วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Osama เสรีภาพที่ถูกปิดกั้นของหญิงสาวมุสลิม

โดย หมอกเต่หว่า


แม้ว่าโลกยุคปัจจุบัน สิทธิของผู้หญิงในหลายประเทศจะถูกยกระดับให้ทัดเทียมผู้ชายมากขึ้น แต่ทว่า ยังมีผู้หญิงอีกหลายล้านคนในโลกนี้ที่อาจไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึก “สิทธิเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง” สักครั้งในชีวิต   ผู้หญิงซึ่งเป็นเพศแม่ของผู้ชายทุกคนกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ต้อยต่ำกว่า ไม่ควรได้รับสิทธิใด ๆ ทัดเทียมเพศชาย ภาพยนตร์เรื่อง Osama  นับเป็นหนังดีอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกดขี่ผู้หญิงได้เป็นอย่างดี

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศอัฟกานิสถานในช่วงที่กองทัพตาลีบันปกครองประเทศด้วยระบอบ  Holy Law หรือรัฐอิสลามบริสุทธิ์   หนังเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กสาววัย 12 ปีผู้จำใจปลอมตัวเป็นเด็กชายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเป็นทางเลือกทางเดียวที่เธอจะสามารถทำได้เพื่อให้แม่และย่า รวมทั้งตัวเธอไม่ต้องอดตาย แต่ท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเด็กหญิงกลับพบกับจุดจบที่น่าเศร้าเพียงเพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง โดยที่เธอไม่สามารถร้องหาความเป็นธรรมในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับและเขียนบทโดย ซิดเดียร์ มาร์มัก ผู้กำกับชาวอัฟกานิสถานดีกรีปริญญาโทด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยมอสโกซึ่งครั้งหนึ่งเคยต้องลี้ภัยไปอยู่ในปากีสถานเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ภายหลังกองทัพตาลีบันหมดอำนาจเขาจึงเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดอีกครั้งในปี 2545 ว่ากันว่า นักแสดงเด็กตัวหลัก ซึ่งแสดงโดย Marina Golbahari ในเรื่องนี้คัดเลือกจากเด็กชาวอัฟกันที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายในช่วงการปกครองของทหารตาลีบันโดยตรง ภาพยนตร์เรื่อง Osama ออกฉายครั้งแรกในปี 2546 และกวาดรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานน์ ลูกโลกทองคำของอเมริกา ลอนดอนฟิล์มของอังกฤษมาแล้วมาแล้วหลายเวที

หนังเริ่มต้นด้วยฉากการถ่ายภาพยนตร์สารคดีที่มีหญิงชาวอัฟกันจำนวนมากสวมชุดคลุมฮิยาบออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน โดยมีช่างภาพชาวต่างชาติบันทึกเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ทว่า การเรียกร้องของผู้หญิงเหล่านี้กลับไม่เป็นผล เมื่อท้ายสุดทหารตาลีบันสลายการชุมนุมโดยเลือกใช้ความรุนแรง และจับตัวผู้หญิงที่ออกมาประท้วงรวมถึงช่างภาพชาวต่างชาติไปขังคุก ภาพเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆอยู่ในสายตาของเด็กหญิงวัย 12 คนหนึ่ง(นำแสดงโดย Marina Golbahari) และนั่นยิ่งทำให้ภาพของทหารตาลีบันยิ่งน่ากลัวมากขึ้นในสายตาของเธอ

เด็กสาววัย 12 ปีคนนี้(หนังไม่ได้บอกชื่อเรียกเด็กผู้หญิงคนนี้)อาศัยอยู่กับแม่ (Zubaida Sahar) และย่าที่เป็นหญิงม่ายทั้งคู่ โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในกรุงคาร์บูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เธอเสียพ่อไปในสงคราม ดังนั้นภาระหนักอึ้งต่างๆจึงตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของแม่ และแม่ของเธอเองก็กำลังจะกลายเป็นคนไม่มีงานทำในไม่ช้านี้ เพราะโรงพยาบาลที่แม่ของเธอทำงานจะถูกทหารตาลีบันสั่งปิดในไม่ช้า รวมทั้งยังต้องทำตามกฎข้อบังคับที่ไม่อนุญาตให้หญิงม่ายออกไปทำงานนอกบ้าน นั่นหมายถึงในไม่ช้า ครอบครัวของเธอจะต้องอดตาย ในที่สุดย่าและแม่ของเธอตัดสินใจให้เด็กหญิงปลอมตัวเป็นผู้ชาย โดยใช้ชื่อใหม่ว่า โอซาม่า

แม่พาโอซาม่าไปฝากให้ทำงานในร้านขายนมแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของร้านเป็นเพื่อนกับพ่อของเธอ ทุกๆเย็นหลังจากทำงานเสร็จเธอจะกลับบ้านไปพร้อมกับอาหารที่เป็นค่าตอบแทนจากการทำงานไปฝากแม่และย่า แม้โอซาม่าจะภูมิใจที่ทำให้แม่และย่าไม่ต้องอดตาย แต่เธอก็อดกลัวไม่ได้ว่าทหารตาลีบันจะจับได้สักวันหนึ่ง

เหตุการณ์ตื่นเต้นระทึกใจสำหรับโอซาม่าเริ่มต้นขึ้น เมื่อทหารตาลีบันเกณฑ์เด็กชายทั่วทั้งเมืองไปอยู่โรงเรียนสอนศาสนา และฝึกการเตรียมพร้อมเป็นทหารตาลีบัน โอซาม่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกเกณฑ์ไปด้วย ที่นี่ทำให้เธอได้เรียนหนังสือและได้เห็นการใช้ชีวิตของเด็กชายเป็นครั้งแรกที่ดูจะแตกต่างจากเด็กผู้หญิงอย่างเธอสิ้นเชิง  ฉากที่เด็กชายมีอิสรภาพตีลังการเล่นกันอย่างสนุกสนาน ในขณะที่โอซาม่าได้แต่ยืนนิ่งด้วยความไม่คุ้นเคย เพราะเด็กผู้หญิงอย่างเธอไม่เคยได้รับโอกาสเช่นนี้มาก่อน โอซาม่ายังได้รู้จักเพื่อนใหม่ชื่อ เอสเพนดี้  ผู้ที่กุมความลับของโอซาม่าเอาไว้  ในขณะที่เด็กผู้ชายคนอื่นๆมักแกล้งและล้อโอซาม่าว่าอ่อนแอเหมือนเด็กผู้หญิง เอสเพนดี้กลับเป็นคนเดียวที่เห็นใจและช่วยเหลือโอซาม่าอยู่ตลอดเวลา แม้ความอ่อนแอของเพศหญิงที่มีอยู่ในโอซาม่าจะแสดงออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่โอซาม่าก็พยายามแสดงให้เด็กผู้ชายคนอื่นๆเห็นว่าเธอนั้นเป็นเด็กผู้ชายเพื่อรักษาความลับไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ ทั้งการปีนป่ายต้นไม้ให้ทุกคนเห็น หรือแม้แต่การดัดเสียงต่ำให้เหมือนเด็กผู้ชาย

แม้ภายในใจของโอซาม่าจะแบกความหนักอึ้งและความอึดอัดที่ต้องปลอมตัวเป็นชาย ในขณะเดียวกันเมื่อโอซาม่ากลับถึงบ้านกลับเป็นเวลาที่เธอรอคอยด้วยการได้อยู่กับย่าและแม่ เช่นเดียวกับผู้หญิงชาวอัฟกันคนอื่นๆที่จะมีเวลาได้ผ่อนคลายปลดเปลื้องความทุกข์ของตัวเองก็ต่อเมื่อได้รวมกลุ่มพูดคุยกับเพศเดียวกันที่เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นก็ถือเป็นความสุขมากแล้ว ดังเช่นฉากงานแต่งงานที่ผู้หญิงจำนวนมากต่างร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานโดยไม่ให้ทหารตาลีบันรู้

แต่ทว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ กลับไม่ราบรื่น เมื่อวันหนึ่งความลับของโอซาม่าเกิดแตกขึ้นมา เพราะเป็นวันที่เธอมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก ทหารตาลีบันและเด็กชายไล่ต้อนจับตัวโอซาม่าและท้ายที่สุดเธอถูกจับสวมชุดคลุมฮิยาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จองจำโอซาม่าทั้งกายและจิตใจโดยที่เธอไม่มีโอกาสที่จะได้พบหน้าหรือล่ำลาแม่และย่าเป็นครั้งสุดท้าย โอซาม่าถูกจับกุมขังรวมกับผู้หญิงอัฟกันคนอื่น ๆ ที่ทำผิดกฎของทหารตาลีบัน ที่นี่เธอได้เห็นผู้หญิงถูกประหารชีวิตจากการถูกชาวบ้านขว้างปาก้อนหินใส่จนกว่าจะหมดลมหายใจ เช่นเดียวกับที่เธอได้เห็นช่างภาพชาวต่างชาติที่ถูกจับก่อนหน้านี้ถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา

โอซาม่ามีความผิดในข้อหาปลอมตัวเป็นเด็กชาย และต้องโทษประหารชีวิตแม้ว่าเธอจะยังอายุน้อยก็ตาม โดยทหารตาลีบันอ้างว่าเป็นคำตัดสินของพระเจ้า แต่เหมือนโชคจะเข้าข้างโอซาม่าอยู่บ้าง เมื่อมีชายสูงวัยคนหนึ่งขอชีวิตเธอเอาไว้จากทหารตาลีบันจึงทำให้เธอรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ต้องมาเผชิญกับชีวิตที่ตายทั้งเป็น เมื่อชายผู้นั้นกระทำการย่ำยีทั้งร่างกายและจิตใจ สุดท้าย ชีวิตของโอซาม่าก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงอัฟกันคนอื่น ๆ ที่ไม่มีสิทธ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและจบลงอย่างน่าเศร้า

หนังเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า กองทัพตาลีบันนำเอาหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาบิดเบือนและดัดแปลงตามหลักความเชื่อของตัวเอง จนทำให้ผู้หญิงในประเทศนี้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงถูกมองเป็นเพียงเครื่องผลิตลูกไม่ต่างอะไรจากสัตว์ในสายตาของพวกเขา อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดภาพออกมาในสไตล์เงียบๆ นิ่งๆ เวิ้งว้างดูแล้วหดหู่คล้ายเสียงเรียกของผู้หญิงในอัฟกานิสถานที่เงียบหายไปในก้นบึ้งยังไงอย่างงั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานและได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วโลกที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ดีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศใดที่มีรัฐบาลเผด็จการและไม่ได้มาจากความชอบธรรม การกดขี่ผู้หญิงในประเทศนั้นๆจะยิ่งทวีความรุนแรง เหมือนเช่นสถานการณ์ผู้หญิงชนกลุ่มน้อยตามชนบทในพม่าที่พวกเธอถูกเลือกปฏิบัติ ถูกข่มขืน ถูกสังหารโหดเหี้ยมจากทหารพม่า เพียงเพราะว่าเธอต่างเชื้อชาติกับผู้นำประเทศและเป็นศัตรูของกองทัพ เราได้แต่หวังว่า หากในอนาคตประเทศพม่าได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว สิทธิเสรีภาพของผู้หญิงทุกกลุ่มชาติพันธุ์ก็ควรได้รับการยกระดับให้เท่าเทียมกับเพศชายด้วยเช่นกัน 

 

{เผยแพร่ครั้งแแรกในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 53 (พ.ค - มิ.ย. 52)}

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น