โดย นรินจรา
อาจกล่าวได้ว่า ตำราเรียนในการศึกษาภาคบังคับเป็นเบ้าหลอมความคิดของคนในชาติเอาไว้ให้ไปในทิศทางเดียวกันตามที่รัฐต้องการ โดยเฉพาะตำราเรียนระดับประถมซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีโอกาสเข้าเรียนมากที่สุด เนื้อหาต่าง ๆ ที่นำเสนอในตำราเรียนจึงต้องผ่านกระบวนการคัดสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิแถวหน้าของประเทศ ดังนั้น ตำราเรียนจึงเป็นเสมือน “ชุดความคิดหลัก” ของรัฐชาติที่ต้องการส่งผ่านถึงประชาชนแต่ละยุค หากเนื้อหาในตำราเรียนเปลี่ยนไป นั่นหมายความว่า แนวคิดความคิดของผู้นำประเทศอาจเปลี่ยนไปซึ่งจะส่งผลต่อวิธีคนของคนรุ่นใหม่ให้แตกต่างจากคนรุ่นเก่าเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพแวดล้อมของสังคมและครอบครัวย่อมมีส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมความคิดของเด็กแต่ละคนให้เติบโตไปในทิศทางที่แตกต่างกัน
หนังสือ “คิดแบบพม่า ว่าด้วยชาติและวีรบุรุษในตำราเรียน” โดย วิรัช นิยมธรรม เป็นหนังสือที่มีความน่าสนใจในแง่ของแหล่งที่มาข้อมูลในการเขียนเพราะได้นำตำราเรียนระดับการศึกษาภาคพื้นฐานของพม่ามาใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ในประเด็นเรื่อง “ชาติ” และ “วีรบุรุษ” โดยผู้เขียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพม่าระดับแถวหน้าของวงวิชาการไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร สิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ตำราเรียนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้นำไปสู่ความเข้าใจวิธีคิดของผู้นำพม่าได้ดีในระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้อ่านเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า เพราะเหตุใดชนชาติพม่าจึงอยู่เหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ ในประเทศของตนเอง และคำว่า “สหภาพ” อาจเป็นแค่ตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่ในตำราเรียน
ในบทวิเคราะห์เรื่อง “จิตสำนึกแห่งสหภาพจากรัฐสู่เยาวชน” ผู้เขียนได้หยิบยกตำราเรียนวิชา “จิตใจแห่งสหภาพ” สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องสหภาพ โดยนักเรียนจะต้องเข้าพิธีเคารพธงชาติและคารวะวีรบุรุษโดยพร้อมเพรียงกันหน้าเสาธง โดยส่วนหนึ่งของพิธีครูจะกล่าวถึงจิตสำนึกแห่งสหภาพว่า ทุกคนต้องมีจิตสำนึกเพื่อเผ่าพันธุ์ของตนและต้องอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ดุจพี่น้องร่วมไส้ และในตำราเรียนยังได้กล่าวถึงวัฒนธรรมสำคัญของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งในบทวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับความเป็นสหภาพและความเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม
หลังจากนั้นผู้เขียนเริ่มวิเคราะห์ให้เห็นถึงสิ่งที่ขัดแย้งกันว่า ในตำราเรียนประวัติศาสตร์พม่ากลับไม่ได้หยิบยกชนชาติอื่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติพม่ามากเท่าใดนัก โดยผู้เป็นวีรบุรุษของชาติกลับเป็นชนชาติพม่าเป็นหลัก ส่วนชนชาติอื่นอาจกล่าวเสริมเป็นครั้งคราวเท่านั้น อาทิ การนำเสนอเรื่องกำเนิดเผ่าพันธุ์พม่า ความยิ่งใหญ่ของพม่าในยุคราชวงศ์ และการต่อต้านอังกฤษและญี่ปุ่นในยุคอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ อนุสาวรีย์วีรชนในพม่าจึงมีแต่ชนชาติพม่าเพียงชนชาติเดียว ขณะที่วีรชนชาติพันธุ์อื่นไม่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงแต่อย่างใด
จากเนื้อหาในตำราเรียนที่กล่าวมาจึงทำให้เริ่มเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดชนชาติที่ไม่พม่าจึงรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่าดังที่รัฐบาลพม่าอยากให้เป็น เพราะการตอกย้ำเพียงแค่พูดหรือตัวอักษรคงไม่เพียงพอมากเท่ากับการปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยืนยันถึงความเป็นสหภาพที่แท้จริง การเลือกนำเสนอแต่วีรบุรุษชนชาติพม่า ขึงเป็นการตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชาติอื่นในตำราเรียนประวติศาสตร์ซึ่งส่งผลทำให้นักเรียนที่มิใช่ชนชาติพม่าขาดความภาคภูมิใจในชนชาติของตนเอง รวมทั้งทำให้นักเรียนที่เป็นชนชาติพม่ารู้สึกภาคภูมิใจในชนชาติเพียงชนชาติเดียวและดูถูกชนชาติอื่นจนก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชาติที่ฝังอยู่ในใจของนักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังวิเคราะห์ถึงที่มาของคำว่า “โยดะยา” ซึ่งชาวพม่าใช้เรียกคนไทยว่า แท้จริงแล้วในอดีต คำนี้ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายดูถูกดูแคลน แต่หมายถึง คนไทยสมัยอยุธยา ซึ่งคำว่า “โยดะยา” เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุธยา” นั่นเอง ความหมายในเชิงลบเพิ่งเริ่มถูกใส่สีตีไข่มากขึ้นและเริ่มปรากฏชัดในตำราเรียนสังคมศึกษาเล่ม 2 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2001-2002 ดังข้อความต่อไปนี้
“ความหมายของอยุธยามีว่า เผด็จศึกมิได้ แต่ด้วยชาวเมียนมาได้เรียอยุธยาว่า ยุทธยะ อันหมายความว่า ประเทศที่ถูกเผด็จศึก จึงได้กลายเป็นประเทศโยดะยาในภายหลัง”
นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ถึงมุมมองที่พม่ามีต่อไทยว่า ในเอกสารประวัติศาสตร์ของพม่ามองประเทศไทยเป็น “อริ” ไม่ต่างจากที่ไทยมองพม่าเช่นกัน ดังเช่นข้อความที่ปรากำในหนังสือประวัตากรสืบราชการลับในยุคราชวงศ์พม่าที่ว่า “...พม่าเป็นประเทศเล็กที่มิเพียงขนาบด้วยประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดีย แต่ยังตั้งอยุ่ระหว่างบังคลาเทศซึ่งมีพลเมืองมาก และโยดะยาซึ่งมีไฟอริต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์…”
นอกจากนี้ยังมีบทความที่เขียนโดย อูเพขิ่ง อดีตเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยในปี ค.ศ. 1953 – 1956 ในทำนองว่า “โยดะยาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่อาจเข้าใจเจตนาอันแท้จริงได้ง่ายนัก และยังมองว่าชาวโยดะยาไม่แยกแยะเรื่องอดีตกับปัจจุบัน”
ดร. ตันทุน นักประวัติศาสตร์พม่าผู้ล่วงลับเป็นคนหนึ่งที่กล่าวถึงมุมมองของพม่าต่อไทยที่ทำให้เราอาจเข้าใจวิธีคิดของผู้นำพม่ามากยิ่งขึ้น
“พม่านั้นยึดความเป็นตัวเองสูงและไม่วางใจไทย การสร้างความสัมพันธ์กับพม่าจึงต้องกระทำอย่างพอเหมาะพอควร อย่างเสมอภาค และคำนึงถึงศักดิ์ศรี เพราะพม่ากล่าวอยู่เสมอว่า พม่าสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่คุกคามใคร และพร้อมจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ แต่กับไทยนั้นพม่ากลับถือเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่น่าไว้ใจ”
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่าในอีกหลายแง่มุม โดยหยิบยกทั้งข้อมูลในอดีตจากเอกสารประวัติศาสตร์และข้อมูลปัจจุบันจากสื่อต่าง ๆ รวมไปถึงการวิเคราะห์เพลงชาติและโฆษณาทางการเมืองผู้นำยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจวิธีคิดของผู้นำพม่าแบบไม่หยุดนิ่งหรือยึดติดอยู่กับการข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่คุณจะได้สัมผัสหลังอ่านหนังสือเล่มนี้คือ “ความเข้าใจ” ว่าเพราะเหตุใด ปัญหาความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ อคติที่คนไทยและพม่ามีต่อกัน หรือ จิตสำนึกของประชาชนในพม่านั้นถูกหล่อหลอมขึ้นมาอย่างไร และนั่นอาจทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทั้งสองประเทศจะลบ “ศัตรู” ออกจากตำราเรียนประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่สร้าง “มิตร” ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันปรากฏอยู่ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ เพื่อที่เราจะได้เริ่มต้นเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกันเสียที
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ “คิดแบบพม่า ว่าด้วยชาติและวีรบุรุษในตำราเรียน”
ผู้เขียน วิรัช นิยมธรรม
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ราคา 210 บาท
หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น