วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เยือนร้านลุงไทย บ้านแสนอบอุ่นของแรงงานอพยพ

หมอกเต่หว่า

ยังไม่ทันที่พระอาทิตย์จะขึ้นเพื่อเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยซ้ำ ทว่า บรรยากาศในร้านลุงไทย ร้านข้าวแกงบนถนนทางเข้ากองบิน 41 ในจังหวัดเชียงใหม่กลับฃึกคักไปด้วยลูกค้าที่มีตั้งแต่ระดับผู้ใช้แรงงานเงินเดือนน้อย ไปจนถึงระดับข้าราชการชั้นสูงอย่างรัฐมนตรีก็เป็นลูกค้าประจำร้านนี้มาแล้วหลายราย เสียงดังจอแจของลูกค้ากับภาพของคนงานในร้านที่กำลังทำงานอย่างกระฉับกระเฉงดูจะเป็นภาพชินตาแก่ผู้ที่ผ่านไปมาในละแวกนี้ ด้วยฝีมือทำกับข้าวที่มีรสชาติอร่อยจัดจ้านสไตล์เพชรบุรีกว่า 30 - 40 เมนู บวกกับราคาถูกและสะอาดดึงดูดให้ลูกค้าแวะเวียน มาชิมปลายจวักของลุงไทยอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ก่อนรุ่งสางจนถึงช่วงบ่ายของวัน

สิ่งที่ทำให้ร้านลุงไทยดูแตกต่างจากร้านข้าวแกงทั่วไปไม่ใช่รสชาติกับข้าว หากเป็นบรรยากาศของความเป็นมิตรที่ลูกค้าทุกคนสัมผัสได้ถึงความสุขและความอบอุ่นที่ลุงไทยและป้าทุเรียนเจ้าของร้านมีให้กับแรงงานของตนเอง แม้ว่าพวกเขาและเธอจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่ผู้อาวุโสทั้งสองท่านกลับรักและดูแลทุกคนราวกับเป็นลูกหลานของตนเอง ส่งผลให้แรงงานทุกคนตั้งใจทำงานอย่างมีความสุขและส่งต่อไมตรีไปสู่ลูกค้าทุกคน จนบรรยากาศแห่งความสุขอบอวลไปทั่วร้านข้าวแกงเล็กๆ แห่งนี้

ลุงไทย เจ้าของร้านชาวจังหวัดเพชรบุรีแท้ๆ เล่าให้เราฟังว่า ก่อนมาเปิดร้านข้าวแกงเคยทำมาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นชาวสวนตากแดดตากลมไปจนถึงพนักงานบริษัทมีชื่อเสียง แต่ท้ายสุดก็ตัดสินใจยึดอาชีพเปิดร้านขายข้าวแกงเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และเพิ่งย้ายมาเปิดร้านในย่านถนนกองบิน 41 เมื่อห้าปีที่ผ่านมานี่เอง เหตุเพราะลุงไทยต้องย้ายตามลูกๆ ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแม้ลูกๆ ของลุงไทยจะเรียนจบและแยกย้ายกันไปทำงานหมดแล้ว แต่ลุงไทยก็ยังคงลงหลักปักฐานทำมาหากินอยู่ในเชียงใหม่จนถึงเดี๋ยวนี้ ลุงไทยได้เล่าถึงชีวิตประจำวันให้ฟังว่า

“ลุงจะตื่นเวลาหกทุ่มครึ่งของทุกคืนเพื่อลุกมาทำอาหาร ส่วนเด็กๆ (แรงงาน)เขาจะมาที่ร้านประมาณตีหนึ่งครึ่งไม่เกินตีสอง และจะเริ่มเปิดร้านประมาณตีสองกว่าๆ ประมาณตีสามลูกค้าก็เต็มร้านแล้ว พอบ่ายสองบ่ายสามแก่ๆ ก็เก็บร้าน จากนั้นก็ช่วยกันเตรียมของสำหรับทำกับข้าว ขายในวันถัดไป ประมาณ 5 - 6 โมงเย็นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ยกเว้นวันอาทิตย์นะ เพราะวันอาทิตย์จะปิดร้าน แต่ก็มาเตรียมของกัน คือเด็กๆ จะมาประมาณแปดโมงครึ่ง แต่จะกลับบ้านกันไม่เกินเที่ยงวัน”

ลุงไทยเล่าว่า แรงงานทั้งสิบชีวิตที่ทำงานในร้านเป็นแรงงานชาวไทยใหญ่จากประเทศพม่าและมีบัตรกรมแรงงานถูกต้องตามกฎหมายแต่ละคนเดินทางมาจากหลายเมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า อาทิ  เมืองลางเคอ เมืองตองยี เมืองสาด เมืองกึ๋ง ขณะที่แรงงานบางส่วนเดินทางมาจากหมู่บ้านใน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่และในจ.แม่ฮ่องสอน

ลุงไทยบอกเล่าถึงสาเหตุที่รับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานให้เราได้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
“พูดตรงๆ เลยนะ ที่รับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน เพราะเขาไม่อู้งานเลย และเขารู้งานว่าควรจะทำอะไรโดยที่เราไม่ต้องไปชี้นิ้วบอกไม่มีเลยที่ว่าจะมานั่งโอ้เอ้ บ่ายเบี่ยงเหนื่อยอย่างโน้น เหนื่อยอย่างนี้ แรงงานพวกนี้เขาขยันมาก และไม่ได้ทำงานแบบชุ่ยๆ เพื่อให้งานเสร็จ แต่เขาทำงานในแบบที่เราต้องการและให้ความร่วมมือที่ดีมาก เขาอยากทำงานเพื่อที่จะได้เงิน ไม่ใช่ว่าอยากได้เงินแต่ไม่ยอมทำงาน ส่วนแรงงานคนไทยเขาไม่กล้ามาสมัครที่ร้านลุงหรอก เขาบอกว่าลุงดุและงานที่นี่หนักมาก (หัวเราะ)”

แม้แรงงานในร้านลุงไทยจะต้องทำงานหนัก แต่เมื่อถามถึงค่าตอบแทนที่ได้รับ หลายคนหากได้ยินอาจนึกอิจฉาเพราะที่ลุงไทยให้เงินเดือนแรงงาน ในร้านอาจมากกว่าคนไทยที่จบปริญญาตรีหลายคนด้วยซ้ำ ลุงไทยให้เหตุผลว่า เมื่อแรงงานทำงานหนักก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกันหน่อย

“คนหนึ่งก็หมื่นกว่านะ ลุงจ่ายเป็นอาทิตย์ บางคนก็ได้อาทิตย์ละสองพันห้า บางคนก็ได้สองพันเจ็ด แต่ลุงก็เคยบอกกับพวกเขาเหมือนกันว่า ถ้ามีงานที่อื่นที่ดีกว่าและอยากไปก็ไปได้ ลุงไม่ห้าม แต่ขอบอกลุงล่วงหน้าก่อนสามวัน หรือถ้าออกไปแล้วอยากมาเยี่ยมก็มาได้ มากินข้าวที่ร้านได้ มากินฟรีเลยไม่มีปัญหา(หัวเราะ) บางคนไปที่อื่นแล้วไม่ดีก็กลับมา ลุงก็อ้าแขนรับนะ คือลุงบอกเขาอย่างนี้ ถ้าเราทำงานดีๆ กับข้าว ของเราก็มีโอกาสที่จะขายดี และเงินเดือนของพวกเขาก็จะขึ้นตามไปด้วย ลุงพูดกับพวกเขาเสมอว่า ทำให้ดีนะ ถ้าได้ดีเราได้ดีด้วยกัน เชื่อมั้ย

“ทุกวันนี้ลุงจ่ายค่าจ้างให้สิบคนนี้ยังมากกว่าเงินที่ลุงเหลืออีกนะ (หัวเราะ) เงินที่ลุงเหลือเนี่ยไม่เท่าเขาหรอก (หัวเราะ) แล้วลุงยังมีโบนัส ค่ารักษาพยาบาลให้อีก คือเราอยู่ด้วยกันมันเหมือนมีความผูกพันกัน เหมือนลูกเหมือนหลาน ทุกวันนี้ลุงขายข้าวแกงไม่ได้ต้องการกำไรเยอะๆ ลุงขอแค่ให้พออยู่พอกินและลูกค้าชอบอาหารเรา นั่นก็คือกำไรแล้ว” (ยิ้ม)

ความใจดีและความเสมอภาคที่ลุงไทยมอบให้กับแรงงานที่ร้าน นอกจากแรงงานจะตอบแทนด้วยการทำงานให้ลุงไทยอย่างดีที่สุดแล้ว พวกเขายังเคารพลุงไทยเหมือนพ่อคนที่สองของพวกเขา เช่นเดียวกับในบางครั้งที่ความทุกข์ยากในอดีตและชีวิตอันรัดทดในบ้านเกิดรัฐฉานก็มักถูกถ่ายออกมาจากปากของลูกจ้างให้นายจ้างอย่างลุงไทยได้รับฟัง
อยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกัน

“มีอยู่คนหนึ่งเขาเคยเล่าให้ฟังว่า โดนทหารพม่าจับไปเป็นทหารแต่หนีรอดมาได้ ชีวิตเขาลำบากนะ ก็มีคนนี้แหละที่ลุงชอบเล่นด้วยบางทีก็เขกหัวบ้าง เตะบ้าง แต่เขาก็ไม่โกรธนะ(หัวเราะ) แต่ถ้าให้เล่าบรรยากาศในระหว่างทำงานล่ะก็ ลุงจะไม่พูดนะ (ยิ้ม) แต่ให้ไปถามแรงงานในร้านเองว่าพวกเขาคิดกับลุงยังไง ลุงก็อยากรู้เหมือนกัน” (หัวเราะ)

มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ลุงไทยได้รู้ซึ้งถึงน้ำใจของแรงงานในร้านและรับรู้ว่า แรงงานเหล่านี้อยากทำงานกับลุงไทยมากแค่ไหน ลุงไทยค่อยๆ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างช้าๆ ด้วยแววตาประทับใจว่า

“ตอนนั้นลุงต้องผ่าเข่าและต้องพักฟื้นประมาณสองเดือนกว่า ซึ่งต้องปิดร้าน พวกเด็กๆ(แรงงาน)ก็แยกย้ายกันไปรับจ๊อบทำงานที่อื่น พวกเขาก็ถามเมื่อไหร่ลุงจะหาย และเรียกร้องให้กลับมาเปิดร้านเร็วๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีเงินใช้นะ แต่พวกเขาบอกว่าไปทำงานที่อื่นไม่มีความสุขเหมือนทำงานกับลุง ซึ่งทำให้ลุงคิดว่านี่อาจเป็นความดีส่วนหนึ่งของลุงที่ทำให้เขาเห็น ลุงเหมือนเป็นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ของเขา ทุกวันนี้อยู่กันเหมือนลูกเหมือนหลาน ผิดก็ว่ากันไป ลุงปากจัดและอารมณ์ร้อน ลุงก็ด่าและดุนะ แต่เขาไม่กลัว(หัวเราะ) พอลุงหายดีและเปิดร้าน ทุกคนก็ยังกลับมาทำงานเหมือนเดิม ซึ่งลุงก็มั่นใจว่าพวกเขาไม่หนีไปไหน พวกเขาต้องอยู่กับลุง”

ในขณะที่กำลังสัมภาษณ์ลุงไทยอยู่นั้น เราได้ยินเสียงหัวเราะของใครหลายคนดังมาจากห้องครัวเป็นระยะๆ เมื่อสัมภาษณ์ลุงไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจึงไม่รีรอรีบเดินไปหาต้นเสียงด้านหลังร้านทันที ภาพที่ เห็นคือแรงงานในร้านกำลังช่วยกันตระเตรียมของสำหรับขายในวันรุ่งขึ้นอย่างขยันขันแข็งพร้อมกับเสียงหยอกล้อกัน ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายมากทีเดียว แม้จะสังเกตเห็นว่าพวกเขากำลังทำงาน อย่างหนัก แต่บนใบหน้าเปื้อนเหงื่อกลับเต็มไปด้วยรอยยิ้มปรากฏอยู่ตลอดเวลา

“ทำงานที่นี่เราอยู่เหมือนเป็นญาติพี่น้องกัน ลุงไทยเป็นคนใจดี เหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของพวกเรา ความรู้สึกคือเหมือนเราอยู่ที่บ้าน ลุงไทยจะดุเฉพาะเวลาที่เราทำไม่ถูก แต่เราก็ไม่ได้โกรธลุงนะ เพราะถือว่าเราทำผิดเอง ที่นี่เราอยู่กันแบบพี่แบบน้อง ช่วยเหลือกันไป”  กุ๋น หญิงสาวที่เดินทางมาจาก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และจายปี หนุ่มบ้านไกลจากเมืองลางเคอ ทางภาคใต้ของรัฐฉานบอกเล่าความรู้สึกด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

แรงงานหลายคนที่นี่เล่าว่า เพราะเศรษฐกิจทำพิษและความไม่มั่นคงทางการเมืองในบ้านเกิดบีบบังคับให้พวกเขาต้องกลายมาเป็นแรงงานพลัดถิ่นในประเทศไทยและไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับคืนบ้านเกิด

หลายคนเล่าว่า มาทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่เป็นเวลาหลายปีแล้ว ก่อนที่จะมาทำงานกับลุงไทยก็เคยทำงานที่อื่นมาก่อน เช่น บางคนเคยทำงานโรงงานตุ๊กตา ร้านโจ๊ก หรือเป็นแม่บ้านมาก่อน แต่ทุกคนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างเก่าซึ่งเป็นคนไทยเป็นประจำ เช่นเดียวกับเรื่องราวของกุ๋นที่เล่าให้เราฟังว่า

“เมื่อก่อนทำงานที่อื่นก็เจอสารพัดนะ บางครั้งก็เจอนายจ้างดีบางครั้งก็เจอนายจ้างเอาเปรียบ เช่นบางทีทำงานให้เขาทั้งเดือน แต่เขาเบี้ยวไม่จ่ายค่าแรงให้เรา”  เช่นเดียวกับจายสาย หนุ่มหน้ามนจากเมืองลางเคอที่เคยเจอปัญหาเดียวกันก่อนมาทำงานกับลุงไทย

ขณะที่เมื่อถามถึงบรรยากาศการทำงานในร้านลุงไทย ทุกคน จะตอบเป็นเสียงเดียวกันอีกเช่นเคยว่า ทุกคนทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข พร้อมบอกเล่าความประทับใจในตัวของลุงไทยว่า

“ผมอยู่เชียงใหม่มากว่าสี่ปีแล้ว เคยทำงานมาหลายที่นะ แต่ที่นี่ดีที่สุด จะพูดยังไงดีล่ะ ผมคิดว่าอยู่ที่นี่แล้วสุขกายสุขใจนะ(ยิ้ม) ประทับใจ ที่ขาดเหลืออะไรลุงก็ช่วยเหลือหมด” จายยา หนุ่มเมืองกึ๋งพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

เช่นเดียวกับเกี๋ยง แรงงานหญิงจากเมืองตองยีที่เล่าว่า ลุงไทยเป็นคนใจดีมาก และเธอคิดว่าเธอจะทำงานที่ร้านลุงไทยไปเรื่อยๆ ตราบที่ลุงไทยยังให้เธออยู่ ส่วนแรงงานคนอื่นๆ ก็เล่าถึงความประทับใจในตัวลุงไทยว่า

“ลุงไทยมักจะทำอาหารอร่อยๆให้พวกเรากินในวันอาทิตย์ บางทีลุงก็ขอสูตรอาหารไทยใหญ่ของเรา มีอาหารไทยใหญ่อย่างหนึ่งที่ลุงชอบกินมาก นั่นคือน้ำพริกทราย (ถั่วเน่าบดฃั่วกับกระเทียมและพริกแห้ง) และลุงไทยกับป้าทุเรียน (ภรรยาลุงไทย) ก็มักจะซื้อผลไม้มาให้พวกเรากินเสมอ พูดก็พูดคือลุงไทยกับป้าทุเรียนกินอะไร ลูกจ้างในร้านก็ได้กินอย่างนั้น บางทีลุงกับป้าก็มานั่งกินข้าวกับพวกเราโดยที่ไม่ถือตัวเลยซักนิด”

ด้านจายหลาวเงิน หนุ่มอีกคนจากเมืองลางเคอเล่าถึงความประทับใจในตัวลุงไทยเช่นกันว่า “คนเราจะดีจะชั่วก็อยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเราตั้งใจทำงานดีๆ นายจ้างก็ต้องรักและเอ็นดูเราเป็นธรรมดา แต่ผมชอบลุงไทยที่เป็นคนตรงๆ ยึดหลักความถูกต้องและความยุติธรรม ยกตัวอย่าง หากลูกค้าทำผิด ลุงไทยก็จะด่ากระจุยไม่ไว้หน้าเหมือนกัน แม้จะเป็นคนใหญ่คนโตแค่ไหนก็ตาม” (หัวเราะ)

อาจกล่าวได้ว่า แม้แรงงานกลุ่มนี้จะโชคดีที่ได้มาทำงานกับลุงไทย แต่แรงงานอพยพจากพม่าคงไม่โชคดีอย่างนี้ทั้งหมด บ่อยครั้งที่แรงงานอพยพถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมและนำโรคมาติดต่อสู่คนไทย แรงอคติและกระแสต่อต้านจากสังคมไทย จึงทำให้พวกเขามักได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมเฉกเช่นมนุษย์

“อยากให้คนไทยเข้าใจว่า แรงงานข้ามชาติไม่ได้เหมือนกันหมด คนดีๆ ก็มีตั้งเยอะแยะ” นี่คือคำพูดของจายสาย ขณะที่จายปีพูดเสริมขึ้นมาว่า ”จริงๆ ก็ไม่อยากให้คนไทยเหมารวมแรงงานข้ามชาติเหมือนกันหมด ดูเอาง่ายๆ นะ ขนาดนิ้วมือของคนเรายังไม่เท่ากันเลย (พร้อมกับแซวจายยา เพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งว่า) เนี่ยอย่างเพื่อนผมคนนี้ เขาเป็นคนดีมากนะ เรื่องธรรมะธัมโมเนี่ยยกให้เป็นที่หนึ่งเลย” (หัวเราะ)

ด้านจายหลาวเงินก็ไม่น้อยหน้า รีบแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า
“คงไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดของตัวเองหรอก เราอยู่ที่รัฐฉานเราทำไร่ทำนาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ที่เราอยู่ไม่ได้เพราะทหารพม่ารังแกเราหลายคนที่เดินทางเข้าไทยก็เหมือนเอาชีวิตมาตายดาบหน้ากันทั้งนั้น แถมยังต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากให้นายหน้า บางคนอาจเหยียบระเบิดตายในระหว่างที่กำลังลักลอบเข้าไทย บางคนเจอนายจ้างดีก็โชคดีไป แต่คนที่เจอนายจ้างไม่ดีก็เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น อยากให้คนไทยเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากมีชีวิตแบบนี้กันหรอก แบบที่แรงงานข้ามชาติจากพม่ากำลังเป็นอยู่”

แม้บรรยากาศหน้าร้านลุงไทยในตอนนี้จะร้อนอบอ้าวเพราะเปลวแดด และความวุ่นวายของรถที่สัญจรไปมา แต่รอยยิ้มและใบหน้าของแรงงานที่ทำงานอย่างมีความสุขในร้านได้ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกอิ่มเอมและลืมภาพความวุ่นวายไปชั่วขณะ คงจะดีไม่น้อยถ้าประเทศไทยมีนายจ้างอย่างลุงไทยเยอะๆ เพราะนั่นหมายถึง เราจะได้ไม่ต้องเห็นการเลือกปฏิบัติและการเอารัดเอาเปรียบต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอาจต้องขอบคุณแรงงานอพยพเหล่านี้ที่มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในบ้านเราด้วยซ้ำ

ลุงไทยได้ฝากแง่คิดถึงนายจ้างไทยที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่ในบ้านเราเอาไว้ว่า
“คนก็เสมือนคนด้วยกัน คำว่า ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหนก็คือคน มีชีวิต เลือดเนื้อ ความปรารถนาเหมือนกัน รู้เจ็บ รู้ร้อนรู้หนาวเหมือนกัน ลุงคิดถึงตรงนี้มากกว่า ลุงไม่ได้คิดว่านี่คือคนไทยใหญ่  กะเหรี่ยง พม่า เจ๊ก จีน ลุงไม่ได้คิดถึงตรงนั้น แรงงานข้ามชาติก็คือคน มีความต้องการเหมือนกัน คืออยากจะมีอาชีพ อยากจะมีรายได้ เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต ลุงไม่เอาเปรียบเขานะ ขอให้เขาเต็มที่กับลุง ลุงก็เต็มที่กับเขาเหมือนกัน”.












เยือนร้านลุงไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น