วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เยือนปากแม่น้ำอิรวดี สี่ปีหลังนาร์กิส

ทุกวันนี้ สิ่งที่รัฐบาลพม่ารับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลนพัดถล่มพื้นที่ปากแม่น้ำอิรวดีเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2008 ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนแต่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ยังคงเป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลง

มันเป็นภัยธรรมชาติครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของพม่า คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 140,000 คน และอีกกว่า 3 ล้านคนต้องการความช่วยเหลืออย่างแร่งด่วน

 

แต่รัฐบาลพม่ากลับปฏิเสธไม่ออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ขอรับเป็นเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนองค์กรในประเทศมากกว่า  ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์เพื่อกดดันทางการทูตให้รัฐบาลพม่ายอมรับการเข้าไปช่วยเหลือจากนานาชาติ

 

ทั้งนี้ความหวาดระแวงในความตั้งใจที่แท้จริงของ ชุมชนนานาชาติที่ลอยแพรัฐบาลทหารด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาตนเองมาเป็นเวลานาน และไม่กล้าที่จะปล่อยให้ชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ปากแม่น้ำ ซึ่งมีการต่อต้านรัฐบาลพม่ามานาน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลทหารลังเลในการยอมรับความช่วยเหลือดังกล่าว

 

พัดหายไปกับสายน้ำ

 

แม้กระทั่งทุกวันนี้ คนภายนอกที่ต้องการเข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดจากไซโคลนนาร์กิสบริเวณปากแม่น้ำยังคงต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ

 

มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบากไปตามถนนที่เสียหาย ผ่านที่ราบสีเขียวที่ชุ่มน้ำ ต่อด้วยการล่องเรือไปตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดีที่กว้างใหญ่

 

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในกลุ่มนักข่าวที่เดินทางไปยังเมืองปีนมะกูน และมิตโปโจนเส่ง  ที่อยู่ทางตอนใต้ลงไปจากเมืองโบกาเลที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันออกเฉียงใต้ของปากแม่น้ำ

 

ที่นี่คือชุมชนโดดเดี่ยวที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรศัพท์ มีเทคโนโลยีที่น้อยมาก เกือบทั้งหมดทำนาโดยใช้แรงงานกระบือน้ำและแรงงานคน  และพายุไซโคลนได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขามี

 

"ลมพัดแรงมาก มันพัดบ้านของผมพังเป็นเสี่ยงๆ" หม่องละ ชาวนาวัย 52 ปีย้อนถึงเหตุการณ์ในวันนั้นที่เกิดขึ้นใน ปีนมะกูน ที่ซึ่งผู้คนกว่าหนึ่งในสามเสียชีวิต

 

"ภรรยาของผมถูกพัดไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ผมไม่ได้เจอเธออีกเลย ควายของผมทั้งหมดและข้าวของผมเสียหายทั้งหมด"

 

เขาสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปถึง 10 คน เขาเล่าว่า รัฐบาลได้แจกเมล็กพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกแต่คุณภาพแย่มากจึงได้ผลผลิตน้อย

 

ปีต่อมาหลังจากน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ครั้งนั้น เป็นการช่วยชะล้างน้ำเค็มออกจากดิน แต่จากนั้นก็มีหนูมาก่อกวนเพราะศัตรูของพวกมันตามธรรมชาติถูกพายุทำลายไปจำนวนมาก

 

หม่องละมีที่ดิน 12 เอเคอร์ แต่ความเป็นเจ้าของไม่เคยมีความชัดเจนหลังจากรัฐบาลทหารได้ยึดที่ดินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐในช่วงปี 1960

 

"สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ได้เป็นจริงอย่างนั้นก็ได้ ในพื้นที่ปากแม่น้ำแห่งนี้" แอนดรู เคิร์กวูด เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือจาก LIFT ซึ่งเป็นกองทุนที่น่าเชื่อถือได้โครงการหนึ่ง ที่ให้เงินสนับสนุนองค์กรเอ็นจีโอ

 

"โดยเฉพาะตอนนี้ มันเขียวขจีมาก มีข้าวที่รอเก็บเกี่ยวอยู่มากมาย แต่ต้องจำไว้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านที่นี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หลายคนมีชีวิตอยู่ที่ยิ่งกว่ายากจนเสียอีก"

 

จุดเปลี่ยน
ผลของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบวกกับความเกลียดกลัวคนต่างชาติของรัฐบาลทหารส่งผลให้พม่าได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศน้อยมาก คิดเป็นจำนวนเงินต่อหัวแค่หนึ่งในสิบที่ประเทศลาวมีรัฐบาลเผด็จการเหมือนกัน ได้รับ

 

จนกระทั่งปัจจุบัน มีองค์กรเอ็นจีโอและหน่วยงานจากสหประชาชาติเพียง 60 หน่วยงานเท่านั้นที่เข้าไปทำงานในพม่า ขณะที่ธนาคารโลกไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ในพม่า ความยากจนอย่างแสนสาหัสจึงเป็นเสมือนบาดแผลที่เกิดจากการปกครองของรัฐบาลทหารที่ยาวนานถึงห้าสิบปี

 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาได้ทำให้บรรยากาศของการช่วยเหลือเปลี่ยนไปจากเดิม ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรถูกระงับไป แหล่งทุนรายใหญ่ๆ จากประเทศตะวันตกเสนอได้เริ่มให้ความช่วยเหลือจำนวนมากเป็นครั้งแรกในรอบกว่าศตวรรษ

 

สหภาพยุโรปหรือ EUได้มอบเงินช่วยเหลือ 150 ล้านยูโร ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่เคยช่วยเหลือพม่ามากกว่าเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา แต่พายุไซโคลนส่งผลกระทบอย่างมากเช่นกัน

 

"ไซโคลนนาร์กิสถือเป็นจุดเปลี่ยน" แอนเดรีย สิสต์ หัวหน้า EU สำนักงานย่างกุ้ง กล่าว "หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลพม่ารู้ตัวว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติ"
แอนดรู เคิร์กวูดเชื่อว่าไซโคลนส่งผลมากกว่านั้น โดยเชื่อว่าความตื่นตระหนกจากไซโคลนช่วยโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารยอมรับการเปลี่ยนแปลง

 

"โดยส่วนตัวผมเชื่อวว่าเหตุการณ์พายุไซโคลนและความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาส่งผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันช่วยให้เกิดการสร้างความเชื่อใจระหว่างนานาชาติกับรัฐบาลทหาร"

 

ไล่ตาม

 

โครงการที่เราเห็นในพื้นที่ปากแม่น้ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก EU และได้รับความร่วมมือจาก LIFT นั้นไม่ใช่โครงการใหญ่โตแต่ตรงกับความต้องการของหมู่บ้านทั้งสองแห่งที่กำลังฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดจากไซโคลน

 

ในเมือง ปีนมะกูน พวกเขากำลังทดลองปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ โดยดูว่าชนิดไหนจะให้ผลผลิตมากที่สุดในพื้นที่ที่ดินเค็มเป็นบางช่วง ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพที่ชาวนาได้รับแจกในอดีตทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

 

"มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องต่อสู้ นั่นก็คือเรื่องการตลาด" อูละมิน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูกข้าวที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ กล่าว

 

เนื่องจากการคมนาคมสื่อสารที่ย่ำแย่ ในอดีตชาวนาจึงจำเป็นต้องขายข้าวให้กับพ่อค้าข้าวที่เดินทางเข้ามาซื้อถึงที่ตามราคาที่พ่อค้าเสนอมา ซึ่งส่วนใหญ่จะต่ำกว่าราคาตลาด
ปัจจุบันมีความช่วยเหลือจากภายนอกเข้ามา มีการจัดตั้งเครือข่ายโดยใช้อัตราราคาข้าวล่าสุดในตลาดในเมืองอย่างโบกาเล ทำให้สามารถเรียกร้องให้ขายข้าวได้ราคาที่สูงขึ้น

 

เราได้ไปดูชาวบ้านที่ทำเตาถ่านจากดินเหนียวที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถลดปริมาณฟืนลงได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสร้างความแตกต่างได้อย่างมากเมื่อเชื้อเพลิงเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญของครัวเรือน ลดการตัดไม้โกงกางที่เป็นเสมือนปราการป้องกันพายุตามธรรมชาติอีกด้วย

สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับหมู่บ้านสองแห่งนี้คือพวกเขาแทบไม่มีอะไร ความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับเป็นสิ่งที่ชุมชนยากจนทั่วโลกได้รับมาหลายสิบปีแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวพม่ามีโอกาสได้ไล่ตามเสียที

 

 

 

 

เรียบเรียงจาก Rebuilding Burma's cyclone-hit Irrawaddy Delta By Jonathan Head โดย BBC News
21 ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น