วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าส้มจะหวาน

โดย วรวรรษ รักวงษ์
ส้มผิวมันวาวหลายสิบลูกเกาะขั้วอยู่บนกิ่งก้านสาขาของต้นส้มสูงที่ท่วมหัวเรียงรายเป็นแนวยาวทอดไปตามเนินเขา แดดที่ลอดผ่านช่องว่างระหว่างใบสะท้อนให้ผิวส้มกลายเป็นสีทองไปทั้งสวน ใบสีเขียวเข้มยิ่งขับให้ผลส้มเหล่านั้นดูเด่นยิ่งขึ้น ชื่อเสียงของส้มอำเภอฝางที่เคยได้ยินมาทำให้เดาได้ว่า เนื้อในคงหวานฉ่ำแก้กระหายและสร้างความสดชื่นได้เป็นอย่างดี กลิ่นหอมเฉพาะตัวของเปลือกส้มยั่วน้ำลายจนอดใจไม่ไหว อยากจะแกะเปลือกเอาเนื้อในเข้าปากเสียเดี๋ยวนั้น


แม้ทุกวันนี้เราจะรู้ทั้งรู้ว่าส้มเป็นผลไม้ที่สัมผัสสารเคมีมากที่สุดในทุกกระบวนการ แต่ก็ไม่อาจลดทอนความต้องการลงได้ เพราะความเชื่อที่ว่าสารเคมีเกาะอยู่เฉพาะส่วนที่ห่อหุ้ม แค่แกะเปลือกออกก็คงหมดปัญหา คนกินอาจปลอดภัยจากสารเคมีจริง แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่ส้มลูกสวยลูกหนึ่งจะมาถึงมือเรา มันอาจทำร้ายเด็กตาดำๆ จนถึงขั้นทำลายอนาคตของพวกเขามาแล้วก็ได้

“เด็กในโรงเรียนผมไม่เคยมากันครบชั้นเรียนหรอก เพราะเด็กที่นี่ชอบสลับกันป่วย เดี๋ยวเป็นโรคผิวหนังบ้าง เดี๋ยวเป็นโรคทางเดินหายใจบ้าง”

ครูละทุน นันตา ครูใหญ่โรงเรียนวัดพระธาตุเฉลิมพระเกียรติ ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตอบทันทีที่เราถามถึงปัญหาของเด็กในโรงเรียนของเขาที่ทำให้หนักใจมากที่สุด

นักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนของครูละทุนเป็นเด็กไทยใหญ่ที่อพยพ ตามพ่อแม่มาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เพื่อหนีภัยสงครามเชื้อชาติ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความอัตคัดทางเศรษฐกิจ เข้ามาพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์และสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย ด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่อาศัยกันแบบครอบครัวขยาย จึงมักจะชักชวนกันทั้งครอบครัว ทิ้งบ้านเกิด หอบผ้าหอบผ่อนและจูงลูกหลานตัวน้อยๆ เดินทางข้ามภูเขาชื้นแฉะ ฝ่าสัตว์ร้ายและพิษไข้นานาชนิดเพื่อข้ามมาเป็นแรงงานราคาถูกกระจัดกระจายอยู่ตามสวนส้มหลายแห่งในพื้นที่ อ.ฝาง

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่ราบสูงทำให้นายทุนจำนวนมากเข้ากว้านซื้อที่ดินและเปลี่ยนมันเป็นอาณานิคมสวนส้มขนาดใหญ่หลายแห่งจนทำให้อ.ฝางกลายเป็นแหล่งปลูกส้มอันไพศาลที่สุดในประเทศ กินบริเวณข้ามไปถึงอ.แม่อายและอ.ไชยปราการ เครือข่ายอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง อ.ฝางเคยสำรวจตัวเลขประมาณการณ์ไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545-2546 ว่ามีพื้นที่สวนส้มรวมแล้วไม่ต่ำกว่าแสนไร่ ทั้งที่ราบและภูเขาทั้งลูกซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยส้มหลายสายพันธุ์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ยืนต้นแน่นขนัดอย่างเป็นระเบียบตามรูปแบบการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแทรกแซมด้วยกระต๊อบหลังน้อยอันเป็นที่พักอาศัยของชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของ ‘หยาดเหงื่อแรงงาน’ ในการผลิตส้มตัวจริง

ส้มเป็นหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านกระบวนการทางเคมีมากที่สุด ตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูกลงดิน การให้ปุ๋ย การดูแลรักษา การฉีดสารเพิ่มรสชาติ ไปจนถึงการแว็กซ์ผิว หลายคนอาจเถียงว่า ปัจจุบันสวนส้มใหญ่ๆ หันมาปลูกส้มปลอดสารพิษกันแล้ว แต่เอาเข้าจริง นั่นเป็นเพียงความพยายามของบริษัทผู้ผลิตในการลดปริมาณสารพิษก่อนจัดจำหน่ายเท่านั้น ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้บริโภคจะได้รับสารพิษตกค้างเหล่านี้โดยเฉพาะผู้ที่กินส้มเป็นประจำอาจเกิดการสะสมสารพิษในร่างกายที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ปัญหาผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพของแรงงานในสวนส้มกลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลแม้กระทั่งกับเด็กๆ

ตัวเลขของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนบ้านต้นฮุง ต.ม่อนปิ่นอ.ฝาง ที่ตั้งอยู่กลางชุมชนไทยใหญ่ ระบุว่า ในปี 2551 มีเด็กอายุต่ำกว่า15 ปี มารับการตรวจรักษาจำนวนทั้งสิ้น  1,817 ครั้ง  เข้ารับการรักษาด้วยโรคผิวหนัง 248 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 และเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจถึง 1,212 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.7 ถือเป็น
ตัวเลขที่น่าตกใจมากเมื่อเทียบกับอัตราการป่วยของประชากรทั่วประเทศที่เข้ารับการรักษาอาการทั้งสองโรคนี้ โดยเป็นโรคผิวหนังเพียง ร้อยละ 3.8 และโรคระบบทางเดินหายใจเพียงร้อยละ 18.8

เคอเหลิน อายุ 22 ปี หนุ่มไทยใหญ่ผู้รับหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์สาธารณสุขฯ จนชาวบ้านเรียกขานว่า “หมอ” เล่าให้ฟังว่า เด็กๆ มีความอ่อนไหวต่อโรคจากสารเคมีมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่ยังไม่กล้าฟันธงว่าเกิดจากสวนส้ม เพราะไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง

“ยังไม่เคยมีงานทางวิชาการจากสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบว่าโรคทั้งสองเกิดจากอะไร แต่จากที่เห็นคนป่วย ส่วนมากเป็นลูกหลานของคนงานในสวนส้มทั้งนั้น ในสวนส้มก็มีแต่การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อใช้ฆ่าหญ้าฆ่าแมลง เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสวนส้ม นอนในสวนส้ม เพราะพ่อแม่ต้องคอยดูแลสวนให้เขา(นายทุน) เด็กๆ จึงต้องสูดดมมันทุกวัน”

ครูละทุนกล่าวเสริมว่า “การใช้สารเคมีในสวนส้มไม่มีการป้องกันบางส่วนก็จะตกค้างอยู่ในดิน เด็กกับดินเป็นของคู่กัน เขาไม่มีของเล่นอื่นให้เล่น ก็ต้องเล่นดิน แล้วก็เป็นโรคผิวหนังในที่สุด”

เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า ในวันธรรมดาเด็กๆ จะไปโรงเรียน ซึ่งถือว่าลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับนิ้วมือน้อยๆ ของพวกเขาได้บ้าง แต่ในวันเสาร์อาทิตย์ที่โรงเรียนปิด ผู้ปกครองก็ต้องพาเด็กเข้าไปในสวนส้มด้วย เพราะพ่อแม่มีฐานะยากจน ทำงานหาเช้ากินค่ำ ได้รับค่าแรงเป็นรายวัน ไม่มีสวัสดิการ ค่าแรงก็ต่ำเพียงวันละ 80-120 บาท เป็นการบีบคั้นทางอ้อมให้ทุกคนต้องทำงานหนัก จึงไม่มีใครว่างพอที่จะอยู่ดูแลลูกๆ ที่บ้านได้ นั่นหมายความว่า เด็กๆ จะต้องสัมผัสกับสารพิษเหล่านั้นทุกเสาร์อาทิตย์

นอกจากเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเด็กตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ครูละทุนยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในสวนส้มบางแห่งมีการกวดขันเรื่องคนเข้าออกเป็นอย่างมาก มีการสร้างบ้านพักให้กับคนงานและบังคับให้อาศัยอยู่ในสวนส้ม ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องกินนอนและวิ่งเล่นอยู่ในสวนส้มที่เต็มไปด้วยสารพิษ ยิ่งถ้าเป็นสวนส้มใหญ่ๆ ยิ่งมีความเข้มงวดมาก ถึงขั้นไม่ปล่อยให้คนงานออกจากสวนไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียน บางคนอายุ 15-16 แล้วยังไม่เคยเรียนหนังสือ เป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาและอนาคตของเด็กๆ เหล่านั้น เมื่อไม่เคยได้รับความรู้ที่พ้นเกินไปจากรั้วสวนส้ม ทำให้พวกเขาต้องสืบทอดการเป็นแรงงานราคาถูกจากพ่อแม่ไปโดยปริยาย

ไม่น่าเชื่อว่าอุตสาหกรรมสวนส้มไทยที่แข็งแรงอันเป็นแหล่งกำเนิดผลผลิตส้มหวานคุณภาพดี กลับยืนต้นอยู่บนหลังเกษตรกรที่มีคุณภาพชีวิตง่อนแง่นเสียเหลือเกิน หลายคนคงไม่เคยคิดมาก่อนว่ากว่าส้มสีสดสวยหวานฉ่ำลูกหนึ่งจะเดินทางมาถึงมือเรา เบื้องหลังของมันได้กัดกินผิวหนัง กัดกร่อนหัวใจ ทำลายอิสรภาพและอนาคตของเด็กน้อยชาวไทยใหญ่ตาดำๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ที่ติดตามพ่อแม่มาด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบกับอนาคตที่สดใสไปสักกี่คน

คงได้แต่หวังว่า จะมีนายทุนที่คิดถึงเรื่องผลกำไรน้อยลงและสนใจคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ภายใต้ความดูแลมากกว่านี้ อาจหันมาทำส้มเกษตรอินทรีย์ ให้ความใส่ใจกับสุขภาพของแรงงาน อย่างน้อยก็ควรให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองแก่แรงงานและลูกหลานของพวกเขา หรืออาจเริ่มต้นที่ผู้บริโภคอย่างเรา เลือกซื้อส้มที่เนื้อไม่หวานมาก เปลือกไม่สวยนัก เพื่อลดการทำอุตสาหกรรมการเกษตรแบบนี้  จะได้ไม่ต้องเห็นเด็กไทยใหญ่คนแล้วคนเล่าเสียเวลาช่วงชีวิตวัยเด็กไปกับการเรียนสำนวนไทยที่ว่า ‘หนีเสือปะจระเข้’ อีกเลย.

ผลงานจากโครงการอบรมการเขียนสารคดี  มิตรภาพสู่พรมแดนตะวันตกโดยนิตยสารสาละ วินโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น