วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

เยือนเมืองนาย...เล่าเรื่องเมืองยักษ์ที่รัฐฉานตอนใต้ (ตอนที่ 4)

ประเพณีและการกินอยู่


 

[caption id="attachment_6032" align="alignleft" width="450" caption="เจ้าภาพทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่มาทำบุญในพิธีโก่วจา"][/caption]

ในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปเมืองนายคือเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่คนทำบุญโก่วจาหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตายในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีญาติของผู้ตายทำอาหารเลี้ยงพระและเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพคนเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้ และชาวบ้านก็จะมาฟังการสวดที่เรียกว่า “ถ่อมลิก” กันที่วัดที่มีการจัดงาน ฉันโชคดีที่มีโอกาสไปร่วมงานนี้ด้วย แม้ว่าจะไม่รู้จักกับผู้ตายหรือญาติของผู้ตายโดยตรงก็ตาม

 

ฉันไปที่วัดหลักของหย่อมบ้านในที่นั้นคือจองโหโขว (วัดหัวขัว) ไปถึงเห็นเจ้าภาพและชาวบ้านตระเตรียมอาหารเลี้ยงแขกคนที่มาร่วมงาน และมีการจัดโต๊ะให้คนมานั่งกินจำนวนหนึ่ง จำได้ว่าวันนั้นเป็นการเลี้ยงข้าวและอาหารประมาณ 3-4 อย่าง มีข้าวเกรียบทอดไว้ให้กินเล่นด้วย อาหารวันนั้นมีจานสำคัญคือแกงฮังเลเพราะถือเป็นอาหารเลี้ยงในงานของประเพณีคนไทใหญ่ นอกจากนั้นมีผัดถั่วแตบ น้ำพริกมะขามป้อม และมีน้ำซุปให้กินกลั้วคอ ฉันกินได้พอสมควร เพราะได้ลองกินอาหารไทใหญ่มาแล้วตั้งแต่ที่อยู่ที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน แม้ว่าแกงฮังเลมีเนื้อมันมากไปหน่อยก็ตาม

 

[caption id="attachment_6033" align="alignleft" width="450" caption="ของว่างเสิร์ฟระหว่างหลู่ลิก"][/caption]

เมื่อกินข้าวเสร็จเราก็ขึ้นไปบนศาลาวัดที่เขากำลังสวดกันอยู่ คนอ่านบทสวดหรือ “หลู่ลิก” นั่งอยู่ข้างหน้า และตามประเพณีคนที่มาร่วมทำบุญผู้ชายจะนั่งข้างหน้า ส่วนผู้หญิงจะนั่งถัดออกมา บริเวณด้านหลังซึ่งก็ตรงกับทางขึ้นบันได มีกลุ่มคนซึ่งเป็นส่วนของเจ้าภาพเตรียมของว่างและน้ำชาไว้รับแขกอีกเช่นกัน เป็นจานเล็กๆ และชุดน้ำชาใส่ถาดเอาไว้ สิ่งที่สำคัญคือเน่งโกหรือยำใบชาของไทใหญ่ และวันนั้นทำเหมือนเป็นเผือกกวดน้ำตาลอีกอย่างหนึ่ง สำหรับคนที่มาร่วมงานในการตอบแทนเจ้าภาพคือทำบุญให้กับเจ้าภาพสักเล็กน้อย

 

ฉันยังได้กินอาหารที่บ้านคนไทใหญ่และได้รับเชิญไปกินอาหารที่ทำขึ้นพิเศษเพื่อเลี้ยงต้อนรับ แน่นอนว่า คนไทใหญ่ไม่นิยมพาแขกไปกินข้าวนอกบ้าน การทำกับข้าวพิเศษจำนวนมากกว่าปกติคือแนวทางที่คนที่นี่ก็ทำกัน กับข้าวเป็นอาหารไทใหญ่และทำจากเตาฟืนมากกว่าที่จะต้มกับแก๊สหรือไฟฟ้า ทำให้อาหารอร่อยหวานหอมกว่าแน่นอน แต่ที่ตามมาก็คือครัวของคนที่นี่ดำจากคราบเขม่า ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ฉันประทับใจมากๆ อาหารที่ได้กินเยอะหน่อยคือถั่วพูหรือเต้าหู้ที่มักจะมาทอดกินเล่นกัน โดยการผสมผงฟูเพื่อให้ถั่วพูธรรมดากรอบและจับตัวแข็งขึ้นเมื่อเอามาทอด

 

[caption id="attachment_6034" align="aligncenter" width="592" caption="กรรมวิธีทำถั่วพูของป้าเก๋งคำที่ยังใช้วิธีการดั้งเดิม"][/caption]

พูดถึงถั่วพู ฉันมีโอกาสได้ไปสังเกตการทำถั่วพูที่บ้านของป้าเก๋งคำที่เป็นทำคนทำและแม่ค้าในตลาด ซึ่งยังคงวิธีการดั้งเดิม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการปลูกถั่วเหลืองของคนที่นี่ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตมากนัก จึงได้ของที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ วัตถุดิบของที่นี่เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะถั่วเน่าแค็บ ที่มีคนหลายคนบอกว่าของเมืองนายหวาน (อร่อย) เพราะทำมาจากถั่วเหลืองที่ปลูกในดินที่มีคุณภาพมาก รวมทั้งข้าวเมืองนายก็เป็นที่นิยมกันตามเหมือนกัน เพราะเมืองนายเป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบและน้ำท่ามีเพียงพอในการปลูกข้าวที่ได้รสชาติดี

 

[caption id="attachment_6035" align="aligncenter" width="618" caption="บรรยากาศของกาดในวันกาดแกง"][/caption]

รูปแบบการกินข้าวในครัวเรือนน่าสนใจตรงที่ว่า ไม่ได้มีการรอกินพร้อมกันพร้อมหน้าพร้อมตา คนที่เป็นแม่ เมียหรือผู้หญิงในบ้านจะทำกับข้าวตั้งไว้บนโต๊ะ ใครพร้อมก็ตักข้าวนั่งกินไปก่อนได้เลย ในยามที่ฉันเป็นแขก แม้จะได้กินกับข้าวที่ทำไว้เป็นพิเศษ แต่ไม่มีสักครั้งที่จะได้กินอาหารพร้อมกันกับทุกคนในบ้าน ฉันมักจะนั่งกินข้าวบนโต๊ะพร้อมกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้านเท่านั้น ครั้งหนึ่งในรับเชิญให้ไปกินข้าวบ้านพี่สะใภ้ของเพื่อน กลายเป็นว่านั่งกินกันสองคนกับเพื่อนของฉันโดยมีเจ้าของบ้านที่เชิญและคนอื่นๆนั่งมองเรากินกัน พร้อมกับสำนวนที่คอยบอกว่า “กิ๋นลอยๆ” (แปลว่ากินช้าๆหรือค่อยๆกิน) ที่สำคัญคนไทใหญ่เชื่อว่ามื้อแรกของแขกที่มาเยือนนั้น จะไม่ให้แขกคนนั้นล้างถ้วยชามเป็นอันขาด เขาถือว่าจะไม่ได้กลับมาอีก

 

นอกจากนี้ ฉันยังมีโอกาสได้ไปเดินสำรวจกาดในเมืองที่มีความสำคัญอย่างมาก และที่น่าสนใจคือการที่ได้ความรู้เพิ่มเติมประเพณีที่ยังปฏิบัติอยู่เกี่ยวกับกาดของเมืองนายนาย ซึ่งเป็นเมืองที่มีตลาดนัด 5 วันคือ วัดกาดนัด วันวายกาด วันกาดแกง วันกาดถาด และวันตูม ซึ่งวงจรของกาดสอดคล้องกับการผลิตของคนทำสวนทำนาและคนที่ผลิตของไปขายในกาด กรณีของป้าเก๋งคำที่ทำถั่วพูก็มีตารางการผลิตที่อิงกับวงจรของกาดนัด ดังนี้

วัดกาดนัด คือ วันที่เอาสินค้าไปขาย


วันวายกาด คือ วันหลังจากกาดนัด ซึ่งเพิ่งเอาสินค้าไปขาย จึงหยุดผลิตถั่วพู


วันกาดแกง ทำวันละ 50 แป่ (1 แป่ เท่ากับ 4 ลิตร)


วันกาดถาด ทำ 50 แป่


วันตูม ซึ่งเป็นวันก่อนวันกาดนัดเพื่อเอาไปขาย จึงทำมากกว่าปกติที่ 75 แป่


 

[caption id="attachment_6031" align="aligncenter" width="618" caption="ซ้าย- ข้าวซอยที่ทำจากข้าวล้วนๆ ขวา- ถั่วพูเหลืองที่ผลิตอย่างธรรมชาติ"][/caption]

เมืองที่ยังคงยึดถือวงจรของตลาดเช่นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่เคยมีเจ้าฟ้ามาก่อน เพราะถือเป็นประเพณีของเจ้า อย่างเมืองที่ไม่มีเจ้าฟ้าอย่างลางเคอ ไฮพัก น้ำจาง วันที่ฉันไปเดินตลาดไม่ใช่วันกาด ไม่เช่นนั้นจะเห็นคนมากหน้าหลายตาที่มาทั้งขายของและที่มาซื้อของ ฉันเจอลูกของป้าเก๋งคำที่เอาถั่วพูมาตัดขาย ทำให้เห็นบรรยากาศที่เมื่อวานเพิ่งเห็นเขาทำอยู่ วันนี้สิ่งที่เพิ่งทำสดๆเมื่อวานก็มาขายในตลาดตอนเช้า ซึ่งเป็นของธรรมชาติ โดยเฉพาะวิธีการทำถั่วพูเหลืองที่นี่ที่ทำใส่ถาดไม้รองด้วยใบตองที่น่าจะได้กลิ่นหอมกว่าที่ทำที่เราเคยเห็นในเชียงใหม่ที่จะใส่ถาดสแตนเลส ทำให้ขาดรสและกลิ่นหอมธรรมชาติ

 เรื่อง/ภาพ โดย นางยุ่มแล้ง


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น