วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

ลุ่มน้ำสาละวิน สายธาราที่ใกล้ถูกจองจำ

อาทิตย์ ธาราคำ


แม่น้ำสาละวินขึ้นชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่สวยงามที่สุดสายหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ความงดงามเกิดจากสายน้ำน้อยใหญ่มากมายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่จนกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นเขตที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อยกว่าสิบกลุ่มในประเทศจีน พม่า และไทยอาศัยพึ่งพาแม่น้ำสายใหญ่น้อยเหล่านี้มาตลอดหลายชั่วอายุคน

ทว่า ปัจจุบัน ลุ่มน้ำสายนี้กลับกำลังถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่รุกรานและพรากความบริสุทธิ์ของสายน้ำไปจากชุมชนท้องถิ่นที่เฝ้าปกป้องสายธาราแห่งนี้มายาวนาน

 

กว่าจะเป็นสาละวิน



 

ตลอดเส้นทางของกว่าสองพันกิโลเมตรจากที่ราบสูงทิเบตในเขตประเทศจีนสู่อ่างเมาะตะมะในเขตประเทศพม่า  แม่น้ำสาขาสายสำคัญหลายสายได้นำพาสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์มารวมกันในแม่น้ำสายใหญ่ที่มีชื่อในภาษาไทยว่า “สาละวิน”

ในเขตประเทศพม่า  แม่น้ำสาละวินไหลผ่านรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยง  โดยมีแม่น้ำสาขาหลายสายไหลลงมาบรรจบรวมเป็นแม่น้ำสาละวินที่กว้างใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อไหลผ่านเขตรัฐฉาน  แม่น้ำปางซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขตรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือของรัฐฉานไหลคู่ขนานกับแม่น้ำสาละวินผ่านเมืองเกซีและเมืองกุ๋นฮิงเพื่อมารวมกับ “แม่น้ำคง” (ชื่อเรียกแม่น้ำสาละวินในภาษาไทยใหญ่) ในเขตกุ๋นฮิง  หลังจากนั้นจึงไหลผ่านผืนป่า เกิดเป็นเกาะ แก่งมากมาย  จนได้ชื่อว่า เมืองพันเกาะ (กุ๋นเหง คือ พันเกาะ แต่ภาษาพม่าเรียกเพี้ยนกลายเป็น กุ๋นฮิง)  ซึ่งมีระบบนิเวศน์หลากหลาย   มีพันธุ์ปลาหลายๆชนิด สามารถจับได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของประชาชนท้องถิ่น  นอกจากนี้ ทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก็เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวินด้วยเช่นกัน

พ่อเฒ่าชาวไทยใหญ่วัย 60 ปีคนหนึ่งจากรัฐฉานเล่าเรื่องจากน้ำปาง น้ำสาขาของสาละวิน

น้ำปางมีปลามากมายจนจับไม่ไหว ชาวบ้านจะพากันไปจับปลาในแม่น้ำ จับได้ง่ายมาก ในช่วงฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำจะค่อยๆ สูงขึ้นจนท่วมเข้ามาในที่นา ทำให้ปลาจากแม่น้ำเข้ามาอยู่ในที่นาของพวกเรา แค่ใช้ตาข่ายดักจับก็สามารถได้ปลาเยอะแยะ ยังมีกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ มากมายให้เราจับ

หลังจากไหลผ่านรัฐฉานเรื่อยลงมาจนถึงชายแดนไทย-พม่า  แม่น้ำสาละวินจะวกกลับเข้าไปในเขตประเทศพม่าอีกครั้ง ผ่านรัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยง  ระหว่างการเดินทางไกลสู่ปากแม่น้ำในรัฐมอญ  แม่น้ำสาละวินยังได้รับปริมาณน้ำเพิ่มจากลำน้ำสาขาอีกหลายสาย  อาทิ แม่น้ำยุนซาลิน จากรัฐกะเหรี่ยง แม่น้ำอัตทะรันและแม่น้ำไกร์นจากรัฐมอญ

ในเขตประเทศไทย  นับตั้งแต่ทางเหนือของชายแดนไทย แม่น้ำสาย และน้ำกก ไหลจากเทือกเขาสูงในรัฐฉานลงสู่จังหวัดเชียงราย และเติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขง มหาธารแห่งอุษาคเนย์  เรื่อยมาทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำแทบทั้งหมดในจังหวัดนี้ล้วนเป็นลูกน้อยของแม่น้ำสาละวิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำปาย น้ำเงา น้ำยวม และน้ำเมย เช่นเดียวกับน้ำแม่กษัตริย์ ที่ไหลจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ข้ามพรมแดนไปลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากน้ำสาละวิน ในรัฐมอญ

ลงไปทางใต้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และระนอง มีแม่น้ำตะนาวศรีที่ไหลเลียบอยู่ในป่าผั่งพม่า และแม่น้ำกระบุรีที่ไหลเป็นเส้นพรมแดนจรดปากน้ำที่ตัวเมืองระนองและเกาะสอง

ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมีหมู่บ้านตั้งอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านพึ่งพาแม่น้ำในการสัญจร เกษตรกรรม และดำรงชีวิต  ประชาชนในหลายพื้นที่มีการจัดระบบการจับปลาเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา ชาวบ้านจะไม่ได้รับอนุญาตให้จับปลาในช่วงฤดูวางไข่หรือในบริเวณน้ำลึกที่ปลามารวมกัน  รวมทั้งไม่อนุญาตให้ใช้ฉมวก เครื่องช็อตปลา ระเบิด และสารเคมี มีเพียงเบ็ดตกปลาและอวนพื้นบ้านเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้

ชาวบ้านตามริมฝั่งน้ำใช้น้ำในแม่น้ำเพื่อปลูกผัก ปลูกข้าว ทำประมงและบริโภคในครัวเรือน ชาวนาชราริมฝั่งแม่น้ำไกรน์ ในรัฐมอญ คนหนึ่งกล่าวว่า

ฉันมีความสุขกับการมีชีวิตด้วยการปลูกผักและทำนาที่นี่ เพราะพวกเรานำน้ำมาใช้ได้ง่าย ๆ และในแม่น้ำก็มีปลามากมาย ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อปลามาทำอาหารเลย

แต่ทว่าวันนี้ สายน้ำเหล่านี้คือเหมืองทองขุมใหม่ที่กลุ่มทุนพลังงานไทยกำลังเคลื่อนไหวลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในพม่าอย่างเงียบๆ

 

กลุ่มทุนรุกคืบลุ่มน้ำสาละวิน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 กระทรวงพลังงานในนามรัฐบาลไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่า เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 5 แห่ง ใน 2 ลุ่มน้ำของพม่าซึ่งได้แก่ 4 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน คือ เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน (7,000 เมกะวัตต์) เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (5,600 เมกะวัตต์) เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (900 เมกะวัตต์) เขื่อนฮัตจี (600 เมกะวัตต์) และอีก 1 เขื่อนบนแม่น้ำตะนาวศรี ทางภาคใต้ของพม่า (600 เมกะวัตต์)

โครงการหนึ่งที่อาจเคยผ่านหูผ่านตาคนไทยมาบ้าง คือ โครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตามลำน้ำสาละวินลงไปเพียง40 กิโลเมตรโครงการเขื่อนฮัตจีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปลายปี 2548 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนาม บมจ.กฟผ.จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง (MoA) กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่าเพื่อก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว และในปีถัดมาบริษัทสิโนไฮโดร บริษัทสร้างเขื่อนจากจีนก็ลงนามร่วมทุน มูลค่าการลงทุน ณ ปี 2551 ประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.3 แสนล้านบาท

หลังจากลงนาม กฟผ. ได้ว่าจ้างหน่วยงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้จนทุกวันนี้จะพ้นกำหนดแล้วเสร็จการศึกษา แต่ก็มิได้มีการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเฉพาะประเด็นน้ำที่จะเอ่อท่วมเข้าฝั่งไทยที่บ้านสบเมย บ้านแม่สามแลบ และบ้านท่าตาฝั่ง จังหวดแม่ฮ่องสอน

ในด้านฝั่งกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนและได้รับผลกระทบโดยตรง กองกำลังกะเหรี่ยง KNU ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับเขื่อนฮัตจีอย่างชัดเจน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่และประชาชนในพื้นที่ของกองกำลัง โดยเฉพาะน้ำท่วมและการเข้ายึดพื้นที่ของกองทัพพม่า

ประเด็นอ่อนไหวที่ส่อเค้าจะเป็นเชื้อปะทุความขัดแย้งระหว่างประเทศจากโครงการเขื่อนฮัตจี มีอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก คือ การเปลี่ยนแปลงเส้นพรมแดนระหว่างไทยและพม่า เพราะน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะท่วมเข้าสู่พื้นที่ฝั่งไทยรวมถึงลำน้ำสาขาต่างๆ เช่น แม่น้ำเมย เอกสารฉบับหนึ่งของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยก็ระบุว่าเขื่อนฮัตจีอาจทำให้เกิดข้อพิพาทกรณีเขตแดนและการสูญเสียดินแดน

ประเด็นต่อมา คือ เขื่อนฮัตจีสนับสนุนการกวาดล้างประชาชนของกองทัพพม่า และจะทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก เอกสารลับฉบับเดิมระบุชัดเจนว่า กองทัพพม่าจะใช้ข้ออ้างความจำเป็นในการเข้าไปรักษาความปลอดภัยของเขื่อน ใช้ปฏิบัติการทางทหารขับไล่กองกำลัง KNU ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนพม่าต้องอพยพเข้ามาในเขตไทยเป็นจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลทางการทหารระบุว่ากองทัพพม่าเข้าไปกวาดล้างหมู่บ้านในเขตจังหวัดพะปุน รัฐกะเหรี่ยง ใกล้พื้นที่สร้างเขื่อนแล้ว 65 หมู่บ้าน จากหมู่บ้านทั้งหมด 85 แห่ง

 

โครงการต่อมา คือ เขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวินทางภาคกลางของรัฐฉาน บริษัท MDX ของไทยร่วมทุนกับรัฐบาลพม่าและบริษัทกันจูปา จากจีน มีแผนส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศไทยเช่นเดียวกัน ที่สำคัญโครงการนี้อยู่ในระบบโครงข่ายพลังงานภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) ที่วางแผนโดยธนาคาร ADB

โครงการเขื่อนท่าซางได้มีการเปิดพิธีก่อสร้างอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นปีก่อน และมีการขนอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปยังหัวงานเขื่อน ผ่านจุดผ่อนปรนชายแดน BP1 ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งข่าวจากรัฐฉานรายงานว่านับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างเป็นเรื่องเป็นราว แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่ามีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทหงปัน ของว้า กลุ่มว้าได้ยึดอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องจักร และรถสร้างถนนไปเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้

องค์กรสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน รายงานว่าเขื่อนท่าซางจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย 60,000 คน ในจำนวนนี้ 35,000 คนได้อพยพหนีการกวาดล้างของทหารพม่าเข้ามาในประเทศไทยแล้ว

 

ทางใต้ของชายแดน โครงการเขื่อนตะนาวศรีที่ไม่มีใครสนใจกลับมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานข่าวสั้นๆ ว่ารัฐบาลพม่าลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย และบริษัทวินด์ฟอลล์เอนเนอร์ยี จากสิงคโปร์ เพื่อสร้างเขื่อนตะนาวศรีขนาด 600 เมกะวัตต์ เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ก็ได้รายงานว่าในวันเดียวกัน กฟผ. ในนามของรัฐบาลไทย ได้ลงนามกับรัฐบาลพม่าเพื่อซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งหนึ่งจำนวน 600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากเขื่อนตะนาวศรีนั่นเอง อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการตกลงรับซื้อไฟฟ้าตามที่เป็นข่าว

ข้อมูลจากแผนโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย ของกฟผ. ได้เคยระบุถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเขื่อนตะนาวศรี จำนวน 720 เมกะวัตต์ จึงคาดการณ์ได้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่ประเทศไทยทางด้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางสายส่งไฟฟ้าเพียงประมาณ80 กิโลเมตร

เขื่อนตะนาวศรี ตั้งอยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี ในภาคตะนาวศรี (Tanessarim Division)ประเทศพม่า ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม่น้ำสายนี้ชาวพม่าเรียกว่า ตะนิ้นตะยี หรือ ทาเนสเซอริม ชาวบ้านในลุ่มน้ำมีทั้งชาวกะเหรี่ยง ทวาย มอญ และคนไทยพลัดถิ่น

สำนักข่าวกวยกะหลึ ของกะเหรี่ยงรายงานว่าพื้นที่หัวงานเขื่อนอยู่ในพื้นที่ของกองพล 4 กองกำลังกะเหรี่ยง KNU เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการพิเศษกองพัน 7 KNU ได้เข้าจับกุมและยึดอุปกรณ์สำรวจจากกองทัพพม่าที่กำลังสำรวจพื้นที่เขื่อน

พะโด่โตโตเคหม่อง รองเลขาธิการ KNU จังหวัดบลิดาแหว่ เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่จะเข้ามาสร้างเขื่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม KNU มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนตะนาวศรีเนื่องจากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างน้อย 32 หมู่บ้าน

พื้นที่ลุ่มน้ำตะนาวศรีทอดยาวตามเทือกเขาตะนาวศรี ก่อนไหลลงทะเลอันดามันใกล้เมืองมะริด ตลอดทั้งลุ่มน้ำปกคลุมด้วยป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง รายงานข่าวระบุว่าในพื้นที่ภาคตะนาวศรีมีบริษัททำไม้ของทหารพม่าและทุนไทย 11 แห่ง รับสัมปทานทำไม้ระหว่างปี 2551-2552 รวมปริมาณไม้ทั้งสิ้น 168,000 ตัน ส่วนใหญ่จะส่งลงเรือเดินสมุทรไปยังประเทศสิงคโปร์ ส่วนพื้นที่หัวงานเขื่อนมีบริษัทของทหารพม่า 2 แห่ง คือบริษัทจีเมนไค และไทยาตะนาโมง ทำไม้ตั้งแต่ปี 2550 จนปัจจุบัน

ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ชาวบ้านกำลังกังวลว่าหากทำไม้เสร็จอาจมีการสร้างเขื่อนต่อทันที”

 

สำหรับลุ่มน้ำกก และน้ำสาย มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการจัดการทรัพยากรน้ำไทย-พม่า และเมื่อต้นปี 2548 โดยมีโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างประเทศไทยและพม่า ซึ่งก่อนหน้านี้มีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 150 เมกกะวัตต์ บนแม่น้ำกกใกล้กับชายแดนรัฐฉานที่ท่าตอน จังหวัดเชียงราย ต่อมากรมทรัพยากรน้ำได้ศึกษาโครงการผันน้ำจากทั้งสองลุ่มน้ำสู่แม่น้ำปิง ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และแม่น้ำน่าน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการยังไม่ได้มีการเปิดเผยความคืบหน้าต่อสาธารณะแต่อย่างใด

 

กลุ่มทุนไทยทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังดำเนินโครงการเขื่อนต่างๆ ในพม่าอยู่ในขณะนี้อาจเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่การลงทุนข้ามประเทศโดยเฉพาะในพม่าต้องได้รับการตรวจสอบและพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อมิให้ไทยตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารพม่า และต้องแบกรับภาระผู้อพยพอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังที่ข้อมูลจากกลุ่มสตรีคะยา กล่าวว่า สี่สิบปีที่แล้วพวกเราชาวคะยาต้องสูญเสียบ้านและแผ่นดินไปเมื่อสร้างเขื่อนบาลูชองในรัฐคะยา เพื่อส่งไฟฟ้าให้ย่างกุ้ง พวกเราต้องหนีมาอยู่เป็นผู้ลี้ภัยในฝั่งไทย เขื่อนในพม่าตอนนี้มีแต่จะส่งไฟฟ้าให้ต่างประเทศ มีแต่สร้างกำไรให้รัฐบาลทหาร  ไม่ได้สร้างเพื่อประชาชน

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ “สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น