วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

ชะตากรรมหอหลวงใต้เงาเผด็จการ

โดย ซอว์งอู

รถจี๊ปสีกรมท่าพาเราข้ามชายแดนอำเภอแม่สายเข้าสู่เขตจังหวัดท่าขี้เหล็กของรัฐฉาน การเดินทางของเราอาจสวนทางกับผู้คนหลายร้อยหลายพันชีวิตที่กำลังมุ่งหน้าสู่ประเทศไทยเพื่อความอยู่รอดอย่างไม่มีทางเลือก "รัฐฉาน" ดินแดนไทยใหญ่ที่พวกเขาเหล่านั้นจากมา ในอดีต ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงรัฐหนึ่งในสหภาพพม่าเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรรุ่งเรืองมากที่สุดในดินแดนอุษาคเนย์มาแล้ว

ในอดีต ดินแดนไทยใหญ่ หรือ เมืองไต มีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล แบ่งเป็น 33 เมือง แต่ละเมืองปกครองด้วยเจ้าฟ้ารวมทั้งหมด 33 พระองค์ ซึ่งระบบเจ้าฟ้ามีความผูกพันกับผู้คนในเมืองไตมาช้านาน เจ้าฟ้าสำหรับผู้คนในเวลานั้นเปรียบเสมือนเจ้าชีวิตและได้รับการยกย่องให้อยู่เหนือประชาชนธรรมดาหอหลวง หรือ พระราชวังของเจ้าฟ้าผู้ครองเมืองจึงเปรียบเสมือนสถานที่อันทรงคุณค่า เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเจ้าฟ้า และรากฐาน วัฒนธรรมไทยใหญ่ จุดมุ่งหมายในการเดินทางของเราในครั้งนี้คือหอหลวงสำคัญของไทยใหญ่สามแห่ง ซึ่งแม้ว่าบางแห่งจะทรุดโทรมรกร้าง บางแห่งอาจถูกทำลายจนไม่เหลือซากจากการคุกคาม ของเผด็จการพม่า แต่สถานที่ดังกล่าวก็ยังอบอวลไปด้วยภาพอดีตที่น่าจดจำและรอยประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยใหญ่ไม่มีวันลืม

หอหลวงเชียงตุง จากมรดกวัฒนธรรมสู่โรงแรมไร้รากเหง้า


ระยะทาง168 กิโลเมตรจากชายแดนอำเภอแม่สาย สภาพถนนลาดยางตะปุ่มตะป่ำและคดเคี้ยว ขนานกับสายน้ำเชี่ยวกราก โอบล้อมด้วยขุนเขาและนาขั้นบันไดเขียวชอุ่ม การเดินทางไปยังเมือง "เชียงตุง" ในช่วงปลายฤดูฝนเช่นนี้อาจต้องใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์มากกว่าปกติที่ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

"เชียงตุง" หรือ "นครเขมรัฐ" เป็นเมืองสำคัญอันดับต้นๆ ของเมืองไตในอดีต ปัจจุบันคือเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของรัฐฉาน โดยเฉพาะชาวไทยที่แห่กันไปเที่ยวหลังจากมีละครอิงประวัติศาสตร์เชียงตุงเผยแพร่ในโทรทัศน์ ในอดีต เชียงตุงมีความเจริญมาก มีเมืองบริวารหลายสิบเมือง สมัยที่เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลงเป็นเจ้าฟ้าครองเมืองคือช่วงที่เชียงตุงเรียกได้ว่ารุ่งเรืองถึงขีดสุด และในช่วงนี้เองที่มีการสร้างหอหลวงเชียงตุงซึ่งมีความงดงามใหญ่โตและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาหอหลวงทั้งหลายในเมืองไต

หอหลวงเชียงตุงถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2448 หลังจากที่เจ้าอินแถลงกลับจากการประชุมร่วมกับขุนนางอังกฤษที่ประเทศอินเดีย1 หอหลวงเป็นอาคารคอนกรีตใหญ่โตและสง่างามแบบอินเดียผสมยุโรปและมีหลังคาแบบไทยเขิน ที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ที่เจ้าฟ้าใช้ว่าราชการและใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

เจ้านางสุคันธาหนึ่งในพระธิดาของเจ้าอินแถลง (สมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่และใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่จนสิ้นชีวิต) ได้รำลึกความทรงจำช่วงวัยเด็กเกี่ยวกับหอหลวงไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้านางที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านั้นว่า หอหลวงเชียงตุงมีห้องใหญ่โตถึงเก้าห้อง แบ่งออกเป็นสามปีก ปีกซ้ายเป็นห้องของเจ้าฟ้า ห้องโถงใหญ่ใช้สำหรับรับรองขุนนางเวลามีงานใหญ่โต และถัดไปเป็นห้องเก็บเงิน ท้องพระคลัง "ฉันยังจำได้ว่า เวลาที่พวกพนักงานเทเงินออกมานับ บางทีเราโชคดีเราเล่นกันอยู่ข้างล่าง จะมีเงินไหลลอดออกมาจากพื้นข้างบน ได้มาครั้งละแถบๆ"

ส่วนห้องของมหาเทวีอยู่ส่วนหลังของอาคาร ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมสามห้อง และห้องมหาดเล็กอีกหนึ่งห้อง บริเวณชั้นล่างส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่หรือจัดงานเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุงเมื่อเข้ามาคารวะเจ้าฟ้าในพิธีคารวะ ซึ่งเจ้าเมืองต่างๆที่อยู่ในอาณัติจะมาแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าฟ้าเชียงตุงปีละสองครั้ง คือช่วงปีใหม่และออกพรรษา พิธีดังกล่าวจะมีด้วยกันสองวัน วันแรกเป็นการรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าฟ้า โดยจะมีอาหารหลักอยู่ห้าอย่างคือ แกงฮังเล น้ำซุปถั่วลันเตา ผักกุ่มดอง แคบหมูกับน้ำพริกอ่อง และข้าวเหนียว ส่วนวันที่สองจึงจะเป็นพิธีคารวะ

"ในวันนี้เจ้าพ่อจะประทับบนแท่นแก้ว ส่วนพวกเจ้าเมืองจากสามสิบกว่าเมืองจะทยอยกันเข้าไปในห้องพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนมาวางไว้ตรงหน้าแท่นที่เจ้าพ่อประทับคนละขัน เชื่อไหมว่า เขาปักเทียนเล่มใหญ่อย่างกับท่อนไม้มาในขันที่ทำจากเงินแท้ ตีเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางๆ เจาะรูตรงกลางประดับด้วยดอกบานไม่รู้โรยทั้งข้างบนข้างล่าง เสียบมาโดยรอบเทียนจำนวนห้าดอก หลังจากนั้น เจ้าเมืองจะ "สูมา" หรือไหว้เจ้าพ่อ เจ้าพ่อให้พรตอบ แล้วพวกช่างฟ้อนก็มาฟ้อนหางนกยูงให้พวกแขกบ้านแขกเมืองดู เป็นอันเสร็จพิธี" ภาพในอดีตอันแจ่มชัดถูกบอกเล่าโดยเจ้านางสุคันธา ในหนังสือเล่มเดียวกัน

ทว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของสหภาพพม่าได้ทำให้ความทรงจำ เกี่ยวกับชีวิตในหอหลวงเชียงตุงของเจ้านางต้องกลายเป็นเพียงอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับคืน เมื่อนายพลเนวินกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมัยที่เจ้าจายโหลงสืบทอดราชบัลลังก์รุ่นหลานของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง (ปกครองเมืองต่อจากเจ้าฟ้า ก๋องไตผู้เป็นบิดาซึ่งถูกคนร้ายลอบสังหารหน้าหอหลวง) รัฐบาลเนวินไม่ต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่อยู่รวมกันเป็นสหภาพพม่าในขณะนั้นแยกตัวออกจากพม่าไปปกครองตนเองตามข้อตกลง ในสนธิสัญญาปางหลวง3 จึงต้องกำจัดแกนนำคนสำคัญทางการเมืองให้หมดไป เจ้าจายโหลงถูกคุมขังในกรุงย่างกุ้งนานถึง 6 ปีจนสิ้นพระชนม์ นับจากนั้นเป็นต้นมา หอหลวงเชียงตุงคู่บ้านคู่เมืองได้ถูกยึดให้เป็นสถานที่ราชการของทางการพม่าและถูกทุบทิ้งทำลายลงโดยไม่เหลือเศษซากในปี พ.ศ.2534 โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลเพื่อการท่องเที่ยว 4 รัฐบาลพม่าได้ใช้แรงงานนักโทษในการรื้อถอนโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากชาวเมืองหรือแม้กระทั่งการร้องขอจากพระสงฆ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ นอกจากนี้ยังจับชาวบ้านบางคนที่พูดตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ขังคุกอยู่หลายปี และ

ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2540 รัฐบาลพม่าได้สร้างโรงแรมนิวเชียงตุงขึ้นมาทับพื้นที่ที่เคยเป็นหอหลวงเดิมทำให้ชาวเมืองต้องเจ็บปวดใจเป็นครั้งที่สอง การทำลายหอหลวงซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของวัฒนธรรมและรากเหง้าของคนไทยใหญ่โดยสร้างโรงแรมขึ้นมาทับ ในขณะที่เมืองเชียงตุงมีที่ว่างมากมายพอที่จะสร้างโรงแรมได้นับไม่ถ้วน ถือเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีวันลืมไปจากความทรงจำของชาวไทยใหญ่ได้ ในยุคหลังๆ "เจิงแลว" หรือ "Freedom Way" วงดนตรีไทยใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงสะท้อนการเมืองในพม่า ได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในฐานะคนรุ่นหลังผ่านบทเพลงภาษาไทยใหญ่ที่มีชื่อว่า "หอหลวงเชียงตุง" มีใจความว่า

"ร้อยปีพันปี ปลูกสร้างมาตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายาย นอนก็ไม่ฝันจะจมหายไป (หอหลวงเชียงตุงๆ) เสียดายจริงๆ เจ้าของมันไปอยู่แห่งใด ไม่เสียดายมรดกของแผ่นดินหรือวัฒนธรรมเก่าแก่ ประชาชนเสียดายพวกเราเสียดายแทนเจ้าของอย่าคิดจะก้มหัว อย่าคิดจะหวาดกลัว จงโต้เถียงคืนเถิดเจ็บใจนัก ยักษ์แปดตนที่ให้เฝ้าเมืองเชียงตุงไปซุกอยู่ซอกมุมใดพระสงฆ์กับประชาชน พวกที่ห้ามปรามเขาเป็นแต่การห้ามเปล่าๆ จงลุกฮือรบเอาเถิดแย่งเอาฟันเอาแทงเอาจึงจะได้ธรณีสูบคนนั้น สูบแค่คนเดียวแต่คนกลืนชาตินั้น มันมอดม้วยตระกูลหายยืนยาวคราวไกล ใครเล่าจะลืมได้ พร้อมใจกันจดจำไว้เถิด"

เรื่องราวของสิ่งลี้ลับและอาถรรพ์ของวิญญาณที่เสียชีวิตในระหว่างการรื้อถอนอาคารซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือนเป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวบ้าน โรงแรมนิวเชียงตุงที่อยู่เบื้องหน้าเราในวันนี้จึงแทบไม่ต่างอะไรกับภาพนิ่งที่ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตและวี่แววความเคลื่อนไหวใดๆ นอกจากเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทหารพม่านายหนึ่งที่ประจำการอยู่ในป้อมยาม เรื่องราวของสิ่งลี้ลับอาจยากต่อการพิสูจน์ จะจริงเท็จอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่การใช้การท่องเที่ยว เป็นเหตุผลในการทุบหอหลวงนั้น ชาวเมืองเชียงตุงรู้ดีว่าเป็นเรื่องโกหกของรัฐบาลพม่าโดยที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ใดๆ

หอหลวงเชียงตุงในวันนี้อาจเหลือเพียงภาพถ่ายบนปฏิทินให้รำลึกถึง แต่ยังมีหอหลวงสำคัญของไทยใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่รอดพ้นจากการทำลายและยังไม่ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลเหมือนหอหลวงอื่นๆ ซึ่งมหาเทวีองค์สุดท้ายยังคงมีชีวิตอยู่ แม้ไม่ได้ใช้ชีวิตในสีป้อแล้วก็ตาม นั่นคือหอหลวงของเจ้าฟ้าแห่งเมืองสีป้อ หัวเมืองสำคัญของรัฐฉานภาคเหนือ

หอหลวงสีป้อ อนุสรณ์ความรักข้ามทวีป


ในยุคหนึ่งที่การค้าขายระหว่างรัฐฉานและมณฑลยูนนานของจีนรุ่งเรือง เมืองสีป้อซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เรียกได้ว่าเป็นเมืองทางผ่านที่พ่อค้ามักจะแวะพักผ่อนและรับประทานอาหารก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองหลวง ซึ่งทำให้สีป้อค่อยๆ พัฒนาและเจริญขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ยังมีการปกครองโดยเจ้าฟ้า เจ้าจ่าแสงเป็นเจ้าฟ้าที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในบรรดาเจ้าฟ้าทั่วเมืองไต การได้รับการศึกษาด้านวิศวกรรมจากสหรัฐอเมริกาและอภิเษกกับมหาเทวีอิงเง หรือ ทุซันดี (Thusandi) ชาวออสเตรีย อาจทำให้เจ้าจ่าแสงโดดเด่นกว่าเจ้าฟ้าเมืองอื่น แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่ทำให้เจ้าจ่าแสงแตกต่างนอกเหนือจากนั้นคือ การวางตัวเป็นกันเองใกล้ชิดกับราษฎรไม่ถือชั้นวรรณะและแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่นอกจากจะทำให้โดดเด่นแล้ว ยังทำให้เป็นที่รักและเคารพของประชาชนมากกว่าเกรงกลัว

หอหลวงสีป้อหรือตำหนักตะวันออกที่เจ้าจ่าแสงใช้ชีวิตร่วมกับมหาเทวีอิงเงและธิดาอีกสองคนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2467 เจ้านางอิงเงได้บรรยายถึงครั้งแรกที่ได้เห็นหอหลวงในหนังสือ "Twilight over Burma"ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ "สิ้นแสงฉาน" ไว้ว่า หอหลวงตะวันออกเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนสองชั้นสีขาว หลังคามุงกระเบื้อง มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศสยาวจดพื้น ห้องรับแขกขนาดใหญ่แบ่งเป็นสามช่วง ด้านตะวันออกเป็นห้องนั่งเล่นที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรป มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศสยาวจดพื้น ประดับด้วยขันเงินใบใหญ่ซึ่งเปิดออกไปสู่เฉลียงหินอ่อน ช่วงกลางใช้สำหรับรับรองแขกชาวไทยใหญ่ซึ่งต้องนั่งกับพื้นตามประเพณีจึงปูด้วยพรมหนาตลอดทั้งห้อง โดยมีตั่งเตี้ยๆ ตรงข้ามเตาผิงสำหรับให้เจ้าฟ้าประทับ

ชาวสีป้อมีสิทธิที่จะมาเข้าเฝ้าเพื่อคารวะหรือขอความช่วยเหลือ เสมอ ชาวบ้านจะถอดรองเท้าไว้ก่อนเดินขึ้นบันไดหอหลวงโดยจะนั่งบนพรมจิบชาใส่เกลือและสูบบุหรี่มวนโตระหว่างที่รอเจ้าฟ้า โดยที่เจ้าจ่าแสงและมหาเทวีชอบที่จะนั่งบนพื้นระดับเดียวกับชาวบ้านมากกว่าเก้าอี้นวม

ช่วงสุดท้ายเต็มไปด้วยตู้หนังสือ ตู้เอกสารและโต๊ะเล็กสลักเป็นลวดลายงดงามโดยมีผ้าม่านกั้นระหว่างห้องนี้กับห้องกลางเพื่อความเป็นส่วนตัวขณะทรงอักษร บริเวณห้องเสวยได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา โต๊ะและเก้าอี้เสวยทำจากไม้มะฮอกกานีมีลวดลายแกะสลักตรงขา ซึ่งเคยรับรองนักการทูต รัฐมนตรีและคนใหญ่คนโตมามากมาย ส่วนห้องบรรทมเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์โคโลเนียล อเมริกันสมัยใหม่และพม่า บริเวณรอบๆ มีสนามเทนนิสซึ่งเจ้าจ่าแสงมักจะจัดให้มีการแข่งขันกันในสีป้อและเล่นเทนนิสกับราษฎรอย่างไม่ถือตัว นอกจากนี้ยังมีสระว่ายน้ำที่ธิดาทั้งสองโปรดปรานอยู่ภายในบริเวณหอหลวง

หอหลวงแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่พำนักและทำงานแล้ว งานประเพณีที่สำคัญของชาวไทยใหญ่หลายต่อหลายครั้งเกิดขึ้นที่นี่ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พิธีสถาปนามหาเทวี ที่ชาวเมืองได้มาร่วมงานจำนวนมากและมีการเฉลิมฉลองกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน

แต่ทว่า สิบปีหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยนายพลเนวิน ซึ่งเจ้าจ่าแสงก็ไม่สามารถรอดพ้นจากเงื้อมมือรัฐบาลเผด็จการไปได้เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าองค์อื่นๆ เจ้าจ่าแสงได้หายตัวไปอย่างลึกลับนับตั้งแต่วันที่เนวินยึดอำนาจโดยที่ไม่มีใครทราบชะตากรรมแม้แต่มหาเทวีอิงเง ซึ่งต่อมาได้พาธิดาทั้งสองหนีออกจากสีป้อโดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาอีกเลยจนกระทั่งปัจจุบัน

หากการปฏิวัติในพม่าไม่ได้เกิดขึ้น สีป้อในวันนี้คงเป็นเมืองพัฒนาที่น่าจับตามองแห่งหนึ่งก็ว่าได้ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่เจ้าจ่าแสงได้พยายามพัฒนามาโดยตลอดในระหว่างที่ปกครองสีป้อ ส่วนหอหลวง หลังจากที่เจ้าฟ้าเมืองสีป้อและมหาเทวีต้องพลัดพรากจากไปแล้ว ได้รับการดูแลต่อโดยเจ้าอูจ่าซึ่งเป็นหลานของเจ้าจ่าแสงและภรรยา ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้หอหลวงมีสภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างมาก บัลลังก์ที่เจ้าจ่าแสงเคยนั่งเคียงคู่มหาเทวีนางอิงเงอย่างสง่างามเต็มไปด้วยฝุ่นหนาเตอะ สระว่ายน้ำ สีมรกตที่ธิดาทั้งสองเคยลงเล่นบัดนี้เหลือเพียงน้ำฝนที่ขังอยู่ก้นสระที่ถูกตักขึ้นมารถแปลงผักบริเวณรอบหอหลวงบริเวณที่เคยเป็นสวนดอกไม้มาก่อน

ทุกสิ่งดูเหมือนว่าจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เจ้าอูจ่าถูกรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่าสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศและพบปะชาวต่างชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อปี พ.ศ.2548 สองปีที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่พบข้อความหนึ่งในสมุดเยี่ยมที่เขียนโดยชาวต่างชาติว่า "ขอบคุณที่เปิดเผยความจริงกับเรา" โดยในช่วงนั้นรัฐบาลพม่าได้กวาดล้างแกนนำทางการเมืองไทยใหญ่จำนวนมาก (รวมถึงขุนทุนอู หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทยใหญ่) เจ้าอูจ่าถูกตัดสินโทษจำคุก 13 ปีในข้อหาดังกล่าว ประตูหอหลวงเจ้าฟ้าเมืองสีป้อจึงถูกปิดตายจากผู้มาเยือนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่มีใครรู้ว่าประตูจะถูกเปิดออกอีกครั้งเมื่อไหร่ หรือจะถูกทุบทิ้งทำลายเหมือนที่เกิดขึ้นกับหอหลวงเชียงตุงหรือไม่

ปริศนาการหายตัวไปอย่างลึกลับของเจ้าจ่าแสง ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเจ้าอูจ่า และอนาคตของหอหลวง คงจะมีแต่รัฐบาลเผด็จการเท่านั้นที่รู้

หอหลวงยองห้วย ความเป็นไตที่ถูกทำให้เป็นสินค้า


ภาพคนพายเรือด้วยเท้าในหนองน้ำอินเลอันเงียบสงบเป็นเหมือนโลโก้ของเมืองยองห้วยสามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมากมายนับไม่ถ้วนตั้งแต่พม่าเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว หลายต่อหลายคนหวังอยากไปสัมผัสให้ได้ครั้งหนึ่ง แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่า ไม่ไกลจากหนองน้ำชื่อดังแห่งนั้นเป็นที่ตั้งของหอหลวงเจ้าฟ้าซึ่งเป็นเจ้าชีวิตของผู้คนเมืองยองห้วยในอดีต

หอหลวงยองห้วยสร้างขึ้นในสมัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊กด้วยศิลปะแบบมัณฑะเลย์ ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐ ส่วนชั้นบน สร้างขึ้นด้วยไม้ เนื่องด้วยเจ้าส่วยแต๊กมีมเหสีรองสององค์และลูกๆ อีกสิบกว่าคน หอหลวงจึงประกอบด้วยอาคารสามหลังติดกัน แต่ละหลังจะมีแท่นบูชาอยู่ชั้นบนสุด อาคารด้านในสุดเป็นห้องสวดมนต์ของครอบครัว หอกลางเป็นส่วนที่เจ้าฟ้าใช้ประชุมขุนนาง โดยเจ้าฟ้าจะประทับบนบัลลังก์ทองหากมีการประกาศราชโองการ ส่วนบริเวณห้องโถงใหญ่ด้านนอกสำหรับจัดพิธีคารวะเจ้าฟ้า ซึ่งมีบันไดขึ้นหอสองแห่ง บันไดทางด้านทิศเหนือสำหรับคนทั่วไป อีกด้านหนึ่งเป็นบันไดที่ตกแต่งแบบตะวันออกเรียกว่าบันไดมังกรสำหรับพระสงฆ์เดินขึ้นเวลาจัดงานคารวะ ซึ่งเจ้าฟ้าจะประทับอยู่บนพระที่นั่งที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกใต้ฉัตรสีขาว

บริเวณโดยรอบหอหลวงประกอบด้วยสนามเทนนิส 4 สนาม สวนกล้วยไม้ ต้นมะขาม คอกม้า โรงรถ โรงครัว และสวนที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ทางทิศเหนือและทิศใต้ ใกล้กับมุมทางตะวันออกเฉียงเหนือของหอหลวงมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป 8 องค์ และศาลเจ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณประตูด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่อยู่ของ "นัต" หรือ "ผี" ที่คุ้มครองเมือง ซึ่งเจ้าฟ้าอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาสักการบูชานัตประจำเมืองได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ชาวบ้านตักน้ำจากหอหลวงไปใช้ได้ในช่วงที่แล้งจัด

บ้านเมืองยองห้วยภายใต้การบริการบ้านเมืองของเจ้าส่วยแต๊กในขณะนั้นสงบร่มเย็นมาก ว่ากันว่า ที่ยองห้วยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2490 เจ้าฟ้าส่วยแต๊กได้ร่วมกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คนอื่นๆ ลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเพื่อปลดปล่อยสหภาพพม่าที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้นให้เป็นอิสระจนเป็นผลสำเร็จ หนึ่งปีต่อมาเจ้าส่วยแต๊กได้รับเลือกจากรัฐบาลพม่าให้เป็นประธานาธิบดีของสหภาพพม่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวในบันทึกประวัติศาสตร์ของพม่า นอกจากนี้เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ลงนามสละอำนาจการปกครองแบบเดิมรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐไทยใหญ่โดยขึ้นกับพม่า ด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เจ้าส่วยแต๊กได้พามหาเทวีเฮือนคำ สตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้นย้ายครอบครัวจากหอหลวงมาพำนักอยู่ในกรุงย่างกุ้ง

ทว่า เมื่อนายพลเนวินทำการรัฐประหารในปี พ.ศ.2505 ในฐานะบุคคลสำคัญที่สุดในประเทศย่อมตกเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องกำจัด กลางดึกคืนวันรัฐประหาร ทหารได้บุกเข้าไปยังที่พักของเจ้าส่วยแต๊กเพื่อนำตัวประธานาธิบดีไปคุมขัง เจ้าชายหมีซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าฟ้าถูกกระสุนปืนของทหารนายหนึ่งเสียชีวิตในคืนนั้น นอกจากนี้ยังมีตำรวจอีกนายหนึ่งที่กำลังตรวจการอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวถูกทหารยิงเสียชีวิต ซึ่งต่อมาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลฉบับหนึ่งกลับพาดหัวข่าวถึงเหตุการณ์การปฏิวัติของนายพลเนวินว่า เป็น "Bloodless Revolution" หรือ "การปฏิวัติที่ปราศจากการนองเลือด"

เจ้าส่วยแต๊กได้เสียชีวิตในระหว่างที่ถูกรัฐบาลเนวินคุมขัง ส่วนมหาเทวีเฮือนคำได้พาลูกๆ เดินทางออกจากพม่ามายังประเทศไทย ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าเฮือนคำมีส่วนช่วยเหลือในการก่อตั้ง กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า แต่ต่อมา ขุนส่า ราชา ยาเสพติด ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังเมืองไตในขณะนั้นนำกองกำลังทหารจำนนต่อรัฐบาลพม่า เจ้าเฮือนคำจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ บุตรชายยังต่างประเทศซึ่งเจ้านางได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในต่างแดนจนถึงวาระสุดท้ายโดยไม่มีโอกาสได้เห็นอิสรภาพในเมืองไต

หอหลวงเมืองยองห้วยถูกยึดไปเป็นสมบัติของรัฐบาลพม่าเนื่องจากไม่มีลูกหลานพักอาศัย ซึ่งหลังจากที่ถูกทิ้งรกร้างมาเป็นเวลานาน รัฐบาลได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม โดยเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมคนละ 2 ดอลลาร์ ข้าวของเครื่องใช้และรูปถ่ายของเจ้าฟ้าไทยใหญ่และมหาเทวีในอดีตรวมถึงบัลลังก์ทองถูกนำออกมาตั้งโชว์อวดสายตานักท่องเที่ยว ราวกับต้องการประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของมรดกอันเป็นศิลปะของชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายร้อยชนชาติที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ โดยรัฐบาลภูมิใจและได้ดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี

แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลพม่าเองไม่ใช่หรือคือผู้สังหารเจ้าฟ้า ถอนรากถอนโคนระบบการปกครองแบบเดิม เข่นฆ่าชาวไทยใหญ่และพยายามทำลายความเป็นไทยใหญ่ให้หมดสิ้นไปโดยกลืนให้เป็นพม่า บัลลังก์ทองและรูปถ่ายในอดีตจึงมีเพียงกระดาษชิ้นเล็กๆ ที่ระบุเพียงชื่อสิ่งของและเจ้าของโดยละไว้ซึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งของมีค่าเหล่านั้น พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมยองห้วย แท้จริงแล้วก็อาจเป็นเพียงเครื่องมือ หากินอย่างหนึ่งของรัฐบาลพม่าเท่านั้นเอง

- - - - - -


ดวงอาทิตย์ที่สะท้อนผ่านผิวน้ำในหนองอินเลอันเงียบสงบยามพลบค่ำค่อย ๆ ดับแสงลงทีละนิดและมืดมิดลงในที่สุด นั่นอาจเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับหอหลวงเจ้าฟ้าและชาวไทยใหญ่ที่อยู่ภายใต้เงาแห่งเผด็จการก็เป็นได้ สิ่งล้ำค่าบางอย่างของชาวไทยใหญ่อาจสูญเสียไปอย่างไม่มีวันกลับ เจ้าฟ้าหลายองค์อาจสูญสิ้นไปพร้อมหอหลวง แต่ตราบใดที่แสงสว่างของตะวันอันอบอุ่นยังกลับคืนสู่หนองน้ำในรุ่งเช้า เสรีภาพและความสงบสุขก็อาจหวนคืนสู่ดินแดนไทยใหญ่ในสักวัน แม้จะนานแค่ไหนก็ตาม.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น