วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

จากเดพายินถึงยิตทอว์-ตัวละครใหม่บนพล็อตเก่า

โดย ธันวา สิริเมธี

ใครติดตามข่าวช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาต้องได้เห็นภาพนางอองซาน ซูจีปรากฏอยู่บนสื่อทุกช่องทั่วโลก  เพราะรัฐบาลพม่าตั้งข้อหาไม่เป็นธรรมกับนางซูจี กรณีชายชาวอเมริกันบุกรุกเข้ามาในบ้านพักของนาง แต่นางกลับตกเป็นจำเลยและอาจต้องโทษจำคุกอินเส่งนานถึง 5 ปีเลยทีเดียว งานนี้นายบารัค โอบามาผู้นำคนใหม่ของสหรัฐยังทนไม่ได้ ออกมาประณามรัฐบาลทหารพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยนางซูจีและเพื่อนนักโทษการเมืองโดยด่วน

อันที่จริง เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นกับนางซูจี เพราะเมื่อหกปีที่แล้ว ช่วงเดือนเดียวกันนี้ เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันได้เกิดขึ้นที่เมืองเดพายิน รัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นเหตุให้เธอถูกรัฐบาลทหารกักบริเวณมาจนถึงวันนี้

ย้อนรอยเหตุการณ์เดพายิน


ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ระหว่างที่นางอองซาน ซูจีเดินทางไปปราศรัยที่เมืองเดพายิน รัฐคะฉิ่น เวลาเดินทาง ไปถึงในแต่ละเมืองจะมีผู้สนับสนุนออกมาต้อนรับแน่นขนัด พร้อมกับผู้ต่อต้านซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมเอกภาพและการพัฒนาหรือยูเอสดีเอออกมา ถือป้ายต่อต้านและโห่ร้องขับไล่ (สมาคมนี้มีพลเอกอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำสูงสุดของประเทศพม่าเป็นประธาน)









อัลบั้มภาพเหตุการณ์เดพายิน

ค่ำวันนั้น ระหว่างการเดินทางไปยังเมืองเดพายิน พระสงฆ์สองรูป ออกมาขวางขบวนรถของนางซูจีและขอให้นางออกมาปราศรัยต่อหน้าประชาชนในเวลานั้น นางซูจีได้ตอบปฏิเสธเนื่องจากเป็นเวลาค่ำแล้วหลังจากนั้นกลุ่มผู้ต่อต้านนางซูจีจึงแสดงความไม่พอใจเข้าตะลุมบอนผู้สนับสนุนนางซูจีจนได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะที่บอดี้การ์ดพานางซูจีหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิดแต่ต้องมาถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสกัดจับและควบคุมตัวไปอยู่ในสถานที่ลับเป็นเวลาหลายวัน

ระหว่างนั้นมีข่าวลือหนาหูว่า รัฐบาลพม่ามีแผนจะพาซูจีเข้าไปอยู่ในคุกอินเส่ง โดยจัดเตรียม "ห้องขังวีไอพี" เอาไว้ให้อยู่แถวๆ ใจกลางคุก   อดีตนักโทษการเมืองพม่าที่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลานั้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงลักษณะห้องขังดังกล่าว แต่หลังจากกระแสข่าวลือ แพร่สะพัดออกไป รัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ส่งนางซูจีเข้าไปอยู่ในคุกอินเส่ง แต่กักบริเวณเธอไว้ในบ้านพัก ด้วยเหตุผลที่ว่า นางซูจีเป็นผู้ทำให้ประเทศชาติ ปั่นป่วน แบ่งออกเป็นสองฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งกัน ขณะนี้มีผู้ต่อต้านเธอมาก  ทางรัฐบาลจึงต้องกักบริเวณไว้ในบ้านพักเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นการกักบริเวณจึงเป็น "ความปรารถนาดี" ของรัฐบาลพม่าที่มีต่อเธอนั่นเอง โดยรัฐบาลพม่าได้ต่ออายุการกักบริเวณเธอแบบปีต่อปี

นายพลจัตวามิ้น เต็ง(Myint Thein) กล่าวกับผู้สื่อข่าวและนักการทูต ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเคยหารือกันว่าจะปล่อยนางอองซาน ซูจีในวันพุธที่ 27 พฤษภาคมซึ่งครบกำหนดการกักบริเวณในบ้านเป็นเวลา 6 ปีซึ่งรัฐบาลพม่าถือว่า "เป็นการกักบริเวณเพื่อมนุษยธรรม เนื่องจากนางซูจีเป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน ผู้ก่อตั้งสหภาพพม่า แต่ในช่วงต้นเดือนได้เกิดเหตุบุกรุกของชาวอเมริกันซึ่งเป็นเหตุไม่คาดหมายขึ้นเสียก่อน"


ฟังดูแล้ว  เหตุการณ์ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อหกปีที่แล้วสักเท่าไหร่ นักเพราะกลุ่มผู้ต่อต้านนางซูจีเป็นผู้กระทำผิด ก่อเหตุวิวาทจนผู้สนับสนุนนางได้รับบาดเจ็บ แต่นางซูจีกลับถูกกักบริเวณนานถึงหกปี และพอถึงเวลาปล่อยตัว ชายชาวอเมริกันก็บุกรุกบ้านพักนางอีก และนางต้องตกเป็นจำเลยและอาจถูกลงโทษจำคุกอินเส่งห้าปี เหตุการณ์นี้จึงไม่ต่างอะไรกับการดูละคร "ดาวพระศุกร์" ที่วนกลับมาฉายซ้ำแต่เปลี่ยนตัวนักแสดงเท่านั้นเอง

เสียงจากอองซานซูจี


ตลอดการพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ศาลอนุญาตให้นักข่าวและนักการทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งหมด 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 และ 26 พฤษภาคม โดยขณะที่นางซูจีกำลังเดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีทุกคนลุกขึ้นยืนอย่างสงบ เธอบอกกับนักข่าวและนักการทูตที่มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ขณะที่กำลังเดินผ่านว่า "มันยากที่พูดอะไรแบบนี้ แต่ก็ ขอบคุณมากกับการที่พวกคุณมา" โดยผู้สังเกตการณ์ทุกคนจะยอมนั่งลงหลังจากที่นางอองซานซูจีนั่งลงแล้ว หลังจากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นในวันนั้น ก่อนถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณาคดี เธอหันกลับไปพูดกับผู้สังเกตการณ์ว่า "ขอบคุณสำหรับความเป็นห่วงและการสนับสนุนจากพวกคุณ มันเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นผู้คนจากโลกภายนอก"


ระหว่างการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาได้ถามนางซูจีว่า นางละเมิดคำสั่งกักบริเวณในบ้านพักโดยการอนุญาตนายยิตทอว์พักในบ้านสองคืนหรือไม่ นางซูจีตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้ละเมิดกฎหมายใด" โดยในจดหมายที่นางเขียนถึงศาลอธิบายว่า นางไม่ได้ทำอาชญากรรมใดๆ เพราะนางถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างหนาแน่น ถ้าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ ชาวอเมริกันคนดังกล่าวจะไม่สามารถเข้ามาได้

ผู้พิพากษาถามนางอองซาน ซูจีว่า ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง หรือไม่ว่ามีผู้บุกรุก นางซูจีกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เชิญเขาเข้ามา" และกล่าวว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอยู่ในบริเวณบ้านของเธอในช่วงที่นายยิตทอว์เข้ามา
ซูจีให้การว่า นายยิตทอว์ออกจากบ้านไปในเวลา 23.45 น. ของวันที่ 5 พ.ค. "ข้าพเจ้าทราบเพียงว่าเขาออกไปทางด้านทะเลสาบ และไม่รู้ว่าไปทางไหนเนื่องจากเวลานั้นมืดมาก"


เมื่อผู้พิพากษาถามนางซูจีกรณีที่ตำรวจพบหลักฐานที่เป็นของนายยิตทอว์ เช่น หนังสือ และสิ่งของอื่นๆ เช่น กล้องวิดีโอ เสื้อผ้าแบบมุสลิมสีดำและแว่นตากันแดดที่พบในบ้านของนางซูจี นางซูจีตอบว่า "ยิตทอว์น่าจะรู้เรื่องนี้ดีกว่าข้าพเจ้า"

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นางอองซาน ซูจี ได้เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ว่า เหตุการณ์ที่นายยิตทอว์ว่ายน้ำเข้ามายังบ้านของเธอนั้นเกิดขึ้นเพราะการรักษาความปลอดภัย(ของรัฐบาล) ละเลยการปฏิบัติ หน้าที่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับผู้รักษาความปลอดภัยเลย

ในแถลงการณ์ของพรรคยังบอกอีกว่า เมื่อตอนที่นายยิตทอว์พยายามเข้ามาในบ้านในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เธอได้รายงานเรื่องนี้ให้ทางรัฐบาลทราบผ่านทางแพทย์ส่วนตัวของเธอ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยนางซูจียังได้บอกอีกว่า เธอตั้งใจจะรายงานการมาเยือนของนายยิตทอว์ครั้งล่าสุดนี้ผ่านทางแพทย์ของเธอ ทิน เมียว วิน แต่เขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบ้านพักและถูกรัฐบาลควบคุมตัวไว้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ซูจีแสดงความเห็นเอาไว้ว่า "การที่ฉันถูกฟ้องร้องอยู่ฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นถึงความลำเอียงในการฟ้องร้องครั้งนี้"


นับตั้งแต่รัฐบาลพม่าตั้งข้อหานางซูจี ข่าวคราวของเธอซึ่งเงียบหายไปนานก็ได้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง ดังนั้น หากเปรียบเหตุการณ์นี้เป็นละครหลังข่าว เรตติ้งของละครเรื่องนี้จัดอยู่ในระดับแรงมากทีเดียว เพราะสื่อทุกสื่อทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามชมละครเรื่องนี้กันทั่ว และดูเหมือนความนิยมในตัวอองซาน ซูจีก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

แต่ทว่า เรตติ้งแรงแบบนี้ "ผู้กำกับ" ระดับนายพลพม่าอาจไม่ชอบใจนัก เพราะบท "นางร้าย" ที่วางไว้กลับกลายเป็น "นางเอก" ที่คนดูหลั่งน้ำตาให้แทน บทเรียนครั้งนี้อาจทำให้ผู้กำกับต้องเปลี่ยนพล็อตใหม่ในครั้งต่อไปเพื่อไม่ให้คนดูเดาเรื่องได้ตั้งแต่ละครออกฉายครั้งแรก.

- - - ล้อมกรอบ - - -


จดหมายขอบคุณจากซูจีถึงนายพลตานฉ่วย มุขตลกเสียดสีจากสื่อพม่านอกประเทศ

หากใครเคยเข้าไปที่ www.irrawaddy.org ของสำนักข่าวอิรวดี ซึ่งเป็นสื่อพม่านอกประเทศ จะเห็นคอลัมน์ประจำที่มีชื่อว่า  "Barber's chair" หรือ ร้านตัดผม ซึ่งมีเนื้อหานำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าแบบเป็นเหตุการณ์จำลองแทรกด้วยมุขตลกเสียดสี ล่าสุด เป็นการจำลองสถานการณ์นางอองซาน ซูจีเขียนจดหมายขอบคุณนายพลตานฉ่วยจากในคุกอินเส่งเผยแพร่ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ถึงท่านนายพลอาวุโส


ดิฉันเชื่อว่าท่านจะต้องไม่ชอบใจลายมือของดิฉันในจดหมายนี้เพราะฉันกำลังเขียนอยู่ใต้แสงเทียน ดูเหมือนว่ากระแสไฟฟ้าในเขตบ้านของดิฉันช่วงนี้จะไม่ค่อยเพียงพอสักเท่าไหร่นะคะ

ดิฉันอยากจะขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพรอบทะเลสาบอินยาให้ฉันได้ชมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ฉันอยู่ในบ้านพัก และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ฉันต้องขอบคุณท่านสำหรับการสนับสนุนทางการเมืองที่ไม่ลดน้อยถอยลงไปเลย ฉันกำลังคิดว่า คนทั่วโลกคงลืมฉันไปแล้ว แต่ท่านก็ทำให้ใบหน้าของฉันได้กลับมาปรากฏอยู่บนทีวีทั่วโลกอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ท่านระมัดระวังมากไม่ให้รัฐบาลต่างชาติให้ความสนใจคนเพียงคนเดียว (หมายถึงตัวดิฉัน) แต่ขณะนี้ท่านกลับแสดงความใจกว้างให้ชื่อของฉันได้ออกจากปากทูตต่างชาติทุกคนในย่างกุ้งอีกครั้ง ชุมชนนานาชาติเองก็เคยถูกวิจารณ์ว่าให้ความสนใจเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ แต่ตอนนี้ดิฉันต้องขอขอบคุณในความพยายามของท่านที่ทำให้พม่ากลับมาปรากฏบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับอีกครั้ง

ฉันเชื่อว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปกำลังยุ่งยากใจว่าจะดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าอย่างไรในปีหน้า  แต่จากวิธีการที่ชัดเจนและไม่ไร้สาระของท่าน ได้ทำให้พวกเขาไม่ต้องลังเลใจแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปกับสถานะของรัฐบาลพม่า 

นอกจากนี้ มีเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ในนามของพรรคเอ็นแอลดี  ดิฉันขอขอบคุณท่านที่พยายามประชาสัมพันธ์แทนพวกเรา ด้วยสมาชิกจำนวนมากของเราอยู่ในคุกและไม่มีโอกาสได้ออกมาหาเสียงได้เหมือนเมื่อหลายปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ท่านได้ย้ำเตือนให้ประชาชนพม่ารู้จักแยกแยะผิดและถูก ความจริงและความลวง รวมทั้งความยุติธรรมและเรื่องน่าขบขัน ฉันเชื่อว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องอาศัยการรณรงค์อื่นใดเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีก ท่านคือผู้สร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ท่านทำได้ดีมากจริงๆ !

ถ้าหากท่านพบว่าตัวเองกำลังจะถูกปฏิวัติภายในแล้วละก็ ขออย่าลังเลใจที่จะโทรหาพวกเราพรรคเอ็นแอลดี  พวกเราต้องการให้พวกท่านมาเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์บนหนังสือของพวกเราเสมอ 

และที่ขาดไม่ได้คือ ขอขอบคุณที่ท่านได้เปิดเผยถึงระบบยุติธรรมของทหาร ฉันรอมานานแล้วที่จะได้เห็นมันอย่างใกล้ชิดและเป็นส่วนตัว คราวหน้า คุณควรจะอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวและนักการทูตหลายๆ คนเข้ามาในห้องพิจารณาคดี  และหากเป็นไปได้ฉันขอเรียกร้องให้เชิญทูตออสเตรเลียมาด้วยได้ไหม เพราะว่าประสบการณ์ของท่านทูตจากประเทศที่มีชนบท กว้างใหญ่และห่างไกลความเจริญมากๆ จะทำให้ท่านเข้าใจดีว่า "ศาลเตี้ย" ( kangaroo court) เป็นอย่างไร

ดิฉันเชื่อว่า อย่างน้อยในคุกอินเส่งแห่งนี้ ดิฉันน่าจะได้รับความปลอดภัยจากผู้บุกรุกเพี้ยนๆ มากขึ้น ท่านควรคิดดูสิว่ากองกำลังรักษาความปลอดภัยและหน่วยข่าวกรองที่มีอยู่หนาแน่นจนเจมส์ บอนด์ยังผ่านเข้ามาไม่ได้ แต่ทำไมชายวัยกลางคน อ้วน และผิวขาวจึงเล็ดลอดเข้ามาได้ หรือคนแบบนี้จะจับยากกว่าใช่ไหมคะ?

อย่างไรก็ตาม ดิฉันรู้ว่าคุณกำลังยุ่งมากกับโครงการเนปิดอว์ ดังนั้นฉันจะไม่ขอรบกวนเวลาอันมีค่าของคุณแล้วค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับทุกๆ สิ่งที่คุณทำเพื่อประเทศของเรา หลังจากประชาชนพม่าได้ประชาธิปไตยแล้ว กรุณาอนุญาตให้เราได้พบปะแลกเปลี่ยนกันนะคะ

จากผู้ถูกกักขัง

อองซาน ซูจี
คุกอินเส่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น