นับตั้งแต่พระสงฆ์ออกมานำขบวนประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซแบบพรวดพราดของรัฐบาลทหารพม่าจนขยายตัวไปทั่วประเทศ ทั่วโลกต่างจับตามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าที่ประชาชนเฝ้ารอคอยมานานหรือไม่ แต่หลังจากรัฐบาลเลือกใช้วิธีปราบปรามพระสงฆ์และผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง ตามด้วยการจับกุมพระสงฆ์ และประกาศเคอร์ฟิวห้ามการชุมนุม ความหวังที่เฝ้ารอคอยก็ดูเหมือนจะริบหรี่ลงทุกที
หลังการปราบปรามผู้ชุมนุม สำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB)รายงานว่า ประชาชนกว่า 6,000 คนถูกจับในระหว่างที่รัฐบาลออกมาปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง โดยยอดผู้เสียชีวิตอาจพุ่งถึง 138 คน ขณะที่รัฐบาลพม่าออกมายอมรับว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 26-27 กันยายนเพียง 13 คน ซึ่งตัวเลขนี้ถูกคัดค้านจากนักการทูตทางประเทศตะวันตกประจำกรุงย่างกุ้งว่า จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่รัฐบาลออกมาเปิดเผย ในเวลาต่อมา รัฐบาลพม่าพยายามลดแรงกดดันจากประชาคมโลก โดยทยอยปล่อยตัวพระสงฆ์และประชาชนบางส่วน ขณะที่แกนนำนักเคลื่อนไหวส่วนมากยังคงอยู่ในคุก
ถึงแม้นายอิบราฮิม แกมบารีผู้แทนพิเศษของยูเอ็น ด้านนโยบายพม่าจะเยือนพม่าทันทีหลังเหตุการณ์ประท้วง เพื่อเป็นตัวไกล่เกลี่ยให้รัฐบาลยุติความรุนแรง แต่เหตุการณ์ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลยังสั่งการให้ทหารติดตามจับกุมแกนนำพระสงฆ์และนักเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มาตรการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงโดยใช้วิธีข่มขู่ประชาชนของรัฐบาลดูจะเหมือนจะได้ผล เพราะทำให้เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วและทำให้ประชาชนขยาดกลัวรัฐบาลของตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงระหว่างที่นายอิบราฮิมเยือนพม่าครั้งแรก รัฐบาลทหารได้จัดงานรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ทั่วประเทศ โดยเกณฑ์ประชาชนให้ไปร่วมงานดังกล่าว โดยมีรายงานจากประชาชนในหลายรัฐ ซึ่งให้ข้อมูลกับสำนักต่าง ๆ ว่า หากใครไม่ไปร่วมงานจะต้องจ่ายเงินให้ทางการคนละ1, 500 – 3,000 จั๊ต (38 – 76 บาท นอกจากนี้รัฐบาลยังได้แต่งตั้งนายอองจีเป็นผู้แทนเจรจากับซูจี ตามคำแนะนำของนายอิบราฮิม
เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ถูกประณามจากนานาชาติอย่างหนัก โดยมีสหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกดดันรัฐบาลพม่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรวมไปถึงจีน และอาเซียนก็ออกมาประณามรัฐบาลทหารด้วยเช่นกัน โดยสหรัฐประกาศอายัตทรัพย์สินผู้นำรัฐบาลพม่าและครอบครัวรวมถึงระงับวีซ่าให้แก่ผู้นำรัฐบาล ขณะที่ประเทศสมาชิกบางประเทศในสหภาพยุโรปประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัฐบาลพม่า ล่าสุดสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐได้เสนอกฎหมายห้ามนำเข้าอัญมณีพม่าผ่านประเทศที่สาม ซึ่งได้แก่ ไทย จีนและอินเดีย
นอกจากนี้สหรัฐยังเล่นงานบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกันอย่างบริษัทเชฟรอนคอร์ป (Chevron Corp) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันสหรัฐฯที่ไปลงทุนในพม่า ด้วยการเก็บภาษีแพงลิ่ว เพื่อบีบให้บริษัทดังกล่าวถอนการลงทุนออกจากพม่า โดยเชฟรอนถือหุ้นใหญ่ในโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติที่หลุมยาดานา (Yadana) ในอ่าวเมาะตะมะ (Mottama) ร่วมกับบริษัทโตตาล หรือ โทเทิล (Total) จากฝรั่งเศส และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตจำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ทางด้านญี่ปุ่นเองได้ระงับเงินช่วยเหลือราว 4.7 ล้านดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลพม่า เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ช่างภาพชาวญี่ปุ่นถูกยิงเสียชีวิตขณะที่รัฐบาลปรามปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก
ถึงแม้รัฐบาลพม่าจะทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือประชาชนในพม่ายังต้องเผชิญกับราคาน้ำมันและก๊าซรวมถึงราคาเครื่องอุปโภคบริโภคที่แพงลิ่ว ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า การตอบโต้รัฐบาลพม่าของประเทศทางตะวันตกโดยการระงับความช่วยเหลือและการคว่ำบาตร ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลเท่าใดนัก แต่กลับส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก และส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไม่มีทางเลี่ยง ขณะที่หน่วยข่าวกรองของนักเศรษฐศาสตร์(Economist Intelligence Unit) ประมาณว่า เศรษฐกิจพม่าหดตัวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2546 โดยครึ่งหนึ่งของประชากร 54 ล้านคนยังอยู่ในสภาพว่างงาน ด้านยูเอ็นสำรวจพบว่า รายได้ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในพม่าต้องนำมาเป็นค่าอาหาร ซึ่งยังไม่นับรวมกับค่าครองชีพอื่นๆที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์เชื่ออีกว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ประชาชนในพม่าจะตบเท้าลงถนนประท้วงรัฐบาลพม่าอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลพม่า และเป็นไปได้อย่างมากที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นจะหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย
ล่าสุด หลังการเยือนพม่าของ นายอิบราฮิม แกมบารีทูตพิเศษของยูเอ็นครั้งที่สอง นักวิเคราะห์เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพม่าดูเหมือนจะมีท่าทีอ่อนลง และส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับซูจี เห็นได้จากนายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นได้ออกมาแถลงข่าวว่า รู้สึกพอใจกับสถานการณ์การเมืองในพม่าที่มีทีท่าไปสู่แนวทิศทางที่ดีขึ้นจากความพยายามของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่นายBertil Lintner นักข่าวที่ติดตามสถานการณ์ในพม่า แสดงความเห็นว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลและพรรคพวกจะลงจากอำนาจอย่างง่ายดาย รวมทั้งตั้งคำถามให้ช่วยกันขบคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่จะนำผู้กระทำผิดอย่างผู้นำรัฐบาลพม่ามาไต่สวนและลงโทษเหมือนที่ลงโทษผู้นำที่ทำผิดคนอื่นๆ
ด้านสำนักข่าว Irrawaddy วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลพม่าจะจัดการเจรจาร่วมกับซูจี และเป็นไปได้ที่รัฐบาลพม่าจะแหกตานานาชาติและซื้อเวลาต่อไปเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2537 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ซูจียังอยู่ระหว่างกักบริเวณอยู่ในบ้านพักและได้เข้าพบกับนายพลอาวุโสตานฉ่วยเพื่อหารือแนวทางที่จะเจรจาในอนาคต หลังจากภาพทั้งสองฝ่ายนั่งเจรจากันเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ประชาคมโลกก็มีความหวังมากขึ้นว่าถึงเวลาแล้วที่การเมืองในพม่าจะเปลี่ยนแปลงเสียที แต่ทว่า ซูจีก็ยังถูกกักบริเวณต่อไปอีกหนึ่งปีและไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะยอมเจรจากับเธออีก
ซูจีต้องถูกกักขังตัวอีกครั้งในปี 2543 และถูกปล่อยตัวอีกครั้งในสองปีต่อมา ทำให้หลายคนต่างคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองในพม่าอีกครั้ง เพราะขณะนั้นรัฐบาลเองได้ออกแถลงการณ์ว่า จะนำแนวทางใหม่สู่ประชาชนในพม่าและสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติ และพัฒนาประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับซูจี ที่ออกแถลงการณ์ว่า พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลจะร่วมมือกันและจัดการเจรจาเร็ววัน หลังจากที่ต้องรอคอยมานาน
แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ เพราะก่อนที่ทั้งสองจะร่วมเจรจา เกิดเหตุให้ซูจีต้องถูกกักขังตัวอีกครั้งในปี 2546 เมื่อกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอย่างสมาคมเอกภาพแห่งชาติแอบซุ่มโจมตีขบวนรถของซูจี ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเหตุให้มีผู้ติดตามของซูจีจำนวนกว่า 100 คนต้องเสียชีวิต และรัฐบาลจึงอ้างเหตุผลดังกล่าวกักขังตัวซูจีอีกครั้ง และการร่วมเจรจาอย่างแท้จริงยังคงไม่เกิดขึ้น ขณะที่แผนการของรัฐบาลครั้งนี้ได้ผล
ล่าสุด หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม ซูจีได้ออกแถลงการณ์ผ่านนายอิบราฮิมว่า นางยินดีร่วมเจรจากับผู้นำรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะนายพลอาวุโสตานฉ่วยอีกครั้ง เพื่อความสมานฉันและเกิดความปรองดองในชาติ และนำมาซึ่งความสงบสุขในประเทศของเธอสักที ขณะที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีออกมาแถลงด้วยเช่นกันว่า รัฐบาลมีท่าทีจริงจังที่จะร่วมเจรจามากว่าทุกๆครั้ง
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้ซูจีได้เข้าพบกับลูกพรรคอีกครั้งในรอบสี่ปี โดยทั้งหมดได้หารือถึงแนวทางของความเป็นได้ถึงการหารือร่วมกับรัฐบาลพม่าขณะที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีแถลงว่า ซูจีอาจถูกปล่อยตัวในเร็ววัน
จนถึงขณะนี้ หลายฝ่ายต่างยังคงเฝ้ามองหาหนทางสู่ประชาธิปไตยในอย่างมีความหวัง แม้ว่าแสงสว่างที่ส่องมาบนถนนสายนี้จะยังคงริบหรี่จนแทบมองไม่เห็นทางก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น