วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555
เนเมียวเซ อัจฉริยะแห่งวงการศิลปะในพม่า
หมอ นักร้อง นักแต่งเพลง นักธุรกิจ ดีไซเนอร์ ศิลปิน ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน แต่บนโลกนี้จะมีซักกี่คนที่สามารถเป็นได้ทุกอย่างที่กล่าวมา และคงไม่มีใครคาดคิดว่า หนึ่งในจำนวนอันน้อยนิดจะอยู่ใกล้ ๆ ในประเทศที่เราอาจมองข้าม นั่นคือประเทศพม่า เพื่อนบ้านใกล้ชิดที่เราอาจยังไม่รู้จักเขาดีพอ
เนเมียวเซ คือชื่อของหนุ่มใหญ่ชาวพม่าวัย 41 ปีที่เรากำลังพูดถึง เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแพทย์ในย่างกุ้งตามที่แม่ขอร้อง ทั้งๆ ที่รู้ดีว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาโหยหา และไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต ในช่วงที่เป็นนักศึกษา เขาเริ่มค้นหาตัวเองและพบว่าเสียงเพลงต่างหาก คือสิ่งที่เขาต้องการ เขาจึงเริ่มทำอัลบั้มเพลง โดยแต่งทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และร้องเอง แบบ "All in one" แม้จะไม่ดังเปรี้ยงป้างแต่เขาก็มีแฟนคลับอยู่พอประมาณเลยทีเดียว
แม้ว่าเขาจะออกอัลบั้มมาทั้งหมดถึง 4 อัลบั้ม แต่ชื่อของเนเมียวเซกลับเป็นที่รู้จักในนามจิตรกรแนวหน้าระดับประเทศและโด่งดังไปไกลระดับอินเตอร์มากกว่า หลายคนคงสงสัยใช่ไหมว่า เส้นทางชีวิตนักเรียนแพทย์ผู้สนใจออกอัลบั้มเพลงกลับกลายมาเป็นจิตรกรชื่อดังไปได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้วิชากายวิภาคซึ่งเรียนเกี่ยวกับสรีระร่างกายมนุษย์ที่นักเรียนแพทย์ทุกคนต้องเรียน รวมถึงนักเรียนศิลปะซึ่งจำเป็นสำหรับการวาดภาพคนให้ดูสมจริงมีหลักการ การสเกตช์ภาพสรีระในวิชากายวิภาคได้จุดประกายและปลุกวิญญาณของศิลปินที่อยู่ในตัวเขาให้ตื่นขึ้นมา
เนเมียวเซสานต่อวิชาศิลปะโดยการฝากฝังเป็นลูกศิษย์ของอู ลูน จเว ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสซึ่ม*ในพม่า แม้ว่าอู ลูน จเวจะมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่สำหรับเนเมียวเซถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาศิษย์เอกเลยก็ว่าได้ เพราะลากเส้น การตวัดพู่กันและการใช้สีของเขามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เรียกว่าดูแค่ภาพก็รู้ว่าเป็นผลงานของใคร เขาชื่นชอบการวาดภาพที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีพม่าและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงและเป็นโลโก้ของเนเมียวเซ คือ ภาพนางรำ ซึ่งสีสัน ลายเส้น และฝีแปรงทำให้รู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหวของท่วงท่า เสมือนหนึ่งว่านางรำในภาพวาดมีชีวิตและกำลังร่ายรำอยู่จริง ๆ ในปี พ.ศ. 2547 ภาพวาดที่ชื่อ "Three Dancers" ของเนเมียวเซได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศร่วมกับผลงานของศิลปินพม่าอีก 5 คน ในการประกวดระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2543 เขาได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่จากสถาบันเดียวกันมาแล้ว
นอกจากทั้ง 2 รางวัลที่ได้รับแล้ว เขายังได้นำผลงานออกแสดงนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อังกฤษ อินโดนิเชีย รวมถึงประเทศไทย เขาเคยมาแสดงผลงานที่สุวรรณภูมิแกลเลอรี่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแกลเลอรี่แสดงภาพของศิลปินจากประเทศพม่าโดยเฉพาะ ปัจจุบัน เนเมียวเซเป็นเจ้าของแกลเลอรี่ใจกลางเมืองย่างกุ้งเพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานของศิลปินในพม่ารวมถึงผลงานศิลปะของ
ตัวเอง ควบคู่ไปกับธุรกิจร้านอาหาร Mr.Guitar Cafe ที่กำลังไปได้สวย ทว่า ต้นไผ่ยิ่งสูงเท่าไหร่ ยิ่งต้องปะทะกับลมแรงมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับเนเมียวเซ ด้วยความสามารถที่หลากหลาย และเป็นที่รู้จักของสาธารณะชนทำให้หนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา มีคนพูดว่า ความสำเร็จที่ได้มาทุกวันนี้เพราะครอบครัวมีฐานะร่ำรวย ขณะที่ศิลปินพม่าส่วนใหญ่รายได้น้อย หรือถูกมองว่าทุกวันนี้เขาทำเพื่อเงิน ไม่ใช่ศิลปินที่แท้จริง
"คนพูดไม่มีทางจะเข้าใจเราได้เพราะยืนอยู่กันคนละจุด สำหรับผม ความสำเร็จของภาพวาดไม่ได้วัดกันด้วยจำนวนคนที่ชื่นชอบ คนเรามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจแตกต่างกันไป" นั่นคือคำพูดที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารพม่าฉบับหนึ่ง ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้บั่นทอนความตั้งใจในการทำสิ่งที่ตัวเองรักลงได้แม้แต่น้อย
แม้ว่าเนเมียวเซจะถูกวิจารณ์ในเชิงลบว่าเขามีวันนี้ได้เพราะครอบครัวมีฐานะหรือทำงานศิลปะเพื่อเงิน แต่เขาก็ได้พิสูจน์ให้ชาวพม่าได้เห็นแล้วว่า คนรวยอย่างเขามีน้ำใจมากมายกว่ามหาเศรษฐีในพม่าอีกหลายคน เพราะหลังจากได้ข่าวภัยพิบัตินาร์กิส เขาก็รีบรวบรวมข้าวของ บริจาคและชักชวนเพื่อนพ้องเช่าเรือโดยสารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิสถึงลุ่มอิรวดี แถมยังใช้วิชาชีพแพทย์ที่ร่ำเรียนมาช่วยรักษาผู้ป่วยยามทุกข์ยากอีกด้วย
ดังนั้น คงไม่ผิดนัก หากเราจะยกย่องให้เขาเป็น "ศิลปินในดวงใจ" ของชาวพม่าและชาวต่างชาติจำนวนมากที่ชื่นชอบผลงานและจิตใจอันดีงามของเขา
*ลักษณะของภาพวาดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (impressionism) คือ การใช้พู่กันตระหวัดสีอย่างเข้มๆ ใช้สีสว่างๆ มีส่วนประกอบของภาพที่ไม่ถูกบีบ เน้นไปยังคุณภาพที่แปรผันของแสง (มักจะเน้นไปยังผลลัพธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเวลา) เนื้อหาของภาพเป็นเรื่องธรรมดาๆ และมีมุมมองที่พิเศษ (wikipedia) ข้อมูลจาก www.naymyosay.comตีพิมพ์ครั้งแรกใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 49 (กันยายน - ตุลาคม 2551)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น