โดย นรินจรา
"มะเมียะเป็นสาวแม่ค้า คนพม่าเมืองมะละแหม่ง
งามล้ำเหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่งหลงรักสาว
มะเมียะบ่ยอมฮักไผ มอบใจหื้อหนุ่มเชื้อเจ้า เป็นลูกอุปราชท้าวเชียงใหม่
แต่เมื่อเจ้าชายจบการศึกษา จำต้องลาจากมะเมียะไป
เหมือนโดนมีดสับดาบฟันหัวใจ ปลอมเป็นพ่อชายหนีตามมา
เจ้าชายเป็นราชบุตร แต่สุดที่รักเป็นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างลาแยกทาง
โอโอก็เมื่อวันนั้น วันที่ต้องส่งคืนบ้านนาง
เจ้าชายก็จัดขบวนช้างให้ ไปส่งนางคืนทั้งน้ำตา
มะเมียะตรอมใจอาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเช็ดบาทบาทา
ขอลาไปก่อนแล้วชาตินี้เจ้าชายก็ตรอมใจตาย มะเมียะเลยไปบวชชี
ความรักมักเป็นเช่นนี้ แลเฮย..."
บทเพลงของจรัล มโนเพชร ศิลปินล้านนาชื่อดังทำให้ตำนานรักระหว่างเจ้าศุขเกษมแห่งเมืองเชียงใหม่กับสาวพม่านามมะเมียะยังคงได้รับการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังเสมอ แม้ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี มาแล้วก็ตาม บทเพลงนี้ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้จักชื่อเมืองมะละแหม่ง และอยากเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองที่สร้างตำนานรักเรื่องนี้ด้วยตนเอง ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น
การเดินทางสู่เมืองมะละแหม่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อสามปีก่อนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ผู้เขียนเริ่มต้นเดินทางจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของประเทศพม่า มุ่งหน้าสู่เมืองพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง มะละแหม่งเมืองท่าสำคัญของรัฐมอญมาตั้งแต่อดีตและเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำสาละวินที่มีความยาวถึง 2,800 กิโลเมตรจากเทือกเขาหิมาลัยถึงอ่าวเมาะตะมะ
การเดินทางทั้งหมดใช้เส้นทางบก โดยการเช่ารถยนต์ส่วนตัว เพราะสะดวกในการแวะพักชมวิวถ่ายรูป เส้นทางระหว่างกรุงย่างกุ้ง ถึงเมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยงเป็นระยะทาง 163 กิโลเมตร ถนนช่วงแรกหลังออกจากตัวเมืองราบเรียบและกว้างหลายเลนจนทำให้เผลอคิดไปว่า อีกไม่นานคงได้ไปเดินเล่นในเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงเป็นแน่ แต่ทว่าหลังจากฝันหวานไม่เกินชั่วโมง ถนนก็เริ่มขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อบวกกับสายฝนที่โปรยปรายมาเป็นระยะแล้ว ความฝันที่วาดไว้ก็พังทลาย
กว่าจะถึงเมืองพะอันพระอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำลงจนใกล้ตกดิน ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางอีกสามคนพากันออกตระเวนหาที่พักซึ่งมีให้เลือกไม่มากนักในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ที่พักแห่งแรกที่เราเข้าไปดูมีสภาพเหมือนเกสต์เฮาส์ ถ้าเป็นบ้านเราราคาไม่เกิน 300 บาท แต่ราคาที่นี่ทำให้เรายิ้มไม่ออกทีเดียว เพราะเป็นราคา "ต่อหัว" ไม่ใช่ "ต่อห้อง"ดังนั้น ห้องเช่าแบบเดียวกันจึงราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่พักต่อห้อง เช่น คนละ 10 ดอลลาร์ ถ้าอยู่ 3 คนรวมกันก็ 30 ดอลลาร์ หลังจากพยายามต่อรองราคาให้ถูกลงไม่เป็นผล พวกเราก็มุ่งหน้าไปยังโรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ ในที่สุดเราก็ได้ราคาถูกลงและสภาพห้องพักดีกว่าเล็กน้อย
หลังจากเก็บของเข้าที่พักเราก็ลงไปเดินเล่นในตัวเมืองพะอัน ที่นี่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีมหาวิทยาลัยพะอันใหญ่โตอลังการ สร้างตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองพม่า แต่น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัย ถูกสั่งปิดด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เห็นนักศึกษาเดินไปมาขวักไขว่เหมือนกับมหาวิทยาลัยบ้านเรา
ที่ตั้งของเมืองพะอันอยู่ห่างจากชายแดนอำเภอแม่สอดประมาณ 150 กิโลเมตร คนที่นี่จึงพูดภาษาไทยได้หลายคำ สถานที่สำคัญของเมืองมีทั้งในเชิงวัฒนธรรม คือ วัดตามันยา เป็นวัดที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือเจ้าอาวาสที่นี่มาก แม้แต่อองซาน ซูจียังมากราบนมัสการ "สยาดอว์ อู วินายา" หรือ "อู วินัย" ที่นี่ (สยา เป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกบุคคลที่นับถือเปรียบได้กับคำว่า ครู) เพราะความศรัทธาที่มีต่อสยาดอว์ ธรรมเนียมการมาแสวงบุญที่นี่คือ ทุกคนจะกินอาหารมังสวิรัติก่อนการเดินทางหนึ่งวัน และอาหารที่ให้บริการฟรีสำหรับนักแสวงบุญก็เป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด
สิ่งที่น่าประทับใจของเมืองนี้ก็คือความบริสุทธิ์และกว้างใหญ่ของแม่น้ำสาละวินจนแทบมองไม่เห็นคนอีกฝั่งหนึ่งเลยทีเดียว ผู้เขียนมีโอกาสนั่งเรือชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำ พบว่าผู้คนยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้อย่างแนบแน่น บ้างใช้ชีวิตอยู่บนเรือต่างบ้าน บ้างอาศัยอยู่บนเรือนแพไม้ไผ่ ภาพเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานโดยมีแม่บ้านนั่งซักผ้ากันเป็นกลุ่มอยู่ใกล้ๆ เป็นภาพที่น่าประทับใจมากทีเดียว เพราะในเมืองไทยทุกวันนี้แทบไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นแล้ว
เช้าวันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปยังปลายทางสุดท้าย คือ เมืองมะละแหม่ง (เมาะลำไยเป็นชื่อใหม่ที่รัฐบาลพม่าตั้งให้) เมืองหลวงของรัฐมอญ เป็นเมืองคู่แฝดกับเมาะตะเมาะซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งสาละวิน
ยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษยึดพม่าตอนใต้ได้ก่อนในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรก(ค.ศ.1824) จึงเปลี่ยนมะละแหม่งซึ่งเป็นเมืองประมงเล็กๆให้เป็นเมืองท่าสำคัญนำเข้าสินค้าจากอังกฤษและนำสินค้าพื้นเมืองจากภูมิภาคนี้ออกไป มะละแหม่งได้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับกองคาราวานสินค้าขึ้นล่องจากแถบยูนนานผ่านเชียงตุง เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สู่มะละแหม่ง ในเวลานั้นเจ้านายทางล้านนามั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าขายเนื่องจากเป็นทางผ่านของกองคาราวาน ท่ามกลางความสัมพันธ์อันแนบแน่นจากการค้าขายระหว่างเชียงใหม่และมะละแหม่งภายใต้จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ก่อให้เกิดตำนานรักต่างชนชาติและต่างฐานันดรระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมราชบุตรกับมะเมียะแม่ค้าสาวชาวมะละแหม่ง บทสรุปของตำนานรักคือการพลัดพรากจากลาจนกลายเป็นเพลงอมตะและโด่งดังของจรัล มโนเพชรให้คนไทยได้รู้จักและจดจำมาจนถึงวันนี้
มรดกจากการตกเป็นเมืองท่ายุคอาณานิคมที่ยังหลงเหลือให้เห็นคือ สภาพตึกรามบ้านช่องตามสไตล์ตะวันตก อาคารบางหลังยังคงมีรั้วระเบียงเหล็กดัดลวดลายสวยงามผิดไปจากบ้านเรือนของคนพม่าแบบโบราณที่ใช้วัสดุเรียบง่าย มะละแหม่งมีชื่อเสียงหลายด้าน ทั้งอาหารการกิน จากท้องทะเลที่มีให้เลือกสรรนานาชนิด ปลาตัวโตๆ ยังมีให้เห็นทุกๆ เช้าตามตลาดสด รวมทั้งอาหารจากบนผืนดิน โดยเฉพาะผักผลไม้นานาชนิด เพราะเป็นชุมทางของสินค้าทางเรือ ชาวเมืองมะละแหม่งมีทั้งพม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง ปะโอ ไทยใหญ่ แขก และจีน โดยใช้ภาษาพม่าเป็นภาษากลาง
ความประทับใจที่มีต่อเมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้ คือ บรรยากาศยามเย็น บนถนนเลียบชายฝั่งปากแม่น้ำสาละวิน ความกว้างใหญ่ของแม่น้ำสาละวิน ตั้งแต่ในช่วงผ่านรัฐกะเหรี่ยงมาจนถึงไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะทำให้ผู้เขียนรู้สึกเสียดายไม่น้อยที่โครงการเขื่อนขนาดใหญ่กำลังจะมาพรากความบริสุทธิ์จากแม่น้ำสายนี้ไป หากถึงวันนั้น ชีวิตคนตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำที่เห็นในวันนี้ก็คงจะเปลี่ยนไป เพราะสายน้ำไม่ได้ไหลตามธรรมชาติ เหมือนเดิม
สถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของเมืองมะละแหม่งในวันนี้ที่จะต้องเอ่ยถึงก็คือ สะพานมะละแหม่งที่มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร จัดเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่มีความยาวที่สุดในพม่าและมีทางรถไฟวิ่งคู่ขนานกันไป สะพานนี้ได้เชื่อมแผ่นดินเมืองเมาะตะมะกับมะละแหม่งให้กลายเป็นผืนเดียวกัน ทำให้ชาวพม่าสามารถเดินทางโดยรถไฟจากเมืองทวายภาคใต้ขึ้นเหนือไปจนถึงกรุงย่างกุ้ง เพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองมิตจีนา เมืองหลวงรัฐคะฉิ่นในภาคเหนือได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะเลือกไปทางเมืองพุกามหรือมัณฑเลย์ก็ทำได้เช่นกัน
การเดินทางเยือนถิ่นคนมอญครั้งนี้ ผู้เขียนยังมีโอกาสได้ไปเที่ยวงานวัดเพราะตรงกับเทศกาลเข้าพรรษาพอดี ปริมาณผู้คนที่หลั่งไหลเข้าวัดไปทำบุญแน่นขนัดจนทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจในศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาของคนมอญ จนได้ข้อสรุปในใจว่า แม้การเมืองจะเปลี่ยนแปลงจนทำให้คนมอญสิ้นแผ่นดินปกครองตนเอง แต่ศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมกลับยังฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดของลูกหลานชาวมอญ ความเป็นชาติมอญจึงยังคงดำรงอยู่มาจนถึงวันนี้ภายใต้ "ชุมชนในจินตนาการ" ที่คนมอญผูกโยงสำนึกไว้ด้วยกันนั่นเอง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น