ในชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง การได้แต่งงานกับชายคนรักย่อมเป็นความปรารถนาสูงสุด แต่หากการแต่งงานเกิดขึ้นกับชายที่ไม่เคยเห็นหน้า ต่างชาติ ต่างภาษา และต้องการเพียงแค่ร่างกายของเธอเพื่อเป็น “แม่พันธุ์” ที่สำคัญ เธอไม่อาจรู้ตัวล่วงหน้าด้วยซ้ำไปว่า เธอกำลังจะเป็น “เจ้าสาวส่งออก” ของขบวนการค้ามนุษย์
บนเส้นทางระหว่างรัฐคะฉิ่น ดินแดนเหนือสูดของประเทศพม่าสู่มณฑลยูนนานของประเทศจีน เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางค้ามนุษย์ที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในพม่าและความต้องการบริโภคหญิงสาวของชายชาวจีน
หญิงสาวจากรัฐคะฉิ่นผู้มุ่งหวังจะข้ามพรมแดนมาทำงานเก็บเงินส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัวกลับถูกนายหน้าหลอกขายไปเป็นภรรยาของสามีชาวจีนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางคนถูกส่งไปอยู่ในหมู่บ้านไกลแสนไกลถึงชายแดนเกาหลีเหนือ ไม่รู้หนทางหนีและกลับบ้านตนเอง บางคนถูกส่งไปขายประเวณีตามซ่องโดยไม่มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอก หญิงสาวจำนวน 1 ใน 27 คนจะหายไปตัวอย่างไร้ร่องรอยไม่ติดต่อกลับมาหาครอบครัวอีกเลย
จนถึงวันนี้ ยังมีหญิงสาวอีกมากมายที่รอคอยช่วยเหลือให้กลับบ้าน แต่ไม่มีใครรู้ว่า พวกเธออยู่ที่ไหน...
ขบวนการส่งออกเจ้าสาว
“ฉันได้รับเสนองานแม่บ้านแถวเมืองยินจาง (Ying Jiang) ใกล้ชายแดนพม่าโดยเพื่อนคนหนึ่ง ฉันได้รับการบอกเล่าว่า นายจ้างของฉันรวยมาก ฉันจึงตกลงไปทำงานด้วยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ฉันเดินทางไปไปพบเพื่อนที่เมืองลายซา ชายแดนรัฐคะฉิ่น ติดกับมณฑลยูนนาน เพื่อนพาฉันไปส่งที่ยินจาง เมื่อฉันไปถึงที่นั่น เพื่อนซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้สองสามชุด เช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อนพาฉันไปเยี่ยมบ้านเพื่อนสองสามคน หลังจากนั้นก็ทิ้งฉันไว้ที่บ้านผู้หญิงคนหนึ่งที่พูดภาษาคะฉิ่นได้ วันต่อมา ฉันถูกพาขึ้นรถไฟไปยังเมืองจี้หลิน (Jilin) ทางภาคตะวันออกของจีน ติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ และเพิ่งรู้ตัวเมื่อไปถึงจี้หลินว่า เพื่อนได้ขายฉันให้เป็นภรรยาของชายจีนด้วยจำนวนเงิน 24,000 หยวน (ประมาณ 120,000 บาท) แล้ว”
ข้างต้นเป็นหนึ่งบทสัมภาษณ์หญิงสาวชาวคะฉิ่นซึ่งถูกหลอกไปขายเป็นภรรยาชาวจีนโดยเพื่อนของเธอเอง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหมู่บ้านชาวคะฉิ่น ขบวนการค้ามนุษย์โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากญาติพี่น้องเพื่อนสนิทจนเกิดเป็นความไว้วางใจและยอมถูกชักพาข้ามพรมแดนไปยังประเทศจีน พ่อแม่ของหญิงสาวเหล่านี้มักยินยอมให้คนรู้จักพาไปหางานทำ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจรู้ว่า ลูกสาวหายไปไหน ดังเช่น จดหมายของเด็กหญิงผู้นี้
ถึงพ่อแม่ที่รัก
ฉันส่งความคิดถึงมาให้พ่อและแม่ พวกท่านคิดถึงฉันบ้างหรือเปล่า ฉันกำลังอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย มาช่วยฉันที่ ฉันไม่สามารถกลับไปหาพวกท่านได้ ถ้าพวกท่านไม่รู้ทาง ขอให้ถามนาย “น” (สามีของนาง “ฮ”) เขาทิ้งพวกเราและพูดว่าจะกลับมารับ แต่ก็หายไปเลยนับจากนั้น หญิงชาวไทยใหญ่ที่ถือจดหมายฉบับนี้กลับไปได้รับความช่วยเหลือจากพี่ชายของเธอให้หลบหนี ฉันต้องอาศัยอยู่กับผู้ชายถึงหกคน จดหมายฉบับนี้เขียนโดยเพื่อนของฉัน ฉันไม่สามารถอดทนต่อการทรมานของผู้ชายแปลกหน้าได้อีกแล้ว ฉันคิดว่า ชีวิตของฉันอาจจบลงโดยไม่ได้เห็นหน้าพวกท่านอีก
ด้วยความหวัง
จากลูกสาวของท่าน “ม”
ปัจจุบัน เป้าหมายของขบวนการค้าหญิงสาวจากพม่าสู่ประเทศจีน คือ การส่งออกเจ้าสาวให้กับชายจีนร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือจะถูกบังคับให้ทำงานบ้าน และสถานบันเทิง ขั้นตอนการส่งออกหญิงสาวไปขายในประเทศจีนจะเริ่มต้นหลังจากหลอกลวงหญิงสาวข้ามพรมแดนมายังประเทศจีนก่อน โดยในตอนแรก นายหน้ามักอ้างว่า จะหางานทำที่ชายแดนฝั่งจีน ติดกับชายแดนพม่า เพื่อให้หญิงสาวรู้สึกอุ่นใจว่าใกล้บ้าน แต่หลังจากข้ามชายแดนมายังฝั่งจีนแล้ว พวกเธอก็มักถูกหลอกว่า ที่เมืองชายแดนไม่ค่อยมีงานให้ทำ หรือรายได้ไม่ดีเท่ากับเมืองชั้นในที่อยู่ไกลชายแดนพม่า พวกเธอจึงยอมเดินทางไปไกลด้วยความฝันอันสวยหรูว่าจะได้เก็บเงินก้อนโตส่งกลับไปให้ครอบครัว ทว่า ความฝันของพวกเธอกลับไม่เคยเป็นความจริง
[caption id="attachment_3188" align="alignleft" width="250" caption="photo KWAT"][/caption]
ความต้องการภรรยาของชายชาวจีนไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากนโยบายของจีนที่ให้มีลูกเพียงคนเดียว เมื่อผู้หญิงตั้งท้องจึงมักไปอัลตราซาวน์ และหากมีลูกสาวก็จะไปทำแท้งทำให้ผู้หญิงที่เติบโตมาเป็นเจ้าสาวขาดแคลน ดังเช่นเด็กสาวที่ถูกหลอกไปขายในเมืองหัวถิ่น เล่าวว่า ในเมืองนั้นไม่ค่อยมีผู้หญิงให้เห็นนัก และเวลาพวกเธอไปไหนก็ต้องกลัวจะต้องจับตามองให้ดี ไม่ให้ใครมาลักพาตัวไป หรือแอบหนีไปด้วยตนเอง
การหาซื้อภรรยาไม่ใช่ความคิดของผู้เป็นสามีเพียงคนเดียว แต่มักมีผู้เป็นแม่อยู่เบื้องหลัง โดยบางคนแม่จะทำหน้าที่จัดการให้ทั้งหมด สนน ราคาค่าตัวเจ้าสาวจะอยู่ระหว่าง 5,000 หยวน (24,000 บาท) ถึง 24,000 หยวน ( 120,000 บาท) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 หยวน (63,000 ดอลลาร์)
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เงินจำนวนนี้ ผู้เป็นเจ้าสาวไม่มีโอกาสได้สัมผัสมันเลยแม้แต่เศษสตางค์เพราะนายหน้าผู้พาเธอมาส่งเชิดเงินไปหมดแล้ว และชีวิตของเธอนับนี้ก็จะต้องทำงานชดใช้ค่าตัวเจ้าสาวไปทั้งชีวิต ความหวังจะได้เก็บเงินส่งกลับไปให้ครอบครัวทางบ้านมอดดับลงในหมู่บ้านอันแสนไกล โดยหนึ่งในสามของเจ้าสาวส่งออกจะถูกบังคับให้แต่งงานกับชายจีนในมณฑลยูนนาน ส่วนที่เหลือสองในสามจะถูกบังคับให้แต่งงานกับชายในมณฑลอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกของจีน หรือไกลถึงชายแดนเกาหลีเหนือ ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากชายแดนพม่าถึงหนึ่งสัปดาห์
ในบางกรณี ฝ่ายชายจะเดินทางมายังหมู่บ้านหรือเมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนพม่าเพื่อเลือกซื้อหาเจ้าสาวด้วยตนเอง ก่อนจะถูกเลือกเป็นเจ้าสาวแบบไม่รู้ตัว นายหน้าจะบอกเล่านำคุณสมบัติของพวกเธอไปเสนอต่อบรรดาว่าที่เจ้าบ่าว หากเป็นสาวรุ่น รูปร่างอวบอั๋นพร้อมจะเป็นแม่ (พันธุ์) ของลูก สาวผู้นั้นจะถูกเลือกซื้อไปอย่างรวดเร็ว โดยระหว่างการดูตัว นายหน้าจะทำเหมือนกับนายจ้างมาเลือกคนงานไปทำงานด้วย หากสนใจคนไหน ว่าที่เจ้าบ่าวก็จะไปเจรจากับนายหน้าเพื่อจ่ายเงินและพาเจ้าสาวที่ยังไม่รู้ตัวออกจาก “ห้องดูตัว” กลับไปยังบ้านเกิดของตนเพื่อทำพิธีแต่งงาน
“ที่บ้านหลังนั้น (ในเมืองยินจาง ใกล้ชายแดนพม่า) เราต้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3-4 วัน วันหนึ่งมีชายแปลกหน้ามา แล้ว นาง ก. (นายหน้า) ก็บอกพวกเราว่า เขาเป็นเจ้าของร้าน และฉันต้องไปกับเขา เราใช้เวลาเดินทางถึง 3 วันจึงถึงหมู่บ้านแล้วเขาก็บอกให้ฉันเข้าไปบ้านเขา ก่อนจะบอกว่า ฉันต้องเป็นเมียเขา เมื่อฉันปฏิเสธ เขาบอกว่า เขาซื้อฉันมาแล้ว หลังจากนั้นเขาก็ขืนใจฉัน”
หญิงสาวบางคนรู้ตัวว่าจะถูกขายเป็นภรรยาชาวจีน แต่ไม่สามารถหนีออกมาได้ เพราะถูกจับมัดขังไว้ในบ้าน และต้องทำตามคำสั่งของนายหน้า ดังเช่น หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ได้ 5 เดือนถูกนายหน้าบังคับให้ทำแท้งเพื่อขายเป็นเจ้าสาวชายจีน ส่วนหญิงสาวอีกคนหนึ่งซึ่งเคยผ่านการผ่าตัดคลอดลูกมาแล้ว จึงถูกลูกค้าปฏิเสธที่จะซื้อหาหลังจากเห็นรอยแผลเป็นที่น่าท้อง แต่ยังถูกนายหน้าบังคับให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อให้แน่ใจว่า เธอยังสามารถมีลูกได้อีกหลายคน
กลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อเจ้าสาวชาวคะฉิ่นมักเป็นชาวไร่ชาวนา พวกเขาต้องใช้เวลาเก็บเงินเป็นเวลานานหลายปีเพื่อหาซื้อเจ้าสาวจากประเทศเพื่อนบ้านมาแต่งงานด้วย ด้วยเหตุนี้ ชีวิตแต่งงานของหญิงชาวคะฉิ่นเหล่านี้จึงไม่ได้สุขสบาย แต่ต้องทำงานหนักในไร่นาและในบ้าน พวกเธอไม่มีโอกาสได้ออกไปไหนมาไหน ทำให้พวกเธอไม่มีโอกาสทำงานเก็บเงินและหนีกลับบ้าน ยกเว้น บางคนที่ต้องออกไปช่วยทำงานหาเงินนอกบ้าน อาทิ ทำงานร้านก๋วยเตี๋ยว หรือ โรงงานผลไม้ ทำให้พวกเธอสามารถเก็บเงินและหนีออกจากบ้านฝ่ายชายได้
หนีกลับบ้าน
เมื่อการแต่งงานไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก หากเป็นการถูกบังคับให้เป็น “เมีย” และ “แม่ (พันธุ์)” กับชายที่ไม่เคยรู้จัก บรรดาเจ้าสาวส่งออกจึงต้องคิดหาช่องทางหนีอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจโชคดีที่เจอแม่สามีใจดี เมื่อรู้ความจริงก่อนวันแต่งงานว่า พวกเธอถูกหลอกมาขาย ไม่ได้เต็มใจมาเป็นภรรยากับลูกชายของนางก็จะปล่อยกลับบ้านไปโดยไม่เรียกเงินค่าตัวที่เสียไปคืน
“ฉันบอกว่า ฉันแค่อยากมาเที่ยวเมืองจีนไม่ได้มาทำงาน เมื่อเธอรู้ว่าฉันถูกหลอกมาขาย เธอสงสารฉันและบอกให้ลูกชายพาฉันกลับบ้าน และไม่ได้เรียกเงิน 5,000 หยวนคืนจากป้าของฉันซึ่งเป็นนายหน้าหลอกฉันมาขายด้วย”
หญิงสาวบางคนไหวตัวทันตั้งแต่ยังไม่เสียตัวให้ฝ่ายชาย และหาทางหนีได้สำเร็จ ดังเช่น เด็กสาววัย 15 ปีคนหนึ่งเล่าว่า
“นายหน้าบอกให้ฉันตามชายชาวจีนคนนั้นไป คนที่เธอบอกว่าเป็นเจ้านาย ฉันเลยรู้ตัวว่า ถูกนำมาขายเสียแล้ว ผู้ชายคนนั้นพาฉันไปขึ้นรถ ฉันบอกว่า ฉันหิวมาก เขาเลยให้เงินฉัน 20 หยวน และจอดรถให้ที่หน้าร้านค้า ฉันแกล้งทำเป็นสั่งอาหาร แต่ตอนที่เขามองไปทางอื่น ฉันก็วิ่งหนี โชคที่ฉันขึ้นรถบัสที่กำลังจะออกทัน”
อุบายหนึ่งที่หญิงสาวคะฉิ่นนิยมนำมาใช้เอาตัวรอด คือ การใช้ไม้นวมพูดกับสามีว่า ตามประเพณีคะฉิ่นจะลงโทษอย่างรุนแรงหากผู้ชายไม่ได้มาสู่ขอกับพ่อแม่ก่อนแต่งงาน ดังนั้นเธอจึงออกอุบายชักชวนชายหนุ่มให้ไปไหว้พ่อแม่ของเธอ และเมื่อเดินทางมาถึงใกล้ชายแดนพม่า พวกเธอก็จะหาทาง “ชิ่ง” ออกมาให้ได้ เพราะหากเธอหนีเพียงลำพังจากหมู่บ้านอันแสนไกล เธอก็ไม่สามารถเดินทางกลับมาที่ชายแดนพม่าได้ เนื่องจากไม่รู้เส้นทาง
แต่สำหรับอีกหลายคน การหนีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฝ่ายสามีเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของ “เมียจำเป็น” อยู่ตลอดเวลา พวกเธอจึงต้องหาทางทำให้สามีตายใจและหากทางหนีทีไล่ ดังเช่นคำบอกเล่าของหญิงสาวผู้นี้
“ชายคนที่ซื้อฉัน ขังฉันไว้ในบ้านตลอดเวลา ฉันต้องขอร้องเขาหลายครั้ง จนเขายอมปล่อยออกมาข้างนอก”
หรือหากเธอให้กำเนิดลูกชายสมใจเขาแล้ว โอกาสหนีก็จะมากขึ้นตามมา เพราะสามีจะพุ่งความสนใจไปที่ลูกมากกว่า ดังเช่นคำบอกเล่าของเธอผู้นี้
“ฉันพยายามจะกลับบ้าน แต่ว่าพวกเขา (ครอบครัวของสามี) จับตาดูฉันตลอดเวลา หลังจากที่ฉันให้กำเนิดลูกชาย เขาก็ไม่มาสนใจฉันเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น ในช่วงตรุษจีนปี 2544 ตอนที่พวกเขาออกไปเลี้ยงฉลองกัน ฉันก็เลยหนี และทิ้งลูกไว้กับเขา”
ทว่า แม้การหนีจะสำเร็จ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะได้กลับถึงบ้านในเร็ววัน เพราะโชคชะตาอาจเล่นตลกทำให้เธอต้องไปติด “คุก” แห่งใหม่อีกระยะเวลาหนึ่ง ดังเช่น หญิงสาววัย 23 ปีคนหนึ่ง ซึ่งถูกบังคับให้แต่งงานกับชายจีนทางเมืองหูเป่ย (Hubei) ภาคตะวันออกของจีน และหนีออกมาได้สำเร็จ เธอเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตพม่าในกรุงปักกิ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธว่าไม่ใช่ประชาชนพม่า และถูกจับติดคุกอยู่ 1 ปีในฐานะคนเถื่อนเพราะไม่มีบัตรประจำตัวใด ๆ ยืนยันว่าเป็นประชาชนของประเทศใด
บางคนอาจโชคร้ายไปกว่านั้น เพราะนอกจากจะถูกจับเข้าคุกแล้ว เธอยังไม่ได้รับความเห็นใจจากครอบครัวของสามีซึ่งมีลูกหนึ่งคนด้วยกันก่อนที่เธอจะถูกหลอกมาขาย ดังเช่นเรื่องราวของนางเอ อายุ23 ปี เกิดที่เมืองไวหม่อ รัฐคะฉิ่น เธอแต่งงานและมีลูกหนึ่งคน เนื่องจากเธอต้องหาเงินส่งเสียครอบครัวทางบ้านด้วยเช่นกัน เธอจึงออกมาหางานทำ โดยได้รับการชักชวนจากหญิงชาวจีนคนหนึ่งให้ไปทำงานที่เมืองหูเป่ย หญิงคนนี้พาเธอไปพักที่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นก็มีชายจีนหลายคนแวะเวียนมาที่ห้องเพื่อดูหน้าตาของเธอ
ไม่กี่วันต่อมา ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 30 ปีก็มาพร้อมกับญาติอีกห้าหกคนและพาเธอไปอยู่ด้วย ซึ่งเธอเริ่มสังหรณ์ใจว่า เธอกำลังจะถูกขายเป็นภรรยาของชายผู้นี้ หลังจากอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ประมาณ 20 วัน ครอบครัวของฝ่ายชายก็จัดเตรียมงานแต่งงาน เธอจึงหาทางหลบหนีในคืนหนึ่ง แต่ถูกจับได้เสียก่อน ในที่สุด เธอตัดสินใจบอกกับครอบครัวของฝ่ายชายว่า เธอแต่งงานมีลูกแล้ว แม่ของฝ่ายชายโกรธมากและขอให้เธอจ่ายเงินค่าตัวคืน แต่เธอไม่มีเงินให้ จึงแจ้งตำรวจจับ
ระหว่างถูกจับเธอขอติดต่อสถานทูตพม่าให้ช่วยเหลือเธอในฐานะถูกหลอกหลวง แต่สถานทูตไม่ยอมรับว่าเธอเป็นคนพม่า โดยอ้างว่า ไม่มีชื่อเธอและครอบครัวอยู่ในสำมะโนประชากร ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ของเธอก็มีบัตรประชาชนพม่าถูกต้องตามกฎหมาย ครึ่งปีต่อมา เธอพยายามโทรศัพท์ติดต่อสามีจนสำเร็จ และขอให้สามีหาเงินมาไถ่ตัวเธอ แต่ทางฝ่ายสามีกลับบอกว่าไม่มีเงิน และแม่สามียังสำทับอีกว่า สามีของเธอกำลังจะแต่งงานใหม่ในอนาคตอันใกล้ หลังจากได้ฟังดังนั้น เธอก็เริ่มสิ้นหวังในชีวิตและอยากตายไปจากโลกอันโหดร้ายใบนี้
ในที่สุด เดือนกันยายน พ.ศ. 2550 หลังจากติดคุกนานหนึ่งปี เธอได้รับการปล่อยตัวและส่งกลับมาที่ชายแดนรัฐคะฉิ่น พร้อมกับเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไม่มีสามีและพ่อของลูกรออยู่
ชีวิตของหญิงสาวที่ถูกหลอกไปขายเป็นภรรยาชาวจีน แม้ได้กลับคืนสู่บ้านเกิด แต่สภาพจิตใจของพวกเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รวมทั้งชุมชนรอบข้างที่มองเธอด้วยสายตาเปลี่ยนไป พวกเธอมักถูกตราหน้าว่าเป็น “หญิงเลว” หลายคนจึงไม่ต้องการให้ใครรู้ความจริง แม้ว่าพวกเธอจะเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการค้ามนุษย์ก็ตาม
เด็กสาววัย 15 ปีคนหนึ่งเล่าถึงชีวิตหลังคืนสู่บ้านเกิดว่า
“เมื่อฉันได้กลับมาที่มิตจีนา ฉันบอกแม่ของฉันว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับฉันบ้าง แต่ฉันไม่ได้บอกอะไรแก่เพื่อนบ้านเลย เพราะฉันกลัวว่า พวกเขาจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็อาจเหยียดหยามฉันได้”
บางคน อาจต้องกลับมาบ้านพร้อมกับ “หลักฐาน” ลูกติดในท้องจากชายที่ไม่ได้รัก และต้องเผชิญกับสายตาดูถูกเหยียดหยามจากสังคมบ้านเกิดในฐานะ “ท้องไม่มีพ่อ” หลายคนจึงเลือกไม่กลับบ้าน ดิ้นรนชีวิตไปตามยถากรรมเพียงลำพัง.
หมายเหตุ : เนื้อหาในงานเขียนชิ้นนี้นำมาจากรายงานเรื่อง “จำใจจากบ้าน : ขบวนการค้าผู้หญิงคะฉิ่นตามแนวพรมแดนจีน – พม่า” และ “Eastward Bound” จัดทำโดยสมาคมสตรีคะฉิ่นแห่งประเทศไทย (KWAT)
ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.womenofburma.org/Report/EastwardBound.pdf
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ kwat@loxinfo.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น