โดย ขิ่นเลย์ แปล numripan
เดือนมิถุนายนนี้ ลูกชายของฉันก็จะมีอายุครบห้าขวบกับอีกสี่เดือน ซึ่งตรงกับช่วงโรงเรียนเปิดพอดี และคงถึงเวลาที่จะต้องพาลูกเข้าโรงเรียนเสียทีในประเทศพม่านั้นเริ่มฝากเรียนอนุบาลกันตั้งแต่ห้าขวบขึ้นไป พอหกขวบก็จะขึ้นชั้น ป.1 และเมื่ออายุเก้าขวบก็จะจบชั้นประถมคือชั้น ป.4 อันที่จริงลูกชายของฉันเริ่มเรียนอนุบาลตั้งแต่อายุสามขวบ ซึ่งในชั้นอนุบาลผู้ปกครองจะให้เด็กๆ เรียนหรือไม่เรียนก็ได้ โรงเรียนอนุบาลมีให้เลือกสองประเภทคือ โรงเรียนรัฐ กับ โรงเรียนเอกชน ค่าเทอมจะแตกต่างกันไปแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐก็ตาม โรงเรียนอนุบาลทุกแห่งในพม่าไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่อยู่ภายใต้องค์กรด้านการพัฒนาสังคม และส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะฝากเลี้ยงมากกว่า มีบางแห่งเท่านั้นที่สอนหนังสือให้แก่เด็ก ส่วนการส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามช่วงวัย ผู้ปกครองที่มีฐานะดีก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือหาที่เรียนเสริมกันเอาเอง
กฎหมายของประเทศพม่าบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือในระดับประถม โดยมีนโยบายเรียนฟรี (เฉพาะค่าเทอม ไม่รวมค่าอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าค่าเทอม) ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกดำเนินคดี ดังนั้นเมื่อใกล้เปิดเทอมเราจึงได้เห็นเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนต่างๆ ออกมารณรงค์ให้เด็กๆ ไปโรงเรียน เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ของรัฐก็มักจะตีพิมพ์ว่าผู้ปกครองทุกคนควรพาเด็กไปสมัครเรียน เป็นต้น สำหรับฉันแล้ว การเลือกโรงเรียนให้ลูกนั้น ควรเลือกโรงเรียนที่เรารู้จักเป็นอย่างดี เพราะหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น เราจะสามารถพูดคุยปรึกษากับทางโรงเรียนได้ แต่สำหรับเด็กและผู้ปกครองในชนบทอาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะเพียงแค่ในหมู่บ้านมีโรงเรียนและครูก็ถือเป็นเรื่องที่โชคดีมากแล้ว
และหากจะฝากลูกเข้าโรงเรียน พ่อแม่ต้องเตรียมพร้อมไว้หลายอย่าง ตั้งแต่ชุดนักเรียน กระเป๋า สมุด อุปกรณ์เครื่องเขียนและค่าเทอม บางครั้งผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าสร้างห้องน้ำในโรงเรียน ค่าทำสนามเด็กเล่น ค่าติดตั้งแอร์ในห้องคอมพิวเตอร์ ค่าตู้หนังสือ ค่าเก้าอี้อีกสารพัด แทนที่รัฐบาลต้องซื้อให้โรงเรียนแต่ผู้ปกครองกลับต้องจ่ายทุกอย่าง นอกจากนี้ โรงเรียนในพม่าบางแห่งไม่มีพื้นที่สำหรับสนามเด็กเล่น โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้ง และที่สำคัญผู้ปกครองต้องเตรียมอาหารกลางวันจากบ้านไว้ให้ลูกด้วย เพราะทางโรงเรียนไม่มีงบอาหารกลางวัน เด็กที่ยากจนจึงอาจไม่ได้ทานอาหารกลางวัน ด้วยเหตุนี้ ตัวเลขนักเรียนที่สมัครเรียนช่วงเปิดเทอมจึงมีจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอใกล้จะจบชั้นประถมจะเหลือประมาณ 75เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กที่จะเรียนต่อจนจบชั้น ม.ต้นจะเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขนักเรียนจะลดลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมีเด็กที่จบ ม.ปลายแค่40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
หลังจากประเทศพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มีโรงเรียนเอกชนของมิสชั่นนารีคริสเตียนอยู่หลายแห่ง ว่ากันว่า ไม่เว้นแม้แต่นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเองก็ยังส่งลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนเหล่านี้ ซึ่งค่าเทอมแพงกว่าโรงเรียนรัฐหลายเท่า เพราะโรงเรียนประเภทนี้เน้นการสอนภาษาอังกฤษแต่หลังจากรัฐบาลทหารขึ้นปกครองประเทศก็ฮุบเอากิจการทุกอย่างที่เป็นของประชาชนไปเป็นของรัฐแทน ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ประเทศพม่าจึงมีแต่โรงเรียนของรัฐเพียงอย่างเดียว ฉันเริ่มเห็นโรงเรียนเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังไม่กี่ปีมานี้เองเนื่องจากความต้องการของประชาชนและผู้สนใจธุรกิจการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการศึกษาในพม่า ดูเหมือนว่า เด็กๆ ที่ได้รับความรู้และได้รับประโยชน์จากโรงเรียนจริงๆกลับเป็นเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนวัดมากกว่า
แม้ว่าโรงเรียนวัดจะเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และอาจถูกรัฐบาลสั่งปิดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจตกต่ำโรงเรียนวัดเหล่านี้จึงเป็นที่พึ่งให้กับเด็กที่มีฐานะยากจน เพราะนอกจากจะได้เรียนหนังสือแล้ว เด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนวัดยังไม่ต้องเสียค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าใช้จ่ายใดๆ อาจมีบ้างนานๆ ครั้งที่ทางวัดจะเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง แต่ก็เป็นเงินในจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ บางครั้งโรงเรียนวัดยังมีอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ แต่ข้อเสียก็คือ เด็กที่เรียนโรงเรียนวัดไม่สามารถย้ายไปเรียนโรงเรียนของรัฐได้ ถึงแม้ว่าการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อปี2550 ที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบให้โรงเรียนวัดแหลายแห่งถูกรัฐบาลสั่งปิดตัวลง แต่กลับพบว่า โรงเรียนวัดซึ่งเป็นทางเลือกของคนจนได้เพิ่มขึ้นทุกวันโดยพบว่า จำนวนเด็กราว 25 เปอร์เซ็นต์นั้นเข้าเรียนโรงเรียนวัด
ส่วนการเรียนพิเศษในพม่า เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมต้นจนถึงชั้นมัธยมปลาย หรือเกรด 10 มักนิยมเรียนพิเศษกับครูประจำชั้น ซึ่งค่าเรียนพิเศษนี้ผู้ปกครองต้องจ่ายต่างหาก แต่เด็กนักเรียนเกรด 10 ซึ่งต้องสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยบางส่วนมักเรียนพิเศษกับครูที่มีชื่อเสียงและต้องเสียค่าใช้จ่ายเรียนพิเศษมากกว่านักเรียนชั้นอื่นๆ ส่วนการเรียนเสริมอย่างอื่นๆ เช่น ดนตรีและกีฬาไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักในพม่า ในขณะเดียวกันพม่ายังคงเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ และในช่วงเปิดเทอมเราจึงมักได้ยินเสียงเด็กๆ เกือบแทบทุกบ้านท่องอ่านบทเรียนกันเสียงดัง ซึ่งไม่ได้สร้างความรำคาญ ตรงกันข้ามแต่กลับทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสุขกบการท่องตำราของเด็ก
หากถามว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดในพม่านั้นอยู่ที่ไหน สำหรับฉันคงเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ถ้าให้ตอบจริงๆก็คงจะเป็นโรงเรียนที่มีนโยบายการศึกษาที่ดี และทำให้จำนวนนักเรียนสอบผ่านชั้นมัธยมปลายได้มากที่สุด หรืออาจจะเป็นโรงเรียนที่มีอุปกรณ์การเรียนครบถ้วนและใช้หลักสูตรการสอนแบบต่างประเทศ ซึ่งโรงเรียนที่กล่าวมานี้ คงเป็นโรงเรียนสำหรับคนที่มีเงินเท่านั้นที่จะเข้าเรียนได้ โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่างกุ้ง แต่ผลกระทบที่ติดตัวเด็กที่เข้าโรงเรียนเหล่านี้ก็คือ เด็กมักใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและลืมภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาแม่ และยังทำให้เด็กส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอย่างไม่เหมาะสมกับประเพณีวัฒนธรรมของพม่า เมื่อมาคิดๆดูอีกที ฉันว่า ครูที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คงจะเป็นพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น