วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

Burma VJ



คุณจะทำอย่างไร หากคุณต้องเป็นนักข่าวในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารอย่างพม่าที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน? แล้วคุณจะเลือกทำสิ่งไหนระหว่างปิดปากเงียบเพื่อไม่ให้ตัวเองและครอบครัว เดือดร้อน หรือเปิดโปงทำให้โลกรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศของคุณแต่เท้าของคุณสามารถก้าวเข้าไปอยู่ในคุกได้ทุกเมื่อ

ภาพยนตร์สารคดีที่กำลังอยู่ในกระแสคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ กำกับโดย Anders Østergaard ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวเดนมาร์ก โดยเขียนบทร่วมกันกับ Jan Krogsgaard เพื่อนร่วมงานจากชาติเดียวกันในหนังสารคดีเรื่องนี้ด้วย Burma VJ ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังในหลายประเทศแล้ว ซึ่งสามารถกวาดรางวัลมาแล้วหลายรางวัล ทั้งจากเทศกาล  Full Frame Documentary Festival 2009, เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (International Documentary Film Festival Amsterdam 2008) เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (Berlin Film Festival 2009) และ Sundance Film Festival 2009

คำว่า VJ ย่อมาจาก Video Journalist ซึ่งต้องการสื่อถึงนักข่าวในพม่าที่ต้องทำหน้าที่เป็นช่างภาพในเวลาเดียวกัน เป็นที่มาของชื่อเรื่อง Burma VJ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของนักข่าวกลุ่มหนึ่งในพม่าที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ซึ่งเป็นสำนักข่าวพม่านอกประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ โดยพวกเขาสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน ปี 2550 ที่ผ่านมา ออกสู่สายตาชาวโลก จนทำให้หลายคนต้องช็อกกับภาพเหตุการณ์ที่พวกเขานำเสนอมาแล้ว ในเวลาเดียวกันภาพข่าวของพวกเขาได้ส่งกลับไปให้ประชาชนในพม่าได้รับรู้ผ่านสถานีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณดาวเทียมรวมถึงผ่านทางวิทยุ แต่การได้มาของภาพข่าวในแต่ละช็อตอาจต้องเสี่ยงด้วยชีวิตและอาจถูกจับตัวยัดเข้าตารางได้ทุกเมื่อ เหมือนเส้นทางชีวิตนักข่าวของพวกเขาบางคนที่ต้องจบลงอย่างน่าเศร้า แม้ภาพเหตุการณ์บางฉากใน Burma VJ จะถ่ายทำ ขึ้นมาใหม่ แต่เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง โดยมีจอส่อ นักข่าวและช่างภาพวัย 27 ปีเป็นตัวเดินเรื่อง


"เมื่อไหร่ที่ผมหยิบกล้องถ่ายวิดีโอขึ้นมาถ่าย บางทีมือของผมอาจกำลังสั่น หัวใจของผมอาจกำลังเต้นแรง"
หนังเปิดตัวด้วยคำพูดของจอส่อ นักข่าวและช่างภาพวัย 27 ปีซึ่งเป็นตัวเดินเรื่อง ในขณะที่เขากำลังแอบถ่ายชายพม่าคนหนึ่งยืนถือป้ายประท้วงอยู่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2550 ซึ่งต่อมากลายเป็นข่าวใหญ่ในบรรดาเว็บไซต์ข่าวพม่านอกประเทศว่า ชายคนนี้ถูกจับตัวไปหลังออกมายืนประท้วงเดี่ยว บรรยากาศในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 ประชาชนในพม่าเริ่มไม่พอใจรัฐบาลพม่าขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐบาลพม่าขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันหลายเท่าตัว ขณะที่ประชาชนทั่วไปต้องอยู่อย่างอดอยากแร้นแค้น จอส่อรู้ดีว่า แม้ประชาชนทั่วไปจะปิดปากเงียบ แต่ในไม่ช้า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้กระบอกปืนของรัฐบาล และเขาไม่อยากพลาดที่จะเก็บภาพเหล่านั้นไว้

"ผมรู้สึกว่าโลกกำลังจะลืมเรา นั่นจึงทำให้ผมตัดสินใจมาเป็นนักข่าว อย่างน้อยผมก็ยังสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าพม่ายังอยู่ตรงนี้" จอส่อพูดไว้ได้น่าสนใจ แต่ทว่า การเป็นนักข่าวในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารและปิดตัวเองจากโลกภายนอกอย่างพม่าถือว่า
ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก


"เราต้องเอากล้องวิดีโอซ่อนไว้ในกระเป๋าสะพาย เราสามารถบันทึกภาพในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากได้ภาพแล้ว เราต้องหาทางลักลอบส่งภาพเหล่านี้ออกนอกประเทศ แม้เป็นงานที่ยากมาก แต่พวกเราทุกคนก็พยายาม ถ้าผมถูกจับพร้อมกับกล้องวิดีโอ ผมรู้ดีว่าจะถูกนำตัวไปขังคุก และหากชาวบ้านพูดกับพวกเราในสิ่งที่พวกเขากำลังคิด พวกเขาก็จะหายตัวไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น พวกชาวบ้านจึงเลือกที่จะปิดปากเงียบ"
นี่คือคำพูดหนึ่งของจอส่อที่สะท้อนให้เห็นถึงอาชีพนักข่าวในพม่าที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้อย่างชัดเจน

ความตึงเครียดในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา ด้านแกนนำนักศึกษาจากปี 1988 (2531) และนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนถูกทางการพม่าคุมขังหลังออกมาประท้วงการขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันอย่างสันติ โชคไม่ดีเกิดขึ้นกับจอส่อด้วยเช่นกัน เพราะเขาถูกทางการพม่าจับได้ หลังพยายามเข้าไปถ่ายภาพการประท้วงแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง จอส่อถูกนำตัวไปสอบปากคำยังออฟฟิศลับแห่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่า เขาถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมาแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเทปและกล้องวิดีโอไว้ ทว่า การปล่อยตัวจอส่อครั้งนี้กลับมีบางอย่างแอบแฝง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทางการพม่ากำลังเฝ้าจับตามองว่าเขาทำงานให้กับองค์กรไหน แม้จอส่อจะรู้ว่าตัวเขาไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว แต่เขาก็ยังดึงดันที่จะอยู่ในพม่าต่อไป เพราะเชื่อว่าการประท้วงใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน และเขาไม่อยากพลาดที่จะเก็บภาพเหล่านั้นไว้

และแล้วในวันที่ 28 สิงหาคม 2550 นางซูซูนวย นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและประชาชนบางส่วนได้ออกมาชุมชนประท้วง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทางการทำร้ายร่างกายและจับกุมตัว โดยจอส่อและเพื่อนร่วมงานสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ได้ และต่อมาถูกเผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก แต่ท้ายที่สุด จอส่อถูกทาง DVB สั่งให้เดินทางเข้าไทยทันทีหลังเนื่องจากเกรงว่าเขาจะถูกจับตัวหากยังอยู่ในแผ่นดินบ้านเกิด สร้างความผิดหวังให้เขาอยู่ไม่น้อยที่ไม่สามารถเฝ้าดูและเก็บภาพเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ แต่เขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ทันทีหลังเดินทางเข้าไทย โดยเขาจะต้องเป็นผู้ที่คอยประสานงานให้กับนักข่าวในพม่า นอกจากนี้ยังต้องคอยเป็นผู้ส่งภาพข่าวในพม่าออกไปยังสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก รวมถึงฝึกอบรมให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ด้วย

ความตึงเครียดในพม่าเริ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน หลังเจ้าหน้าที่จากทางการพม่าทำร้ายร่างกายพระสงฆ์ในเมืองปะโคะกู่ ภาคมะกวย ทำให้พระสงฆ์ออกมาเดินประท้วงและประกาศไม่รับบิณฑบาตจากผู้นำพม่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าขอขมาต่อพระสงฆ์ที่ถูกทำร้าย แต่กลับไม่มีท่าทีใดๆ จากผู้นำพม่า จนท้ายสุดเหตุการณ์เริ่มบานปลาย ตัวเลขของพระสงฆ์ที่ออกมาประท้วงเริ่มจากสิบและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นร้อย จากร้อยเป็นพันและเป็นหมื่น ทั้งในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ บวกกับความตึงเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ จนในท้ายสุด กลายเป็นการประท้วงใหญ่ที่มีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน


"เราขอเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเดี๋ยวนี้ เราขอเรียกร้องให้มีการเจรจา เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงนางอองซาน ซูจีด้วย เราขอเรียกร้องให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน"นี่คือคำพูดของผู้นำพระสงฆ์ในหนังเรื่องนี้ โดยมีประชาชนปรบมือและโห่ร้องยินดีกึกก้องไปทั่วเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ตามสถานีโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง BBC และ CNN ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การที่พระสงฆ์ออกมาประท้วงทำให้ภาพของพระสงฆ์กลายเป็นฝ่ายธรรมมะที่กล้าท้าอำนาจฝ่ายอธรรมอย่างรัฐบาลพม่าในสายตาของประชาชนไปโดยปริยาย

เราสามารถเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ความกลัวอำนาจมืดและกระบอกปืนได้หายไปจากใจของประชาชนในพม่าไปชั่วขณะ แววตาของชาวพม่าทั่วไปตามท้องถนนเริ่มมีความหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งก็ไม่ต่างจากจอส่อและเพื่อนร่วมงานที่เริ่มมีความหวังขึ้นในใจเต็มเปี่ยม

ในขณะเดียวกัน ทีมนักข่าว DVB ในพม่าต่างทำงานแข่งกับเวลาและทุมเทกายใจทั้งหมดเพื่อให้ได้ภาพมากที่สุด โดยแบ่งงานกันไปถ่ายภาพ ตามสถานที่ที่มีการประท้วง ขณะที่นักข่าวบางคนเกาะติดและร่วมทำงานกับผู้นำพระสงฆ์ ด้านจอส่อ แม้ความหวังจะปรากฏขึ้นในใจของเขาอย่างเห็นได้ชัด แต่ความกลัวก็ยังคงแทรกซึมเข้ามาอยู่ในใจของเขาอย่างลึกๆ เช่นกัน เขากลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ประท้วงใหญ่เมื่อปี 1988(2531) ซึ่งรัฐบาลเลือกใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงจนทำให้มีคนล้มตายไปกว่า 3 พันคน เขาได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้ง

"ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลทังหลายจงปราศจากความกลัว  จงปราศจากความเศร้าโศก และจงปราศจากความยากจน และความสงบสันติจงบังเกิดในหัวใจของพวกเขา"

ภาพเหตุการณ์พระสงฆ์เดินสวดมนต์ให้กับรัฐบาลพม่าตามท้องถนนในย่างกุ้ง โดยมีประชาชนพร้อมใจจับมือกันตั้งแถวเป็นแนวยาวโดยรอบ คอยคุ้มกันไม่ให้พระสงฆ์ถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพม่าคงทำให้คนจากทั่วโลกตื่นตะลึงและให้ความสนใจพม่าอีกครั้ง เหมือนภาพเหตุการณ์ในวันที่ 22 กันยายน 2550 ที่พระสงฆ์และผู้ชุมนุมประท้วงเดินผ่านไปยังหน้าบ้านพักของนางอองซาน ซูจี โดยที่นางซูจีออกมาต้อนรับด้วยน้ำตานองหน้าได้ทำให้ชาวพม่าทั้งในและนอกประเทศที่ได้เห็นภาพและทราบข่าวต่างเสียน้ำตาไปตามๆ กัน ซึ่งจอส่อกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า  "ผมแอบร้องไห้เงียบๆ หน้าคอมพิวเตอร์เมื่อผมได้ทราบข่าวดังกล่าว แม้รัฐบาลจะพยายามทำให้คนในพม่าลืมนางอองซาน ซูจี แต่เธอก็ยังคง อยู่ในใจพวกเราชาวพม่าเสมอมา"


การประท้วงยังคงยืดเยื้ออยู่หลายวัน ในขณะที่คนในพม่าและคนจากทั่วโลกต่างเฝ้ารอดูว่า ทหารจะกล้าใช้ความรุนแรงต่อประสงฆ์และผู้ออกมาประท้วงหรือไม่ แต่ทว่า สิ่งที่จอส่อกลัวก็เกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2550 เมื่อทางการพม่าประกาศเคอร์ฟิวและห้ามประชาชนออกมาชุมนุมเกิน 5 คน พร้อมทั้งยังเข้าบุกจับตัวพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในย่างกุ้งไปจำนวนมาก ถึงกระนั้น ประชาชนจำนวนมากและพระสงฆ์จำนวนที่เหลือยังคงออกมารวมตัวประท้วงเหมือนเช่นทุกวัน แต่ในท้ายที่สุด เราก็ได้เห็นภาพทหารพม่าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการใช้ปืน

แม้แต่ช่างภาพชาวญี่ปุ่นก็ต้องจบชีวิตอย่างอนาถในเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือร่างของพระสงฆ์ลอยอึดอยู่ในคลอง ขณะที่จอส่อได้รับข่าวร้ายเมื่อเพื่อนร่วมงานของเขา 3 คนถูกทางการพม่าจับกุมและคาดว่าอาจถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่เหลือต่างก็หนีหัวซุกหัวซุน รวมทั้งออฟฟิศของพวกเขาในย่างกุ้งก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน

ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงสงบลงจากการปราบปรามอย่างหนักของทางการ แม้กรุงย่างกุ้งจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็เหมือนกับเมืองที่เพิ่งผ่านสมรภูมิรบไร้ซึ่งชีวิตชีวาอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านที่ร่วมประท้วงมักถูกจับในเวลากลางคืน คืนแล้วคืนเล่า ประชาชนที่พกกล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายวิดีโอถูกสงสัยว่าเป็นนักข่าว DVB และมักถูกจับกุมและตั้งข้อหา สิ่งที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ภาพทหารถือปืนยิงใส่ฝูงชนในเหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้คงหลอกหลอนประชาชนในพม่าไปอีกนาน เช่นเดียวกับความรู้สึกของจอส่อที่กลั่นกรองออกมาเป็นคำพูดตอนหนึ่งที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกสงสารเขาขึ้นมาจับใจ


"ผมรู้สึกเหมือนบางสิ่งได้แตกหักไปแล้ว และไม่สามารถซ่อมให้กลับมาเหมือนเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องทำงานของผมต่อไป"


ความน่าสนใจของ Burma VJ คือภาพเหตุการณ์ในหนังทั้งหมดเป็นเรื่องจริง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งถ่ายจากกล้องวิดีโอบ้าง  โทรศัพท์มือถือบ้าง หรือได้มาจากเครื่องบันทึกเสียงบ้าง เอามาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยจริงๆ หรือแม้แต่ภาพฉากบางฉากที่ถ่ายขึ้นมาใหม่ ที่ทำให้ผู้ชมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ่ายทำกันในไทย และที่สำคัญไม่บ่อยนักที่ภาพเหตุการณ์ประท้วงจะถูกเผยแพร่ออกมาสู่สายตาชาวโลก ซึ่งการประท้วงใหญ่ในครั้งนี้ทิ้งช่วงการประท้วงในปี 2531 ถึง 19 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้คงทำให้ผู้ที่ได้ชมได้เข้าใจถึงประชาชนในพม่า เข้าใจถึงการมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวได้อย่างชัดแจ้ง ในขณะเดียวกันได้เข้าใจว่า พวกเขายังคงมีความหวังเสมอที่จะได้เห็นประชาธิปไตยในบ้านเกิด

แม้ Burma VJ จะประสบความสำเร็จอย่างล้นเหลือ เนื่องจากเป็นหนังแหวกแนวที่หาชมได้ยากและเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพม่าโดยตรง แต่ในทางกลับกัน หนังเรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นให้ทั่วโลกผลักดันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าได้มากแค่ไหน เพราะในขณะเดียวกัน จอส่อ ตัวเอกของเรื่องยังคงระหกระเหเร่ร่อนอยู่นอกประเทศโดยไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะได้กลับคืนอ้อมอกของครอบครัวและแผ่นดินบ้านเกิดอีกครั้ง เช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่ออกมาประท้วงและนักข่าว DVB อีกหลายคน รวมไปถึงนักโทษทางการเมืองในพม่าทั้งหมดที่ยังคงถูกจองจำโดยไม่รู้โดยไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะได้รับอิสรภาพอีกครั้งด้วยเช่นกัน .

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น