้า เป็นนโยบายต่อพม่าที่รู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอดว่ามีทางเดียวที่ประเทศไทยจะสามารถพิทักษ์รักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ด้านต่างๆ ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการทหารพม่า ไม่ยอมตกเป็นตัวประกันให้กับความมั่นคงและความอยู่รอดของระบอบเผด็จการทหารพม่า และต้องประกาศจุดยืนและค่านิยมทางการเมืองของไทยออกมาอย่างแจ้งชัด ในประเด็นสำคัญนี้เห็นได้ชัดว่า ตลอดระยะเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายชวน หลีกภัยทั้งสองสมัย นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยไม่เคยไปเยือนพม่าแม้แต่ครั้งเดียว
รัฐบาลชวน(2)ประสบผลสำเร็จในการปกป้องรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติในทุกด้านไว้ได้ เพราะมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะดำเนินความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศพม่าโดยยึดเหตุผลแห่งนโยบายทั้ง 5 ข้อข้างต้น ไม่ยอมให้ผลประโยชน์คับแคบของบางกลุ่มบางพวกมาอยู่เหนือผลประโยชน์แห่งชาติ
ทั้งนี้ ความสำเร็จของนโยบายต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2) อยู่ที่ยุทธศาสตร์การเมืองที่สำคัญยิ่งสองประการ คือ
หนึ่ง ประเทศไทยจะไม่ยินยอมให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้องค์การอาเซียนเป็นเครื่องมือ ค้ำจุนปกป้องระบอบเผด็จการทหารพม่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไทยจะไม่ยินยอมให้ระบอบเผด็จการ ทหารพม่าทำปัญหาพม่าให้กลายมาเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย(ASEANIZED Myanmar Problems) รวมทั้งไม่ยินยอมให้พม่าหรือประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่งประเทศใดใช้ชื่อขององค์การอาเซียนทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่างให้กับระบอบเผด็จการทหารพม่า หากมีประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศใดต้องการปกป้องคุ้มครองระบอบเผด็จการทหารพม่าในเรื่องที่ประชาคมโลกประณามระบอบเผด็จการทหารพม่า สามารถกระทำได้โดยเอกเทศ แต่ไม่สามารถอ้างว่ากระทำในนามของอาเซียน ชื่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิขององค์การอาเซียนต้องไม่ถูกแปดเปื้อนจากคราบเลือดของระบอบเผด็จการทหารพม่าที่ประชาคมโลกประณามการกระทำตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
สอง เพื่อการหลุดพ้นจากการตกเป็นเครื่องมือและตัวประกันให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ประเทศไทยจำต้องปฏิเสธไม่ยินยอมให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าทำการเชื่อมโยงหรือผูกมัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยที่มีในพม่าไว้กับความมั่นคงและความอยู่รอดของระบอบเผด็จการ ทหารพม่า เพราะหากฝ่ายไทยยินยอมให้มีการเชื่อมโยงดังกล่าว ก็เท่ากับนโยบายต่างประเทศของไทยต่อพม่าขาดความเป็นอิสระ ไม่เป็นนโยบายต่างประเทศที่จะสามารถดูแลปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้อย่างแท้จริง อีกทั้งจะเป็นการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบอบเผด็จการ ทหารพม่ามีความเข้มแข็งและดำรงอยู่ต่อไป โดยไม่ดำเนินการให้เกิดพัฒนาการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม เป็นผลทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาหลายด้านที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของไทยอย่างหนักหน่วงไม่มีที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ เพราะระบอบเผด็จการทหารพม่าคือรากเหง้าของปัญหาบ่อเกิดของวิกฤตร้ายแรงในพม่า เสมอมา ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อไทยโดยตรงมาตลอด 45 ปี ของระบอบเผด็จการทหารพม่า
บทเรียนความสำเร็จของยุคชวน(2)
นโยบายต่อพม่าของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเป็นประการใดนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่หากศึกษาพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 พอจะกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า เนื้อหาของคำให้สัมภาษณ์เป็นการบ่งบอกให้เห็นได้ว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์มีความเข้าใจ ยอมรับและเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นต้องสานต่อจากนโยบายและยุทธศาสตร์การเมืองต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2) ที่มุ่งเน้นความมั่นคง ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2) แม้จะเป็นเวลาเพียง 2 ปี (พ.ศ.2543-2544) แต่ก็ประสบผลสำเร็จอันสำคัญที่เป็นรูปธรรมและสามารถปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นผลทำให้ฐานะของประเทศไทยได้รับการยกย่องชื่นชมจากประชาคมระหว่างประเทศและเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนพึงยึดถือ
แต่ภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือที่ดีงามดังกล่าวได้ถูกทำลายลบล้างจนหมดสิ้นจากการขึ้นมามีอำนาจการเมืองแบบผูกขาดของระบอบทักษิณ หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องการกู้ภาพลักษณ์ของไทยด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายตาประชาคมกลับมา สิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาคือ การทบทวนบทเรียนความสำเร็จจากนโยบายต่อพม่าในยุครัฐบาลชวน(2) ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญได้หลายประการดังนี้
ประการแรก สามารถยกเลิกและตัดความเชื่อมโยง(de-link) ระหว่างความมั่นคง และความอยู่รอดของระบอบเผด็จการทหารพม่ากับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยมีกับพม่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลชวน(2)ปฏิเสธการสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารพม่าเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องการจากพม่า กล่าวง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยไม่ต้องการให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยตกเป็นตัวประกันให้กับระบอบเผด็จการทหารพม่า แม้ฝ่ายพม่าจะ พยายามขู่ไทยด้วยการปิดชายแดนและใช้นโยบายยุแยงตะแคงรั่วให้เกิดความแตกแยกในสังคม-การเมืองไทย ใช้นักการเมืองและพ่อค้าไทยที่มีผลประโยชน์ร่วมกับระบอบเผด็จการทหารพม่ามากดดันรัฐบาลชวน(2) ให้ยอมจำนนต่อความประสงค์ของฝ่ายพม่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะรัฐบาลชวน(2)ไม่หวั่นไหวต่อการข่มขู่กดดันทางการเมืองดังกล่าว
ประการที่สอง สามารถปฏิเสธ คัดค้านและป้องกันมิให้ระบอบเผด็จการทหารพม่าใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่าง ปกป้องพม่าในเรื่องต่างๆ ที่ประชาคมโลกประณามพม่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไทยประสบผลสำเร็จในการป้องกันมิให้เผด็จการทหารพม่าทำปัญหาและวิกฤตการณ์ร้ายแรงทางการเมืองและเศรษฐกิจของพม่า กลายมาเป็นปัญหาร้ายแรงของอาเซียน เพื่อหวังให้อาเซียนเข้ามาช่วยเป็นทนายแก้ต่างและตอบโต้ประชาคมโลกแทนพม่า (ASEANIZED Myanmar Problems) ทั้งๆ ที่องค์การอาเซียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยกับการเข่นฆ่าประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตลอดจน การเหยียบย่ำทำลายหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมในพม่า โดยฝ่ายเผด็จการทหารพม่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าก็ยังพยายามที่จะให้มือของอาเซียนแปดเปื้อนด้วยเลือดเช่นกัน แต่พม่าก็ไม่ประสบผลเพราะรัฐบาลไทย(รัฐบาลชวน(2)) ไม่หวั่นไหวและหนักแน่นยืนกรานไม่ให้ฝ่ายพม่าใช้องค์การอาเซียนเป็นเกราะกำบังให้พม่า
จากการมีนโยบายและจุดยืนแน่ชัดของไทยในประเด็นนี้ เป็นผลให้พม่าถูกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) คว่ำบาตรเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกตั้งแต่ประเทศพม่าเข้าเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ การที่ ILO มีมาตรการลงโทษพม่าเป็นเพราะรัฐบาลเผด็จการ ทหารพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาเป็นเวลาหลายสิบปีในเรื่องของการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็กและสตรี เพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร เป็นผลทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายพันคน จากการเหยียบกับระเบิด และจากการทรมาน ทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยฝีมือของทหารพม่า
ประการที่สาม สามารถทำให้พม่าหันมาให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีที่ปกติระหว่างพม่ากับไทยบนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่สร้างปัญหาให้กันและกัน เลิกใช้วิธีการข่มขู่และแทรกแซงในกิจการภายในระหว่างกัน ไม่เข้ามาก้าวก่ายยุแยงตะแคงรั่วให้เกิดความแตกแยกในสังคมการเมืองของไทยด้วยวิธีการยื่นผลประโยชน์ ให้กับนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการไทย เพื่อหวังให้มากดดันรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามความประสงค์ของฝ่ายพม่า (ตามที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเคยประสบผลสำเร็จมาหลายครั้งกับรัฐบาลไทยหลายรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลชวน(2))
จึงสรุปได้ว่านโยบายและยุทธศาสตร์ต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2)ถือได้ว่าเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สามารถปกป้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ตลอดจนเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อพม่าที่สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นว่า ปัญหาทุกด้านที่ประเทศไทยต้องประสบมาตลอด 45 ปีจากเหตุการณ์ในพม่าและได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงในทุกด้านของไทยล้วนมีสาเหตุมาจากรากเหง้าของปัญหา นั่นคือระบอบเผด็จการทหารพม่าที่ไม่เอื้ออาทรต่อประชาชนพม่าและไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะในรูปแบบและเนื้อหา
มรดกล้ำค่าจากรัฐบาลชวน(2)ถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์
หากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์พิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับที่มาและเหตุผลแห่งนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อพม่าของรัฐบาลชวน (2) ดังได้สรุปสารัตถะสำคัญทั้งหมดไว้ให้แล้วข้างต้น รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ก็ย่อมจะเห็นได้เองถึงความสำคัญและความจำเป็นที่พึงมีการสานต่อจากนโยบายต่อพม่าสมัยรัฐบาลชวน(2) และเนื่องจากรากเหง้าของปัญหาพม่ายังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ระบอบเผด็จการทหารพม่ายังคงมีนโยบาย ท่าที และพฤติกรรมต่อประชาชนพม่าเหมือนอย่างที่เป็นมาตลอด 45 ปี
ที่ผ่านมา นโยบายของไทยต่อพม่ายังจำเป็นต้องคงไว้อย่างเดิม (ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติอย่างเป็นขั้นตอน อย่างเป็นรูปธรรมและโดยสันติวิธี)
แต่เนื่องจากในห้วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตร้ายแรงถึงสองครั้ง ในพม่า (การเข่นฆ่าพระสงฆ์และประชาชนพม่า เมื่อกันยายน 2550 และ การที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าหน่วงเหนี่ยวเตะถ่วงการรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประชาคมระหว่างประเทศกรณีพายุไซโคลนนาร์กิสกระหน่ำพม่าเมื่อพฤษภาคม 2551 เป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 125,000 คน และสูญหายกว่า 56,000 คน) ตลอดจนนโยบายและท่าที ของประชาคมระหว่างประเทศที่ได้หันมาสนใจปัญหาพม่ามากขึ้นพร้อมทั้งประณามความไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องปรับ/เปลี่ยนยุทธศาสตร์ของไทยต่อพม่า เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สอดคล้องกับบริบท เงื่อนไข และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาสำหรับการพิจารณาปรับ/เปลี่ยนยุทธศาสตร์ของไทยต่อปัญหาพม่านั้น ในชั้นนี้มีความจำเป็นต้องพิจารณาและตระหนักให้ดีในข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
ข้อแรก ปัจจุบันประชาคมระหว่างประเทศมีท่าทีร่วมกันที่เป็นเอกภาพใน 4 เรื่องคือ หนึ่ง ประณามการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้ความรุนแรงต่อประชาชน สอง ร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาขัดแย้ง โดยสันติวิธี เพื่อนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองภายในพม่า ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าหันมาเจรจากับฝ่ายค้านแทนการปราบปรามรุนแรง สาม สนับสนุนบทบาทหลักของสหประชาชาติในการช่วยผลักดันให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน สี่ เห็นร่วมกันว่าปัญหาพม่าไม่ใช่เรื่องภายในของพม่าเท่านั้น แต่มีมิติด้านระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย (อาทิ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ปัญหาการไม่เคารพและทำลายหลักนิติธรรม เป็นต้น)
ข้อสอง เพื่อมิให้ฝ่ายพม่ามีพื้นที่มากที่จะสามารถหลบเลี่ยงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประชาชนพม่าและต่อประชาคมโลก ในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่จำต้องเคารพปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสัญญาและอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องตีกรอบเพื่อจำกัดพื้นที่ ไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามีไพ่หลายสำรับให้เล่น (เช่น ไพ่จีน ไพ่อินเดีย ไพ่รัสเซีย เป็นต้น) และด้วยเหตุผลสำคัญที่องค์การสหประชาชาติไม่มีผลประโยชน์อะไรกับพม่า หรือมีความขัดแย้งอะไรกับพม่า แต่จะมีความเป็นกลางในเรื่องของความขัดแย้งในพม่า จึงเป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศให้เข้ามามีบทบาทหลักโดยตรงในการผลักดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตย และการปรองดองแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรมในพม่า ดังนั้นทั้งอาเซียนและประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะบีบให้พม่าเล่นไพ่จากสำรับเดียวคือ สำรับของสหประชาชาติ เพื่อให้การแก้ปัญหาพม่าจำกัดอยู่ในกรอบของสหประชาชาติเป็นสำคัญ
ข้อสาม ด้วยเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบและแบกภาระมากที่สุดจากปัญหาร้ายแรงในพม่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา (เช่น ปัญหาผู้อพยพ ปัญหายาเสพติด ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจำต้องให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ (สหประชาชาติ) อย่างใกล้ชิด และอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติใช้มาตรการทางการเมืองและการทูตโน้มน้าวกดดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นในพม่าอย่างเป็นรูปธรรม เป็นขั้นตอน ชัดเจน และอย่างสันติวิธี และเพื่อตอกย้ำให้ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้สังวรไว้ด้วยว่า แนวคิดเกี่ยวกับอธิปไตยของรัฐนั้น ในยุคโลกาภิวัตน์มิได้มีความหมายเพียงเรื่องของการไม่แทรกแซงในกิจการภายในระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงเรื่องของความรับผิดชอบที่รัฐพึงมีต่อประชาชนอีกด้วย ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนตลอด 45 ปีที่ผ่านมา และอ้างหลักการเรื่องอธิปไตยของรัฐมาเป็นเกราะคุ้มกันเพื่อหวังว่าประชาคมระหว่างประเทศจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงในพม่า เป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่อาจยอมรับได้
ข้อสี่ เหตุการณ์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่า ไทยไม่สามารถพึ่งความร่วมมือจากองค์การอาเซียนได้ในกรณีที่เกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงทุกด้านที่ไทยได้รับที่มีสาเหตุมาจากระบบการเมืองพม่าที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เอื้ออาทรต่อประชาชน พม่า ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญเป็นเพราะว่าองค์การอาเซียนไม่เคยมีนโยบาย ร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาพม่า (ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนแล้ว) ความแตกต่างอย่างมากของระบอบการเมืองค่านิยม และวัฒนธรรมทางการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนการที่แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีผลประโยชน์กับพม่าที่แตกต่างกัน รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาในพม่าที่ต่างกันมาก อีกทั้งการที่อาเซียนยึดมั่นในหลักการเรื่องการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของแต่ละประเทศเสมือนเป็นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ โดยมองข้ามความจริง ข้อเท็จจริง และผลกระทบต่อภูมิภาคต่อภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือขององค์การอาเซียน ล้วนเป็นสิ่งยืนยันให้ประเทศไทยเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพึ่งความร่วมมือและความสนับสนุนจากเวทีประชาคมระหว่างประเทศ (สหประชาชาติ) ควบคู่ไปกับการดำเนินการทางการทูตระดับทวิภาคีโดยตรงกับพม่า และกับประเทศ และกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ต้องการเห็นกระบวนการประชาธิปไตย และการปรองดองแห่งชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในพม่า
ข้อห้า ความมั่นคงและผลประโยชน์ทุกด้านของประเทศไทยจักได้รับการปกป้องและส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป็นไปอย่างรอบด้าน มิใช่จำกัดอยู่เพียงแต่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะหากถูกจำกัดอยู่เพียงด้านเศรษฐกิจก็จะมีผลทำให้ไทยตกเป็นตัวประกันให้กับระบอบเผด็จการทหารพม่าอีกต่อไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไทยยอมให้พม่าเอาเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยอยากได้จากพม่ามาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อให้ฝ่ายไทยตอบสนองผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของพม่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจักสามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นไทยได้อย่างเป็นผลสำเร็จ หากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์มีนโยบายต่อพม่าที่เป็นการสานต่อจากนโยบายต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2) โดยยึดหลักการและเหตุผลแห่งนโยบายต่อพม่าของรัฐบาลชวน(2)เป็นแนวทางภายใต้การพิจารณาปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในระดับโลกและระดับภูมิภาคในห้วงเวลาปัจจุบัน
*รายละเอียดในเรื่องนี้โปรดดูจากบทความของผู้เขียน "ไทย-อาเซียน และปัญหาพม่า" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 เมษายน วันที่ 29 เมษายน - 6 พฤษภาคม และวันที่ 6-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และบทความของผู้เขียนในหนังสือ "การทูต การเมือง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว" หน้า 23-24
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น