วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข่มขืน : ฝันร้ายที่ยังคงคุกคามหญิงไทใหญ่

นับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ผู้ที่เป็นแม่และลูกสาวในพื้นที่ชายแดนพม่าต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัวอย่างมาก ในขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยในบ้านเกิดของพวกเธอสู้รบกับกองกำลังทหารพม่าอย่างดุเดือดอยู่นั้น ผู้หญิงทุกวัยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง ซึ่งรวมไปถึงการข่มขืนและการละเมิดทางเพศ หากถูกทหารพม่าจับได้

 

ปัจจุบัน ผ่านไปเกือบปีแล้วที่รัฐบาลพม่าได้ลงนามหยุดยิงกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างโดยรัฐบาลพม่าชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่งแล้วก็ตาม แต่สื่อในประเทศก็เปิดเผยว่า เท่าที่เห็นในความเป็นจริงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

ในรัฐฉาน รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยได้รับความสนใจจากนานาชาติหลังจากกลุ่มผู้หญิงได้ออกรายงานเกี่ยวกับการข่มขืนอย่างเป็นระบบโดยทหารพม่า ซึ่งในวันนี้ผู้หญิงในพื้นที่ออกมาเผยว่า พวกเธอยังคงมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวเช่นเดิม

 

"ชาวบ้านและผู้หญิงยังคงร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศโดยกองทัพพม่า" จ๋ามตอง ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรเครือข่ายปฏิบัติการสตรีไปไหญ่ (SWAN)กล่าวกับสำนักข่าวอิรวดี หลังกลับจากการเดินทางลงพื้นที่ในพม่าครั้งล่าสุด

 

รัฐบาลพม่าตกลงหยุดยิงกับกองกำลังไทไหญ่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังมีรายงานการปะทะกันประปรายมากกว่าสิบครั้งในช่วงหลายเดือนหลังจากนั้น และพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีการเพิ่มกำลังพลเข้าไปประจำการจำนวนมากจนถึงทุกวันนี้

 

"แม้ว่าจะมีการลงนามหยุดยิงแล้ว แต่ยังมีการสู้รบกันอยู่" แม่บ้านคนหนึ่งในเมืองทางตอนเหนือของน้ำตู้ บอกกับสำนักข่าวอิรวดี โดยไม่เปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัย "เมื่อมีการสู้รบเกิดขึ้นชาวบ้านจะหนีออกจากหมู่บ้านจะหนีเข้าไปในป่า การข่มขืนยังคงเกิดขึ้นอยู่"

 

 

การเพิ่มกำลังพลอย่างต่อเนื่อง

 

กองทัพรัฐบาลพม่าเริ่มเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่รัฐฉานตั้งแต่ช่วงปี 1950 เนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองและเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเปด็จการทหารชุดก่อน ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจให้กับประธานาธิบดีเต็งเส่งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว รัฐบาลเผด็จการได้ใช้มาตรการโจมตีโดยมีเป้าหมายคือประชาชน ป้องกันไม่ให้เข้าไปร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

 

องค์กร SWAN ซึ่งเป็นเครือข่ายสตรีไทใหญ่ในพม่าและประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อต่อกรกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก โดยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หลังจากออกรายงานฉบับหนึ่งที่เผยให้เห็นว่า กองทัพรัฐบาลพม่าใช้การละเมิดทางเพศเป็นเครื่องมือในการโจมตีชนกลุ่มน้อย คุกคามประชาชน

 

รายงานเรื่อง "License to Rape(ใบอนุญาตข่มขืน)" ที่ SWAN ได้จัดทำร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ได้ระบุถึงการข่มขืนและการละเมิดทางเพศ 173 กรณีต่อผู้หญิงและเด็กมากกว่า 600 คน โดยน้ำมือของทหารของกองทัพรัฐบาลพม่าในช่วงปี 1996 ถึง 2001

 

ในรายงานยังระบุว่า ไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าที่กระทำการข่มขืน ซึ่ง 83 เปอร์เซ็นต์ของการข่มขืนที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่กองทัพ และทั้ง 173กรณีที่เกิดขึ้น มีเพียงกรณีเดียวที่ผู้ก่อเหตุถูกลงโทษจากผู้บัญชาการ

 

 

หนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า ได้กล่าวหารายงานดัวกล่าวว่าเป็นการกุเรื่องขึ้นมา

 

ตั้งแต่ปี 2002 SWAN ได้รับการร้องเรียนเรื่องการข่มขืนโดยทหารพม่ามากกว่า 300 ครั้ง และส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากขึ้นเนื่องจากมีผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคนถูกรุมข่มขืนในคราวเดียว จ๋ามตองกล่าว

 

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมในปีนี้ หลังจากรัฐบาลพม่าได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงกับกองกำลังไทใหญ่ SWAN ก็ยังได้รับการร้องเรียนเรื่องการข่มขืนมากกว่า 10 กรณี รวมถึง 2 กรณีที่ได้รับการร้องเรียนในช่วงที่เดินทางไปย่างกุ้งเป็นเวลา 3 วันเมื่อเดือนที่แล้วด้วย

 

ทว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้น ยังน้อยกว่าความเป็นจริงมาก

"บางกรณีเจ้าหน้าที่ได้ใช้เงินปิดปากชาวบ้านในกรณีที่เกิดการละเมิดทางเพศ เพื่อให้เรื่องเงียบไป"

 

หญิงหาญฟ้า อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SWAN กล่าวว่า การกลัวว่าจะกลายเป็นตราบาปในสังคมทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะปิดปากเงียบ และกลัวว่าการออกมาต่อสู้จะถูกกองทัพพม่าเล่นงาน

 

เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งจาก SWAN ในประเทศไทยได้เดินทางไปใน 11 เมืองในรัฐฉานในเดือนนี้และได้บันทึกถึงการสู้รบที่เกิดขึ้น "กองทัพพ่มามีอยู่ทุกที่ ทุกตำบล" หญิงหาญฟ้า กล่าว

 

นอกจากจะสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยแล้ว ทหารพม่ายังถูกส่งมาเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันฉ่วย ที่สนับสนุนโดยจีน อีกด้วย โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างท่อก๊าซเพื่อส่งน้ำมันจากแหล่งนอกชายฝั่งพม่าในอ่าวเบงกอลข้ามชายแดนรัฐฉานไปยังมณฑลยูนนานของจีน

 

จ๋ามตองกล่าวว่า ในช่วงที่เดินทางไปที่สีป้อ รัฐฉานซึ่งท่อก๊าซพาดผ่าน ประชาชนบางส่วนได้แสดงความกังวลว่า การเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นอาจหมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ระหว่างทำพิธีสวดมนต์ร่วมกับชาวนา พระสงฆ์ และผู้ร่างกฎหมาย มากกว่า 300 คนในการประท้วงการก่อสร้างท่อก๊าซ ผู้หญิงที่เป็นแม่คนหนึ่งบอกกับ SWAN ว่า เธอเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกสาวมาก กลัวว่าลูกจะถูกคุกคามหากกำลังทหารพม่าที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นเพื่อดูแลท่อก๊าซมาถึง

 

"ชุมชนต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว" จ๋ามตองกล่าวและระบุว่า โดยเฉพาะชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ที่เพื่อใช้สำหรับโครงการท่อก๊าซมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงมาก

 

เธอกล่าวว่า SWAN ได้พบกับผู้หญิงจากรัฐคะฉิ่น ซึ่งมีรายงานว่าถูกละเมิดทางเพศเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน ทั้งนี้รัฐคะฉิ่น ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า มีการสู้รบกันอย่างหนักหลังจากกองทัพรัฐบาลพม่าเปิดฉากจู่โจม ฉีกสัญญาหยุดยิงเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1 แสนคนแล้ว

 

 

พื้นที่น้อยๆ สำหรับเสียงเล็กๆ

 

ในขณะที่พม่าในการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยปกครองโดยรัฐบาลทหาร SWAN กล่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติจากรัฐฉานได้พยายามพูดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสภา

 

"แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะออกเสียงในสภาแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก" จ๋ามตองกล่าว ชนกลุ่มน้อยไม่มีเสียงมากพอในสภา เพราะ 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งถูกกันไว้ให้เจ้าหน้าที่ในกองทัพโดยการแต่งตั้ง

 

จายทูเรงอู สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติรัฐฉาน (SNDP) กล่าวว่า ผู้ร่างกฎหมายที่พยายามจะพูดถึงเรื่องการละเมิดทางเพศในอดีตถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องการโจมตีรัฐบาล

 

เขากล่าวว่า แล้วสมาชิกสภานิติบัญญัติจากรัฐฉานไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวในสภาได้ในปีนี้เนื่องจากยังมีการสู้รบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

"เราไม่สามารหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนดังกล่าวขึ้นมาถกในสภาได้เพราะเป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปในพื้นที่ทีมีการสู้รบที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น" จึงยากที่จะติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ได้ เขากล่าว

 

"เราไม่สามารถพูดได้ว่าในรัฐฉานมีความสงบอย่างเต็มที่ เพราะยังมีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่" เขากล่าวว่า ยังคงมีรายงานถึงการบังคับใช้แรงงาน การข่มขืน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แนวหน้า

 

 

รัฐมนตรีอ่องมิน หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพจากรัฐบาลพม่าได้กล่าวโจมตี SWAN ถึงรายงาน License to Rape ที่ออกเมื่อปี 200 ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ RFA ไว้ว่า "รายงาน License to Rape เป็นรายงานที่เขียนขึ้นมาจากการฟังความข้างเดียว ตอนนี้พวกเขากำลังฟังความจากทั้งสองฝ่าย ผมหวังว่าพวกเขาจะได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ"

 

ทั้งนี้ จ๋ามตองกล่าวว่า ประชาชนในรัฐฉานจำนวนมากต่อต้านคำกล่าวของรัฐมนตรีอ่องมินดังกล่าว

"ตอนที่ประชาชนของเราได้ฟังคำกล่าวของเขา ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ที่รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ และทุกข์ทรมานจากการถูกละเมิดดังกล่าว จึงรู้สึกไม่พอใจ"

 

"มันเป็นสิ่งที่น่าอดสูมากที่จะพูดอย่างนี้กับประชาชนของเรา เพราะเขากำลังพูดถึงเลือดเนื้อ น้ำตา และชีวิตของพวกเขา"

 

จ๋ามตองได้พยายามผลักดันให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับสมาชิกสภาของรัฐฉาน รวมถึงการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่รัฐฉานด้วย

 

"ในขั้นตอนแรก ต้องยุติการเสริมกำลังทหารเข้าไปประจำการในพื้นที่  หากยังมีการสู้รบเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น"

 

เธอยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีเอาผิดกับทหารผู้ที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

 

"ผู้ที่ลงมือข่มขืนควรจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องง่ายๆ ที่รัฐบาลพม่าสามารถทำเพื่อประชาชนได้"

 

 

เรียบเรียงจาก บทความ Despite Ceasefire, Sexual Violence Continues in Shan State: Women’s Group โดย  SAMANTHA MICHAELS / THE IRRAWADDY|22 ธันวาคม 2555

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น