วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาชีพค้าบริการในพม่ายุคประชาธิปไตย

หลังจากพ่อเสียชีวิต ครอบครัวของ ตูตู ก็ตกอยู่ในสภาพที่สิ้นไร้ไม้ตอก และกำลังจะเสียบ้านไป เธอบอกกับแม่ว่า เธอได้งานดีๆ งานหนึ่งใกล้ชายแดนไทย-พม่า และสัญญาว่าจะส่งเงินมาให้ โดยมีอาชีพเป็นหญิงขายบริการ

"ฉันยังอยู่ในเมืองนี้ แต่ไม่ออกไปไหนในเวลากลางวันเพราะกลัวว่าจะมีคนเห็นฉันแล้วไปบอกแม่" เธอบอก "ฉันรู้สึกอับอาย"

 

ในแต่ละคืนจะมีรถแท็กซี่มารับเธอไปยังไนต์คลับสักแห่งหนึ่งในตัวเมืองย่างกุ้ง เพื่อหาลูกค้าท่ามกลางธุรกิจการค้าบริการที่กำลังบูมในขณะนี้

 

มีการคาดการณ์ว่า ในย่างกุ้งมีผู้ค้าบริการมากกว่า 10,000 คน ่ส่วนใหญ่อยู่ตามร้านคาราโอเกะ ไนต์คลับ และเกสต์เฮาส์เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับการปกป้องตามกฎหมาย จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำ โดยเฉพาะจากฝีมือของเจ้าเจ้าหน้าที่

 

"เราจะได้เงินแค่หนึ่งในสามของรายได้ ที่เหลือเราต้องจ่ายให้กับตำรวจ" โมโม หญิงค้าบริการในย่างกุ้ง เผย

 

"ตอนนี้พวกเราไม่อยากที่จะเจอกับพวกเขา พวกเขาต้องการเงินมาก บางครั้งถึงกับนั่งรอที่ชั้นล่างของเกสต์เฮาส์เลยก็มี พวกเขาจะค้นกระเป๋าเรา และเราต้องซื้อเบียร์หรืออะไรประมาณนี้ให้เขา"

 

ผู้ค้าบริการบางรายเลือกที่จะให้คนกลางอย่าง แม่เล้าหรือพ่อเล่า ในการรับมือกับตำรวจ แต่ก็ไม่ใช่สำหรับเหล่าผู้ค้าบริการที่เป็นกระเทยเพศที่สามเพราะถือว่าผิดกฎหมาย พวกเขาจึงต้องพบเจอกับชะตากรรมที่เลวร้ายกว่า

 

ใครที่ปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หรือไม่มีเงินจ่ายจะถูกจับกุมและถูกคุมขังในคุก หรือบางครั้งในศูนย์คุมประพฤติ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม ในขณะที่การขายบริการเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การซื้อบริการกลับไม่มีความผิด ทำให้ผู้ขายบริการตกอยู่ภายใต้อำนาจของลูกค้า จึงเกิดการข่มขืนและกระทำชำเราอยู่ทุกวี่วัน

 

"เนื่องจากลูกค้ารู้ว่าการขายบริการผิดกฎหมาย พากเขาจะทำรุนแรงกับเราหรือไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย เราก็ไม่สามารถขัดใจได้" ตูตู กล่าว

 

ที่แย่ไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมักใช้ถุกยางอนามัยเป็นหลักฐานในการจับกุม ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกรัฐบาลห้ามเมื่อปี 2011 แล้วก็ตาม จึงไม่แปลกใจที่พม่าจะเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย โดยมีผู้ขายบริการติดเชื้อเอชไอวีถึงหนึ่งในสาม

 

นักรณรงค์ได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการลดความเสี่ยงแทนที่การห้ามมาเป็นเวลานานแล้ว จากรายงานของ UNDP เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า การกำหนดให้อาชีพขายบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการให้การรักษาให้ได้ประสิทธิผล

 

"สิ่งที่รายงายแสดงให้เห็นก็คือ การยกเลิกเอาผิดตามกฎหมายต่อผู้ค้าบริการ จะทำให้โครงการการป้องกันและรักษาเอชไอวีสามารถเข้าถึงผู้ค้าบริการและลูกค้าได้"มาร์ทา วาเลโจ เมสเทรส จาก UNDP กล่าว

 

ด้านรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่งจัดสรรงบประมาณกว่า 170 ล้านเพื่อช่วยเหลือพัฒนาพม่า ยังคงบังคับให้การให้ทุนที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีหรือการค้ามนุษย์ต้องรับรองว่าจะต่อต้านการค้าประเวณี หรือเรียกว่า อนุสัญญาต่อต้านการค้าประเวณี  นั่นหมายความว่า องค์กรไหนที่ปฏิเสธที่จะต่อต้านการค้าบริการจะถูกตัดออก แม้ว่าองค์กรนั้นจะสามารถเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีก็ตาม

 

อนุสัญญาต่อต้านการค้าประเวณี ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะนำเอาผู้ค้าบริการที่สมัครใจไปรวมกับการบังคับค้าประเวณี ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าและรัฐบาลสหรัฐได้ประกาศความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันที่นายบารัก โอบามา มาเยือนพม่า โดย USAID ได้สนับสนุนงบประมาณให้ MTV EXIT มาจัดคอนเสิร์ตในย่างกุ้งเป็นก้าวแรกของการร่วมมือของทั้งสองประเทศ

 

แต่รายงานอิสระที่ส่งให้กระทรวงสาธารณะสุขในปี 2005 กลับระบุว่า ผู้ค้าบริการในพม่าส่วนใหญ่ได้เลือกที่ประกอบอาชีพนี้เองเนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น โดยการค้ามนุษย์ไม่ใช่ประเด็นหลัก แม่จะพบว่ามีผู้ค้าบริการที่อายุน้อยจำนวนมากก็ตาม

 

"ตัวเลขของผู้ค้าบริการจากกระบวนการค้ามนุษย์มีจำนวนน้อยกว่าที่รัฐบาลคาด พวกเขาจึงกล่าวหาไปทั่วว่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และจับพวกเขาขังคุกเพื่อเอาใจสหรัฐ" ลิส ฮิลตัน เจ้าหน้าที่รณรงค์จากมูลนิธิ Empower องค์กรช่วยเที่ทำงานกับกลุ่มผู้ค้าบริการในประเทศไทย กล่าว

 

เธอกล่าวว่า แม้ว่าผู้ค้าบริการในประเทศไทยจำนวนมากมาจากพม่า แต่ส่วนใหญ่มาเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ

 

ด้านนักรณรงค์ต่างกล่าวว่า จริงๆ แล้วการกำหนดให้การค้าบริการไม่มีความผิดทางกฎหมายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์จากเยาวชน เพราะจะสามารถเข้าไปควบคุมให้เป็นระเบียบได้ โดยขณะนี้นักรณรงค์ต่างกลัวว่า การที่มีทุนสนับสนุนจากสหรัฐหลั่งไหลเข้ามาในย่างกุ้ง จะยิ่งเป็นการเปิดทางให้มีการกวาดล้างผู้ค้าบริการได้อย่างชอบด้วยกฎหมาย

 

"องค์กรบางองค์กรกำลังใช้นโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อยุติการค้าบริการทุกรูปแบบ ซึ่งองค์กรกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ในพม่าเราไม่ต้องการ" เคธี จากกลุ่มผู้ค้าบริการกล่าว

 

จริงๆ แล้วมันเป็นการแบ่งแยกและการตีตราบาป "คุณอาจจะไม่ชอบ แต่หลายคนก็ไม่มีทางเลือก พวกเขาต้องดูแลครอบครัว พวกเราไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาต่างหาก"

 

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในพม่ามีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ค้าบริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเครือข่ายผู้ค้าบริการในพม่า และองค์กรบริการประชาชนนาชาติ(Populations Services Internation) เป็นสองหน่วยงานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ การป้องกันเอชไอวีและกฎหมายแก่ผู้ค้าบริการ รวมถึงเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมให้กับพวกเขาด้วย  โดยหวังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา จะส่งผลดีต่ออนาคตของผู้ค้าบริการด้วย

 

"สิบปีที่แล้ว เราไม่มีช่องทาที่จะพูดกับรัฐบาลได้เลย แต่ตอนนี้เราทำได้แล้ว มันเป็นโอกาสของพวกเราแล้ว" เคธี กล่าว

 

ลิส ฮิลตัน กล่าวเสริมว่า ผู้ค้าบริการข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของพม่าไม่น้อย และไม่ควรจะถูกละเลย

 

"ผู้ค้าบริการมีส่วนช่วยอย่างมากในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนอกประเทศ พวกเขาส่งเงินกลับบ้านเพื่อสร้างชุมชน ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและโรงเรียนต่างๆ พวกเขาสมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จเช่นกัน และฉันหวังว่ามันจะทำให้มีนโยบายที่ดีและเป็นธรรมต่อผู้ค้าบริการในพม่าด้วย"

 

เรียบเรียงจาก Sex workers clamour for rights in a changing Burma More Sharing ServicesShare
โดย HANNA HINDSTROM สำนักข่าว DVB 24ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น