หากวันนี้สิ่งที่คุณรัก และคนที่คุณรัก กำลังจะเลือนหายไปและกลายเป็นเพียงความทรงจำ คุณจะทำอย่างไรจึงจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ได้?
The Village Album ภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติญี่ปุ่น กำกับโดย Mitsuhiro Mihara ถ่ายทอดเรื่องราวของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในหุบเขาอันงดงามที่กำลังจะจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อจะมีการก่อสร้างเขื่อน ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดทำ “สมุดภาพหมู่บ้าน” โดยมี เคนอิจิ เจ้าของห้องภาพเก่าแก่ของหมู่บ้าน เป็นผู้รับงานสำคัญชิ้นนี้ และมีผู้ช่วย คือ ทากาชิ ลูกชายซึ่งเป็นเด็กฝึกงานช่างภาพแฟชั่นในโตเกียว
มองในชั้นแรก The Village Album สะท้อนมุมความขัดแย้งของคนต่างวัย ต่างวิถีชีวิต ผ่านตัวละครหลัก ๒ ตัว คือ พ่อ ผู้เป็นช่างภาพที่เลือกจะอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เพราะต้องการให้ภรรยาที่ป่วยเป็นโรคปอด ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ และลูกชาย ที่เลือกจะใช้ชีวิตในเมืองกรุง ใฝ่ฝันจะเป็นช่างภาพแฟชั่นมืออาชีพ เมื่อต้องกลับมาทำงานชิ้นเดียวกัน ลูกชายใจร้อนก็ได้ค่อยๆ เรียนรู้สิ่งสำคัญ นั่นก็คือ หัวใจของการถ่ายภาพ
เคนอิจิ ผู้เป็นพ่อ ยังใช้กล้องแบบโบราณที่ต้องมุดเข้าไปถ่ายในผ้าคลุมกันแสง ถ่ายภาพเพียงครั้งละ ๑-๒ ภาพ และล้างอัดภาพเองในสตูดิโอที่บ้าน แม้ภรรยาจะตายไปแล้ว แต่เคนอิจิก็ยังอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อรักษาความทรงจำที่มีต่อภรรยาผู้ล่วงลับไป การตัดสินใจรับงานสมุดภาพของหมู่บ้าน คือ ของขวัญที่เขาจะมอบให้แก่หญิงอันเป็นที่รัก และหมู่บ้านของเขาและเธอ
ต่างจาก ทากาชิ หนุ่มไฟแรงที่อยากเป็นช่างภาพมืออาชีพ เขารู้จักแต่การใช้กล้องดิจิตอล คุ้นที่จะรัวชัตเตอร์เก็บภาพนางแบบหลายๆ ครั้งเพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุด และปฏิเสธว่าช่างภาพเชยๆ อย่างพ่อ คือต้นแบบของเขาเอง
หากมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในอีกชั้น เรื่องที่ซ้อนอยู่ คือ เรื่องราวการต่อสู้แบบเงียบๆ ของชุมชนที่จะต้องถูกย้ายจากเขื่อน ชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้ออกมาปิดถนนประท้วง หรือเผาหุ่นนายกรัฐมนตรี แต่เลือกที่จะบันทึกภาพของทุกครอบครัวไว้ในสมุดแห่งความทรงจำของชุมชน เพราะภาพเหล่านี้จะไม่มีอีกแล้ว ดังที่กรรมการหมู่บ้านบอกว่า “ถ้ามีการสร้างเขื่อนเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลง เราเลยคิดจะทำสมุดภาพไว้ตอนนี้เลย”
ในแต่ละวัน สองพ่อลูกจะเดินเท้าไปยังบ้านต่างๆ เพื่อถ่ายรูป ช่างภาพอย่างเคนอิจิ ไม่ถ่ายภาพเกินวันละ ๓ ครอบครัว ด้วยการเดินไต่สันเขาและเนินเขาลูกแล้วลูกเล่า ทากาชิ ได้เรียนรู้ว่า พ่อเลือกที่จะเดิน ไม่นั่งรถ ก็เพื่อที่จะได้เห็นสิ่งดีๆ ระหว่างทาง เพราะภาพที่ถ่ายออกมา คือ ภาพสมาชิกของแต่ละครอบครัวและวิถีชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น พ่อบ้านและแม่บ้านที่ลากเอาวัวเข้ากล้องด้วย ผัวหนุ่มเมียสาวชาวไร่ที่ชูหัวผักกาดอย่างภูมิใจ และคุณยายยามาโมโตะ ที่ถ่ายกับกรอบรูปภาพของคุณตาผู้ล่วงลับ
คุณยายชราอยู่คนเดียวในบ้านโบราณกลางไร่ที่ปลายเขา ไม่ย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน เพราะ “ถ้าตากลับมาแล้วไม่เจอยาย ตาคงจะเหงา” สิ่งนี้ไม่ต่างจากชุมชนดั้งเดิมที่อื่นๆ ที่ผืนดินมีความหมายลึกซึ้งในทางจิตใจ บ้านและผืนดินคือประวัติศาสตร์ของครอบครัว ไม่สามารถย้ายกันได้ง่ายๆ เหมือนคนในเมืองย้ายบ้านเช่าหรือคอนโดมิเนียม
สำหรับคนเมืองอย่างทากาชิ งานชิ้นนี้เป็นงานของพ่อ และมีเขาเป็นผู้ช่วย แต่สำหรับชาวบ้าน งานนี้คือสิ่งสำคัญของทุกคน เพื่อนสมัยประถมของทากาชิ บอกเขาอย่างรู้ทันว่า “สำหรับนาย หมู่บ้านนี้ก็เป็นแค่สิ่งที่ให้นายคิดถึงบางครั้ง แต่สำหรับฉัน ฉันเลือกจะอยู่ที่นี่ และคือความจริงของทุกๆ วัน” ทำให้เมื่อต้องรับผิดชอบงานเอง ทากาชิพบว่าภาพของเขามันไร้ชีวิต ผิดกับภาพที่พ่อถ่าย ที่แทบจะมีเสียงหัวเราะของคนในภาพดังออกมาด้วย เพราะเขาไม่รู้ว่า ความผูกพันกับแผ่นดิน คือ สิ่งสำคัญที่เขาไม่มีเหมือนผู้เป็นพ่อ
ในความเป็นดราม่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีบทสนทนาไม่มาก แต่ผู้กำกับใช้สัญลักษ์และภาพ สะท้อนประเด็นต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เสียงเพลง Amazing Grace ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในงานศพของศาสนาคริสต์ เป็นเพลงบอกเวลาผ่านเสียงตามสายของหมู่บ้าน ยามอาทิตย์ลับยอดดอย แสงทองอาบไล้ผืนดิน พร้อมกับเสียงเพลงอำลาที่ดังก้องทั้งหุบเขา ราวกับจะย้ำเตือนว่า วันสุดท้ายของหมู่บ้าน ใกล้จะมาถึงแล้ว
กล่าวได้ว่า ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอ มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างแยกไม่ออก นั่นคือ ไฟฟ้าและน้ำที่เราใช้อยู่ทุกวัน และที่มาของสองสิ่งนี้ คือ เขื่อน
ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและน้ำจากเขื่อน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม มักเป็นสิ่งที่ถูกละเลย วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของชุมชนที่ติดแน่นกับแผ่นดิน เป็นสิ่งที่คนในเมืองแทบไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่า การโยกย้ายออกจากแผ่นดินมาตุภูมิเป็นเรื่องขมขื่นเพียงใด
ชาวบ้านในภาพยนตร์ใช้ภาพถ่ายเป็นตัวแทนความทรงจำ แต่ชาวบ้านชาติพันธุ์ตามลุ่มน้ำต่างๆ ในพม่าจะมีอะไรมาต่อกรกับโครงการเขื่อนมหึมากำลังรุกคืบ จะสู้อย่างไรกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งไทย จีน ที่เข้ามาตักตวงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์เพื่อปั่นไฟฟ้าจากลุ่มน้ำสาละวิน อิรวดี ตะนาวศรี และสายน้ำอื่นๆ
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ทางเลือกเรื่องนี้ฉายในโรงหนังเพียงไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ และแผ่น CD ก็หาซื้อค่อนข้างยาก หากใครมีแผ่น CD หยิบมาแบ่งปันกันดูอีกครั้ง อาจทำให้คนในเมืองอย่างพวกเรา เข้าใจได้ว่า น้ำและไฟฟ้าที่เราใช้นั้น มาจากไหน
{เผยแพร่ครั้งแแรกในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 42 (1 ต.ค. - 15 พ.ย. 50)}
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น