วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

พลา เก คนปลูกต้นไม้ในค่ายผู้ลี้ภัย

ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีรั้วลวดหนามเป็นแนวกั้นเสรีภาพ ชายหนุ่มกะเหรี่ยงคนหนึ่งกำลังก้มหน้าก้มตาใส่ดินลงในถุงพลาสติกใบเล็กเพื่อรองรับกล้าไม้ที่รอวันจะนำไปฝังรากบนแผ่นดินผืนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  แม้ว่าแผ่นดินผืนนี้จะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน แต่เขาก็ยังอยากปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะเชื่อว่าต้นไม้ให้ชีวิตกับทุกคน ไม่ว่าแผ่นดินผืนนั้นจะเป็นของใครก็ตาม

ชายชาวกะหรี่ยงผู้นี้มีชื่อว่า พลา เก ปัจจุบันอายุ 34 ปี หมู่บ้านเดิมอยู่ในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง แต่ต้องหนีภัยสงครามมาอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบแม่ลามาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ก่อนหน้านี้ เขามีโอกาสได้เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปลาย เมื่อเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการพัฒนาบุคคลซึ่งจัดขึ้นสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจึงได้เรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ วิธีแก้ไขปัญหาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากเรียนจบเขาเกิดแรงบันดาลใจชวนเพื่อนอีกสิบสองคนที่ได้รับการอบรมรุ่นเดียวกันก่อตั้งกลุ่มสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยงขึ้นภายใต้ชื่อ Karen Nature Conservation Group (KNCG) ขึ้นมา

พลา เกเริ่มตระหนักว่า สงครามกลางเมืองในรัฐกะเหรี่ยงยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบวันใด ตรงกันข้าม สงครามกลับรุนแรงและยืดเยื้อยาวนานมากขึ้น ปริมาณผู้ลี้ภัยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในค่ายผู้ลี้ภัยก็จะต้องร่อยหรอลง ถ้าไม่เริ่มดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้ดี วันหนึ่งก็จะไม่เพียงพอสำหรับคนจำนวนมาก

ยกตัวอย่างเช่น หน่อไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ไม่กี่กอ คงไม่เพียงพอสำหรับคนทั้งหมด จึงต้องแก้ไขปัญหาโดยการปลูกเพิ่ม ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างสำนึกให้แก่คนเก็บหน่อไม้รู้ว่า ถ้ามีหน่อไม้เหลือแค่สองหน่อให้เก็บมาแค่หน่อเดียว ส่วนอีกหน่อที่เหลือจะเติบโตและแตกหน่อเพิ่มขึ้นต่อไป แต่ถ้าเก็บหมด ทั้งหน่อไม้และกอไผ่ก็จะหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว

เขาและกลุ่มเพื่อนเริ่มสร้างสำนึกในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติแก่ผู้ลี้ภัย ด้วยการช่วยกันเพาะต้นกล้าของพันธุ์ไม้ยืนต้นและปลูกพืชสวนครัวตามริมน้ำและบริเวณบ้าน โดยในวันคุ้มครองโลกและวันสิ่งแวดล้อมโลกของทุกปี กลุ่มของเขาจะออกรณรงค์ให้ผู้ลี้ภัยช่วยกันปลูกต้นไม้ และนำกล้าไม้ที่เพาะไว้มาแจกจ่าย รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ลี้ภัยให้ช่วยกันเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ที่มีอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลิตวารสารสิ่งแวดล้อมภาษากะเหรี่ยงที่มีชื่อว่า "กุย หมึ หญะ โร" ซึ่งแปลว่า วังน้ำที่สมบูรณ์ ปลาชุม เพื่อให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม กับชาวกะเหรี่ยงทั้งในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทยและรัฐกะเหรี่ยงฝั่งพม่า

ด้วยความรักที่มีต่อต้นไม้ พลา เกจึงรับอาสาทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเพาะปลูกต้นไม้ของกลุ่ม ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ต้นกล้านับไม่ถ้วนถูกกระจายไปปลูกทั่วค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลามาหลวง จนกระทั่งในวันนี้ ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้จัดเป็นค่ายที่มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด และสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของเขาและผองเพื่อนก็คือ กล้าไม้เล็กๆ ที่เขาและชาวบ้านช่วยกันปลูกในวันแรกได้เติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นแก่ผู้ลี้ภัยในร่มป่าและผลผลิตของมันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว  อย่างเช่นกล้าต้นนุ่นที่สองมือของเขาฝังรากของมันไว้ในผืนดินเมื่อสิบปีก่อน ทุกวันนี้ถูกไปทำเป็นไส้หมอนนุ่มๆ ให้ผู้ลี้ภัยได้หนุนนอนกันแล้ว  เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นผลผลิตจากกล้าไม้เล็กๆ เหล่านี้เติบโตให้ร่มเงากับผืนดินและผู้คนได้ใช้สอยประโยชน์จากมัน

แม้ว่าครั้งหนึ่งเขาจะเคยถูกตั้งคำถามจากผู้ลี้ภัยหลายคนว่า "จะปลูกต้นไม้ไปทำไม เพราะเราจะมาอยู่ที่นี่(แผ่นดินไทย)ไม่นาน แล้วก็จะกลับบ้าน" แต่เขาก็ไม่สนใจคำถามเหล่านั้น ตรงกันข้าม เขาเริ่มลงมือปลูกต้นไม้ต้นแรกและต้นต่อมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้นั่งนับวันรอที่จะได้กลับไปปลูกต้นไม้บนแผ่นดินเกิด เพราะไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไทยหรือรัฐกะเหรี่ยงล้วนต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไม่ต่างกัน

จนถึงวันนี้สองมือของพลา เกยังคงเพาะพันธุ์ต้นกล้าไม้เพิ่มขึ้นและฝังรากของมันลงบนผืนแผ่นดินไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแผ่นดินผืนนี้จะถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพของผู้หนีภัยของการสู้รบ แต่มันก็ไม่เคยจำกัดโอกาสผลิบานของใบไม้สีเขียวที่พร้อมสร้างร่มเงาและอากาศบริสุทธิ์ให้กับทุกผู้คนโดยไม่จำกัดสัญชาติใด

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น