วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาพพิมพ์ชีวิต เพื่อความเข้าใจในพม่าสู่เด็กสกอต


หมึกสีดำบนกระดาษขาวปรากฏเป็นภาพของเด็กชายตัวน้อยสองคนประแป้งทะนาคา ลายเส้นขยุกขยิกบ่งบอกถึงอายุอานามเจ้าของผลงานภาพพิมพ์ชิ้นนี้ที่คงไม่ต่างจากเด็กชายในภาพสักเท่าไหร่  ใต้ภาพมีคำบรรยายว่า...ผมคิดว่าคนในภาพคงร้อนมากเพราะเขาทาครีมกันแดดที่ทำจากเปลือกไม้ หรือ ที่เรียกว่า ทะนาคา

ภาพนี้อาจไม่มีราคาเท่ากับผลงานของศิลปินเลื่องชื่อระดับโลก แต่สำหรับศิลปินตัวน้อยลูกแรงงานจากประเทศพม่าที่เป็นเจ้าของผลงานแล้ว มันมีค่ามาก เพราะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตผู้คนภายใต้กำแพงเผด็จการพม่าให้กับเพื่อนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งได้รับรู้ ซึ่งคนในประเทศไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิด



นี่คือส่วนหนึ่งในโครงการ "OUR  BURMA  BOOK" ซึ่งเกิดจากความคิดของผู้บริหารโรงเรียนประถม Forthview Primary School ในสกอตแลนด์ที่ต้องการให้เด็กในโรงเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงรับรู้และเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนที่อยู่ในประเทศพม่า จึงได้ร่วมกับโรงเรียนสอนเด็กลูกแรงงานข้ามชาติจากพม่าในชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีโรงเรียนในสกอตแลนด์ที่สนใจและเข้าร่วมด้วยอีก 4 แห่ง



แต่ขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว จะให้มานั่งฟังเลคเชอร์เรื่องปัญหาในพม่าก็คงไม่ได้ผลเป็นแน่ ศิลปะ จึงถูกหยิบยกมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ โดยได้เลือกเทคนิคภาพพิมพ์โลหะซึ่งมีขั้นตอนการทำที่สนุกและเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปเป็นก็สามารถทำภาพพิมพ์ได้ ทั้งเด็กพม่าและเด็กสกอตจะทำภาพพิมพ์คนละ 1 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่า สำหรับเด็กพม่า ครูชาวสกอตได้เดินทางมาสอนเด็กๆ ทำภาพพิมพ์ที่โรงเรียนเลบีและโรงเรียนเซตะนาร์ในอำเภอแม่สอดรวมทั้งในเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ศิลปินจากพม่าก็ได้เดินทางไปพบปะพูดคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียนทั้ง 5 แห่งในสกอตแลนด์เพื่อช่วยกันทำภาพพิมพ์โดยใช้รูปถ่ายสถานที่และผู้คนจากพม่าเป็นแบบ



วิธีการทำภาพพิมพ์ก็คือ ขั้นแรกเลือกรูปภาพที่ชอบมาเป็นแบบ จากนั้นนำแผ่นอะครีลิกใสมาวางทาบบนภาพและขูดแผ่นเหล็กให้เป็นรอยตามแบบโดยใช้อุปกรณ์หน้าตาคล้ายปากกาแต่ปลายเป็นเหล็กแหลม เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำแผ่นอะครีลิกไปเป็นแบบพิมพ์โดยใช้แท่นพิมพ์ขนาดเล็กตั้งโต๊ะออกมาเป็นผลงานที่สวยงาม

เด็กผู้หญิงชาวไทยใหญ่คนหนึ่งเลือกภาพของ "ขุนทุนอู" หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของชาวไทยใหญ่  และเขียนบรรยายภาพว่า ...นี่คือขุนทุนอู ผู้นำของเรา ตอนนี้เขาถูกขังในคุกเมืองปูเตาที่อยู่ไกลจากบ้านของเขามาก เขาถูกตัดสินโทษจำคุกมากกว่า 90 ปี ฉันได้ยินว่าที่นั่นหนาวมาก ฉันอยากรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเขาอายุมากแล้วและไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมพวกเขา(รัฐบาลพม่า)ต้องทำอย่างนี้?

 

เด็กสกอตคนหนึ่งเลือกภาพคนกำลังตักน้ำจากบ่อน้ำบาดาล โดยเขาได้บรรยายภาพว่า ...ภาพนี้ทำให้ผมรู้สึกเศร้า เพราะเด็กๆ ต้องลำบากมาก กว่าจะได้น้ำมาใช้ แต่มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองโชคดีแค่ไหนที่มีน้ำประปาใช้...


ภาพพิมพ์ของเด็กๆ รวมถึงข้อความที่เขียนขึ้นมาจากความรู้สึกนึกคิดอันไร้เดียงสาถูกรวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ วัฒนธรรม ความเชื่อ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลสำคัญ นาร์กิส และวิถีชีวิต พร้อมกับข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับประเทศพม่า โดยหนังสือเล่มนี้จะใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการด้วย

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานของเด็กๆ ทั้งในสกอตแลนด์ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายนนี้ และกำลังเตรียมการสำหรับนิทรรศการในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในปีนี้


"เด็กๆ ทุกคนภูมิใจในผลงานของตัวเองมาก ฉันเองก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนเรื่องราวของผู้คนในประเทศพม่าและให้โลกนี้ได้รับรู้ว่า ความยุติธรรมและประชาธิปไตยคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ"
นั่นคือเสียงจาก Sheila Laing ครูใหญ่โรงเรียน Forthview Primary School ที่กล่าวถึง โครงการ OUR BURMA BOOK

นอกเหนือจากเรื่องราวในพม่าแล้วสิ่งหนึ่งที่โครงการนี้ได้สะท้อนให้เห็นก็คือ ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้และทำความเข้าใจระหว่างเด็กๆ ที่อยู่กันคนละซีกโลก ในทางกลับกัน แม้จะใกล้กันแค่ไหนก็คงไม่สามารถเข้าใจกันได้ หากมีสิ่งที่เรียกว่า "อคติ"  คอยขวางกั้นอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น