วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

Children of Glory ด้วยโลหิต แด่อิสรภาพ

โดย หมอกเต่หว่า

คงไม่มีชาติไหนในโลกที่ต้องการให้ชาติอื่นมาครอบครอง และจำกัดเสรีภาพของตนเอง และบ่อยครั้งที่เราได้ยินประวัตศาสตร์การต่อสู้ที่แลกด้วยเลือดเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ     

ภาพยนตร์เรื่อง Children of Glory เป็นผลงานของผู้กำกับหญิงชาวฮังกาเรียนชื่อ Krisztina Goda  โดยนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของประเทศฮังการี ช่วงปี ค.ศ. 1956 ระหว่างที่ฮังการีตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมลเบิร์นมาผูกโยงไว้ด้วยกันด้วยการเดินเรื่องทั้งหมดผ่านตัวละครหลักสองตัว คือ ซาโบคาร์ชิ นักกีฬาโปโลน้ำชื่อดัง (แสดงโดย อีวาน เฟนโย) และ วิกกี้ ฟรอก แกนนำนักศึกษาปฏิวัติ  (แสดงโดยคาทา โดโบ)

หนังได้นำเสนอภาพของประชาชนชาวฮังกาเรียนซึ่งขาดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน จนเป็นเหตุให้นักศึกษาและประชาชนต้องออกมาเดินขบวนขับไล่ทหารรัสเซีย เรียกร้องเอกราช และจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเหตุการณ์ได้บานปลายจนนำสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาตร์ฮังการี

ผู้กำกับต้องการจะสื่อให้เห็นความแตกต่างทางด้านความคิดระหว่างพระเอกหนุ่ม ซาโบคาร์ชิ ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับกีฬาโปโลน้ำ และมีความฝันที่จะได้ครอบครองเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกซักครั้ง ขณะที่นางเอกสาว วิกกี้ ฟรอก กลับมีความฝันที่จะเรียกร้องเสรีภาพคืนให้กับประชาชนฮังการี  พ่อแม่ของเธอถูกฆ่าตายหลังจากถูกรัฐบาลซึ่งแต่งตั้งโดยรัสเซียกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มปฏิวัติ เธอและเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆจึงร่วมกันก่อตั้งคณะปฏิวัติเสรีภาพ เพื่อเป็นแนวร่วมเรียกร้องเสรีภาพร่วมกับประชาชนทั่วไป

หนังเรื่องนี้ได้เลือกนำเสนอภาพการคุกคามสิทธิเสรีภาพที่รัฐบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซียกระทำต่อประชาชนของชาวฮังกาเรียน อาทิ การกำจัดสิทธิเสรีภาพในการพูด การนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์และวิทยุ  การข่มขู่และจับกุมประชาชนตามใจชอบ

ในตอนแรก คาร์ชิไม่อยากเข้าร่วมกลุ่มปฏิวัติ  เพราะนั่นหมายความว่า ความฝันที่จะเข้าชิงเหรียญทองโอลิมปิกต้องดับวูบลง รวมทั้งอาจทำให้คนในครอบครัวต้องถูกจับ ทว่า  เมื่อเขาต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจึงได้เห็นภาพประชาชนที่ออกมาเรียกร้องอย่างสันติ แต่กลับถูกทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงตอบโต้ จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็กและคนชรา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและเสรีภาพเช่นกัน เขาจึงตัดสินใจทิ้งความฝันนักกีฬาโอลิมปิกไว้เบื้องหลัง

ฉากที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างมาก คือ ฉากความร่วมมือร่วมใจของชาวฮังกาเรียนที่ต้องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตนเอง โดยในขณะที่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปกำลังจับปืนสู้ทหารรัสเซีย เด็กๆ ก็ออกมาช่วยทำอาวุธและคอยช่วยพวกพี่ๆนักศึกษา เช่นเดียวกับลุงคนหนึ่งในเรื่องที่นำเสบียงอาหารมาให้นักศึกษาอีกแรง

รวมถึงฉากที่คาร์ชิถามวิกกี้ว่า “คุณจะไปสู้กับรถถังหรือ” โดยวิกกี้ตอบว่า “ถึงไม่อยากแต่ก็ต้องสู้” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า  ไม่มีใครอยากตาย แต่ถ้าต้องอยู่แล้วไม่มีอิสรภาพเหมือนนักโทษก็ไม่ต่างจากตายทั้งเป็น ดังนั้นการลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพ ไม่ได้ทำเพื่อตนเองเท่านั้นแต่เป็นการทำเพื่อคนอื่นอีกด้วย  หลังจากมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการสู้รบระหว่างทหารและประชาชนกระจายเป็นวงกว้าง  ทหารรัสเซียจึงต้องถอนกำลังออกฮังการีในท้ายที่สุด

หลังจากนั้น  คาร์ชิได้กลับเข้าไปร่วมทีมโปโลน้ำอีกครั้ง โดยเขาและลูกทีมสามารถเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ  พบกับทีมรัสเซีย  ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทหารรัสเซียกลับเข้าประเทศฮังการีอีกครั้งและโจมตีกรุงบูดาเปสต์อย่างหนัก ในส่วนของความเป็นดราม่าในฉากนี้ เราจะได้เห็นคาร์ชิและลูกทีมต่างกดดันและวิตกกังวลถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองของตน แต่ท้ายสุดแล้วพวกเขาทำตามคำพูดของโค้ชที่กล่าวสร้างขวัญกำลังใจก่อนลงแข่งขันว่า “ขณะนี้บ้านของเราพังพินาศหมดแล้ว นี่เป็นนาทีของพวกเธอที่จะทำให้ทั่วโลกเห็นว่า ชาวฮังการีก็สามารถเป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน  เราจะต้องคว้าเหรียญทองกลับไปให้ประชาชนชาวฮังการี ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง”

ในที่สุด พวกเขาก็สามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียในปี 1956 แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เมื่อวิกกี้ต้องสูญเสียเพื่อนรักและเพื่อนนักศึกษาหลายคนถูกฆ่าตาย บางส่วนต้องหนีเอาชีวิตรอด ส่วนตัวเธอถูกตำรวจจับไปทรมานร่างกายในสถานที่กักขังแห่งหนึ่ง โดยไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของเธอหลังจากนั้นเป็นอย่างไร  ผู้กำกับได้แต่เพียงทิ้งปมปริศนาให้ผู้ชมคาดเดาเอาเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้คาร์ชิและวิกกี้จะมีความฝันและความคิดที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต่างต้องการเหมือนกัน คือ ความยุติธรรมและเสรีภาพ ไม่ต่างอะไรจากคนที่ต่างสีผิว ต่างวัฒนธรรม และภาษาในโลกใบนี้ ทุกคนต่างต้องการเสรีภาพเหมือนๆ กัน เพราะนี่เป็นของขวัญล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

ทว่า สำหรับประชาชนในหลายประเทศ  กว่าจะได้เสรีภาพที่หอมหวานมาครอบครอง พวกเขาต้องแลกกับสิ่งที่รักและหวงแหนไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ชาวฮังกาเรียนในปี 1956 นั้นไม่แตกต่างจากประชาชนในพม่าที่รวมตัวกันเรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเมื่อปี 1988 และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และผลสรุปก็ไม่ต่างอะไรกัน เมื่อประชาชนจำนวนมากถูกยิงเสียชีวิตและถูกจับเป็นจำนวนมาก และยังถูกกุมขังอยู่จนถึงทุกวันนี้

แต่ทว่า สิ่งที่ชาวฮังกาเรียนได้รับในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากประชาชนพม่าทุกวันนี้ราวฟ้ากับดิน  พวกเขามีรัฐบาลที่ชอบธรรม ประเทศเจริญก้าวหน้า ขณะที่ประชาชนยังต้องทนยากลำบากภายใต้กระบอกปืนของผู้นำเผด็จการมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว และยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เสรีภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในพม่า

สำหรับความฝันของคนในประเทศพม่าแล้ว อย่าว่าแต่จะเป็นนักกีฬาโอลิมปิกเหมือนที่คาร์ชิใฝ่ฝันเลย เพียงแค่มีชีวิตเพื่ออยู่รอดปลอดภัยไม่โดนทหารพม่าจับตัวไปเป็นแรงงานและลูกหาบ หรือถูกทหารพม่าจับตัวไปในวันรุ่งขึ้นเนื่องจากถูกสงสัยว่าเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ได้เรียนหนังสือและไม่ต้องอยู่อย่างอดอยากก็เป็นบุญแล้วสำหรับพวกเขา

หรือบางที พวกเขาอาจกำลังเฝ้าหวังว่า พวกเรา ในฐานะเพื่อนบ้านผู้มีเสรีภาพ (มากกว่า) จะเข้าใจในปัญหาความทุกข์ยากเรื้อรังที่ประชาชนพม่าเผชิญมายาวนาน และไม่รังเกียจเดียดฉันท์ในยามที่พวกเขาต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็น  หากพวกเขากำลังหวังเช่นนี้อยู่ พวกเราจะทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงได้บ้างไหม

คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้นอกจากถามตัวคุณเอง

 

{เผยแพร่ครั้งแแรกในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 43 (16 พ.ย. - 31 ธ.ค. 50)}

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น