วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

คนนอกแห่งเรฮีถ่า นาฏกรรมชีวิตบนแผ่นดินใหม่

โดย ชุมพล ศรีมันตระ

กุมภาพันธ์ 2548 เป็นปีแรกที่ผมเดินทางเข้าสู่ "เรฮีถ่า" หรือบ้านแม่แพะ หมู่ 6 ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะของครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ศูนย์การเรียนฯ ที่ผมประจำอยู่เป็นศูนย์การเรียนฯ เล็กๆ มีผมประจำอยู่เพียงคนเดียวและทำหน้าที่สอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งพยายามทำทุกอย่างเพื่อหวังให้ที่นี่ดีขึ้น

ถนนคดโค้งตามแนวเขาจากตัวอำเภอแม่สะเรียงไปทางทิศตะวันตกคือเส้นทางที่ผมคุ้นเคยในฐานะที่เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางเข้า-ออกเป็นประจำทุกเดือน จากบ้านแม่ต๊อบเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เต็มอิ่มกับสีสันของแมกไม้ปลายฤดูหนาวและฝุ่นดินแดงคละคลุ้ง จนกระทั่งถึงบ้านโพซอจึงเริ่มลุยข้ามลำห้วยครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านบ้านแม่เจและทางเข้าหมู่บ้านแม่เหลอ, ห้วยโป่ง จากนั้นจึงเป็นจุดหมายปลายทางคือที่นี่  "เรฮีถ่า" การเดินทางอันเหน็ดเหนื่อยจากแม่สะเรียงกว่า 60 กิโลเมตรได้สิ้นสุดลงเมื่อเสียงต้อนรับจากบรรดาเด็กๆไชโยโห่ร้องต้อนรับคุณครูของพวกเขา "ครู แฮลี..ครูแฮลี (ครูมาแล้ว..ครูมาแล้ว)

ยามสายๆ ปลายฤดูหนาวหลังจากเคารพธงชาติกลางแดดอันอบอุ่นสิ้นสุดลง เมื่อผมทำการเรียกชื่อผู้เรียนตามบัญชีที่มีอยู่ ความแปลกใจได้เกิดขึ้นกับผมมากมายเพราะเด็กทั้งหมด 35 ชีวิตที่มาเรียนที่นี่ มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ปรากฏว่ามีชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน และสถานะบุคคลในทร.14 นอกนั้นเป็นเด็กไร้สัญชาติทั้งหมด!! ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชายแดนสักเท่าไหร่ เพราะหากนับระยะทางจากที่นี่ไปยังจุดผ่อนปรนสินค้าบ้านเสาหินก็ประมาณ 15 กิโลเมตร และอีกด้านหนึ่งคือแม่น้ำสาละวินหากเดินเท้าก็ต้องกินเวลาไปตั้ง 1 วัน จึงไม่น่าเชื่อว่าที่นี่จะมีคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่มากมาย

เมื่อผมทำการสำรวจข้อมูลจึงพบว่าคนที่นี่ทั้งหมดเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงสะกอว์ หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งมานานประมาณ 60-80 ปี ปัจจุบันมีประชากร 42 ครอบครัว 250 คน อาชีพทำไร่ ทำนาและรับจ้างทั่วไป คนส่วนใหญ่ที่นี่นับถือศาสนาคริสเตียน ในจำนวนนี้ 21 ครอบครัว 125 คนเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งคนในพื้นที่เรียกพวกเขาว่า "คนต่างด้าว", "คนไม่มีบัตร" หรือ "คนนอก"

นายดี มั่นคงภักดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนดั้งเดิมของหมู่บ้านแห่งนี้เปิดเผยถึงการเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านของกลุ่มคนนอกว่า

"สมัยตั้งหมู่บ้านใหม่ๆ ก็มีกันไม่กี่ครอบครัว ประมาณ 3-4 ครอบครัว ตอนหลังก็อพยพมาเรื่อยๆ ตามคำชักชวนของญาติๆ คนนอกที่เข้ามาอยู่ที่นี่ ตอนแรกก็เข้ามาทำงานรับจ้างทำงาน เป็นลูกน้องพ่อเลี้ยงที่มาทำไม้สมัยป่าสาละวินโน่นแหละ"

"ส่วนใหญ่คนนอกที่นี่จะมาจากกอทูเล(รัฐกะเหรี่ยง) มาขออาศัยอยู่หลายปีแล้ว ประมาณ 15 ปีเห็นจะได้ ไอ้เราก็รู้จักกันหลายคนเพราะแต่ก่อนไปทำไม้ด้วยกัน เขารบกัน เขาหนีมา ก็เลยให้อยู่ 4 - 5 ครอบครัว ต่อมาก็เข้ามาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ไม่ให้เข้ามาแล้ว คือถ้าอยู่ก็อยู่ไม่ต้องไปไหนและไม่ต้องเข้ามาเพิ่ม ตกลงกันไว้อย่างนี้ เพราะปัญหามันมีเยอะ"

ปัญหาที่ว่าและถูก กล่าวถึงบ่อยๆ สำหรับคนนอกที่นี่ส่วนมากจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน เมื่อคนเพิ่ม การแผ้วถางไร่ก็ย่อมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ด้วย ซึ่งการกวดขันของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีบ่อยครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมอะลุ่มอล่วยและใช้หลักมนุษยธรรมเข้าพูดคุยกัน

ในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือการศึกษาทั้งจากในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน มีเพียงหลักแห่งสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาได้รับโอกาสในการอยู่รอดปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและการได้รับการศึกษาขั้นต้นเช่นเดียวกับเด็กไทยทั่วไป

คืนเดือนเพ็ญแสงจันทร์กระจ่างกระทบหลังคาตองตึงและแนวถนนกลางหมู่บ้านได้ถนัดตา แสงนีออนจากโซล่าเซลล์ในบ้านหลายหลังสว่างนวลให้เห็นกลุ่มคนนั่งล้อมวงจิบน้ำชา กินหมากคุยเรื่องจิปาถะอย่างครึกครื้น หนุ่มสาวบางกลุ่มหัวเราะคิกคักอยู่บนเรือน บางกลุ่มคุยกันเบาๆ ในเงาไม้ใต้แสงจันทร์

เสียงเพลงไพเราะดังลอยล่องออกมาทางหน้าต่าง เป็นเสียงกีตาร์ที่ถือว่าดีที่สุดในหมู่บ้านบรรเลงโดยหนุ่มน้อยวัย 19 นามว่า กะปอทู ผู้ซึ่งอุตสาหะไปร่ำเรียนวิชาดนตรีถึงศูนย์พักพิงฯ บ้านแม่ละอูน บ้านของเขาเป็นบ้านไม้หลังคาสังกะสียกพื้นสูง ชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายของชำเล็กๆ มีสินค้าจำพวกปลากระป๋อง ปลาแห้ง ไข่ เกลือ ของใช้ต่างๆ และขนมนมเนยสำหรับเด็กๆ

บ้านของกะปอทูถือว่าเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้านก็ว่าได้เพราะนอกจากจะมีร้านค้าแล้วที่นี่ยังมีทีวีติดจานดาวเทียมไว้ดูละครให้ความบันเทิงแก่คนในหมู่บ้านอีกด้วย และทุกคืนวันเสาร์ ชั้นบนของบ้านจะเต็มไปด้วยหนุ่มสาวและผู้มีหน้าที่สำหรับประกอบพิธีกรรมในโบสถ์ พวกเขาจะมาซักซ้อมร้องเพลงสำหรับการเข้าโบสถ์ในวันรุ่งขึ้น

กะปอทูจุดเทียนเล่มเล็กวางบนก้นกระป๋องพลางเชื้อเชิญให้ผมนั่งและยื่นกีตาร์ให้ อันที่จริงบ้านกะปอทูและคนนอกอื่นๆไม่มีสิทธิได้รับแผงโซล่าเซลล์เหมือนคนที่มีบัตรหรอก แต่เมื่อพ่อของเขาซื้อทีวีพร้อมจานดาวเทียม เพื่อนบ้านข้างๆ จึงยอมให้พ่วงไฟมาที่นี่เพื่อจะได้ดูละครยามค่ำคืน แต่บ้านเขาก็มีไฟฟ้าใช้เพียงหลอดเดียวที่ชั้นล่าง

ผมพยายามหัดร้องเพลงกะเหรี่ยงอย่างกะปอทู เขาได้เปรียบผมก็ตรงที่เขาร้องเพลงไทยและเพลงกะเหรี่ยงได้ จังหวะจะโคนในการเล่นกีตาร์ก็ดูเป็นท่วงทำนองที่มีมาตรฐานมากๆ เลยทีเดียว

กะปอทู กะปอชริ จอโด่มู จอเกงโด่ หน่อซิ ชอโร แมะเกง และอีกหลายคนที่เป็นคนนอก ปีแรกที่ผมมาเป็นครูที่นี่ พวกเขาเป็นผู้เรียนภาคค่ำตามหลักสูตรประถมศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาพ.ศ. 2524 และได้รับการอนุมัติให้จบเทียบชั้น ป.6 ในเวลาต่อมา ตลอดเวลาที่สัมผัสตัวตนของพวกเขา ผมเห็นถึงความใฝ่รู้ใฝ่เรียน การมีจิตสำนึกที่ดีและความรักอันแน่นแฟ้นต่อครอบครัวและเพื่อนบ้านด้วยกัน

เขาเล่าถึงชีวิตครอบครัวพลางเกากีตาร์แผ่วเบา เป็นห้วงๆ "แม่ผมเป็นคนกอทูเล(รัฐกะเหรี่ยง)แต่พ่อผมเป็นคนดอยก่อ(รัฐคะยา) เมื่อก่อนพ่อเป็นพ่อค้า ขายวัว อยู่ที่ไหนพ่อบอกว่าพ่อจะต้องค้าขาย พ่อเข้ามาค้าขายที่กอทูเลแล้วป่วย แม่ผมเป็นคนดูแล พอพ่อหายสองคนก็เลยรักกันแล้วก็แต่งงานกัน"

"ผมเป็นลูกคนโต ตอนผมอายุ 5 ปีเขาสู้รบกันพ่อกับแม่และอีกหลายคนจึงหนีมา มีพ่อจอเกโด่ ตายายหน่อซิ พ่อชอโร พ่อจอโด่ทู และอีกเยอะแยะ ตอนนั้นหนีมาเรื่อยๆ เดินมาจนถึงสาละวินแล้วนั่งเรือมาที่บ้านจอท่า เข้ามาอยู่ที่บ้านปอมื่อได้สักพักจึงมีคนชักชวนให้มาอยู่ที่เรฮีถ่า"

ทุกวันนี้กะปอทูมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นหลานที่พ่อรับมาอยู่ด้วย 2 คน และตากับยายอีก 2 คน รวมทั้งหมดในบ้านหลังนี้มีคนอาศัยอยู่ 15 คน กะปอทู และกะปอชริน้องชายคนรองจะช่วยกันทำไร่ ปลูกผักและรับจ้างยกของจากรถสินค้าที่จุดผ่อนปรนบ้านเสาหิน น้องชายอีก 2 คนไปเรียนหนังสือบ้านโพซอ น้องสาว 1 คนไปเรียนบ้านสล่าเชียงตอง ส่วนน้องอีก 2 คนเรียนที่ศูนย์ฯ ในหมู่บ้าน และยังมีน้องเล็กอีกคนที่แม่เป็นคนดูแลและเฝ้าร้านค้า ส่วนพ่อของเขาจะทำหน้าที่ในการจัดหาของมาขาย เลี้ยงวัวบ้าง และดูแลการทำไร่ของลูกๆ ด้วย ชีวิตของพวกเขาพออยู่พอกินตามอัตภาพ เพราะมีโอกาสในการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหากมองจากภายนอก ครอบครัวของกะปอทูดูจะเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในบรรดาคนนอกและในหมู่บ้านก็ว่าได้
........................

เช้าตรู่วันอาทิตย์ เสียงระฆังจากโบสถ์ดังแคร็งๆ เป็นสัญญาณในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนารอบแรก ส่วนรอบสองจะเริ่มเมื่อเวลา 10 โมงเช้า และรอบสุดท้าย 4 โมงเย็น หากครอบครัวไหนต้องการที่จะให้มีการสวดมนต์ที่บ้านก็สามารถกระทำได้นอกเวลาเข้าโบสถ์ปกติ

การเข้าโบสถ์รอบ 10 โมงเช้าถือว่าเป็นรอบใหญ่และมีผู้เข้าร่วมมากที่สุด ทุกคนแต่งกายประจำเผ่าสวยงาม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทยอยเข้าโบสถ์และนั่งรออย่างสงบ แล้วเสียงระฆังก็ดังขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มพิธี ผมสังเกตดูหลายครั้ง คนที่มาเข้าโบสถ์อย่างสม่ำเสมอมีแต่พวกเขา.. คนนอก..ส่วนที่ไม่ใช่คนนอกนับได้ไม่ถึงสิบคนด้วยซ้ำ

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมหรือที่ถูกเรียกว่า สล่าโด่คือพ่อของจอโด่มูและตาของจอเกโด่ นอกนั้นก็จะมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ทั้งผู้อ่าน พระคัมภีร์ นักร้อง นักดนตรี ดังนั้น คนนอกที่นี่ทุกคนอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยง เล่นดนตรี และขับร้องเพลงได้อย่างไพเราะ เด็กๆ ที่นี่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เรียนรู้ภาษากะเหรี่ยง ร้องเพลงเกี่ยวกับศาสนาจากครูที่พวกเขาแต่งตั้งและผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาทำหน้าที่

โบสถ์คริสเตียนแห่งเรฮีถ่ามีการกำหนดให้มีกิจกรรมวันพ่อ (ป่าหมื่อนี) วันแม่ (โม่หมื่อนี) วันเด็ก (โพส่าหมื่อนี)..ฯลฯ เพื่อปลูกฝังความกตัญญูและความรักใคร่ซึ่งกันและกัน เสียงเพลงที่เปล่งออกมาจากกลุ่มคนในโบสถ์ บางครั้งขรึมขลังหนักแน่น บางครั้งให้ความรู้สึกเศร้าสร้อย พลิ้วไหว และเริงร่า ช่างเป็นบทเพลงที่เปี่ยมสุข มีความหวังและเสมือนกำลังใจอันยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง

ถึงแม้ทุกคนที่นี่จะไม่มีบัตรประจำตัว แต่ก็มีสิ่งที่บันทึกวันเดือนปีเกิดและชื่อของพวกเขาอยู่บ้าง อาทิ บัตรประจำตัวผู้ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา หรือเด็กๆ ที่ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน รวมทั้งเด็กที่เกิดในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งจะได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาไทย และมีสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กจากหมออนามัยไว้ด้วย

หญิงสาวหลายคนได้แต่งงานอยู่กินกับคนไทยที่นี่ อานิสงส์จึงตกกับลูกที่เกิดมาเพราะพ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนนอก ลูกก็ย่อมได้สิทธิในการเป็นคนไทยครบถ้วนตามกฎหมาย ส่วนชายหนุ่มที่เป็นคนนอกปรากฏว่าส่วนมากไม่สามารถพิชิตใจหญิงสาวในหมู่บ้านได้เลย อาจเป็นเพราะความเจียมตัว หรือความไม่เห็นด้วยของญาติฝ่ายหญิงรวมทั้งความมีอคติก็เป็นได้ จึงน่าน้อยใจแทนและเกิดการเปรียบเทียบอย่างไม่เข้าใจระหว่างหญิงกับชายที่เป็นคนนอกเหมือนกัน ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกและพอใจที่จะแต่งงานกับคนนอกเหมือนกัน การเพิ่มขึ้นของประชากรเด็กที่นี่จึงมีสถิติ "เด็กเกิดในไทยแต่ไร้สัญชาติ" จำนวนมากถึง 50 คน

เมื่อไร้สถานบุคคลตามกฎหมายพวกเขาจึงใช้ชีวิตตามอัตภาพในพื้นที่จำกัด บางคนไม่กล้าแม้กระทั่งเดินทางเข้าไปในตัวอำเภอเพราะกลัวถูกจับ ยามประสบปัญหาข้าวไม่พอกินจึงได้แต่กู้หนี้ยืมสิน ตีมีดขาย เก็บของป่าขาย และรับจ้างทำงานตามแต่จะมีคนจ้าง ใบหน้าและแววตาบางคนจึงดูดุดันฉายแววนักสู้ แต่บางคนดูหม่นเศร้าและเลื่อนลอย

หน่อทู เป็นอีกคนหนึ่งที่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกๆทั้ง 5 ชีวิต คือ มานี กับ มานะ ที่โตพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้างและถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่บ้านสล่าเชียงตอง ส่วนอีก 3 ชีวิต วีระ มือสะและมาดาม เป็นน้องเล็กที่ต้องพึ่งพาแม่ตลอดเวลา สามีของนาง ออกจากบ้านไปรับจ้างต่างหมู่บ้าน นานๆ จะกลับมาครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าวไม่พอกิน เนื่องจากการทำไร่ข้าวได้เกิดโรคระบาด ทั้งแมลงศัตรูพืชและหนูที่เข้ามากัดกินทำลาย พืชที่พอขายได้จำพวกพริกก็ราคาไม่แน่นอนและในแต่ละปีเก็บผลผลิตได้เล็กน้อยเท่านั้น นางและลูกจึงต้องอดมื้อกินมื้อเช่นเดียวกับครอบครัวส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาข้าวไม่พอกิน ส่วนมากพวกเขาจะกินข้าวกันแค่วันละ 2 มื้อ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะดูผ่ายผอมและขาดความมีชีวิตชีวา

"ครูเอ๋ย..ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ข้าวไม่มีต้องซื้อเขากิน ถังหนึ่ง 260 ไม่มีเงินก็ซื้อทีละลิตรสองลิตร.. กินกับน้ำพริก....สงสารก็แต่ลูกๆ" นางโอดครวญอย่างสิ้นหวัง

"ความหวังก็อยู่ที่ลูกคนโตสองคน ตอนนี้เขาให้บัตรสีชมพู ถ้าเรียนจบแล้วก็คงจะช่วยพ่อแม่ได้อยู่" นางหมายถึงลูกที่ไปเรียนโรงเรียนประจำซึ่งได้รับบัตรประจำตัวคนไร้สัญชาติทั้งสองคน หน่อทูและอีกหลายๆ คนอาจจะไม่รู้หรอกว่า บัตรสีชมพู บัตรเขียว บัตรฟ้า หรือบัตรขาว มันมีความหมายเช่นใด และให้สิทธิใดๆ แก่พวกเขาได้บ้าง พวกเขาเข้าใจอยู่อย่างเดียวว่า หากพวกเขาได้รับบัตรใดบัตรหนึ่งที่ทางราชการออกให้ ความอุ่นใจและความเชื่อมั่นในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขาก็อยู่ไม่ไกลเกินไป หลายคนได้บอกกับผมว่าถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้รับบัตรหรือสิทธิใดๆ ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแต่ให้ลูกหลานที่เกิดมาใหม่บนแผ่นดินนี้ได้รับก็พอใจแล้ว

ผู้เฒ่าเมียะทู ปีนี้อายุย่างเข้า 65 ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดของกลุ่มคนนอกและถูกเรียกขานว่าเป็น สล่าโด่ อีกคนหนึ่งได้กล่าวความในใจแทนพี่น้องของพวกเขาบนแผ่นดินใหม่แห่งนี้ว่า

"มาอยู่ที่นี่ก็นานมาก จนเห็นลูกเห็นหลานจะเต็มบ้านอยู่แล้ว คงจะไม่ไปไหนอีกแล้ว มาอยู่ที่นี่ก็รักที่นี่ รู้จักและเคารพพระเจ้าแผ่นดินที่นี่ อยากจะให้ทุกคนในหมู่บ้านเข้าใจกัน ไม่แบ่งแยก ไม่รังเกียจกัน มีอะไรให้ช่วยเหลือเราช่วยเหลือเต็มที่ เพราะมาอยู่ที่นี่เราจะไม่สร้างปัญหาให้ใครเดือดร้อน"

........................

สิ้นสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีในตอนบ่าย 4 โมงเย็น ผมปล่อยเด็กๆ กลับบ้านหลังจากพวกเขากล่าวคำสวัสดีครับ สวัสดีค่ะ กิริยาของพวกเด็กๆ ก็กลายเป็นนักต่อสู้ซึ่งเลียนแบบท่าทางมาจากทีวี พวกเขาวิ่งไล่เตะกันอย่างสนุกสนานฝุ่นตลบตามถนนกลางหมู่บ้าน พวกเขากำลังเติบโตตามเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง พ่อแม่ของพวกเขาหลายคนสังขารได้โรยราไปตามกาลเวลาขณะที่คนหนุ่มสาวต่างทยอยให้สมาชิกใหม่แก่เผ่าพันธุ์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน ผมได้แต่มองตามและนึกถึงอนาคตของพวกเขา หากเขาเป็นคนไทยโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพย่อมเปิดรอพวกเขาอยู่ทั่วแผ่นดิน แต่คนนอกสิ เขาเติบโตขึ้นจะเป็นเช่นไร? เพราะความเป็นจริง ณ ที่แห่งนี้ทุกอย่างยังดูคลุมเครือ มีเพียงการสำรวจเพื่อทราบจำนวนคนไร้สัญชาติ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม


คนนอกที่นี่ พวกเขาเป็นอยู่ด้วยความทุกข์ยาก พวกเขาอดทนต่อสายตาและคำหยามเหยียด ของอคติชน พวกเขายังรอและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนสถานะบุคคลจากคนนอกเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งความรู้สึกและสิทธิในแผ่นดิน......

(สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานของผู้อ่านที่ผ่านเกณฑ์การประกวดในโครงการ "มิตรภาพต่างพรมแดน")









เรฮีถ่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น