วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชะตากรรมโรฮิงยา ความขัดแย้งในรัฐอาระกัน

[caption id="attachment_4692" align="alignnone" width="600" caption="ภาพ Eleven Media’s Post"][/caption]

ความพวกเขาถูกตราหน้าว่าเป็นปีศาจบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง ผู้ก่อการร้ายบ้าง และอีกหลายอย่างที่แย่กว่านี้ บรรดากลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาที่มีจำนวนกว่าล้านคนในเอเชียนั้น เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ หลายคนใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในขุมนรก ไม่มีพาสปอร์ต ไม่สามารถเดินทางไปหนมาไหนได้อย่างเสรี และไม่มีที่ใด ที่พวกเขาจะสามารถเรียกว่าบ้านได้

 

เหตุการณ์นองเลือดระหว่างชาวอาระกันและชาวโรฮิงยาที่เกิดขึ้นเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ความเกลียดชังที่มีต่อชาวโรฮิงยานั้นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมานานแล้ว การที่รัฐบาลทหารชุดเก่าถือว่าพวกเขาเป็นคนต่างด้าวตั้งแต่ในอดีต ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟความขัดแย้งให้ฝังลึกลงไปอีก

 

“ผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้หากจะบอกว่า เรากำลังกวาดล้างพวกโรฮิงยาให้หมดไป” Debbie Stothard นักเคลื่อนไหวจากองค์กร Alternative Asean Network on Burma กล่าวถึงคอมเม้นท์ต่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวในอินเทอร์เน็ตขณะนี้

 

รัฐบาลพม่าถือว่าชาวโรฮิงยาเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าครอบครัวของพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลบังกลาเทศเช่นกัน

 

“นี่คือเรื่องเศร้าของการเป็นคนไร้รัฐ” Chris Lewa จากองค์กร Arakan Project ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยาทั่วโลกกล่าว “ในพม่า พวกเขาเป็นคนผิดกฎหมายที่ต้องถูกส่งตัวกลับบังกลาเทศ ในบังกลาเทศ พวกเขาคือประชาชนพม่าที่ควรจะกลับบ้าน พวกเขาจึงต้องตกอยู่ระหว่างทั้งสองฝ่าย ถูกกดขี่มาเป็นเวลายาวนาน สถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ”

 

และที่น่าเจ็บปวดก็คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชายฝั่งของบังกลาเทศห้ามไม่ให้เรือที่ชาวโรฮิงยาโดยสารมาเพื่อหนีตายจากเหตุการณ์นองเลือดในรัฐอาระกันขึ้นฝั่ง ในเรือมีทั้งเด็กและผู้หญิง ซึ่งทางการบังกลาเทศให้เรียกร้องให้องค์กรนานาชาติเข้ามารับไปให้การช่วยเหลือ โดยอ้างว่า ไม่สามารถช่วยเหลือได้เนื่องจากเป็นประเทศยากจนไม่มีทรัพยาการเพียงพอ ดูแลไม่ไหว

 

มีบางคนที่เจ้าหน้าที่ให้ผ่านไปได้ ในจำนวนนั้นเป็นทารกวัยหนึ่งเดือนที่ถูกทิ้งไว้บนเรือ หลังจากที่ผู้โดยสารบนเรือพยายามหลบหนีเจ้าหน้าที่ชายแดน ส่วนที่เหลือเป็นชาวโรฮิงยาจำนวน 3 คนที่ถูกยิงมาและถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองจิตตะกอง รวมทั้งผู้เสียชีวิตอีกหนึ่งคน

 

เหตุการณ์ปะทะกันในรัฐอาระกันในครั้งนี้ ส่งผลทำให้มีบ้านเรือนถูกเผาทำลายไปมากกว่า 2,500 หลัง มีผู้พลัดถิ่นกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งสาเหตุเกิดจาก กลุ่มชายชาวอาระกันจำนวนหนึ่งได้รุมทำร้ายชาวโรฮิงยาที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับคดีฆ่าข่มขืนหญิงชาวอาระกันวัย 27 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ในวันพฤหัสที่ผ่านมา มีรายงานว่าเหตุการณ์สงบลงแล้ว “แต่สำหรับชาวโรฮิงยาที่อาศัยอยู่ที่นี่ รู้สึกว่าเหมือนติดอยู่ในกล่อง พวกเขาถูกล้อมรอบไปด้วยฝ่ายตรงข้าม ที่ไฟแห่งความโกรธแค้นกำลังลุกโชน” Phil Robertson จาก Human Rights Watch กล่าว

 

ปัญหาความขัดแย้งมีมายาวนานแล้ว ความขุ่นเคืองที่มีต่อชาวโรฮิงยานั้นฝังรากลึกและเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทั้งความหวาดกลัวว่าชาวโรมุสลิมจะรุกลำเข้ามาแย่งชิงดินแดนของชาวพุทธ ความแตกต่างทางกายภาพของชาวโรฮิงยากับชาวพม่า รวมทั้งรัฐบาลในอดีตที่พยายามวาดภาพว่าพวกเขาคือคนต่างด้าว

 

ข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศ กับแล้วผู้คนดูเหมือนจะใจกว้างมากกว่า แต่ชาวโรฮิงยาก็ใช่ว่าจะได้รับการต้อนรับ เพราะจำนวนประชากรในบังกลาเทศหนาแน่นเกินไป มีแต่จะสร้างปัญหาการแย่งงานและทรัยพากร

 

ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า พม่าเป็นประเทศที่มีชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่มากที่สุด จำนวน 8 แสนคน อยู่ในบังกลาเทศ 250,000 คน และอีกหลายหมื่นคนกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะตะวันออกกลาง

 

องค์กร Human Rights Watch และองค์กรให้การช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆ ระบุว่า ชาวโรฮิงยาต้องเผชิญกับการแบ่งแยกอยู่ตลอดเวลา ในพม่า พวกเขาถูกบังคับใช้แรงงานโดยกองทัพ ซึ่งหากอยู่ในพื้นที่เดียวกัน กองทัพมักจะไม่เลือกชาวอาระกัน แต่จะเลือกชาวโรฮิงยามากกว่า

 

ชาวโรฮิงยาจะต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนที่จะเกิดทางออกจากหมู่บ้าน หรือแม้แต่แต่งงานก็ต้องขออนุญาต นอกจากนี้ ยังถูกจำกัดจำนวนประชากรโดยอนุญาตให้มีลูกได้แค่สองคน

 

ในปี 1978 รัฐบาลทหารพม่าได้ขับไล่ชาวโรฮิงยาจำนวนกว่า 2 แสนคนไปยังบังกลาเทศ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนจากความแร้นแค้น ส่วนที่เหลือต้องหนีกลับมายังประเทศพม่า ทั้งนี้ ในปี 1991 – 1992 ก็มีการขับไล่ชาวโรฮิงยาอีกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงหนีกลับมายังประเทศพม่าเหมือนเดิม

 

ในปร 2009 เรือจำนวน 5 ลำที่มีชาวโรฮิงยาโดยสารมาถูกเจ้าหน้าที่ไทยสกัดไว้ได้ ซึ่งในครั้งนั้น กลุ่มสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ชาวโรฮิงยาถูกกักตัวและทำร้ายทุบดี จากนั้นก็ผลักดันออกทะเลทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพที่ยับเยินโดยใช้เรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ และมีน้ำและอาหารเพียงน้อยนิด ทำให้ชาวโรฮิงยาจมน้ำเสียชีวิตหลายร้อยคน

 

ต่อมาในปีเดียวกัน กงสุลพม่าประจำฮ่องกง ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งทูตยูเอ็น ได้อธิบายถึงชาวโรฮิงยาในจดหมายเปิดผนึกถึงคณะทูตว่าเป็น “ปีศาจที่น่าเกลียด” เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสีผิวของชาวโรฮิงยาที่ “ดำคล้ำ” กับผิวของชาวพม่าส่วนใกญ่ที่ “เนียนละเอียด”

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ผู้คนให้ความสนใจกับชะตากรรมของชาวโรฮิงยาอีกครั้งหนึ่ง ชาวพม่าจำนวนมากใช้อินเทอร์เน็ตโจมตีชาวโรฮิงยาว่าเป็นผู้บุกรุก ถึงขนาดเปรียบเทียบกับกลุ่มอัลเกดะ กับกลุ่มตะลีบัน เลยก็มี

 

ในขณะที่ใช้มีการความรุณแรงกันทั้งทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือ “ประชาชนทั้งหมดต่อต้านพวกเขาโดยสิ้นเชิงและอย่างเปิดเผย” จายแล็ต นักเขียนและนักวิเคราะห์สถานการณ์พม่าจาก Canada’s Simon Fraser University กล่าว “เราทราบว่านักวิชาการ นักข่าว นักเขียน บุคคลที่มีชื่อเสียง แม้กระทั่งบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ออกมาให้ความเห็นต่อต้านชาวโรฮิงยากันอย่างเปิดเผย ”

 

เมื่อวันจันทร์ท่านผ่านมา นักแสดงสาวชาวพม่าคนหนึ่งได้โพสต์ข้อความโจมตีชาวโรฮิงยาบนเฟซบุ๊กของเธอว่า “ฉันเกลียดพวกเขา 100 เปอร์เซ็นต์” ปรากฏว่าในวันพฤหัสบดี มีคนมากด “like” ข้อความของเธอถึง 250 คน

 

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาพม่าที่มีชื่อเสียงหลายฉบับได้รายงานเฉพาะใน “มุมของชาวอาระกัน” เท่านั้น ซึ่งหลายคนที่เห็นสื่อต่างชาตินำเสนอข่าวโรฮิงยาถึงกับรับไม่ได้และกล่าวหาว่าสื่อเหล่านั้นได้ข้อมูลมาผิดๆ

 

โกโกจี อดีตนักโทษการเมืองคนสำคัญที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กล่าวว่า ชาวโรฮิงยาไม่ควรถูกทำร้าย แต่ก็ยังยืนยันว่า พวกเขา “ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า” และกล่าวหาว่า เหตุการณ์ในรัฐอาระกันเกิดขึ้นจากคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

 

ด้านนางอองซาน ซูจีได้เลี่ยงที่จะกล่าวโทษฝ่ายใด โดยบอกเพียงว่า ปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขโดยใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม โดยกล่าวว่า หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ความขัดแย้งก็จะดำเนินต่อไป “การแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและระมัดระวัง”

 

วิกฤติการณ์การต่อต้านชาวโรฮิงยาทำให้นางอองซาน ซูจีค่อนข้างตกที่นั่งลำบาก เพราะถ้อยคำที่ออกไปในเชิงประนีประนอมอาจเสี่ยงต่อการเสียคะแนนนิยมในกลุ่มผู้สนับสนุนไปบ้าง หลังจากที่เพิ่งเดินเข้าสภาเพื่อทำหน้าที่ สส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ชาวโรฮิงยาใช้ภาษาเบงกาลีในการสื่อสาร ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับชาวบังกลาเทศทางตอนใต้ ส่วนลักษณะทางกายภาพเหมือนกับชาวบังกลาเทศจนแทบจะแยกไม่ออก ถึงกระนั้น ประวัติศาสตร์ของพวกเขา ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศพม่ามาเป็นเวลายาวนาน กลับเต็มไปด้วยความขมขื่น

 

บางคนก็กล่าวว่า ชาวโรฮิงยาสืบเชื้อสายมาจากชาวอาหรับที่มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 จากนั้นพื้นที่ดังกล่าวถูกครอบครอบโดยชาวพม่าในปี 1784 ต่อมา อังกฤษปกครองอินเดียในช่วงปี 1800 แต่ยังไงพวกเขาก็ยังถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวอยู่ดี ซึ่งความคิดนี้ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ที่ปฏิเสธที่จะจัดให้โรฮิงยาเป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ และผู้คนจำนวนมากก็ยังคงเชื่อว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นแค่คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศเท่านั้น

 

ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ออกมาเตือนว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งอาจกระทบต่อการปฏิรูปประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ ขณะที่องค์กรนานาชาติกล่าวเชิงเสียดสีว่า เสรีภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศหมาดๆ นั่นแหละที่อาจจะเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ความไม่สงบเสียเอง

“อำนาจการจำกัดสิทธิที่อ่อนลงอาจทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงขึ้นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าไฟแค้นในอดีตจะลุกโชนและลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว ”

 

 

 

จาก Arakan Conflict Spurs Hatred for Asia’s Outcasts โดยTODD PITMAN Irrawaddy 15 มิถุนายน 2555

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น