วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง บนแผ่นดินทวาย

ลมอ่อน ๆ พัดเอาคลื่นลูกเล็ก ๆ กระทบกับผืนทรายบนชายหาดมองมะกันของอำเภอทวาย ในเขตตะนาวศรี ภาคใต้ของพม่าติดกับทะเลอันดามัน ทำให้อากาศเย็นสบายในยามค่ำคืน ที่นี่นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีชายหาดที่สวยที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งผู้คนจำนวนมากต่างกำลังเพลิดเพลินบนชายหาดแห่งนี้ในยามค่ำของเดือนกุมภาพันธ์ บ้างก็นั่งเล่น บ้างก็เดินไปบนผืนทราย บางคนก็กำลังวาดรูปทิวทัศน์อันงดงามของชายหาดอยู่

 

ชาวบ้านท้องถิ่นใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายอยู่ริมทะเลมาโดยตลอด จนกระทั่ง กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ถาโถมเข้ามาที่หาดทวาย เมื่อรัฐบาลพม่าและนายทุนธุรกิจกำลังจะสร้าง ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่ทันสมัยบนพื้นที่

 

ที่หมู่บ้านมยินจีตั้งอยู่ระหว่างภูเขา ทุ่งนาที่อยู่ทางทิศตะวันออก กับชายหาดที่อยู่ทางทิศตะวันตก อูเต่งซาน ผู้เฒ่าวัย 63 ปี เดินไปบนถนนสายหลักของหมู่บ้าน ที่คดเคี้ยวเหมือนรอยงูเลื้อยบนหาดทราย เขามีท่าทีไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเดินเข้าไปใกล้โกดังเก็บวัสดุจำพวกปูนซีเมนต์ ทราย หิน และเหล็ก

 

ไม่กี่ปีมานี้ บริเวณนี้เคยเป็นที่นาของเขา เมื่อก่อนนี้เคยมีที่นาอยู่รอบหมู่บ้าน ในตอนนั้น บรรยากาศถูกปกคลุมไปด้วยเสียงเพลงของชาวนา เสียงขลุ่ยของคนเลี้ยงวัว และเสียงเคาะไม้ไผ่คนงานสวนจาก

 

ภาพของนาข้าวในวันนั้นถูกแทนที่ด้วยบ้านพักคนงานก่อสร้างไปแล้ว ในตอนนี้ทุกอย่างเหลือเพียงแค่ความทรงจำ ชายชราน้ำตาคลอเบ้า ในอดีตเขาเป็นเจ้าของที่นา75 ไร่และสวนจากอีกกว่า25 ไร่  อาศัยอยู่กับลูก 5 คน และหลานอีก 4 คน ที่มู่บ้านมยินจี ตำบล นาบูแล อำเภอกานเบ้าก์ เขตตะนาวศรี ส่วนภรรยาของเขาเสียชีวิตไปแล้ว

 

เจ้าหน้าที่ทหารยึดที่นาและสวนจากของผมไปเมื่อเดือนมกราคม 2554 โดยไม่บอกเหตุผล พวกเขาเก็บเอาพืชผลที่กินได้และต้นไม้ในที่ดินของผมไปจนหมด พวกเขาพูดถึงค่าชดเชยเหมือนกันแต่ไม่ได้บอกว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มสร้างถนนและท่าเรือบนที่ดินของผม” อูเต่งซาน บอก

 

สวนของผมเป็นมรดกตกทอดจากครอบครัว ตระกูลของผมเป็นเจ้าของที่ผืนนี้มาหลายร้อยปีแล้ว ผมเสียใจมาก”

 

เขาอธิบายว่า ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งในเขตกานเบ้าก์เมื่อปี 2553  พวก USDP(พรรคของรัฐบาล) บอกว่า พวกเราชาวบ้านจะได้รับประโยชน์เมื่อโครงการท่าเรือสร้างเสร็จ  เขาบอกว่า พื้นที่นี้จะเจริญขึ้นมาก แต่ว่า พวกเขาก็ไม่รักษาสัญญา  สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยพูดไว้ตอนหาเสียงมาก”

 

ขณะที่ชาวนาในพื้นที่คนอื่นๆ ต่างก็บอกว่า ไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่สัญญาไว้ตอนที่มีการยึดที่ดินก็ตาม เขาคาดว่ามีที่ดินถูกยึดไปทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นไร่ ในเขตนาบูแล ซึ่งยังไม่มีใครได้รับค่าชดเชย

 

พวกเราเป็นชาวนาแต่ไม่มีที่ดินเหลือให้ทำมาหากินแล้ว อะไรจะแย่ขนาดนี้ เจ้าหน้าที่บอกเราเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านจากหมู่บ้าน เถ่งจี  มูดู และมินจี จะถูกย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านบวา  แต่ที่หมู่บ้านบวา เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดที่ดินชาวบ้านไปแล้ว 2,500 ไร่”

 

ผมไม่รู้ว่าจะต้องย้ายไปเมื่อไหร่ ผมอยากอยู่ในหมู่บ้านของผม ไม่อยากย้ายไปที่ใหม่”

 

เจ้าหน้าที่จะปักธงแดงไว้ตรงที่ดินที่จะยึด ตอนที่ผมเห็นธงแดงปักอยู่บนที่นาของผม ผมรู้สึกเสียใจและอยากจะร้องไห้ เราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องย้ายออกจากหมู่บ้านของเรา” อูเต่งซาน บอก

 

เช่นเดียวกับอูเต่งซาน โกยินทเว พ่อลูกสาม วัย 43 ปี ก็สูญเสียที่ดินทำกินของครอบครัวไปเช่นกัน  เขาต้องไปทำงานที่เมืองไทยเพื่อเลี้ยงครอบครัว

 

เรามีที่นา 12 ไร่ครึ่ง  และสวนอีก12 ไร่ครึ่งตอนที่เรายังเด็ก  เมื่อได้ยินข่าวโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ของเรา สถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปในทันที เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่เริ่มยึดที่นาและสวนจากในหมู่บ้านมยินจี”

 

พวกเขาจ้างแรงงานรายวันให้ทำงานก่อสร้างท่าเรือ ให้ค่าแรงวันละ 4,000 จั๊ต (ประมาณ  159 บาท) ถือว่าไม่เลว พวกเขาจ้างแรงงานในพื้นที่และก็แค่ไม่กี่คน คนที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่เท่านั้นถึงจะได้ทำงานก่อสร้างที่ท่าเรือ”

 

เจ้าหน้าที่ยึดที่นาของผมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พวกเขาบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้”

 

ผมอยากอยู่กับครอบครัวที่หมู่บ้านของผม แต่ตอนนี้ต้องทิ้งให้ลูกเมียอยู่ที่หมู่บ้าน ผมเป็นห่วงครอบครัวตลอดเวลา” โกยินทเว บอก

 

พวกเราต้องตกงานในบ้านของเราเอง” อูเต่งซาน เสริม ก่อนที่พวกเขาจะยึดที่ดินของผม เรามีงานทำตลอดทั้งปี เราปลูกข้าวในหน้าฝน ทำงานในไร่จากช่วงหน้าหนาว และหน้าร้อน  มันลำบากมากที่ต้องเป็นแรงงานรายวันสำหรับคนอายุมากอย่างผม”

 

เขาบอกว่า ชาวบ้านไม่รู้จะไปร้องเรียนเอากับใคร ถึงแม้พวกเขาไม่อยากเสียที่ทำกินไป  ได้แค่หวังว่าจะได้รับค่าชดเชยบ้าง

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง บรรดานักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากโครงการนี้

 

คนจำนวนมากจากที่อื่น ทั้งชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ อย่างเช่น คนไทย ญี่ปุ่น และจากภาคกลางของพม่า ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้เงินจากการขายของที่พวกเขาต้องการ” นักธุรกิจวัย 57 จากเยผิ่ว บอก

 

ผมมีบ้าน 3 หลัง ให้บริษัทต่างชาติเช่า มีรายได้ 37,200 บาท ต่อเดือนสำหรับค่าเช่า ผมยังเปิดร้านอาหารไทยด้วย ที่นี่มีคนไทยมาทำงานมากกว่าร้อยคน พวกเขาชอบกินก๋วยเตี๋ยวและส้มตำ”

แรงงานคนอื่นๆ ก็มาซื้อของที่ร้านของชำของผม พวกเขามีรายได้ประมาณเดือนละ 150,000-200,000 จั๊ต (5976 – 7968 บาท) แรงงานที่มีทักษะบางคนได้เงินเดือนถึง 27000 – 37200 บาท พวกเขาสามารถซื้ออาหารได้มากมาย”

 

ธุรกิจครอบครัวของผมสร้างรายได้ 5- 10 ล้านจั๊ต (ประมาณ 2 - 4 แสนบาทถึง)ต่อเดือน เจ้าของธุรกิจเล็กๆ อย่างผมก็ได้ประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างบนพื้นที่ของเราเหมือนกัน”  

 

รัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าได้ลงนามในข้อตกลง MoU ร่วมกันในการพัฒนาอภิมหาโปรเจ็ค ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และการท่าเรือแห่งประเทศพม่าจะเป็นผู้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ทั้งนี้โครงการจะใช้งบประมาณถึง 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และครอบคลุมพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยท่าเรือใหญ่สามแห่ง ซึ่มีทั้งท่าเรือสำหรับขนถ่ายน้ำมันและขนส่งสินค้า

 

ในโครงการยังมีแผนการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเคมี โรงเก็บและแยกก๊าซและน้ำมัน โรงไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาด 600 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกกะวัตต์ด้วย (ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (ลำดับที่ 2) แถลงว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา)

 

นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการยังมีแผนการสร้างโรงงานหลายแห่ง ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และยางรถยนต์ โรงงานซีเมนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องสำอาง และยาฆ่าแมลง

 

ทว่า ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบของโครงการที่จะทำให้เกิดความสูญเสียมากไปกว่าที่ดินของชาวบ้าน

เราจะสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมของเรา” โกเต็ดอ่อง จาก สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association (DAA)) กล่าว

 

ชาวต่างชาติและคนภาคกลางจำนวนมากมาทำงานที่นี่ เราต้องเจอกับปัญหาสังคมในพื้นที่ของเรา ธุรกิจค้ากามกำลังเติบโตที่นี่ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเรา ในระยะยาว วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของเราก็จะหายไปในไม่ช้า” โกเต็ดอ่อง กล่าว

 

เขายังพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่า ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

 

แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร” อูเต่งซาน ถาม มันเจ็บปวด อะไรคือความหมายของประชาธิปไตยสำหรับประเทศนี้ ? พวกเขาไม่ฟังเสียงของเรา ไม่สนใจความคิดเห็นของเรา เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ”

 

แสงสุดท้ายของวันเบื้องหลังผู้เฒ่า ค่อยเลือนหายไปจากท้องฟ้า ท่ามกลางความกลัวของผู้เฒ่าและเพื่อนบ้าน ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังจะลับหายไปพร้อมกับวิถีชีวิตเรียบง่ายที่อยู่เคียงคู่กับท้องทะเลอันเป็นสมบัติของพวกเขามานานแสนนาน

 

จาก http://daweiproject.blogspot.com/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น