วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

โศกนาฏกรรมในค่ายผู้ลี้ภัยคะเรนนี บทเรียนที่รัฐไทยต้องทบทวน

โดย ธันวา สิริเมธี

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ค่ายพักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านปางแทรกเตอร์และบ้านใหม่ในสอย  (แคมป์ 1) อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ อส. ประจำค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวยิงเด็กหนุ่มผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนีวัย 20 ปีเสียชีวิต หลังจากนั้นบรรดาผู้ลี้ภัยได้บุกทำลายข้าวของบริเวณบ้านพักของ อส. จนมอเตอร์ไซค์ 29 คันและรถกระบะ 2 คันได้รับความเสียหาย

บันทึกจากผู้ลี้ภัยที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ระบุว่า  เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มส่อเค้าตั้งแต่คืนวันที่ 14 ธันวาคม โดยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครดูแลความปลอดภัยในพื้นที่พักพิง หรือ อส. เดินทางมาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยที่งานฉลองกีฬาที่โรงเรียนในเขตหมู่ 8  แต่หนึ่งในนั้นได้เริ่มสร้างปัญหาด้วยการชกนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังเต้นรำด้วยสนับมือจนศีรษะแตกต้องเย็บ 10 เข็ม

ต่อมาคืนวันที่ 15 ธันวาคม เด็กนักเรียนได้ขอร้องไม่ให้ อส. มาบริเวณงานและขอดูแลความปลอดภัยกันเอง  อส. ตกลงและเซ็นชื่อรับทราบ  แต่ปรากฏว่า อส. กลับมายืนดักรอผู้มาร่วมงานอยู่บนถนนใกล้สถานที่จัดงานและก่อกวนด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด  บรรดานักเรียนจึงเริ่มไม่พอใจและพยายามเข้าไปเจรจากับ อส. ให้หยุดการกระทำดังกล่าว  แต่ อส. กลับแสดงท่าทีก้าวร้าวจนทำให้เกิดมีปากเสียงอย่างรุนแรง  เมื่อเห็นนักเรียนต่างทยอยกันมามุงดูเหตุการณ์ด้วยความไม่พอใจมากขึ้นจึงตัดสินใจกลับบ้านพัก  โดยมีกลุ่มนักเรียนเดินล้อมหน้าล้อมหลังไปตลอดทาง  และก่อนถึงบ้านพักเพียงเล็กน้อย  เสียงปืนก็ดังขึ้นตามด้วยร่างของอ่าย อู เด็กหนุ่มผู้โชคร้ายล้มลงบนกองเลือด  เพื่อนสองคนจึงช่วยพยุงร่างของเขากลับไปที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการค่าย และเขาเสียชีวิตลงที่นั่น  หลังจากนั้นบรรดานักเรียนและผู้ลี้ภัยนับร้อยคนจึงมุ่งหน้าไปยังบ้านพัก อส. ด้วยความโกรธแค้น  เมื่อพบว่า อส. ได้หนีออกจากค่ายไปแล้ว จึงพากันทุบทำลายข้าวของจนเสียหายยับเยิน คืนนั้นร่างไร้วิญญาณของเด็กหนุ่มถูกวางไว้บนถนนท่ามกลางกองเลือดและเสียงร่ำไห้ของผู้ลี้ภัย

วันรุ่งขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงส่งแพทย์เข้าไปติดตามชันสูตรศพ และตำรวจ ทหารดูแลความปลอดภัยแทน  ส่วนการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด  ทางปลัดอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นายวชิระ โชติรสเศรณีผู้ดูแลรับผิดชอบค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวเปิดเผยว่า  เจ้าหน้าที่ อส. ได้ให้การยอมรับว่า เขาลงมือยิงเด็กหนุ่มจริง แต่เนื่องจากต้องการป้องกันตัว เพราะขณะนั้นนักเรียนจำนวนมากรุมล้อมพวกเขาด้วยอารมณ์โกรธ  จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงาน เจ้าหน้าที่ อส. คนดังกล่าวจะได้รับโทษสถานใด มีเพียงการแก้ไขเบื้องต้นด้วยการเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่ อส. ในค่ายแห่งนี้ทั้งหมด และมีแผนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนผู้ลี้ภัยที่ทำลายข้าวของ อส. จนเสียหาย  ทางปลัดยืนยันว่า จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายไทยต่อไป

สิ่งที่น่าตั้งคำถามจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ก็คือ “เพราะเหตุใด ผู้ลี้ภัยจึงมีอารมณ์โกรธแค้นจนถึงขนาด อส. ต้องยิงปืนป้องกันตัวเอง”  เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ เราจะมีอารมณ์โกรธแค้นก็ต่อเมื่อคู่กรณีกระทำสิ่งที่เราไม่พอใจอย่างรุนแรง  หากคิดบนพื้นฐานนี้  เราก็คงต้องช่วยกันหาคำตอบว่า  เจ้าหน้าที่ อส. ได้แสดงพฤติกรรมต่อผู้ลี้ภัยเช่นไรก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ขึ้น

สืบเนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเสมือน “ดินแดนต้องห้าม”  ผู้ลี้ภัยต้องอาศัยอยู่ในอาณาเขตรั้วลวดหนามที่รัฐไทยกำหนดไว้  และไม่มีสิทธิออกมานอกค่ายได้อย่างเสรี ขณะที่บุคคลทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าไปในค่ายได้อย่างเสรีเช่นกัน   ตามปกติมีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในอาณาเขตนี้ได้  ชีวิตของผู้ลี้ภัยจึงเป็นชีวิตที่ห่างไกลจากความรับรู้ของสังคมไทย

คงไม่ดูเกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า  ในความรู้สึกของผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ อส. คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในโลกใบเล็กแห่งนี้   ชีวิตประจำวันของพวกเขาถูกควบคุมด้วย อส. ซึ่งตั้งด่านประจำจุดต่าง ๆ ตั้งแต่ทางเข้า-ออกหลักของค่าย  และทางผ่านหมู่บ้าน หรือ section ต่าง ๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย  ซึ่งเฉพาะค่ายแห่งนี้มีผู้ลี้ภัย 17,000 คน  แบ่งออกเป็น  20 หมู่บ้าน  หน้าที่หลักของ อส. คือ การตรวจตราคนเข้าออกภายในและนอกค่าย รวมทั้งควบคุมความปลอดภัยภายในค่าย

ความรู้สึกที่มีผู้ลี้ภัยมีต่อ อส. จะแตกต่างกันไปตามความประพฤติของ อส. แต่ละคน  หาก อส. คนใดมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ลี้ภัย ไม่พูดจาดูถูกเหยียดหยาม ปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยด้วยความเห็นอกเห็นใจ  อส. คนนั้นก็จะได้รับการทักทายและต้อนรับขับสู้อย่างดีเวลาเยี่ยมบ้านผู้ลี้ภัย  แต่หาก อส. คนใดมีพฤติกรรมก้าวร้าว และใช้อำนาจในทางที่ผิด  อส. คนนั้นก็จะเป็นที่น่ารังเกียจและผู้ลี้ภัยหลีกเลี่ยงจะพบปะพูดคุยด้วย

ที่ผ่านมา  มีเรื่องร่ำลือเกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของ อส. บางคนเล็ดลอดออกมาภายนอกค่ายผู้ลี้ภัยอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การคุกคามทางเพศ  การทำร้ายร่างกาย หรือการหยิบฉวยข้าวของในบ้านผู้ลี้ภัยตามอำเภอใจ  แต่เนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัยเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับนักข่าว  การเปิดเผยเรื่องราวและการสืบสวนหาข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เป็นกลางและยุติธรรมจึงไม่ง่ายนัก  เหตุการณ์หล่านี้จึงกลายเป็นเพียง “เรื่องเล่า” ที่ถ่ายทอดต่อมาโดยไม่มีใครได้เข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง

จนกระทั่ง เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ระเบิดขึ้น   “เรื่องเล่า” ต่าง ๆ ถึงพฤติกรรมของ อส. ที่เลวร้ายจึงถูกเปิดเผยอีกครั้ง   ครั้งนี้ บรรดาผู้ลี้ภัยต่างเฝ้าหวังว่า  “เรื่องเล่า” ของพวกเขาจะได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมเสียที เพราะพวกเขาไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิตของใครเป็นรายต่อไป

หากรัฐไทยวางแผนจะ “กระชับความสัมพันธ์” ระหว่างผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ อส. ชุดใหม่  แนวคิดพื้นฐานที่ควรนำไปใช้เป็นรากฐานของการสร้างความสัมพันธ์ครั้งนี้คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ดังเช่นที่คุณพงเทพ ยังสมชีพเจ้าหน้าที่ภาคสนามของยูเอ็นเอชซีอาร์เคยให้สัมภาษณ์กับสาละวินโพสต์ฉบับที่ 28 ว่า

“เราคงนึกถึงสุภาษิตที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เอาคนที่มีอคติต่อผู้ลี้ภัย ไปอยู่ใช้ชีวิตแบบผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ในค่าย แล้วได้รับความช่วยเหลือ เป็นข้าวสาร ถั่วเหลือง กะปิ น้ำมัน ทุกวัน ห้ามทำงาน ห้ามออกไปข้างนอก เขาจะอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วจะรู้สึกยังไงที่ต้องอยู่ในสภาพอย่างนั้น เขาจะยังมีความสุขอยู่ไหมที่มีคนเอาอาหารเหมือนเดิมมาให้กินทุกวัน แล้วไม่ได้เป็นอาหารที่คนทั่วไปกิน ไม่มีผัก หมู ไก่  ส่วนข้าวสารที่ได้รับบริจาคก็เป็นข้าวคุณภาพต่ำมาก

 

“ผมคิดว่า ปัญหานโยบายของรัฐไทยสำหรับผู้ลี้ภัยในค่าย คือ ในตอนแรกที่เริ่มตั้งค่าย รัฐไทยคาดว่าผู้ลี้ภัยจะอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหกเดือนหรือหนึ่งปีเท่านั้น พอเหตุการณ์สู้รบสงบลงก็จะส่งกลับไป แต่จนถึงปัจจุบัน บางค่ายอยู่กันเป็นสิบยี่สิบปีแล้วก็ยังไม่ได้กลับเพราะสงครามยังไม่สงบ แต่ปัญหาก็คือนโยบายของรัฐไทยยังเป็นนโยบายสำหรับการอยู่ชั่วคราวเหมือนเดิม โดยไม่ได้พัฒนากรอบความคิดว่า การที่เอาคนมากักเอาไว้เป็นระยะสิบยี่สิบปีจะทำให้เกิดผลเสียกับมนุษย์อย่างไร เด็กที่เกิดและโตในค่ายผู้ลี้ภัยไม่มีโอกาสได้ทำงานเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้น ชีวิตเขาโตขึ้นมาก็เรียนหนังสือโดยที่ไม่รู้ ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร จบมาแล้วก็ไม่มีงานทำ มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ส่วนผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน ตรงนี้มีผลต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างมาก เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” เมื่อไม่ได้ทำงาน คุณค่าของเขาก็ลดน้อยลง ความรู้สึกของเขาในการอยู่ไปวัน ๆ ไม่ได้ทำอะไร ชีวิตผ่านไป ตรงนี้ทำให้ระดับสากลมีแผนการรณรงค์ออกมาต่อต้านการนำมนุษย์มาเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าโดยไม่ได้ทำอะไร เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ก็ทำให้ชีวิตคนจำนวนเป็นแสนคนถูกตัดขาดจากการพัฒนาไป ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อตัวของเขาเองและคนรุ่นถัดไปด้วย”

หากรัฐไทยเริ่มมองผู้ลี้ภัยในมุมใหม่  ด้วยรากฐานของความเข้าอกเข้าใจและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  ความเกลียดชังระหว่างผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่รัฐก็คงจะไม่มีวันเกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ความมั่นปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะได้รับเมื่อปฏิบัติงานในค่ายผู้ลี้ภัย โดยไม่ต้องใช้อาวุธปืนใด ๆ มาป้องกันตัวเหมือนเช่นเหตุการณ์น่าสลดใจครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น