วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คดีแรงงานพม่าในไทย อาชญากรรม-เหยียดเชื้อชาติ

การ เดินทางเยือนไทยของ นางออง ซาน ซู จี เมื่อเดือนพ.ค.ปีนี้ ประเด็นหนึ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านพม่าให้ความสำคัญเป็นพิเศษจนเป็นข่าวไปทั่วโลก ก็คือเรื่องแรงงานพม่าในไทย

นางซู จี รู้ดีว่ามีพี่น้องร่วมชาติเข้ามาทำงานหาเงินอยู่ในไทยจำนวนมาก นับตั้งแต่ยุคที่ทหารปกครองพม่า ซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดการสู้รบระหว่างรัฐกับชนเผ่าต่างๆ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลสิทธิแรงงานของคนพม่า ขณะเดียวกันก็ขอให้แรงงานพม่าอย่าสร้างปัญหาให้ไทย

จากข้อมูลสำนัก บริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน สถิติล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวในไทย 1,129,481 คน ถูกกฎหมาย 974,505 คน มาจากพม่าถึง 658,866 คน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แรงงานพม่าในไทยมีอยู่ราว 2 ล้านคน แต่ลงทะเบียนไว้เพียง 8 แสนคน อีก 1.2 ล้านคน อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ



ที่ผ่านมา แรงงานพม่าที่ทะลักเข้ามาในไทยนั้นปรากฏเป็นข่าวในคดีอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นทั้งผู้ก่อและเป็นทั้งเหยื่อ

คดีต่างๆ ล้วนจุดประเด็นสร้างความสงสัยถึงทิศทางการรับมือปัญหาแรงงานข้ามชาติในยุคเปิดเสรีอาเซียน ปี 2558

นาย โคทม อารียา ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา อธิบายว่า จากข่าวที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าแรงงานต่างด้าวดูจะตกเป็นจำเลยสังคม ทั้งถูกนายจ้างลิดรอนสิทธิโดยตรง และถูกมองอย่างเหมารวมว่าเป็นตัวการก่อคดีร้ายแรง แต่หากเปรียบเทียบจำนวนแรงงานต่างด้าว กับอาชญากรรมที่ต่างด้าวเป็นคนก่อขึ้น จะเห็นได้ว่ามีอัตราส่วนที่น้อยมากๆ จนไม่ควรนำมาเป็นอคติต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่านี้



คนเรามีทั้งดี ไม่ดีแตกต่างกันไป บางครั้งสถานการณ์ บีบคั้น บางคนตั้งใจทำ หรือถูกกระทำ มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ

แต่ เพราะไทยไม่มีกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน คนงานผิดกฎหมายจึงหลั่งไหลเข้ามา ทำให้เกิดการแย่งงานระหว่างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายด้วยกัน ยิ่งมีการแข่งขันสูงก็ยิ่งเกิดอาชญากรรมง่าย



ดังนั้นสิ่งที่ จะช่วยลดภาพลักษณ์ของการเป็นแหล่งคดีต่างด้าวของไทย คือ ภาครัฐ และกระบวนการยุติธรรม ต้องจริงจังกับการแก้ไขคดี รวมถึงผลักดันมาตรการการป้องกันล่วงหน้า

"อย่างคดีข่มขืนสาว อิสราเอลที่ผ่านมา การที่ตำรวจจับผู้ต้องหาได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการกู้หน้าให้ประเทศได้ในระดับหนึ่ง ว่าบ้านเมืองเราก็มีกฎหมาย และเราก็เคารพกฎนั้นๆ ส่วนคดีของพ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ (เลาหะวัฒนะ) ผมว่าการดำเนินคดีต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงที่สุด น่าจะเป็นตัวอย่างให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างต่างด้าว ได้ดูเป็นกรณีศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงและลดอัตราอาชญากรรม"



นายสุรพงศ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ในทางกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานคนไทยทุกประการก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ กลับถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ หรือโดนทำร้าย ขณะที่กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจจ้างแรงงานเถื่อน เจ้าหน้าที่รัฐเพิกเฉยไม่ดูแลสิทธิแรงงานเพราะเป็นต่างด้าว ยังไม่รวมถึงทัศนคติแง่ลบ และการแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ ทั้งการค้ามนุษย์ รีดไถ และข่มขู่



"พวกเขาตกเป็นเหยื่อมากกว่าเป็นผู้กระทำ จากสถิติของเราเองพบว่า แรงงานเหล่านี้ก่อคดีน้อยกว่าคนไทยมาก แต่ส่วนหนึ่งเพราะสื่อชอบตีข่าวสร้างกระแสเกลียดต่างด้าว พาดหัวว่าพม่าเหี้ยม ไม่ก็กะเหรี่ยงโหด ขณะที่คดีแรงๆ ของคนไทยกลับไม่ใช้คำชี้นำให้เหยียดชน ชาติ จึงไม่แปลกที่ไทยจะถูกมองเป็นประเทศลิดรอนสิทธิแรงงานต่างชาติ ในรายงานการลักลอบค้ามนุษย์ปี 2555 ไทยติดอยู่ในกลุ่มจับตาเป็นปีที่ 3 แล้ว ปีหน้า ถ้าถูกประเมินซ้ำก็อาจเสี่ยงถูกกีดกันทางการค้า ทุกวันนี้เราออกมาแก้ข่าวปฏิเสธว่าเรื่องโน้น เรื่องนี้ไม่จริง ผมว่ามันเป็นการแก้ตัว ไม่ใช่แก้ปัญหา"



นายสุรพงศ์แนะว่า รัฐควรจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ยกเลิกนโยบายสนับสนุนการเอาเปรียบ ยกเลิกการอุ้มธุรกิจค้าแรงงานเถื่อน และหันมาส่งเสริมการดูแลสิทธิ ค่าจ้าง และสวัสดิการ ขณะที่ผู้ประกอบกิจการควรปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบริษัท และบุคลากร หยุดเห็นแก่ได้จากการลดค่าแรงที่ถูกลงเพียงเล็กน้อย หากสู้ตลาดด้วยราคาไม่ได้ ก็สู้ด้วยคุณภาพ ไม่ใช่กดขี่สิทธิมนุษยชน



"เรา อยากได้รับการปฏิบัติอย่างไร ก็ควรกระทำต่อคนอื่นอย่างนั้น ยิ่งใกล้เปิดเสรีอาเซียนด้วยแล้ว หากเราดูแลคนของประเทศอื่นดี เขาก็ดูแลคนไทยดีเช่นกัน"

ด้าน น.ส.ส่งศรี บุญมา อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี2558 ว่า พูดกันตามตรง ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพราะบางอาชีพคนไทยไม่ยอมทำ จะมองว่าเป็นงานหนัก หรือค่าตอบแทนไม่คุ้ม แต่งานอย่างก่อสร้าง การประมง และเกษตรกรรม ถือเป็นอาชีพสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจภายใน และนำไปสู่การค้าระหว่างประเทศ



ในทางกลับกัน สังคมไทยกลับเหยียดแรงงานต่างด้าว มองว่าเขาเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย มาแย่งงาน หรือเข้ามาก่อคดีสร้างความเดือดร้อนให้ คนไทย

"ถ้าเราเปิดใจมองโดย ไม่อคติ แม้บางครั้งจะมีคดีที่แรงงานเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มากจนน่าตกใจ หากยอมรับได้ และปรับกฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาแรงงานเถื่อน ไทยก็จะได้รับประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังช่วยส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนได้อีกด้วย"


 

คอลัมน์ ข่าวสดอาเซียน
ข่าวสด  7 ตุลาคม พ.ศ. 2555


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น