วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เป่าแคนม้งส่งวิญญาณสู่สวรรค์

[caption id="attachment_3330" align="alignnone" width="504" caption="ภาพจาก www.tourismlaos.gov.la"][/caption]

โดย กระแนจอ

เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดนตรีของชาวม้ง ชื่อของ "เฆ่ง" ในภาษาม้ง หรือ "แคน" ในภาษาไทยจะต้องมาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน เพราะเครื่องดนตรีชิ้นนี้ดำรงอยู่คู่กับชนเผ่าม้งมานานหลายชั่วอายุคน และทำหน้าที่สำคัญในการนำทางดวงวิญญาณผู้ล่วงลับให้เดินทางกลับไปหาบรรพชนชาวม้งที่อยู่อีกภพหนึ่ง เสียงแคนที่ถูกบรรเลงทุกบทเพลงล้วนมีความหมายสอดแทรกบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับดวงวิญญาณได้รับรู้ เป็นเสมือนเครื่องดนตรีที่สื่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณ ดังนั้น หากงานศพใดไม่มีเสียงแคน งานศพนั้นก็จะไม่สมบูรณ์เพราะดวงวิญญาณไม่สามารถไปสู่สุคติได้

แคนม้งแบบดั้งเดิมจะทำด้วยไม้ไผ่ 6 ลำ ขนาดไม่เท่ากัน ประกอบด้วย เสียงตัวโน้ต 6 เสียง คือ โด เร มี ฟา ซอล และลา เสียงโดจะเกิดจากไม้ไผ่ที่มีขนาดสั้นและลำปล้องหนาที่สุดในบรรดาไม้ไผ่ทั้งหก หลังจากนั้น ขนาดของไม้ไผ่จะบางลงและยาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดจะมีขนาดบางที่สุดเป็นแหล่งกำเนิดเสียงโน้ตลา ซึ่งเป็นโน้ตเสียงสูงที่สุดในบรรดาหกเสียง แต่ละปล้องไม้ไผ่จะเจาะรูหนึ่งรู ด้านในมีลิ้นโลหะเพื่อให้เกิดเสียงต่างๆ ไม้ไผ่ทั้งหกจะถูกยึดรวมกันไว้ด้วย "เต้า" ซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง (ดูภาพประกอบ)เวลาเล่นจะใช้ปากเป่าที่ปลายเต้าแล้วใช้นิ้วมือเปิดปิดรูบนลำปล้องไม่ไผ่แต่ละลำสลับกันไปมาทำให้เกิดเป็นเสียงเพลง ส่วนแคนสมัยใหม่จะทำจากท่อพีวีซีซึ่งเพิ่มความดังของเสียงได้มากกว่าและมีเสียงเบส(เสียงทุ้ม)เยอะกว่าแคนไม้ไผ่ แต่ความไพเราะและความนิยม จะสู้แบบไม้ไผ่ไม่ได้ ราคาของแคนทั้งสองแบบพอๆ กัน ประมาณ 3,500 บาทในปัจจุบัน

คนม้งเล่าถึงตำนานเครื่องดนตรีสืบต่อกันมาว่า ในอดีตกาลมีคนม้งอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีพี่น้อง 7 คน วันหนึ่งผู้เป็นบิดาสิ้นชีวิตลง และบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คนต้องการจัดงานศพเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้เป็นบิดา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้า "ซียี" ซึ่งคนม้งมีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่พระเจ้าส่งมาเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ในโลกและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพิธีกรรมที่สำคัญของคนม้ง เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้คนหนึ่งไปหาหนังสัตว์มาทำกลองไว้ตีและอีกหกคนไปหาลำไม้ไผ่ที่มีขนาดและความยาวไม่เท่ากันมาคนละอัน เรียงลำดับตามขนาด และอายุของแต่ละคน เมื่อเตรียมพร้อมแล้วให้คนหนึ่งตีกลอง และอีก 6 คน ที่เหลือเป่าลำไม้ไผ่ของตนบรรเลงเป็นเพลงเดียวกัน และเดินวนไปรอบๆ คนที่ตีกลองพร้อมกับมอบบทเพลงต่างๆ ให้
เมื่อเทพเจ้าซียีกล่าวเสร็จ พี่น้องทั้งเจ็ดจึงได้กลับไปจัดงานศพให้บิดาตามที่เทพเจ้าซียีแนะนำ ต่อมามีพี่น้องคนหนึ่งได้ตายจากไป เหลือคนไม่พอที่จะเป่าลำไม้ไผ่ทั้งหก พี่น้องที่เหลือ 6 คน จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้าซียีอีกครั้ง เทพเจ้าซียีจึงแนะนำให้รวมลำไม้ไผ่ทั้งหกมาเป็นชุดเดียวกัน แล้วให้คนเดียวเป่าเท่านั้น ส่วนคนอื่นให้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชา ตระเตรียมอาหาร และทำหน้าที่อื่นไป

ต่อมารูปแบบพิธีงานศพดังกล่าวก็ได้รับการถือปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นประเพณีในการจัดงานศพของคนม้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้  ฉะนั้นในธรรมเนียมม้งจึงห้ามมิให้ฝึกเป่าแคนภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะฝึกในที่ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมักจะเป็นที่พักพิงตามไร่สวน นอกจากงานศพแล้ว ชาวม้งยังนิยมเป่าแคนในงานรื่นเริง เช่น งานปีใหม่ โดยเนื้อหาของบทเพลงที่เป่าจะมีความหมายแตกต่างออกไป รวมทั้งมีท่าเต้นประกอบการเป่าเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู แตกต่างจากการเป่าในงานศพซึ่งจะย่อตัวและเป่าวนรอบศพเท่านั้น

ชาย เด็กหนุ่มชาวม้งวัย 21 ปีจากบ้านขุนแม่ว้า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการเป่าแคนม้งมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้ฟังว่า


"ผมเห็นคนในหมู่บ้านเขาเล่นกันก็เลยอยากลองบ้าง พ่อไปซื้อแคนมาจากจังหวัดตาก จริงๆ ที่หมู่บ้านของผมก็มีขาย แต่เป็นแบบดั้งเดิมทำจากไม้ไผ่ ผมอยากได้แบบใหม่ที่ทำจากท่อพีวีซี เพราะเสียงของพีวีซี จะดังกว่าและเสียงเบสจะเยอะกว่า ผมเคยเห็นเขามาเล่นโชว์แล้วเสียงดังสนุกดี เลยอยากเล่นบ้าง"


สิ่งแรกที่ต้องเริ่มฝึก คือ รู้จักชื่อเรียกของรูทั้งหกซึ่งให้เสียงแตกต่างกัน หลังจากนั้นต้องฝึกเป่าลม ตามด้วยฝึกโน้ต ซึ่งแต่ละขั้นต้องใช้เวลาฝึกฝนนานหลายเดือนหรืออาจนานนับปีหากผู้ฝึกฝนมีเวลาฝึกน้อย  ชายเล่าถึงขั้นตอนยากที่สุดของการเรียนเป่าแคนม้งให้ฟังว่า


"สิ่งที่ยากที่สุด คือ การเรียนภาษาพูดของแคนผ่านการจำ เพราะบทเพลงที่เป่าออกมามีความหมายทุกคำ แต่ประโยคที่ใช้ในเพลงจะแตกต่างจากภาษาพูดของคนม้งในชีวิตประจำวัน คล้ายๆ กับเป็นบทกวีหรือคำสอนซึ่งผู้เรียนต้องจดจำประโยคเหล่านี้ให้ได้ หลังจากนั้นจึงมาเป่าเป็นโน้ตเพลงให้ออกเสียงตรงกับประโยคเหล่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะไม่มีการเขียนบันทึกโน้ตเพลงเหล่านี้ออกเป็นตัวอักษร ต้องใช้การท่องจำ และจดจำเสียงที่ถูกต้องจากครูเพียงอย่างเดียว ผมฝึกอยู่ปีกว่า กว่าจะเล่นได้เป็นเพลง แต่ก็ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด นอกจากนี้ ยังต้องฝึกเต้นไปด้วย ผมไปเรียนมา 7 ท่า ต้องควบคุมจังหวะลมให้ดี และท่าเต้นต้องได้ด้วย  เวลาซ้อมต้องซ้อมกระโดดด้วยเพื่อให้ลมหายใจคงที่"

ความยากของการฝึกฝนทำให้ผู้เรียนจำนวนมากเกิดความท้อและล้มเลิกไปในที่สุด ชายก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


"ตอนแรกท้อ จะไม่เล่นแล้ว เพราะต้องเรียนทุกวันตอนกลางคืน หลังจากเสร็จงานในไร่นาหรือกลับจากโรงเรียน ไม่งั้นก็จะลืมได้ง่ายๆ เพราะเป็นเสียงที่เราไม่คุ้นเคย เราไม่ได้ใช้ทุกวัน ไม่มีกระดาษเขียน ต้องจำเสียงเอา ถ้าวันรุ่งขึ้นไปโรงเรียนก็ลืมแล้ว ถ้าไม่ได้เรียนต่อเนื่องก็ยาก ผมต้องเข้าไปเรียนในเมือง ช่วงปิดเทอมถึงจะได้กลับบ้านไปเรียนเป่าแคนทำให้ไม่ต่อเนื่อง และคิดอยากเลิกอยู่หลายครั้ง แต่พ่อไม่ให้เลิกเพราะอุตส่าห์ซื้อแคนให้แล้ว"


ผลจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและสภาพเศรษฐกิจบีบรัดทำให้คนม้งรุ่นใหม่โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ค่อยนิยมเป่าแคนเหมือนในอดีต  ต่างจากชาวม้งในจังหวัดเชียงรายและน่านซึ่งปัจจุบันยังมีคนนิยมเล่นเยอะ เพราะทำไร่นาฤดูเดียว หรือมีช่วงเวลาว่างจากไร่นาให้ศึกษาดนตรีมากกว่า ปัจจุบันในจังหวัดเชียงรายและน่านมีโรงเรียนเปิดสอนการเป่าแคนม้งโดยเฉพาะ ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้กันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ชายจะนิยมเป่าแคนม้งมากกว่าผู้หญิงซึ่งมีภารกิจงานบ้านรัดตัว

ปัจจุบัน การเป่าแคนยังคงมีความสำคัญมากในงานศพของชาวม้ง โดยแต่ละงานต้องมีคนเป่าแคนเก่งระดับชั้นครูมาช่วยกันเป่าอย่างน้อยสามถึงสี่คนสลับกัน เพราะต้องมีเสียงแคนบรรเลงตลอดเช้า กลางวัน และเย็นตลอดระยะเวลางานสามถึงสี่วัน ดังนั้น คนเป่าแคนเก่งๆ จะได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมงานศพตามหมู่บ้านชาวม้งเสมอ

เพราะหากไม่มีแคนบรรเลง ดวงวิญญาณที่ล่วงลับของชาวม้งก็ไม่อาจจะเดินทางกลับไปหาบรรพบุรุษที่รออยู่ในอีกภพหนึ่งได้ แคนหรือเฆ่งของชาวม้งจึงเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่ลูกหลานชาวม้งจะต้องร่วมกันสืบทอดต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น