วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กองทัพกับกระบวนการยุติธรรม = ความสิ้นหวังชาวคะฉิ่น



ข้อตกลงหยุดยิงที่มีมายาวนานกว่า 17 ปี ระหว่างกองกำลังเอกราชคะฉิ่น KIO กับกองกำลังทหารพม่าสะบั้นลงในเดือนมิถุนายน 2011 ส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สุดในประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไป

 

การกลับมาอีกครั้งของสงครามในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากเต็งเส่งพร้อมด้วยรัฐบาลพลเรือนเข้าปกครองประเทศเพียง 3 เดือน ได้สร้างความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้กับประชาชนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวถูกประมาณการโดยองค์การสหประชาชาติ

 

เดาลัม ชาวนาวัย 31 ปีจากไคบัง หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กับชายแดนพม่า - จีน รู้ดีว่า แม้จะมีการปฏิรูปการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กองทัพพม่าก็ยังคงกุมอำนาจสูงสุดอยู่จนถึงวันนี้

 

ในช่วงต้นปี 2012 เดาลัมได้ฟ้องร้องต่อศาลโดยกล่าวหาว่ากองทัพรัฐบาลพม่าได้ลักพาตัวภรรยาวัย 28 ปีของเขา แต่ก็ถูกศาลยกฟ้องอย่างรวดเร็ว เป็นการปกป้องความฉาวของกองทัพให้พ้นจากความผิดทั้งมวล

 

เดาลัม พูดผ่านโทรศัพท์มือถือของจีนที่เสียงแตกซ่าจากค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนพม่า-จีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาพักอยู่ในขณะนี้ เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่น่ากลัวในวันสุดท้ายที่เขาเห็นภรรยายังมีชีวิต เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2011 เดาลัมเริ่มต้นวันเหมือนกับวันธรรมดาวันหนึ่ง เขา ซุมลัทรอยจา ภรรยาของเดาลัม และพ่อที่แก่ชราของเขา กำลังยุ่งอยู่กับการเก็บข้าวโพดในไร่ที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาใกล้กับไมจายัง เมืองใหญ่อันดับสองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ KIO

 

แม้ว่าการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับ KIO ยังคงเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว แต่เดาลัมกับครอบครัวยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะสงครามยังลุกลามไปไม่ถึงในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งในช่วงบ่ายแก่ๆ วันนั้น ทหารพม่าอาวุธครบมือจำนวน 6 นายได้ปรากฎตัวขึ้นในไร่ของเขา ล้อมเขา ภรรยาของเขา และพ่อไว้

 

ทหารกล่าวหาเดาลัมและพ่อที่อายุ 70 ของเขาว่าเป็นทหาร KIO ซึ่งเป็นการเย้ยหยันที่เจ็บปวดเพราะเดาลัมและพ่อเคยเป็นทหารให้กับกองทัพพม่าในช่วงปี 1970 แม้จะปฏิเสธว่าพวกเขาเป็นแค่ชาวนาธรรมดาเท่านั้น แต่ทหารก็ได้มัดเดาลัมกับพ่อไว้และบังคับให้แบกข้าวโพดของเขาเองไปยังฐานทัพมูบัมที่ตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้ๆ ในขณะนั้น รอยจา ภรรยาของเขาไม่ได้ถูกมัดแต่ก็ถูกบังคับให้ตามไปด้วย

 

ยี่สิบนาทีหลังการเดินทางไปตามเส้นทางที่เป็นเนินเขาลาดชัน เดาลัมเล่าว่า เขากับพ่อตกลงกันว่าจะแก้มัดและหนีโดยจะกระโดดลงไปในหุบเขา แต่รอยจาที่อยู่ใกล้กับทหารไม่สามารถหนีไปด้วยได้ เดาลัมเล่าเป็นภาษาพม่าสำเนียงคะฉิ่น

 

"ผมมีอะไรจะพูดเยอะแยะ แต่ผมพูดไม่ออก ผมร้องไ้ห้หลายครั้งตั้งแต่ภรรยาผมถูกจับตัวไป กินไม่ได้นอนไม่หลับ" เดาลัม บอก

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ลูกสาววัย 2 ขวบครึ่งก็กำลังถูกพรากแม่ไปจากเธอ "หลังจากที่ภรรยาผมถูกจับตัวไป ลูกสาวก็ร้องไห้หาแม่ตลอด" เดาลัมบอกว่า คำแรกที่ลูกสาวพูดได้คือคำว่า "แม่" ตอนนี้เขายังไม่รู้ว่าจะบอกกับลูกว่าเกิดอะไรขึ้นกับรอยจายังไง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาก็ไม่รู้เช่นกัน

 

"เวลาที่ลูกสาวของผมเห็นเพื่อนๆ อยู่กับพ่อแ่ม่ เธอมักจะถามผมว่าแม่อยู่ไหน สำหรับผมมันยากที่จะตอบ ผมจึงโกหกลูกไปว่า แม่เดินทางไปซื้อขนม" เดาลัมเล่า

 

ชีวิตของเดาลัมต้องลำบากขึ้นเมื่อเขาถูกบังคับให้ทิ้งไร่ในวันที่เขาบอกว่าถูกจับตัวไป แต่ก็ต้องขอบคุณสงคราม ไร่ข้าวโพดอันอุดมสมบูรณ์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นที่ที่ไม่มีใครเข้ามาควบคุมทั้งสองฝ่ายเพราะถูกฝังกับระเบิดไว้ แต่ก็มีการยิงต่อสู้กันเป็นครั้งคราว แม้ว่าเพิ่งจะมีการเจรจาสันติภาพกันหลายครั้งก็ตาม

 

เดาลัม ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวมาหลายปีต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูลูกสาวเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลพ่อแม่และพี่น้องอีกด้วย เขาไม่สามารถรับผิดชอบภาระหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะเขาถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องมาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นซึ่งเขาแทบจะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ที่ค่ายพักพิง เขาอยู่กับเพื่อนบ้านที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันและถูกกวาดต้อนออกจากไร่นาของตนเองในช่วงที่มีการสู้รบกันอย่างหนักใกล้หมู่บ้าน ไม่กี่วันหลังจากที่รอยจาหายตัวไป

 

หลายวันต่อมาหลังจากที่รอยจาถูกลักพาตัว หลายคนได้ใช้กล้องส่องทางไกลและอ้างว่าเห็นรอยจาอยู่ที่ฐานทัพมูบัม ที่ล้อมรอบด้วยทหาร KIO ทั้งสามด้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งติดกับชายแดนจีน อย่างน้อยก็ยังมีคนเห็นรอยจาสวมชุดทหารพม่าและดูเหมือนจะเดินพาเหรดไปรอบๆ เพื่อให้ความบันเทิงกับทหาร แต่เกือบอาทิตย์ที่ไม่เห็นรอยจาจึงสงสัยว่าเธออาจจะพบกับจุดจบที่ไม่สวยงามนัก

 

การพยายามทวงคืนความยุติธรรมโดยการพึ่งศาลสูงในเนปีดอว์ของเดาลัมต้องจบลงด้วยความผิดหวัง มา์ร์คาร์ ทนายความสิทธิมนุษยชนในเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ทันทีที่ได้ฟังเรื่องราวของเดาลัม มาร์คาร์ ได้ทำคดีขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวผู้กระทำผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

"ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องคดี ศาลไม่ได้ใส่ใจหลักฐานที่เราส่งให้อย่างละเอียดเลยด้วยซ้ำ" มาร์คาร์ กล่าว เขาได้ทำคดีอีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการที่ชาวคะฉิ่นถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวในช่วงที่มีการสู้รบ แต่ผลก็ออกมาเหมือนๆ กันทุกคดี

 

การตัดสินของผู้พิพากษากล่าวว่า ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เดาลัมและพ่อของเขาได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทันที่ที่เกิดเหตุการณ์ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2011 ซึ่งพ่อของเดาลัมได้ส่งจดหมายร้องเรียน 3 ฉบับไปยังเจ้าหน้าที่ปกครองรัฐคะฉิ่น ผู้ว่าของอำเภอบะหม่อ และผุ้บัญชาการทหารในพื้นที่กองพัน 321 ซึ่งฐานทัพมูบัมอยู่ในเขตนี้ โดยได้ชี้แจงเรื่องที่เขาได้พบ ในจดหมายยังได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสูกสะใภ้ในทันที แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด

 

เดาลัมและพ่อถูกกันไม่ให้ให้ปากคำระหว่างการพิจารณาคดีที่เนปีดอว์ แม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารนั้นจะำมีโอกาสที่จะให้ปากคำเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าศาลสูงในพม่านั้นยังห่างไกลจากการทำงานอย่างเป็นอิสระมาก บทบาทของตุลาการศาลนั้นไม่ได้แตกต่างจากในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหารเลยแม้แต่น้อย

 

ในเดือนกันยายน 2012 สมาคมสตรีคะฉิ่นในประเทศไทย หรือ KWAT ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีเต็งเส่ง เรียกร้องให้รือคดีของรอยจาขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่ก็ไม่มีการตอบกลับเช่นกัน

 

"เราไม่มีทางเลือก ไม่มีที่ที่จะหาความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยนหรือถูกกระทำรุนแรงโดยกองทัพของรัฐบาลได้เลย" มูนเนย์ลี จาก KWAT กล่าว "กองทัพยังคงกุำมอำนาจอยู่ในพม่า"

 

โซตาน อดีตนายพล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน กล่าวในการประชุม World Economic Forum ที่จัดขึ้นในกรุงเนปีดอว์กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีของประเทศว่าพัฒนาไปอย่างมาก ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวก่อให้เกิดความเคลือบแคลงโดยนางอองซาน ซูจี ที่ร่วมอภิปรายในการประชุมดังกล่าวด้วย

 

แม้การสู้รบในรัํฐคะฉิ่นจะลดลงมากตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อเครื่องบินรบของกองทัพพม่าตกในเขตของ KIO แต่สถานการณ์ในรัฐคะฉิ่นยังไม่มีความแน่นอน

 

 

เืมื่อไม่นานมานี้องค์กรคะฉิ่น 60 องค์กรร่วมมือกับองค์กรเบอร์มาแคมเปญที่มีสำนักงานอยู่ใน 21 ประเทศได้จัดงานรำลึกปีที่สองของการฉีกสัญญาหยุดยิง โดยได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันและได้ประนามกองทัพพม่าในการทำสงครามอาชญากรรมด้วย

 

"ประชาชนชาวคะฉิ่นต้องทนทุกข์ทรมานจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการข่มขืนสตรีและเด้ก การเข่นฆ่าตามอำเภอใจ การทรมาน การบังคับใช้แรงงาน การยิงปืนใหญ่ ทั้งเผาและปล้นหมู่บ้าน" นีคือส่วนหนึ่งในแถลงการณ์

 

พลโทมิ้นโซ ผู้บัญชาการทหารที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในรัฐคะฉิ่นให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิระวดี โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาที่กระทำโดยกองทัพในช่วงที่มีการสู้รบ

 

"อย่าเชื่อทุกอย่างที่คุณได้ยิน มันมีข่าวลือมากมาย ไม่จบไม่สิ้น" เขากล่าว

 

คำกล่าวของมิ้นโซบั่นทอนกำลังใจของเดาลัมที่ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

 

"ผมคงไม่หวังที่จะได้พบภรรยาอีกแล้ว"

 

==========================


 แปลจาก Burma’s supreme seat of power โดย Ko Htwe
 www.dvb.no  3 กรกฎาคม 2556


 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น