วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"150" ตัวเลขชี้ชะตาเหยื่อเอชไอวีในพม่า


ย่างกุ้ง ประเทศพม่า – เต่งอ่องเคยถูกฝึกไม่ให้แสดงความอ่อนแอออกมา แต่เขาก็เชื่อว่าไม่มีทหารคนไหนที่จะแข็งแรงพอที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้

 

เขากัดกรามแน่น พยายามบังคับไม่ให้คางสั่นเทา  ไม่ให้ตากระพริบ แต่ตอนนี้เขาก็ไม่ต่างกับกับภูเขาที่กำลังจะพังทลาย ไหล่ของเขาเริ่มสั่นและยุบลง ภายใต้เสื้อยีนส์แรงเลอร์ที่พับแขนมาถึงข้อศอก เผยให้เห็นแขนอันผอมแห้ง เขาดูในดูตัวเล็กไปในทันใด  จากนั้นน้ำใสๆ ก็เริ่มหลั่งไหลออกมาจากตาแดงๆ เขามองออกไปข้างนอกด้วยแววตาที่เต็มไปด้วยความอับอาย

 

ขณะที่นั่งอยู่ด้านนอกคลินิกแถบชานเมืองย่างกุ้งแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้คน แม้ร่างกายของอ่องกำลังต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี วัณโรค และเบาหวาน แต่เขาก็ยังภาวนาขอให้ตัวเองป่วยหนักกว่านี้

 

ในประเทศยากจนประเทศอื่นๆ อาการของอ่องก็หนักพอที่จะได้รับการรักษาเอชไอวีแล้ว แต่สำหรับพม่ายังไม่มียารักษาที่เพียงพอ ผู้ป่วยที่อาการย่ำแย่ที่สุดเท่านั้นที่จะได้กลับออกจากคลินิกแห่งนี้ไปพร้อมกับยา ส่วนผู้ป่วยคนอื่นๆ ชะตากรรมของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในตัวอย่างเลือดที่นำมาตรวจทุกๆ สามเดือน

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงเหลือ 350 ควรได้รับการรักษา แต่สำหรับพม่าต้องมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงเหลือ 150 จึงจะได้รับการเยียวยา

---


 

การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในอดีตเคยมีจำกัดเฉพาะในประเทศตะวันตกเท่านั้น ปัจจุบันแม้แต่ในประเทศยากจนก็สามารถจัดหาให้ผู้ป่วยได้ เนื่องจากยาต้านเชื้อมีราคาถูกลงและหาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้มีเด็กในอาฟริกาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจำนวนหลายพันคน

 

แต่ในพม่า ผู้ป่วยเอชไอวียังถือเป็นเคสพิเศษ ประชาชนกว่า 60 ล้านตกอยู่ในเงามืดภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารมายาวนานหลายศตวรรษ พวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมา พม่าถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งสหรัฐเมริกา ประกอบกับงบประมาณสนับสนุนด้านสุขภาพของรัฐที่ไม่เพียงพอต่อการจัดหาเวชภัณฑ์และให้บริการต่อประชาชน ในวันนี้ พม่าจึงกลายเป็นประเทศที่ผู้ป่วยเอชไอวีได้รับการรักษายากที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสามารถปรับปรุงระบบสาธารณสุขที่ถูกละเลยมายาวนานหลายสิบปี

 

“พม่าเหมือนกับงานที่ผมเคยทำในอาฟริกาช่วงยุค 90 มันล้าหลังไป 15 ถึง 20 ปี” คริส เบย์เรอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปสกินที่ทำงานในพม่ามาหลายปี กล่าว “ถ้าคุณพยายามที่จะรักษาโรคเอดส์ คุณต้องบอกว่า ทุกคนไม่ว่าจะอาการอย่างไรอาจต้องตายหากไม่มีทรัพยากรในการรักษาเพิ่ม”

 

ข้อมูลจาก UNAIDS ระบุว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่คาดการณ์ว่ามีประมาณ 240,000 คน ครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการรักษา และมีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตถึงปีละ 18,000 คน

 

เมื่อปีที่ผ่านมาสถานการณ์เอชไอวีก็ต้องย่ำแย่ลงไปอีกหลังกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ยกเลิกการให้งบประมาณช่วยเหลือไปหนึ่งปีเนื่องจากขาดแคลนเงินบริจาคจากนานาชาติ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวสามารถซื้อยาต้านเชื้อสำหรับผู้ป่วยได้ถึง 46,000 คน

 

ในขณะที่พม่าได้แสดงให้นานาชาติเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้านกองทุนโลกได้ผลักดันให้พม่าขอความช่วยเหลือเพิ่ม เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนและเป็นการเปิดทางให้ผู้ป่วยมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับยาภายในปี 2015 รวมถึงการรับมือกับโรควัณโรคซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตในผู้ป่วยเอชไอวีมากที่สุด ทั้งนี้อัตราผู้ป่วยวัณโรคในพม่ายังมากกว่าอัตราผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกถึง 3 เท่าตัว

 

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนได้พยายามให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายยาต้านเชื้อเอชไอวีให้แก่ผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่ง แต่ทุกๆ วัน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำคลินิกขององค์กรทั้ง 23 แห่งต้องตัดใจไม่จ่ายยาให้ผู้ป่วย เช่นเดียวกับกรณีของอ่อง ซึ่งมีอาการป่วยหนักแต่ระดับเม็ดเลือกขาวยังไม่ต่ำพอ

 

“มันทำใจลำบากที่ต้องเห็นสถานการณ์แบบนี้” จ่อหน่ายทุน บอก เขาคือหมอหนุ่มในทรงผมสไตล์เกาหลีผู้เปี่ยมไปด้วยพลังที่ดูแลคลินิกขององค์กรในเขตอินเส่ง เขาบอกว่า เฉพาะแค่ในย่างกุ้ง แต่ละเดือนมีผู้ป่วยประมาณ 100 คนที่ควรจะได้รับยาต้องกลับบ้านไปมือเปล่า “เมื่อเขากลับมาอีกครั้งด้วยอาการหนักกว่าเดิม จะต้องใช้ยาเพิ่มมากขึ้น มันเหมือนเกมที่มีแต่แพ้กับแพ้”

---


 

อ่องรู้ว่าตัวเองมีเชื้อร้ายอยู่ในร่างกายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขามีอาการน้ำหนักลดและนอนไม่หลับ แต่คิดว่าเป็นเพราะวัณโรคและเบาหวาน

 

เมื่อผลตรวจเลือดออกมาเป็นบวก เขารู้สึกช็อกและกลัวมาก เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า เป็นไปได้อย่างไร เพราะอะไร

 

 

“ผมอยากฆ่าตัวตายเมื่อทราบผลเลือด” เขาเอ่ยเบาๆ พลางทอดสายตามองออกไปด้านนอก “สิ่งที่ทำให้ผมเสียใจมากที่สุดคือ ภรรยาของผม เธอบอกว่าผมยังตายไม่ได้เพราะเรามีลูก”

 

คำถามต่างๆ ถาโถมเข้ามารุมเร้าตามมาด้วยความกังวลร้อยแปด บวกกับความรู้สึกผิดที่เขาอาจจะแพร่เชื้อให้กับภรรยา  เขาจะต้องทำอย่างไรต่อไป

 

อ่องมีอาชีพเป็นทหารในกองทัพของประเทศที่ถูกปิดกั้นตนเองจากภายนอกมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เขาจึงมีความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีเพียงน้อยนิด เขาเคยเห็นทหารคนหนึ่งถูกเชื้อเอชไอวีทำลายกัดกินร่างกายจากข้างในมาแล้วจึงทำให้เขากลัวที่จะตายอย่างทุกข์ทรมาน แต่เขาก็เคยเห็นทหารที่ได้รับการรักษาและใช้ชีวิตได้อย่างปกติแม้จะถูกไล่ออกจากกองทัพก็ตาม

 

ภาพของทหารที่ติดเชื้อทั้งสองคนวนเวียนอยู่ในหัวของอ่อง ในที่สุดเขาได้ตัดสินใจที่จะรักษาชีวิตและรักษาครอบครัวเอาไว้ เขาจะเลือกเก็บความลับเอาไว้ไม่ให้ใครรู้นอกจากภรรยา หรือจะยอมสูญเสียหน้าที่การงานและบ้านพักในค่ายทหารเพราะคนรอบข้างอาจกลัวและรังเกียจเขา ยาต้านเชื้อเท่านั้นที่จะทำให้เขาสามารถเก็บความลับนี้ไว้ได้

 

“ถ้าผมรับยา และมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ผมก็จะสามารถช่วยเหลือประเทศได้มากขึ้น และครอบครัวของผมก็ไม่ต้องแตกสลาย ครอบครัวของผมมีค่ามาก”

 

ที่คลินิกอินเส่งในย่างกุ้ง เขตที่มีคุกที่เลื่องชื่อมากที่สุดในพม่า อ่อง ที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงกำลังใจจดใจจ่อรอผลการตรวจเลือดด้วยความตื่นเต้น

 

ผลออกมาว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวของเขาอยู่ที่ 460 ซึ่งถ้าเป็นในสหรัฐอเมริกา ถือว่าต่ำพอที่จะได้รับยา แต่ก็ยังสูงกว่า 150 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะบอกว่าใครจะได้รับยาในพม่า เขาได้รับยารักษาวัณโรค เจ้าหน้าที่บอกให้เขากลับมาใหม่อีกสามเดือน

 

---


ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่า 200 ชีวิตแออัดยัดเยียดกันอยู่ในบ้านสองหลังที่ใช้เป็นศูนย์เอชไอวีนอกเมืองย่างกุ้ง พวกเขากำลังรอความตายที่กำลังจะมาถึง

 

นางอองซาน ซูจีได้มาเยี่ยมผู้ป่วยที่นี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2012 ไม่กี่วันหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณในบ้านพัก นางได้เรียกร้องให้ทั่วโลกให้การช่วยเหลือด้านยา และได้พูดผ่านวิดีโอลิงค์ในการประชุมเอดส์โลกในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า “ประชาชนของเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเอชไอวีคืออะไร เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องกลัว”

 

ที่ศูนย์เอชไอวีแห่งนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคเอ็นแอลดี ไม่มีแพทย์หรือพยาบาลประจำ ผู้ป่วยจึงต้องดูแลกันเอง ชายคนหนึ่งกำลังแขวนถุงน้ำเกลือบนเชือกพลาสติกที่ห้อยลงมาจากเพดานเหนือตัวผู้ป่วยที่เนื้อตัวผอมแห้ง ในขณะที่คนดูแลคนอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นผู้ติดเชื้อเหมือนกันใช้พัดกระดาษพัดให้บุคคลที่รักอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นทางเดียวที่พอจะช่วยเหลือกันได้

 

เด็กๆ ที่ติดเชื้อที่พ่อแม่เสียชีวิตไปก่อนแล้วกำลังเล่นกันอยู่ในห้องแคบๆ ร่างกายของผู้ป่วย ที่ตอนนี้ไม่ต่างจากศพที่มีลมหายใจ นอนเรียงรายอยู่บนแผ่นไม้ไผ่เหนือพื้นที่เปื้อนฝุ่น

 

อีกห้องหนึ่งแออัดไปด้วยผู้ป่วยหญิงที่นอนอยู่บนเสื่อไขว้กันไปมาอยู่บนพื้นไม้ แม่วัยสาวกำลังให้นมลูกวัย 7 วันอยู่ตรงมุมห้อง เธอเริ่มได้รับยาตอนที่ท้องแก่แล้ว และต้องรอ อีก 18 เดือนถึงจะรู้ว่าลูกน้อยของเธอติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

 

“เงินทุนมีอยู่จำกัดสำหรับจำนวนคนไข้ที่มหาศาล” ผิ่วผิ่วติ่น ส.ส. ที่เพิ่งได้รับเลือก ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อตั้งศูนย์เอชไอวีแห่งนี้เมื่อปี 2002 กล่าว เธอเคยถูกจำคุกจากการทำงานเพื่อผู้ป่วยเอชไอวีในสมัยรัฐบาลชุดก่อน “การรอยาที่มีอยู่จำกัดเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากสำหรับผู้ป่วยจำนวนมาก เพราะพวกเขาจะได้รับยาก็ต่อเมื่ออาการทรุดหนักเท่านั้น”

 

---


ทรงผมสั้นเกรียนและร่างกายที่มีร่องรอยของถูกฝึกฝนมาของอ่องทำให้เขาดูเหมือนทหารขึ้นมาบ้าง ชีวิตของเขารับราชการทหารในกองทัพต่อสู้ในสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย ต้องอยู่ห่างจากลูกทั้งสองและภรรยามาเป็นเวลา 27 ปี ชีวิตในอดีตเข้ามาในห้วงความคิดของเขาทุกคืนเวลาที่นอนไม่หลับ

 

ในตอนนั้นเขาทำหน้าที่ในกองทัพเป็นหมอทหารและต้องสัมผัสกับเลือดของทหารที่บาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้เขายังเคยมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาด้วย คำถามที่คอยหลอกหลอนเขามากที่สุดก็คือ เขาควรจะโทษใครดี  ซึ่งเขาไม่มีทางรู้ได้เลย

 

เขาต้องทานยานอนหลับทุกคืนเพื่อให้หลุดพ้นจากความคิดเหล่านั้น แต่มันก็ไม่เป็นผลเพราะถูกปลุกจากความหนาวและเหงื่อท่วมตัวบวกกับต้องลุกไปปัสสาวะในตอนกลางคืน

 

เดือนที่แล้วน้ำหนักของเขาลดลงไป 10 ปอนด์ จาก 130 เหลือ 120 ปอนด์ แก้มของเขาเริ่มตอบ ตาเริ่มโหล ความแข็งแรงก็เริ่มลดน้อยถอยลง เขาไม่สามารถนำกองทหารออกฝึกวิ่งได้อีกต่อไป เขาใช้วัณโรคเป็นข้ออ้าง แต่ก็กลัวว่าจะปิดบังผู้บังคับบัญชาได้อีกไม่นาน

 

“ผมพยายามปิดบังเท่าที่ทำได้ แต่คนก็เริ่มซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องของผมกันแล้ว ผมก็เลยไม่กล้ามองหน้าพวกเขา ผมอยากแข็งแรงเหมือนคนอื่นๆ แต่ร่างกายของผมมันไม่ได้อย่างใจ”

 

ภรรยาของอ่องปฏิเสธที่จะตรวจเลือดจนกว่าอ่องจะได้รับยาต้าน เธอกลัวว่าถ้าผลเลือดออกมาเป็นบวกแล้วสามีของเธอจะฆ่าตัวตาย “เธอไม่อยากให้ผมเสียใจ ถ้าเธอติดเชื้อด้วย ผมคงจะเสียใจมากๆ”

 

โรคภัยที่เกิดขึ้นทำให้เขากลับมาคิดทบทวนตัวเอง  เขาคร่าชีวิตผู้คนในการสู้รบ นอกใจภรรยา และมีส่วนรู้เห็นในการกระทำแย่ๆ มาตลอดชีวิต แต่เขาก็ต้องการโอกาสเพียงสักครั้งเพื่อลบล้างความผิดเหล่านั้น

 

ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เขาเชื่อว่าโรคภัยที่เกิดขึ้นเป็นผลกรรมจากชาติที่แล้ว เขาปฏิญาณกับตัวเองว่าจะเป็นคนดีโดยช่วยเหลือผู้อื่นและทำทานตามกำลัง

 

เขาบอกว่า ผู้ป่วยที่อาการหนักกว่าสมควรที่จะได้รับการรักษาก่อน แต่เขาก็ยังคงรอคอยผลการตรวจเลือกรอบสอง เขาอดไม่ได้ที่จะภาวนาให้ภูมิคุ้มกันของเขาบกพร่องลงกว่าเดิม ให้หนักพอที่จะได้ผลออกมาเป็นตัวเลขสวยๆ

 

แต่เมื่อหมออ่านผลเลือด เขาจึงรู้ว่าต้องกลับบ้านไปมือเปล่าอีกครั้ง

 

289 คือจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดของเขารอบนี้ ซึ่งก็ยังสูงเกินไป

 

ทางเดียวที่เขาทำได้คือ ลองดูอีกครั้งในสามเดือนข้างหน้า และหวังว่าในตอนนั้นอาการของเขาจะหนักกว่านี้.

 

 

(จากบทความ In Burma, only sickest HIV patients get drugs โดย  AP News  21 ตุลาคม2555 )

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น