นานาตี
สายวันหนึ่งบนถนนอะนอระธาใจกลางเมืองย่างกุ้ง เราเดินบนทางเท้าพร้อมกล้องถ่ายรูปเพื่อเก็บภาพสีสันของหาบเร่แผงลอย เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดย่อมๆ ข้างถนนก็ว่าได้ ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยเสียงเครื่องยนต์ รถราบนท้องถนนและผู้คนหลากหลายชีวิตที่เดินขวักไขว่ ตึกสูงแห่งหนึ่งมีเชือกพลาสติกห้อยระโยงระยางจากระเบียงชั้นบนเต็มไปหมด ตรงส่วนปลายมีตะขอหรือไม่ก็คลิปหนีบกระดาษผูกไว้ เมื่อลองสังเกตดูดีๆดูเหมือนว่าจะมีเชือกแบบเดียวกันนี้อยู่ตามอาคารสูงๆ แทบทุกแห่ง
เช้าวันรุ่งขึ้นที่โรงแรมที่เราพักอยู่เสียงตะโกนของแม่ค้าหาบเร่ปลุกเราให้ตื่นขึ้นมา “แป...ปย้ก.....แป ปย้ก......” แม่ค้าตะโกนขายแปปย้กซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งทำจากถั่วเหลืองนึ่งที่ชาวพม่านิยมรับประ-ทานเพิ่มพลังในตอนเช้า เสียงแม่ค้าใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และหยุดอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามโรงแรม หญิงสาวที่อยู่บนระเบียงชั้นสามค่อยๆหย่อนปลายเชือกที่มีคลิปหนีบธนบัตรเงินจั๊ตสองสามใบลงมาขณะที่แม่ค้าค่อยๆ วางหาบเร่และหยิบธนบัตรเหล่านั้นใส่กระเป๋าจาดนั้นนำถุงพลาสติกบรรจุแปปย้กไปแขวนบนปลายเชือก ก่อน ที่อาหารเช้าจะถูกชักรอกกลับขึ้นไปที่ระเบียง สรุปแล้วเชือกรุงรังที่ห้องอยู่ตามอาคารต่างๆ ที่แท้ก็เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก แบบ DIY ของคนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงๆ นี่เอง
คอลัมนิสต์ชาวพม่าในหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องชีวิตในย่างกุ้งไว้อย่างน่าสนใจว่าปัจจุบัน “ชาวตึก” หรือคนที่อาศัยอยู่ในตึกสูงๆ กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตัวเมืองย่างกุ้งไปแล้ว ทุกวันนี้ในย่างกุ้ง มองไปทางไหนจึงเห็นแต่ตึกและอาคารสูงๆ อยู่ทั่วเมืองโดยเฉพาะในย่านธุรกิจ โดยทั่วไปแล้วอาคารเหล่านี้ส่วนมากชั้นล่างมักจะเปิดเป็นร้านค้าและทำธุรกิจต่างๆ อย่างร้านทำผมร้านอาหาร ร้านของชำ ฯลฯ ส่วนชั้นบนจะถูกแบ่งเป็นห้องๆเพื่อให้คนที่เข้ามาทำงานในเมืองพักอาศัยในลักษณะของ อพาร์ตเมนต์ นอกจากนี้แล้ว ชาวตึกอีกประเภทหนึ่งคือคนที่อยู่คอนโดมิเนียมซึ่งมักจะดูหรูหราและอยู่ไกลจากใจกลางเมืองเล็กน้อย
แม้ว่าในทางกฎหมายแล้ว ความแตกต่างระหว่างอพาร์ตเมนต์กับคอนโดฯ คือลักษณะของการครอบครอง (คอนโดฯ ผู้อยู่อาศัยซื้อไว้เป็นเจ้าของห้อง ส่วนอพาร์ตเมนต์เจ้าของตึกมีคนเดียวสำหรับให้เช่า) แต่บทความดังกล่าวบอกว่าสำหรับชาวย่างกุ้งแล้ว “ถ้ามีลิฟต์จะเรียกว่าคอนโดฯ ถ้าไม่มีลิฟต์จะเรียกว่าอพาร์ตเมนต์” ตั้งแต่ผู้เขียนเดินออกจากโรงแรมมาก็มองเห็นแต่ตึกโทรมๆ ดูสภาพแล้วไม่น่าจะมีลิฟต์ (ถ้าไม่นับโรงแรมห้าดาวและห้างสรรพสินค้า)
ในส่วนของค่าเช่าแล้ว ชั้นล่างสุดที่สามารถใช้ทำธุรกิจร้านค้าได้จะแพงกว่าชั้นบนที่เป็นห้องพักอาศัย และยิ่งสูงก็ยิ่งราคาถูกลงเรื่อยๆ เท่าที่เห็นอาคารส่วนใหญ่มีความสูงไม่น้อยกว่า 4 ชั้น บางแห่งก็สูงถึง 10 ชั้น เพราะฉะนั้น เจ้าเชือกสำหรับชักรอกของที่ห้อยอยู่ตามระเบียงจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญ เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ช่วยทุนแรงทุ่นเวลาได้เป็นอย่างมาก แต่ชั้นสูงๆ ก็ไม่ได้มีให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น เจ้าของธุรกิจบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอยู่ชั้นหนึ่งก็เช่าห้องชั้นบนที่ค่าเช่าถูกกว่าเป็นพื้นที่สำหรับสำนักงานก็มีอย่างถนนสายหลักที่มุ่งหน้าไปยังเจดีย์สุเหล่ใจกลางเมืองอาคารหลังหนึ่งชั้นล่างเปิดเป็นสตูดิโอถ่ายภาพสามคูหา ส่วนระเบียงห้องหนึ่งบนชั้นสามมีป้ายติดไว้ว่า “สำนักงานพรรคเอ็นแอลดี ตำบลเจ้าก์ตะดา”
ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งของคอนโดฯ และอพาร์ตเมนต์ที่บทความชิ้นนั้นบอกไว้คือ ความสะดวกและการบริการ ซึ่งคอนโดฯส่วนใหญ่จะมีระบบรักษาความปลอดภัย ขณะที่อพาร์ตเมนต์นั้นผู้อยู่อาศัย ต้องดูแลตัวเอง เราจึงเห็นตามระเบียงตึกสูงๆ ของอพาร์ตเมนต์หลายห้องติดกรงเหล็กกันขโมยเข้าไปฉกทรัพย์สินในห้องกันอย่างแน่นหนา
ว่ากันว่า ปัจจุบันค่าเช่าห้องไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์สูงขึ้นเรื่อยๆในขณะที่เศรษฐกิจในเมืองยังคงย่ำอยู่กับที่ ชาวตึกหลายคนจำเป็นต้องย้ายออกจากตึกไปเช่าบ้านที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเมืองเพราะราคาถูกกว่า ขณะที่ชาวดอนโดฯ อาจไม่ค่อยเดือดร้อนเพราะส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะและเป็นเจ้าของห้องอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าสถานที่อยู่อาศัยจะแตกต่างกันมากแค่ไหนจะเป็นคอนโดฯ หรู อพาร์ตเมนต์ซอมซ่อ หรือบ้านหลังเล็กนอกเมือง สิ่งหนึ่งในชีวิตที่ต้องเจอเหมือนๆ กัน เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวย่างกุ้ง (และที่อื่นๆ ในพม่า) ก็คือเรื่องไฟฟ้าดับ
กลับมาที่โรงแรมที่ผู้เขียนพักอยู่ ไฟฟ้าในโรงแรมดับวูบลงไปพร้อมๆ กับเสียงแม่ค้าที่ไกลออกไปเรื่อยๆ เพียงไม่กี่อึดใจไฟฟ้าก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงอื้ออึงของเครื่องปั่นไฟที่จะก้องกระหึ่มพร้อมๆ กันไปทั่วเมืองอย่างนี้อีกตลอดทั้งวัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น