วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เสียงปืน และ สันติภาพ

เขียนโดย Leonard Shinrachan แปลโดย กองบรรณาธิการ
ภาพ KDNG / AKSYU

เวลาตีสองของวันที่ 9 มิถุนายน เสียงปืนปะทุกึกก้องไปทั่วเขตตะวันออกของรัฐคะฉิ่น ดินแดนที่ผู้คนในพม่าต่างกล่าวขานถึงอากาศอันหนาวเย็นตลอดทั้งปีและทิวทัศน์ที่สวยสดงดงาม การต่อสู้ระหว่างกองกำลังทหารพม่ากองพัน 437 และกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army -KIA) กองพัน 15 ภายใต้ กองพลน้อยที่ 3 ในครั้งนี้เริ่มขึ้นที่เมืองโมเม่าก์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำทาปิง 17 ปีที่ปราศจากเสียงปืนบนเทือกเขาแห่งรัฐคะฉิ่น บัดนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ





นี่คือการตอบโต้การแบ่งแยกชนชาติ ต่อกรเพื่อความยุติธรรม หรือต่อสู้ เพื่ออิสรภาพ สันติภาพ และปกป้องแผ่นดินเกิดอย่างนั้นหรือ? ผู้ที่รับรู้เรื่องราวปัญหาเบื้องหลังระหว่างพม่าและชนกลุ่มน้อยอย่างคะฉิ่น คงมองเห็นภาพรวมของประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี พวกเขาเหล่านั้นก็คงต้องการแก้ปัญหาโดยสันติ และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่าโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ แต่คงไม่ใช่นายพลตานฉ่วยและประธานาธิบดีเต็งเส่งที่ไม่มีวันยอมฟังใคร เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวสำหรับเขาและพรรคพวกสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด และแน่นอนสงครามกลางเมืองจึงยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับผู้คนที่ต้องจากบ้านอพยพหนีตายวันแล้ววันเล่า ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขายังมีความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้และยังพอมีกำลังใจหลงเหลืออยู่หรือไม่ ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจ

รัฐบาลพม่าต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำทาปิงร่วมกับบริษัทจากจีน แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของ KIA กองทัพพม่าจึงต้องลงมือจัดการเคลียร์พื้นที่เปิดทางให้กับโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องการควบคุมจุดผ่านแดนที่อยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเพียง 20-30 กม.อีกด้วย เนื่องด้วยเศรษฐกิจในพม่าภายใต้รัฐบาลเผด็จการนับวันจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีเงินบริหารประเทศ ส่วนรายได้แทบทั้งหมดจากการขายทรัพยากรธรรมชาติอย่าง ก๊าซ ป่าไม้ และแร่ธาตุ เข้ากระเป๋าบรรดานายพลเสียหมด ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นและรัฐบาลใหม่ที่เรียกตัวเองว่ารัฐบาลพลเรือน กำลังร่วมมือกันหาเงินด้วยการทำลายทรัพยากรอย่างโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และพยายามควบคุมการค้าขายตรงชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นเป็นวิธีการของรัฐบาลพม่าในการบริหารเศรษฐกิจ และนี่คือชนวนเบื้องหลังการสู้รบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ประกอบกับเรื่องการเมืองที่รัฐบาลพม่าพยายามบังคับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเข้าร่วมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้กองทัพพม่า ซึ่ง KIA ได้ปฏิเสธเนื่องจากไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ประชาชนชาวคะฉิ่นต้องการ

ในการรบวันแรก ทหารพม่าเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 11 นาย และอาการสาหัสอีก 6 นาย ตัวเลขทหารที่เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่ชีวิตเหล่านั้นถูกสังเวยเพียงเพื่อผลประโยชน์ของเหล่านายพลระดับสูงไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ โดยปกติแล้ว ทหารพม่าเหล่านี้มักจะอยู่อย่างอด ๆ อยาก ๆ ไม่ได้รับค่าตอบแทนเพียงพอในการประทังชีวิตโดยเฉพาะเมื่อต้องออกรบในแนวหน้า ด้วยเหตุนี้ทหารพม่าจึงตั้งตัวเป็นอันธพาลกลายเป็นโจรปล้นสะดม ปล้นอาหารและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หนำซ้ำยังทำร้าย ชาวบ้านด้วยวิธีต่างๆ นานา

สามสี่วันหลังจากการสู้รบปะทุขึ้น ประชาชนชาวคะฉิ่นกว่าสองพันคนต้องลี้ภัยไปยังชายแดนจีน ในความคิดของผม พวกเขาอาจคิดว่าคงจะได้กลับบ้านในเร็ววัน หรือโชคร้ายหน่อยก็อาจต้องใช้เวลานับเดือน ไม่มีใครอยากจากบ้านของตัวเองไปด้วยสาเหตุ เช่นนี้ แต่ความคิดอย่างหนึ่งก็เข้ามาวนเวียนอยู่ในหัวของผม นั่นก็คือ ถ้าพวกเขามีโอกาสกลับบ้าน วิถีชีวิตอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คงไม่มีความปลอดภัยเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะอะไรนะหรือ ก็เพราะที่ผ่านๆ มาทหารพม่ามักจะกล่าวหาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่สู้รบว่าเป็นพวกกองกำลังชนกลุ่มน้อย หรือไม่ก็สนับสนุนกองกำลัง ชนกลุ่มน้อยเป็นข้ออ้างในการลงโทษหรือทำร้ายชาวบ้านอยู่เสมอ

“ถ้าไม่มีการสู้รบแล้วจะกลับบ้านไหม” เพื่อนของผมถามผู้ลี้ภัยที่หนีจากบะหม่อและโมเม่าก์มายังมิตจีนา หลังจากฟังคำถามสีหน้าของพวกเขากลับเศร้าหมอง เพราะภาพทหารพม่าจับชาวบ้านแขวนคอบนต้นไม้ ทรมานร่างกายและสังหารเพราะถูกกล่าวหาว่าส่งข่าวให้กับทหารคะฉิ่นที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่องค์กรเอกราชคะฉิ่น (KIO) จะทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ยังเป็นเหมือนฝันร้ายที่คอยหลอก หลอนพวกเขามาจนถึงทุกวันนี้ “ไม่มีใครอยากท้าทายเอาชีวิตเข้าเสี่ยงหรอก เราจะกลับก็ต่อเมื่อรัฐบาลประกาศหยุดยิงในพื้นที่อย่างเป็นทางการ” นี่คือคำตอบของผู้ลี้ภัย

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปจนถึงขณะนี้มีการปะทะกันเล็กน้อยในบางพื้นที่ ขณะที่ประชาชนจากบะหม่อและโมเม่าก์ได้หนีไปยังชายแดนจีนและเมืองอื่นๆ บ้างก็หนีเข้าป่า หรือไม่ก็หนีไปอยู่กับญาติที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น

วันที่ 26 มิถุนายน ตัวเลขผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 15,000 คนจาก 80 หมู่บ้านในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ใจกลางวงล้อมของกองทัพพม่าไม่สามารถหนีไปยังไลซา บะหม่อ มิตจีนา หรือไหว่หม่อได้ เพราะเส้นทางไปยังชายแดนถูกปิดกั้นไว้หมด พวกเขาต้องใช้วิธีหนีเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าตอนกลางคืนและออกมาทำไร่เลี้ยงสัตว์ในตอนกลางวัน

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เรียกตัวเองว่ารัฐบาลพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอำนาจจากรัฐบาลทหารชุดเดิม ในขณะนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงถ้อยแถลงของผู้นำคนใหม่ที่ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องการหยุดยิงสันติภาพ และการปรองดองแม้แต่น้อย จากนั้นไม่นานก็เกิดการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน และตามมาด้วยรัฐคะฉิ่น ซึ่งนั่นบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารชุดเก่าหรือรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ก็ตาม รัฐบาลพม่าไม่มีความต้องการที่จะปรองดองและหันหน้าเข้ามาเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์เลยแม้แต่น้อย

ไกลออกไปในเมืองย่างกุ้ง มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในเมืองตันลยิน หลังการสู้รบหนึ่งสัปดาห์ เมื่อนักเรียนชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัยชาวคะฉิ่น 15 คนที่เช่าบ้านขณะเรียนหนังสือในย่างกุ้ง ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบังคับให้ออกจากบ้านหลังดังกล่าว เด็กๆ เหล่านี้มาจากเขตชนบทห่างไกลทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ผู้ที่ดูแลนักเรียนเหล่านี้ต้องลงชื่อยินยอมในคำสั่งดังกล่าว สร้างความตกใจและไม่พอใจในกลุ่มชาวคะฉิ่นทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศเป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นที่กระจายอยู่ตามชายแดนจีนเมืองหมู่เจ้ เมืองน้ำคำในรัฐฉาน เมืองมิตจีนา ไหว่หม่อ บะหม่อ และไลซาในรัฐคะฉิ่นกำลังย่ำแย่ เมื่อค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวในไลซาที่มีอยู่แล้ว 4 แห่งไม่สามารถรองรับชาวบ้าน ได้เพียงพอ จึงต้องสร้างค่ายพักพิงขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่ในเรื่องอาหารและยารักษาโรคเจ้าหน้าที่ในพื้นที่คนหนึ่งบอกว่า ในมิตจีนานั้น ทั้งโบสถ์และวัดหรือแม้แต่ญาติๆ ต่างกำลังพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกันอย่างเต็มความสามารถ ส่วนในเมืองบะหม่อ โบสถ์คริสเตียนกลับไม่สามารถให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างเปิดเผย เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหากับทั้งโบสถ์และผู้ลี้ภัยเองหากรัฐบาลรู้เข้า จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง โบสถ์บางแห่งต้องทำเป็นจัดการประชุมบังหน้า โดยผู้ลี้ภัยจะถูกจัดให้อยู่อีกที่หนึ่งในความดูแลของโบสถ์

ศาสนาจารย์ท่านหนึ่งในมิตจีนาเป็นห่วงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยหากการสู้รบยืดเยื้อยาวนานออกไป เช่นเดียวกับองค์กรในพื้นที่ชายแดนคะฉิ่นที่กังวลเรื่องความช่วยเหลือและสุขภาพของผู้ลี้ภัย เพราะสภาพอากาศที่ร้อนและมีพายุฝนทำให้หลายคน ป่วยเป็นโรคมาลาเรียและท้องร่วงโดยเฉพาะเด็ก อีกทั้งน้ำดื่มก็ไม่สะอาดและอาหาร ไม่เพียงพอ ในขณะที่สภาพจิตใจนั้น ความกดดันและหวาดกลัวก็กำลังคุกคามพวกเขาอยู่เช่นกัน ทั้งองค์กรในพื้นที่และผู้นำศาสนาจึงขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรและชาวคะฉิ่นนอกประเทศอย่างเร่งด่วน

ทว่า ด้านรัฐบาลพม่าไม่ได้เห็นพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัย และห้ามไม่ให้เอ็นจีโอและองค์กรต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งขัดขวางไม่ให้มีการขนส่งอาหารไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอีกด้วย ผู้บัญชาการทหารพม่าภาคเหนือสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเด็ดขาด ก็อย่างที่ทราบกันดี แม้แต่ทหารที่สละชีวิตเพื่อนายพลเหล่านั้นยังถูกปล่อยให้อยู่อย่างอดๆ อยากๆ เป็นแรมเดือนแรมปีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลพม่าจะห้ามไม่ให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นได้อย่างเลือดเย็น

14 กรกฎาคม รายงานข่าวระบุจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มกว่า 20,000 คนแล้ว ตัวเลขดังกล่าวอาจสร้างปัญหาใหญ่ในการช่วยเหลือขององค์กร ในพื้นที่ ต่อมาในวันที่ 16 กรกฎาคม การต่อสู้ที่หนักหน่วงปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างสองฝ่ายในขณะที่ KIO ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนชาวคะฉิ่นเรื่องการหยุดยิงและสันติภาพ ซึ่งตัวแทนจากภาคประชาชนชาวคะฉิ่นประกาศชัดว่าเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาแบบสันติวิธี โดยการเจรจา ระหว่าง KIO กับรัฐบาลพม่าเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่เห็นด้วยหากการหยุดยิงนั้นเป็นการตบมือข้างเดียว เพราะกองทัพพม่าเป็นฝ่ายล้ำเส้นเข้ามาคุกคามชาวคะฉิ่นก่อน “เราเจรจาและเราก็ตอบโต้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของเรา” ตัวแทนชาวคะฉิ่นกล่าว แม้จะรู้ดีว่าสงครามย่อมตามมาด้วยความสูญเสียประชาชนต้องสูญเสียบ้าน ผืนดิน และวิถีชีวิต แต่วินาทีนี้คงไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้อีกแล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งกำลังตบตาอาเซียนและประชาคมโลกว่า ความเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในพม่ากำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ทว่า พวกเขายังคงเข่นฆ่าชาวกะเหรี่ยง ชาวไทใหญ่ และชาวคะฉิ่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันพวกเขาต้องการกำจัดชาวคะฉิ่นด้วยกระสุนปืนและสงคราม ต้องการกดขี่ ข่มเหงชาวคะฉิ่น ไม่ยอมให้พวกเราชาวคะฉิ่นลุกขึ้นพูดได้อย่างอิสระทั้งๆ ที่เรามีสิทธิ พวกเขาคิดว่านี่จะทำให้เกิดสันติสุขอย่างนั้นหรือรัฐบาลพม่ายังคงคุกคามชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด แต่ในวันนี้ผู้ถูกกระทำ ไม่ยอมนิ่งเฉยอีกต่อไปและลุกขึ้นตอบโต้รัฐบาลพม่าเพื่อปกป้อง ตัวเองบ้างแล้ว

ชาวคะฉิ่นไม่ได้ต้องการแก้วิกฤติทางการเมืองด้วยความรุนแรงจับอาวุธลุกขึ้นสู้ตลอดไป สำหรับผมเอง ผมเชื่อในพลังประชาชน และการต่อสู้แบบสันติวิธี พวกเราชาวคะฉิ่นได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อรัฐบาลพม่าในการแก้ปัญหาโดยการเจรจาและยุติสงครามกลางเมืองทั่วประเทศมาโดยตลอด ล่าสุดมีเด็ก 5 คนต้องจบชีวิตลงในค่ายผู้ลี้ภัย ประชาชนกว่า 16,000 คนยังคงอยู่ที่ชายเดนเมืองไลซาด้วยความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลพม่าอาจจะเข้าจู่โจมไลซารวมทั้งพวกเขาได้ทุกเมื่อ ผู้ลี้ภัยอีกกว่า 2,000 คนต้องหลบซ่อนอยู่ในหมู่บ้านและกำลังขาดแคลนอาหารโดยที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติยังเข้าไปไม่ถึง ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายและทุกข์ทรมานบนแผ่นดินของตัวเอง ในบ้านของตัวเอง

ในวันพรุ่งนี้ที่กำลังจะมาถึงมันจะเป็นอย่างไร จะเป็นรุ่งอรุณ แห่ง ‘ความหวัง’ หรือมีแค่ ‘ความท้อแท้’..?

ในขณะนี้ เสียงปืนยังคงดังกึกก้องไปทั่วภาคตะวันออกของรัฐคะฉิ่น ชาวคะฉิ่นยังคงต้องหนีตายจากสงครามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันความสงบสุขที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นอาจไม่ใช่ส่วนหนึ่งของครอบครัวที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่เป็นแค่เพียงแขกผู้มาเยี่ยมเยือนชั่วคราวและต้องจากไปในที่สุด.

ขอพระเจ้าจงอวยพรแด่ชาวคะฉิ่น
Leonard Shinra Chan
22 กรกฎาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น