วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

เยือนเมืองนาย...เล่าเรื่องเมืองยักษ์ที่รัฐฉานตอนใต้ (ตอนที่ 3)

 

หอเจ้าฟ้าและบ้านหลานสาว


 

[caption id="attachment_5983" align="alignleft" width="552" caption="เสาหินประตูทางเข้าแบ่งเขตวังและบ้านอย่างชัดเจน"][/caption]

คนที่เคยอ่านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัฐฉานหรือเมิงไต คงรู้ดีว่าระบบเจ้าฟ้า เป็นระบบการปกครองดั้งเดิมของรัฐฉานก่อนที่จะเสื่อมความสำคัญและยกเลิกไปในสมัยอาณานิคมอังกฤษเข้ามาปกครองพม่าเป็นต้นมา เมืองนายเป็นเมืองหนึ่งที่มีเจ้าฟ้าปกครองและเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ที่เจ้าฟ้าได้รับการยกย่องจากเมืองใกล้เคียงว่ามีความยิ่งใหญ่  ด้วยความที่พม่าต้องการที่จะล้มเลิกระบบนี้พร้อมทั้งทำลายสถานที่ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของไทใหญ่ การทำลาย เช่น หอหลวงที่เชียงตุง หรือยึดครองหอหลวงซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าฟ้าและเปลี่ยนสภาพกลายเป็นสมบัติของรัฐ เป็นวิธีการหนึ่งในนั้น ฉันถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปเยือนหอเจ้าฟ้าเมืองนาย ซึ่งเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองนายคือเจ้าเป้

 

ปัจจุบัน หอเจ้าฟ้าเมืองนายถูกแปรสภาพเป็นสถานที่ราชการของรัฐบาลพม่า หอหลักที่เจ้าฟ้าอยู่เป็นสำนักงานสหกรณ์ ส่วนอีกสองอาคารซึ่งคนที่พาฉันไปเล่าว่าเป็นหอของภรรยาเจ้าฟ้า ทางเข้าหอเจ้าฟ้ามีประตูเป็นเสาหินบ่งบอกถึงเขตของเจ้าฟ้าและชาวบ้านอย่างชัดเจน ก่อนที่จะเข้าไปในเมืองฉันเห็นเสาไม้รูปร่างคล้ายฉัตรหรือร่มตั้งอยูสองต้น ซึ่งคนที่พาไปบอกว่าเป็นเสาไม้เก่าที่สมัยก่อนเอาไว้ทำพิธีศพและเป็นลานการแสดงให้กับเจ้าฟ้าดู แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจและยังไม่เห็นความสำคัญของเสานี้เท่าไร คนนำทางของฉันบอกว่าชาวบ้านพูดกันว่าจะล้มเสานี้ทิ้งเพราะมันก็เก่าโอนเอนเต็มที ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก ฉันบอกกับคนที่พามาว่าไม่ควรจะรื้อทิ้งเด็ดขาด เพราะมันคือประวัติศาสตร์ของเมืองที่แสดงให้เห็นว่ามีเจ้าฟ้ามาก่อน

 

 

[caption id="attachment_5986" align="alignleft" width="552" caption="ด้านหน้าของหอเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองนายที่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ราชการไปแล้ว"][/caption]

เราทั้งคู่ได้เดินเข้าไปดูภายใน การดูแลรักษาความปลอดภัยของตึกราชการของเมืองดูไม่เคร่งครัดนัก แม้ว่าจะเป็นอดีตหอเจ้าฟ้า แต่ก็ไม่ได้มีการรักษาให้ดูดีเท่าไรอย่างที่กล่าวไป ข้างล่างด้านหน้าไม่ได้ตกแต่งเป็นสำนักงาน ตอนนั้นผู้ชายกลุ่มหนึ่งนั่งคุยกันอยู่ คนนำพาฉันเข้าไปบอกว่าเราอยากเข้าไปดูข้างใน ผู้ชายหนึ่งในนั้นบอกว่าได้แต่ต้องขึ้นด้านหลังของตึก เราเดินอ้อมตึกไปยังด้านหลัง สภาพตึกทำให้เห็นแล้วรู้สึกใจหายว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นวังเจ้าฟ้า แม้ว่าไม่ได้รู้สึกชื่นชมกับตัวระบบ แต่รู้สึกว่าเสียดายตึกที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองเอาไว้ เชื่อว่าหากมีการเปิดประเทศจริง และในอนาคตเมืองนายพัฒนามากขึ้น คนก็คงอยากมาเที่ยวและนี่คือสิ่งที่จะเป็นจุดขายได้ในอนาคต แต่ฉันก็ไม่อยากพูดในแง่ที่ดูเหมือนเป็นทุนนิยมหรือการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่นี่คือประวัติศาสตร์ของเมืองและระบบเจ้าฟ้าที่เป็นลักษณะเฉพาะของคนไทใหญ่

 

การขอขึ้นไปดูบนตึกไม่ได้ยากเย็นอะไร แม้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามบ้างแต่ก็ได้รับการต้อนรับโดยดี ทางขึ้นด้านหลังมีบันไดขึ้นไปยังชั้นบน และก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ามันจะกลายเป็นของรัฐบาลให้เจ้าหน้าที่มาทำงาน แต่มันก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างดี ดูสกปรกมีหยากไย่ใยแมงมุมอยู่เต็มไปหมด ด้านบนมีสองห้องหลักแยกกัน ห้องหนึ่งน่าจะเป็นของหัวหน้าเพราะมีเพียงไม่กี่โต๊ะตั้งอยู่ ส่วนอีกห้องหนึ่งเหมือนเป็นห้องของข้าราชการของเมือง ซึ่งก็คือสำนักงานสหกรณ์ เราเจอเจ้าหน้าที่ผู้หญิงอยู่ 5-6 คนใส่ชุดยูนิฟอร์มคือเสื้อสีขาวล้วน บางคนใส่แขนยาวประมาณศอก บางคนใส่แขนสั้นและนุ่งซิ่นสีฟ้าเข้มจรดตาตุ่ม ทุกคนอยู่ในบรรยากาศเตรียมตัวจะไปพักกลางวัน มีเพียงผู้หญิงคนเดียวที่เหมือนนั่งจดอะไรอยู่ ข้างหลังเป็นตู้เก็บเอกสารที่ดูแล้วเก่าคร่ำคร่าและดูจะหาเอกสารอะไรไม่ง่ายอยู่

 

[caption id="attachment_5988" align="aligncenter" width="583" caption="ซ้าย- ประตูทางเข้าพื้นที่วังของเจ้าฟ้าสมัยดั้งเดิมที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเดินผ่าน ปัจจุบันความเชื่อนี้ยกเลิกไปแล้ว ขวา-เสาไม้สำหรับทำพิธีงานศพและลานงานแสดงในสมัยที่เจ้าฟ้ายังปกครองเมืองไทใหญ่"][/caption]

เจ้าหน้าที่ผู้หญิงคนหนึ่งคุยกับเราเป็นภาษาไทใหญ่บ้าง แต่บางคนก็เป็นพม่า และมีการเชิญให้เรากินน้ำชาด้วย เราก็เลยนั่งคุยด้วยสักพักหนึ่ง และถามไถ่ว่าทำไมมีแต่ผู้หญิงทำงานอยู่ที่นี่ เพราะเราไม่เห็นเจ้าหน้าที่ผู้ชายสักคน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่ามีผู้ชายแต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และบางส่วนก็กลับไปทีบ้านไปกินข้าวแล้ว ที่นี่ทุกคนเมื่อถึงเวลากลางวันจะกลับไปกินข้าวบ้าน ไม่จำเป็นต้องห่อข้าวมากิน เพราะบ้านก็อยู่ในเมืองไม่ไกลจากที่ทำงานมากนัก ฉันบอกว่าอยากเห็นรูปถ่ายเก่าๆของวังเจ้าฟ้าแห่งนี้ว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไร จะสามารถดูได้ที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าที่นี่ไม่มีเก็บไว้เลย หากอยากดูต้องไปดูที่บ้านของหลานเจ้าฟ้าที่อยู่ในเมืองนี่ ซึ่งฉันตื่นเต้นมาก คนที่พามาด้วยบอกว่าจะพาไปเพราะเธอรู้จักว่าอยู่ที่ไหน ก่อนกลับเราเลยขอถ่ายรูปทุกคนยืนเรียงกันไว้เป็นที่ระลึกและบอกว่าจะอัดฝากมาให้กับเพื่อนของฉัน ซึ่งเป็นภาพที่เราชอบมากเพราะทุกคนซึ่งเป็นผู้หญิงยืนแถวเรียงกันด้วยชุดยูนิฟอร์มของเมืองนาย

 

[caption id="attachment_5997" align="aligncenter" width="577" caption="ซ้าย-ภาพยังเป็นหนุ่มของเจ้าเป้ เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองนาย ขวา-ภาพพิธีของเจ้าฟ้า ที่ทุกวันนี้เก็บไว้เป็นเพียงแค่ที่ระลึกในบ้านของลูกหลานที่กลายเป็นสามัญชน"][/caption]

เมื่อออกจากหอเจ้าฟ้าในอดีต ฉันเห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์คือประตูเมืองเข้าวังของเจ้าฟ้าที่เป็นเสาทรงกลมสองข้างให้พาหนะของเจ้าฟ้าผ่านเข้าออกหรือคนเข้าออก ด้านข้างมีประตู้ไม้ขนาดเล็กกว้างเพียงคนเดินเข้าออกเท่านั้น น่าสนใจว่าสมัยก่อนนั้นประตูนี้อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายผ่านเท่านั้น ผู้หญิงจะเดินผ่านประตูนี้ไม่ได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้เลิกไปแล้ว ไม่ว่าใครก็เข้าออกประตูนี้ได้ แม้มันจะเป็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ คนไทใหญ่ในเมืองนายรู้จักและยังภาคภูมิใจกับสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นรากและที่มาของอดีต น่าเสียดายว่ารัฐบาลพม่ายังไม่คิดที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ คงต้องรอระยะเวลาที่กำลังเปลี่ยนผ่านและเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือตัวแทนบอกเล่าความเป็นและอดีตที่ยิ่งใหญ่ของเมือง ระหว่างนั้นฉันซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของคนนำผ่านไปอีกด้านหนึ่ง และก็เจอเสาทางเข้าวังเจ้าฟ้าอีกด้านหนึ่งที่สภาพก็ทรุดโทรมเช่นกัน และในส่วนของด้านนั้น พื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวังก็กลายเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้คนมาซื้อและสร้างบ้านทับที่วังเดิม ซึ่งคนนำทางของฉันบอกว่าไม่เหมาะสมที่คนธรรมดาจะอยู่ เพราะเป็นที่ของเจ้า ถ้าใครมาอยู่เชื่อว่าคงไม่มีความสุขความเจริญ

 

[caption id="attachment_5995" align="alignleft" width="473" caption="เจ้ากรองแสงในมุมประวัติศาสตร์ของเธอ"][/caption]

จากนั้นเราไปที่บ้านของหลานสาวเจ้าฟ้าองค์สุดท้าย เป็นบ้านค่อนข้างใหญ่โตและมีร่องรอยว่าเป็นบ้านเก่า คนนำทางของไปติดต่อพูดคุยกับร้านขายของด้านข้าง ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าเป็นร้านค้าของหลานสาวที่ชื่อเจ้ากรองแสง ซึ่งมีพี่น้องรวมเธอด้วยทังหมด 4 คน เพื่อนของฉันบอกว่าเจ้ากรองแสงคนที่เราไปเจอนั้นเป็นเพื่อนเรียนชั้นเดียวกัน ตอนที่เจอนั้นเธออายุ 33 ปี เคยไปขายของเปิดร้านอยู่ที่ท่าขี้เหล็ก จึงพอพูดภาษาไทยได้บ้าง แต่ปัจจุบันเลิกแล้วและกลับมาเปิดร้านขายของใช้ทั่วๆไปอยู่ที่เมืองนาย เธอใจดีและอนุญาตให้เราเข้าไปดูภาพถ่ายเก่าๆของปู่เธอได้อย่างดี ซึ่งก็ติดอยู่ในบ้านหลังที่เธออยู่มานาน มีอายุได้ 50 กว่าปีแล้ว บนห้องโถงที่ใช้เป็นห้องรับแขก ฉันเห็นภาพบรรพบุรุษของเธอหลายรุ่นจนมาถึงเจ้าฟ้าองค์สุดท้าย บางส่วนของภาพเป็นรูปที่คุณปู่ของเธอกับเพื่อนในชั้นเรียน มีบางรูปถ่ายที่ต่างประเทศ และบางรูปถ่ายกับคุณย่าและคุณพ่อและแม่ของเธอ ปัจจุบันในส่วนของรูปที่ติดโชว์นี้มีรูปของลูกหลานในยุคปัจจุบันซึ่งถ่ายด้วยฟิล์มสีปะปนอยู่ด้วย

 

เจ้ากรองแสงพาเราไปยังอีกห้องหนึ่งซึ่งจัดเป็นห้องรับแขก ในห้องนี้มีรูปที่เราอยากเห็นตอนไปเที่ยวที่วังเจ้าฟ้า คือรูปวังเก่าในสมัยที่เจ้าฟ้ายังอยู่และมีรูปในงานพิธีด้วย รวมถึงรูปสำคัญอย่างวังเก่าเดิมที่เกิดไฟไหม้ เธอเล่าให้ฟังว่าวังเดิมเสาทำจากทอง แต่ก็ไหม้ไปแล้วไม่เหลืออะไร จนต้องสร้างวังใหม่ที่กลายเป็นสถานที่ราชการของพม่าในปัจจุบัน และรูปของปู่ที่ถ่ายกับเพื่อนๆในชุดเจ้าฟ้าไทใหญ่และชุดสากล ฉันถ่ายทุกรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพราะคิดว่าไม่ใช่โอกาสง่ายๆเลยที่ได้มาที่นี่ และเธอเองก็บอกว่าฉันน่าจะเป็นคนแรกที่ได้เห็นรูปเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไรอยู่แล้ว เราเลยขอโอกาสถ่ายรูปเจ้ากรองแสงเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย ซึ่งเธอก็เต็มใจเป็นอย่างดี สุดท้ายเราได้ภาพที่ได้อารมณ์มากๆ คือรูปที่เธอกำลังยืนมองรูปถ่ายของบรรพบุรุษ เหมือนกับอาลัยอาวรณ์อดีต ไทใหญ่ไม่มีระบบเจ้าฟ้าอีกต่อไป และเธอก็กลายเป็นสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ดำรงชีพไม่ต่างกับคนทั่วไป .

 

เรื่อง/ภาพ โดย นางยุ่มแล้ง

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น