วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

หนังทางเลือกน่าดู จากเทศกาลบินข้ามลวดหนาม ปี 2

โดย หมอกเต่หว่า


 

ชาวเชียงใหม่หลายๆคนนอกจากจะได้สัมผัสกับความชุ่มชื่นเย็นกายจากสายฝนที่โปรยปรายลงมาตลอดในช่วงฤดูฝนที่กำลังพัดผ่านเข้ามาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังได้สัมผัสกับความอบอุ่นของมิตรภาพไร้พรมแดนในเทศกาลดีๆที่ใช้ชื่อว่า “เทศกาลบินข้ามลวดหนาม” ซึ่งมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 20 มิถุนายน ณ โรงละครหอศิลป์และลานสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านมา ภายในงานนอกจากจะมีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีรวมถึงการแสดงดนตรีจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้ชมกันอย่างจุใจแล้ว ยังมีการนำเอาผลงานศิลปะและภาพถ่ายมาจัดแสดง และที่ขาดไม่ได้คือการนำหนังและสารคดีทั้งจากไทยและเทศมาฉายให้กับผู้ชมในงานได้ชมฟรี ซึ่งในฉบับนี้เราก็ไม่พลาดที่จะนำหนังดีมีคุณภาพถึง 3 เรื่องจากในงานมาถ่ายทอดสู่คุณผู้อ่าน

เริ่มกันที่หนังเรื่องแรกอย่าง “บทเพลงของแอ้โด้ะฉิ” อำนวยการผลิตโดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนร่วมกับกลุ่มสายสัมพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อนกะเหรี่ยง ฝีมือการกำกับของผู้กำกับหนุ่มชาวกะเหรี่ยง ธา ฮอโคะ หนังต้องการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของชาวกะเหรี่ยงทั้งที่เป็นผู้ลี้ภัยจากฝั่งพม่า และชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนดอยสูงฝั่งไทยผ่านตัวละครหลักอย่าง แอ้โด้ะฉิ และ พอพอแอ้ เด็กชายและเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย – พม่าแห่งหนึ่ง และเหม่วา เด็กชายชาวกะเหรี่ยงจากฝั่งไทยที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาเรียนหนังสือในโรงเรียนค่ายผู้ลี้ภัย

แอ้โด้ะฉิ เด็กหนุ่มกำพร้าพ่อแม่อาศัยอยู่กับป้าและพี่สาว ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา แอ้โด้ะฉิมีความหลังที่ไม่ค่อยสวยงามนัก และเขามักจะฝันร้ายกับอดีตทุกครั้งยามที่หลับตา  แม้เขาจะไม่สนใจการเรียนในห้องเรียนสักเท่าไหร่ แต่เขากลับฉายแววความเป็นศิลปินชอบแต่งเพลงและร้องเพลงอยู่เงียบๆคนเดียว ความฝันอย่างหนึ่งของเขาคือการได้เป็นทหารปกป้องชาวกะเหรี่ยง ส่วนเหม่วาเป็นเด็กชายชาวกะเหรี่ยงที่เดินทางมาจากฝั่งไทยได้มาพบเพื่อนใหม่อย่าง แอ้โด้ะฉิ และพอพอแอ้ ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ เหม่วาไม่สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนไทยได้เพราะขาดเอกสารหลักฐานประจำตัว พ่อของเขาจึงตัดสินใจพาเขามาเรียนที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

หนังได้พูดถึงปัญหาของชาวกะเหรี่ยงในฝั่งไทยเรื่องถูกทางการยึดที่ทำกิน จนทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนเดือดร้อนแสนสาหัสโดยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางรัฐแม้แต่น้อย

เมื่อก่อนเราอยู่บนป่าบนดอยไม่เคยมีปัญหา มาตอนนี้ที่ดินปู่ย่าตายายจะทำกินเหมือนก่อนไม่มีแล้ว ไปทำไร่ป่าไม้ก็ไล่จับ จับก็ต้องหนี หนีไปเขาก็เผาไร่เราหมด แถมยังติดป้ายว่าไม่ให้ทำไร่แล้ว แล้วจะให้ทำยังไงล่ะเนี่ย พริกก็ไม่ได้กิน มะเขือก็ไม่ได้กิน  ทำอะไรก็ไม่ได้ กินอะไรก็ไม่ได้ซักอย่าง”

นี่คือคำพูดหนึ่งในหนังที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของชาวกะเหรี่ยงในฝั่งไทย นอกจากนี้การไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ จึงเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านมักถูกทางการเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านต้องรวมตัวออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งไม่รู้ว่าจะสำเร็จดังที่พวกเขาหวังหรือไม่

ฉันเล่นกับเพื่อนผู้หญิงใกล้ๆรั้วนั่นแหล่ะ เรามองดูรถวิ่งไปวิ่งมา เพื่อนฉันบอกว่า รั้วนี้กั้นขวางพวกเราไม่ให้บอกไป ฉันถามเพื่อนว่า ทำไมเหรอ พวกเขากลัวว่ารถจะมาชนเราเหรอ เพื่อนฉันบอกว่า สงสัยเขาอาจจะกลัวเรามั้ง ถึงต้องล้อมรั้วขังพวกเราไว้”

นี่คืออีกด้านหนึ่งที่หนังต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ลี้ภัยอย่างแอ้โด้ะฉิและคนอื่นๆไว้ได้อย่างน่าเห็นใจ เพราะนอกจากจะถูกจำกัดเสรีภาพให้อยู่แต่ในรั้วลวดหนามที่คงไม่มีใครปรารถนาแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายก็ไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทั้งเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การไม่สามารถออกไปหางานทำข้างนอกเพื่อหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง การไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองบนความถูกต้อง การต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่างๆของการใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้หลายคนคิดถึงแผ่นดินบ้านเกิดและหวังให้สันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นโดยเร็ว  เช่นเดียวกับแอ้โด้ะฉิที่เวลาคิดถึงบ้าน เขามักจะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นบทเพลง

ฉันเหม่อมองไกลไปยังทิวเขาตระการตา ตระหง่านงามตราตรึงหัวใจ

 ความวิจิตรดังไม่อาจพบที่อื่นใด สงบสราญดังไม่อาจมีแห่งหนใด

หากเพียงแต่จะได้หวนคืน ยังผืนแผ่นดินสันติสุขนั้น

 แผ่นดินกะเหรี่ยงคือดินแดนแห่งความงาม งามเสมอในใจฉัน

 ฝันใฝ่จะได้กลับไป เฝ้ามองรู้เห็นเรื่องภายใน

 โอ... ต้องพรากจากกันเช่นนี้ แล้วฉันจะอยู่ได้อย่างไร

 ฉันเหม่อมองไกลไปยังแผ่นดินกะเหรี่ยง”

ตอนท้ายของหนังต้องการจะสื่อให้ผู้ชมเห็นว่า ไม่ว่าเราจะเกิดเป็นใคร เชื้อชาติใดและอยู่ในสถานะไหน แต่มนุษย์ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีสิทธิและเสรีภาพของการเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิด เพียงแต่เส้นพรมแดนและกฎเกณฑ์ต่างๆที่มนุษย์ด้วยกันเองตั้งขึ้นมาต่างหากที่เป็นตัวแบ่งแยกคนให้แตกต่างกัน

ในตอนท้ายของหนัง ผู้ลี้ภัยในค่ายได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์และความเป็นธรรมให้กับตัวเอง เหมือนกับที่ชาวกะเหรี่ยงออกมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ที่ดินของตัวเองคืน ขณะที่แอ้โด้ะฉิไม่สามารถทนแรงบีบคั้นจากการมีชีวิตอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยได้อีกต่อไป จนท้ายสุดเขาเดินทางเข้าป่าเพื่อเป็นทหารตามรอยฝันของตัวเอง ซึ่งเป็นวิถีทางการต่อสู้ที่เขาได้เลือกไว้แล้ว หนังเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนไม่ควรพลาดชม  เพราะอย่างน้อยใครที่ได้ชมหนังเรื่องนี้ก็อาจเข้าใจสถานการณ์และมองผู้ลี้ภัยในด้านบวกเพิ่มมากขึ้น และต้องบอกว่า การถ่ายภาพในแบบฉบับของผู้กำกับคนนี้ทำได้สวยงามทีเดียว

มาถึงสารคดีเรื่องJerusalemthe East Side Story จากผู้กำกับ Mohammed Alatar ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพระเหตุการณ์ในเรื่องถ่ายจากชีวิตจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลที่หลายคนอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน สารคดีเรื่องนี้พูดถึงประวัติศาสตร์และชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์หลังรัฐอิสราเอลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 (2491) การเข้ามายึดครองพื้นที่บางส่วนที่เคยเป็นของปาเลสไตน์ได้ส่งกระทบและทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

หนูตื่นเช้าไปโรงเรียนตามปกติ แต่แปลกใจที่วันนี้หนูเห็นรถแทรกเตอร์หลายคันกำลังแล่นผ่านไปแถวบ้านของหนู หนูแอบคิดในใจว่าวันนี้ บ้านของใครคนใดคนหนึ่งคงถูกเจ้าหน้าที่จากทางการอิสราเอลรื้อถอนเป็นแน่ หนูอดห่วงบ้านของหนูไม่ได้ แต่หลังจากที่หนูกลับจากโรงเรียนถึงบ้านจึงพบว่า แม่และญาติของหนูกำลังนั่งร้องไห้อยู่ และบ้านที่กำลังถูกรื้อถอนเป็นบ้านของหนูเอง” เด็กหญิงชาวปาเลสไตน์บอกเล่าเรื่องราวของเธอด้วยแววตาเศร้าสร้อย ในขณะที่นั่งมองบ้านของตัวเธอกำลังถูกทำลายโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะเก็บข้าวของหรือหนังสือของเธอสักชิ้น

มีชาวปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อยที่ถูกทางการอิสราเอลยึดที่ดินโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย ส่งผลให้ชาวพวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ และบางส่วนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายการเลือกปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ ทั้งการจำกัดการเดินทาง การรักษาพยาบาล การเข้มงวดในการนับถือศาสนา รวมถึงต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศตัวเองนั้นบีบคั้นให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ และกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งอย่างที่เห็นกันตามสถานีโทรทัศน์ทั่วไป ซึ่งเมื่อดูสารคดีเรื่องนี้จบก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า สถานการณ์ช่างคล้ายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าเหลือเกิน

มาถึงหนังเรื่องสุดท้าย ซึ่งเป็นหนังสั้นความยาวเพียง 11 นาที จากฝีมือของผู้กำกับชาวพม่าชื่อ Thi Ha Thwe จากโรงเรียนภาพยนตร์ย่างกุ้ง หนังเรื่องนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า Far From Home (ไกลบ้าน) บอกเล่าเรื่องราวของหม่องลิน (Maung Lin) เด็กชายชาวพม่าวัยสิบสามปีซึ่งต้องห่างบ้านไกลถึง 500 ไมล์เพื่อมาทำงานในฟาร์มแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองมงยัว ภาคสะกาย หน้าที่ของเขา คือ การให้อาหารสัตว์และไล่ต้อนสัตว์ในฟาร์มไปกินหญ้า รวมถึงการทำสวน ฉีดยาฆ่าแมลงเป็นต้น หม่องลินต้องทำงานตั้งแต่เด็กโดยไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เขาทำทุกอย่างก็เพื่อส่งเงินไปให้ทางบ้าน

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ผู้กำกับใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบสัมภาษณ์หม่องลินคำต่อคำ คำพูดที่กลั่นกรองออกมาจากปากของหม่องลินแบบซื่อๆตรงไปตรงมาตามประสาเด็กนั้น ทำให้ผู้ชมนั่งอมยิ้มและหลงรักเขาโดยที่ไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันคำพูดของเด็กชายตัวเล็กๆคนนี้ก็สามารถทำให้ผู้ชมมองเห็นภาพปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าได้อย่างชัดเจนไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ยังไม่หมดแค่นั้น แม้หม่องลินจะถูกผู้กำกับซักถามเพื่อเค้นเอาความรู้สึกของการคิดถึงบ้านและแม่ แต่เขากลับไม่แสดงความอ่อนแอออกมาให้เห็นบนใบหน้า แม้เขาจะคิดถึงบ้านมากแค่ไหนก็ตาม ตรงกันข้ามเขากลับแสดงความเข้มแข็งในแบบลูกผู้ชายและบอกกับตัวเองว่าต้องอดทนเพื่อรอวันที่จะได้กลับบ้าน เชื่อว่าหลายคนที่ได้ชมเรื่องนี้คงจะประทับใจหม่องลินและภาพสวยๆในหนังอยู่ไม่น้อย

ส่วนหลายคนที่พลาดโอกาสเข้าร่วมงานเทศกาลบินข้ามลวดหนามครั้งนี้ก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะในปีหน้าเชื่อว่ามูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนคงจัดกิจกรรมดีๆอย่างนี้อีก

 

{เผยแพร่ครั้งแแรกในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 54 (ก.ค. - ส.ค. 52)}


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น