วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

A day without a Mexican - ขาดฉัน (แรงงานต่างด้าว) แล้วเธอจะรู้สึก !

โดย หมอกเต่หว่า

คุณเคยคิดไหมว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากตื่นเช้าขึ้นมาแล้วพบว่า แรงงานต่างด้าว  ซึ่งทำงานหนักแลกค่าแรงราคาถูกหายไปจากประเทศไทยในพริบตา  หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังดีใจกับการหายไปของแรงงานเหล่านี้  เราแนะนำให้คุณหาหนังเรื่องนี้มาดูก่อน แล้วคุณอาจเปลี่ยนใจ

หนังเรื่อง A day without a Mexican  เป็นหนังดีอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้เข้าฉายในโรงหนังบ้านเรา  กำกับโดยSergio Arau ผู้กำกับชาวเม็กซิกัน เป็นหนังแนวตลกเสียดสี  สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของแรงงานชาวแม็กซิกัน ชาวสเปน ชาวลาตินที่ลักลอบเข้าไปทำในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐได้อย่างสนุกแบบแสบ ๆ คัน ๆ

หนังเปิดตัวด้วยเหตุการณ์คนอเมริกันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีชายแดนติดกับเม็กซิโกมีท่าทีรังเกียจแรงงานต่างด้าว ด้วยเหตุผลคล้ายกับคนไทย คือ กล่าวหาว่าแรงงานเหล่านี้มาแย่งงานชาวอเมริกา  เป็นต้นเหตุของปัญหาลักเล็กขโมยน้อย เป็นแรงงานเถื่อนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาล ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต่างๆ  ดังนั้น การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวในแคลิฟอร์เนีย จึงดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่แรงงานเหล่านี้ลักลอบเข้าสหรัฐเพียงหวังเพื่อที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่านั้น ดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า สถานการณ์เรื่องแรงงานต่าง ๆ ในสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกกลับไม่ได้แตกต่างจากบ้านเราเท่าใดนัก

แต่แล้วจู่ ๆ เช้าวันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ (สมมติในหนัง) ช็อคคนอเมริกันในรัฐแคลิฟอร์เนีย   เมื่อแรงงานต่างด้าวชาวเม็กซิกันซึ่งมีจำนวนหนึ่งในสามของประชากรในรัฐหายตัวไปอย่างลึกลับ พร้อมกับที่มีกลุ่มควันหนาลอยขึ้นบดบังรอบรัฐแคลิฟอร์เนีย  จนไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ โดยผู้กำกับบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านบทบาทของตัวละครหลัก 4 คน  นั่นคือ  คนแรก Mary Jo Quintana ครูสาวชาวสหรัฐที่แต่งงานกับนักร้องชาวแม็กซิกันจนมีลูกชายและลูกสาวอย่างละหนึ่งคน เธอตื่นขึ้นในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่า สามีที่นอนบนเตียงเดียวกันเมื่อคืนและลูกชายคนโตหายตัวไปอย่างกะทันหัน แม้กระทั่งฟันปลอมยังลืมทิ้งไว้ในห้องน้ำ  คนที่สอง คือ Steven Abercrombie สมาชิกสภาสูงรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีความคิดต่อต้านแรงงานต่างด้าว แต่ก็ยังจ้างแม่บ้านชาวเม็กซิไว้ทำงานบ้านและดูแลลูก ๆ  คนที่สาม คือ Luis Mcclaire เจ้าของไร่ผลไม้ ซึ่งมีความผูกพันกับแรงงานต่างด้าว ทั้งในฐานะลูกจ้างและเพื่อนที่ดี   และ ตัวละครสุดท้าย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง คือ  Lila Rodriguez ผู้สื่อข่าวสาว ซึ่งครอบครัวชาวเม็กซิกันนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม

ผลจากการหายตัวไปอย่างกระทันของแรงงานต่างด้าวทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียเกิดความโกลาหล ภาคธุรกิจทั้งร้านอาหารขาดแคลนพลังงานล้างจานและทำความสะอาด  กิจการก่อสร้างขาดแรงงานตั้งแต่ผสมปูนยันขึ้นหลังคา ภาคเกษตรกรรมขาดคนทำสวน  ภาคอุตสาหกรรมขาดพนักงานทำงานในโรงงานขนาดใหญ่   ภาคเอกชนขาดพนักงานทำความสะอาด แม่น้ำบ้าน พี่เลี้ยงเด็ก  แม้แต่ภาครัฐ ยังขาดพนักงานเก็บขยะ

ผู้กำกับได้นำเสนอภาพความวุ่นวายด้วยอารมณ์ขบขันเชิงเสียดสี เช่น ฉากที่เจ้าของร้านอาหารต้องลงมือล้างจานหรือทำความสะอาดร้านด้วยตนเอง แต่สุดท้ายร้านก็ไปไม่รอด และจำต้องปิดตัวลงเหมือนกับอีกหลายๆร้าน เช่นเดียวกับเจ้าของไร่ผลไม้อย่าง Luis ที่ทำให้เขาต้องขาดทุนอย่างหนัก หลังจากขาดแคลนแรงงานที่จะมาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่ โดยในฉากนี้ มีภาพที่ Luis จ้างคนอเมริกันมาทำงานในไร่ของเขา แต่ดูเหมือนว่าคนอเมริกาส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานหนักทนแดดทนฝนได้  กว่าจะเริ่มเก็บผลผลิตก็ต้องทาครีมกันแดดกันยกใหญ่ แถมยังไม่ตั้งใจทำงานเท่ากับแรงงานต่างด้าว เพราะเก็บมะเขือเทศไปพลางปาเล่นสนุกใส่กันทำให้ผลผลิตในไร่ของเขาเสียหายเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ ยังมีฉากผู้คนในเมืองพากันแย่งซื้อมะเขือเทศและพืชผักที่ขาดตลาด เนื่องจากไม่มีแรงงานเก็บผลผลิตเหล่านี้ หรือแม้แต่ถุงขยะซึ่งล้นถัง ไม่มีใครมาเก็บ  รวมทั้งฉากคุณผู้หญิงของ ส.ส. รัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องลงมือทำงานบ้านด้วยตนเองซึ่งเธอไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต

ฉากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดูแล้วคงรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ อีกฉากหนึ่ง คือ ฉากเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณชายแดนแคลิฟอร์เนีย-เม็กซิโกว่างงาน เนื่องจากไม่มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้จับเหมือนทุกวัน  ถึงขนาดเล่นกระโดดเชือกอยู่ในโรงพักกันเลยทีเดียว   ความโกลาหลที่เกิดขึ้นทำให้นาย Steven ส.ส. ต้องรีบออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินและระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานเข้ามาแก้วิกฤตินี้โดยเร่งด่วน

โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างสันนิษฐานถึงสาเหตุการหายตัวแตกต่างกันไป  ข้อสันนิษฐานที่เรียกเสียงหัวเราะได้มากก็คือ ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งเปิดประเด็นว่า ชาวเม็กซิกันทั้งหมดถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป  เพราะหากสังเกตคำที่รัฐบาลใช้เรียกแรงงานเหล่านี้ว่า “เอเลี่ยน” (Alien) ซึ่งมีความหมายเหมือนกับที่ใช้เรียกมนุษย์ต่างดาว    นอกจากนี้ นักวิชาการด้านแรงงานบางคนเชื่อว่า แรงงานเหล่านี้อาจท้อใจที่ถูกคนอเมริกันดูถูกและรังเกียจจึงพากันหนีไป   หลังจากนั้นชาวอเมริกันที่เริ่มเดือดร้อนกับการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและครอบครัวที่แต่งงานกับชาวเม็กซิกัน จึงเริ่มออกมาทำพิธีทางไสยศาสตร์ จุดเทียน สวดมนต์ภาวนาให้คนที่หายตัวไปทั้งหมดกลับคืนมา  แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นผล

นั้นทุกคนก็เริ่มมุ่งความสนใจไปที่ Lila Rodriguez  นักข่าวสาวจากครอบครัวชาวเม็กซิกันคนเดียวที่ไม่หายตัวไป  โดยมุ่งหวังให้เธอเป็นสื่อทางจิตวิญญาณไปพบกับชาวเม็กซิกันที่หายตัวไปอย่างลึกลับ  ตอนแรกไม่มีใครรู้ว่าเพราะเหตุใด เธอจึงไม่หายตัวไปเหมือนกับชาวเม็กซิกันคนอื่น ๆ  จนกระทั่งญาติสนิทมากระซิบบอกเธอว่า เป็นเพราะถูกไม่ใช่สายเลือดแท้ ๆ ของชาวเม็กซิกันและเป็นเพียงบุตรบุญธรรมเท่านั้น  ฉากนี้ได้สร้างความประทับใจให้คนดูจนน้ำตาไหลเมื่อหญิงสาวพูดว่า ถึงแม้เธอจะไม่ใช่สายเลือดของชาวเม็กซิกัน แต่หัวใจของเธอก็เป็นเม็กซิกัน เพราะคนที่สอนให้เธอพูดเป็นคำแรกคือพ่อแม่ที่แท้จริงของเธอ  หลังจากสิ้นประโยคนี้  Lila ก็หายตัววับไปทันที  ทำให้ชาวอเมริกันขาดบุคคลซึ่งเคยเชื่อว่าจะเป็นทูตติดต่อสื่อสารกับชาวเม็กซิกันที่หายไป

ในที่สุด ชาวอเมริกันในรัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มตระหนักและสำนึกได้แล้วว่า พวกเขาไม่อาจขาดแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กับรัฐแคลิฟอร์เนีย   พร้อมๆกับกระแสเรียกร้องให้แรงงานต่างด้าวกลับคืนมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีภาพฉากที่ประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้แรงงานกลับคืนมา จนกระทั่ง ส.ส. ประจำรัฐต้องออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ชาวแคลิฟอร์เนียต้องการให้แรงงานชาวเม็กซิกันกลับคืนมา  รุ่งเช้าหลังจากนั้น ทุกคนจึงตื่นขึ้นมาและได้พบกับชาวเม็กซิกันที่หายตัวไปอีกครั้ง

คนอเมริกันต่างดีใจแห่ต้อนรับการกลับมาของแรงงานชาวเม็กซิกันอีกครั้ง โดยมีภาพฉากที่ตำรวจวิ่งกระโดดเข้าสวมกอดแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีข้ามชายแดนมา  รวมทั้งภาพที่นาย Steven ส.ส.แคลิฟอร์เนียเป็นมิตรกับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้เป็นความฝันที่แรงงานต่างด้าวทั่วโลกอยากให้เป็นความจริงก็ว่าได้  เพราะไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวของประเทศไหน ล้วนถูกมองในเชิงลบเพียงอย่างเดียวจากเจ้าของประเทศนั้น ๆ ร่ำไป  ทั้ง ๆ ที่ข้อดีของแรงงานเหล่านี้ก็มีไม่ใช่น้อย  สำหรับประเทศไทยเองอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วน หากขาดแรงงานเหล่านี้ไป เราก็คงได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากในภาพยนตร์เรื่องนี้  แต่ทุกวันนี้ภาครัฐและเราเองยังมองแรงงานเหล่านี้เพียงด้านเดียว  โดยมองว่าคนเหล่านี้เป็นตัวสร้างปัญหา ทำให้ภาครัฐและคนไทยบางส่วนแสดงออกและปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างผิดๆ จนลืมไปว่าเขาก็เป็นเพียงมนุษย์เหมือนเรา

ถ้าเพียงแต่เราจะเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดซักนิด โดยมองว่าเขาพึ่งเราและเราก็พึ่งเขา คงจะทำให้โลกที่มีแต่การแบ่งแยกทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรมน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น