วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เข้าใจพม่า ผ่านประสบการณ์ของอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

โดย ธันวา สิริเมธี

อาจกล่าวได้ว่า ประสบการณ์ของนักการทูตเป็นประสบการณ์ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่มีโอกาสได้สัมผัส  ชีวิตของนักการทูตจึงมีเรื่องราวให้น่าสนใจติดตามหลากหลายแง่มุม  และยิ่งถ้าเป็นนักการทูตที่ประจำการอยู่ในประเทศพม่า เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเรายาวที่สุดด้วยแล้ว  ยิ่งเป็นประสบการณ์ที่ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศพม่าปิดประเทศปิดมายาวนาน เพิ่งเปิดประตูต้อนรับชาวต่างชาติเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น  แต่ถึงกระนั้น ชาวต่างชาติที่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในพม่าก็มักจะมีเวลาน้อยเกินกว่าจะได้เข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนพม่าอย่างลึกซึ้ง

หนังสือ “เข้าใจพม่า ผ่านประสบการณ์ของปกศักดิ์ นิลอุบล” อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พ.ศ. 2538-2551 เป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่ผู้สนใจสถานการณ์พม่าควรอ่าน เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวประเทศพม่าจากสายตาของนักการทูต ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี โดยในด้านหนึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับพม่าในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกด้วยเช่นกัน  บทบาทหน้าที่ของเอกอัครราชทูตพม่าจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าสนใจติดตาม เพราะเป็นประสบการณ์ที่คนธรรมดาสามัญไม่มีโอกาสได้สัมผัสด้วยตัวเอง

เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมในหลายประเด็นตั้งแต่เรื่องการเมืองภายในพม่า การเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่ระดับทวิภาคี อาเซียน ไปจนถึงประชาคมโลก  รวมทั้งความเป็นมาและสถานการณ์ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากการพำนักอยู่ในพม่าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวพม่าได้เป็นอย่างดี  อาทิเช่น ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ของผู้นำพม่า  ผู้เขียนถ่ายทอดประสบการณ์การเข้าพบหมอดูอีทีซึ่งเคยโด่งดังบนสื่อของไทยในยุครัฐบาลทักษิณด้วยตัวเองและเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำพม่าและหมอดูท่านนี้เอาไว้ว่า

“...ว่ากันว่า หมอดูอีทีนั้นมีดวงของท่านผู้นำทุกคนประจำไว้ที่บ้านและต้องนั่งตรวจดวงให้ไม่เว้นแม้วันหยุดราชการ การส่งข้อมูลทำโดยคนขับรถของบรรดาผู้นำ จะนำเศษกระดาษที่เขียนประเด็นข้อร้อนใจของนายไปส่งให้ และหมอดูอีทีก็เขียนตอบกลับไป จึงไม่แปลกที่มักจะมีรถเก๋งคันใหญ่สีดำติดฟิล์มมืดสนิทจอดอยู่หน้าบ้านนางเป็นประจำจนเป็นที่ผิดสังเกตสำหรับผู้ผ่านไปมาในถนนเส้นนั้น...”

หรือ บทความเรื่อง “ยาหมดอายุ”  ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตประชาชนในพม่าได้เป็นอย่างดี ดังใจความตอนหนึ่งว่า

“...เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนการจัดยา หรือหาซื้อยาเหล่านั้นเอาไว้ แม้กระทั่งน้ำเกลือ ญาติคนไข้ยังต้องออกมาซื้อเองที่ร้านยาข้างนอกเพื่อที่จะเอาไปให้หมอที่จะต้องให้น้ำเกลือแก่คนไข้หลังผ่าตัดหรือคนไข้ที่ต้องการน้ำเกลือ เป็นการแพทย์ที่ทุกครั้งผมเห็นจะรู้สึกสะท้อนใจ...”

นอกจากนี้  ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงประสบการณ์ท้าทายอำนาจผู้นำทหารพม่าและสั่นคลอนตำแหน่งเอกอัครราชทูตจนเกือบถูกเด้งออกจากพม่าก่อนวาระ  เนื่องจากได้เข้าพบนางอองซาน ซูจีเป็นการส่วนตัว  ดังข้อความในเรื่อง “การพบกับนางอองซาน ซูจี”

“...ผมได้ทราบจากหน่วยข่าวกรองของพม่าว่าผู้นำ SLORC ไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่ผมได้ไปพบนางอองซาน ซูจีเป็นอย่างมาก  ถึงขึ้นขอให้นายทหารระดับสูงบางคนของกองทัพบกไทยกดดันผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศไทยให้เรียกผมกลับประเทศไทยเพื่อเป็นการลงโทษ  หรือส่งไปประจำการที่ประเทศอื่นโดยเร็วที่สุด  ทั้ง ๆ ที่ผมเพิ่งไปประจำการที่สหภาพพม่าได้เพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้น  แต่ในที่สุดผมก็สามารถปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปได้ถึง 3 ปี 1 เดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะเวลาปกติของการประจำการในประเทศที่มีสถานการณ์พิเศษของเอกอัครราชทูตไทย”

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ สิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับสอดแทรกอยู่ในความหมายระหว่างบรรทัดก็คือ มุมมองต่อประเทศพม่าที่มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจประชาชนพม่าในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง  แม้ว่าผู้เขียนจะดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตซึ่งถือได้ว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทย  แต่กลับมองเห็นความทุกข์ยากของชนชั้นล่างในสังคม ไม่ได้ตัดขาดตัวเองอยู่ในโลกของชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่าถึงความพยายามหาเงินบริจาคห้องเทคนิคการแพทย์ และหาทางช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เท่าที่จะทำได้ในช่วงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในพม่าด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน งานเขียนชิ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามแรงกดดันจากผู้นำพม่าเสมอไป และนักการทูตที่ดำรงตำแหน่งในพม่าก็ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวอำนาจจากผู้นำทหารพม่า  หากสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม หรือในเชิงส่วนตัวแล้ว  นักการทูตก็มีสิทธิชื่นชมบุคคลที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล ดังเช่น ความชื่นชมและความประทับใจที่มีต่อนางอองซาน ซูจีหลังจากได้เข้าพบเป็นการส่วนตัว

“...ผมเองไม่กล้าที่จะกล่าวกับนางต่อหน้าว่า ผมมีความชื่นชมในตัวนางและโดยเฉพาะการต่อสู้ของนางเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในพม่าเพียงใด  วินาทีนี้ผมบอกกับตนเองว่านับเป็นโชคดีของผมที่ครั้งในชีวิตได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกับนาง...”

ผู้สนใจเรื่องราวของประเทศพม่าไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ เพราะคุณอาจได้รู้จักพม่าในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปยากจะได้สัมผัส

ข้อมุลทั่วไป

ชื่อหนังสือ  “เข้าใจพม่า” ผ่านประสบการณ์ของปกศักดิ์ นิลอุบล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พ.ศ. 2538-2551

ชื่อผู้แต่ง  นายปกศักดิ์ นิลอุบล

จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ราคา 180 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น