วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

This prison where I live เมื่อตลกต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง

โดย หมอกเต่หว่า

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหนุ่มอเมริกัน หนุ่มอังกฤษ และหนุ่มพม่ามาเจอกันแล้วผลัดกันโอ้อวดความเก่งกาจของชนชาติตนเองหนุ่มอเมริกันเริ่มเป็นคนแรก “ชาวอเมริกันถึงแม้ไม่มีขา แต่ก็พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้วสองครั้ง” ด้านหนุ่มอังกฤษฟังแล้วไม่ยอมน้อยหน้าจึงกล่าวว่า “ชาวอังกฤษถึงแม้ไม่มีแขน แต่ก็ว่ายน้ำไปกลับมหาสมุทรแอตแลนติกมาแล้วสองรอบ” พอได้ฟังสิ่งที่สองหนุ่มโอ้อวดความเก่งกาจกันไปแล้ว หนุ่มพม่าก็ยกความเก่งกาจที่ทำให้เพื่อนทั้งสองต้องอ้าปากค้าง “สู้พวกเราชาวพม่าไม่ได้หรอกขนาดรัฐบาลของเราไม่มีหัว แต่ก็สามารถปกครองประเทศนี้มาอย่างยาวนานถึง 18 ปีเลยทีเดียว”

นี่เป็นอีกมุกตลกหนึ่งของซาร์กานาร์ในสารคดีเรื่อง This prison where I live (เมื่อตลกต้องกลายเป็นนักโทษการเมือง) เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตจริงของศิลปินตลกชื่อดังในพม่าผู้เลือกเดินบนเส้นทาง “ตลกการเมือง” เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนพม่า และเขาต้องตลกไม่ออกเมื่อถูกรัฐบาลจับขังคุกในฐานะนักโทษทางการเมืองเป็นเวลา 35 ปี เพียงเพราะออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิสและประณามรัฐบาลทหารที่ไม่ช่วยเหลือประชาชน

เรื่องราวการต่อสู้ของเขาทำให้ตลกชื่อดังจากเยอรมนีอีกฟากของโลกอย่างไมเคิล มิตเตอร์ไมร์ (Michael Mittermeier)ให้ความสนใจและเริ่มต้นย้อนรอยไปตามหาตัวตนของซาร์กานาร์ถึงพม่า จนกลายเป็นเรื่องราวของสองตลกจากสองชาติที่ไม่เคยพบกันมาก่อน โดยมีเรกส์ บลูมสไตน์ (Rex Bloomstein) ชาวอังกฤษเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ โดยเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อปีที่แล้ว

สารคดีเปิดตัวด้วยภาพของซาร์กานาร์กำลังตีระนาดสลับกับภาพของกองทัพทหารพม่ากำลังสวนสนาม เสียงทุ้มน่าฟังของระนาดและใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุขของซาร์กานาร์ได้ทำให้ภาพของกองทัพพม่าอันน่าเกรงขามดูผ่อนคลาย ไปทันตา ปี 2550 เรกส์ บลูมสไตน์ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ มีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์ซาร์กานาร์อย่างลับๆที่บ้านพักของเขาในย่างกุ้ง “ประชาชนร้องไห้ เรา ร้องไห้ ประชาชนหัวเราะ เราหัวเราะ ประชาชนเกลียด เราเกลียด เราต้องเป็นผู้นำประชาชน เราต้องเสียสละเพื่อประชาชน และผมเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน” นี่คือสิ่งที่ซาร์กานาร์ให้สัมภาษณ์กับเขาในวันนั้น

ซาร์กานาร์หรือชื่อจริงว่า “หม่องธุระ” โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงพม่ามาเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว เขาไม่ได้มีดีแค่เป็นตลกเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับหนัง เขียนบทหนัง ว่ากันว่า ซาร์กานาร์กลายเป็นบุคคลอันตรายสำหรับรัฐบาลและไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของบรรดานายพลทั้งหลายนัก เพราะมุกตลกของเขาส่วนใหญ่มีความหมายในเชิงเสียดสีล้อเลียนรัฐบาลทหารพม่าและการเมืองพม่า แต่ใครจะเชื่อว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยแสดงตลกต่อหน้า นายพลเนวินจนหัวเราะท้องคัดท้องแข็งมาแล้ว แม้ไม่เป็นที่ชื่นชอบจากทหารแต่ตลกผู้นี้กลับนั่งอยู่ในใจของประชาชนคนธรรมดาทั่วไป เพราะเขาเปรียบเหมือน ตัวแทนของชาวบ้าน กล้าพูดในสิ่งที่ชาวบ้านไม่กล้าและพูดแทนสิ่งที่อยู่ในใจของชาวบ้าน ซึ่งก็ตรงกับชื่อในวงการแสดงของเขา “ซาร์กานาร์” ที่มีความหมายในภาษาพม่าว่า “คีมหนีบ” ชื่อนี้มาจากสำนวนของชาวพม่าที่ว่า “เจาก์มวยบ่าซาร์กานาร์เน่โน่” แปลว่า หากเกิดความกลัวขึ้นเมื่อไหร่ คีมหนีบหรือซาร์กานาร์จะดึง ความกลัวให้หายไปในพริบตา เปรียบได้ดั่งตัวเขาที่พร้อมจะมอบความสุข รอยยิ้ม และสลัดความทุกข์และความกลัวให้กับประชาชน

อันที่จริงตลกชื่อดังคนนี้เรียนจบทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและควรจะมีอาชีพทันตแพทย์ตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมาซึ่งดูมั่นคงและมีเกียรติมากกว่า แต่เขากลับเลือกอาชีพเต้นกินรำกินมีรายได้ไม่แน่ไม่นอนแทน “หากผมเป็นทันตแพทย์ ผมก็คงทำได้แค่เปิดปากของคนไข้เท่านั้น แต่อาชีพตลกสามารถทำให้คนเปิดปากหัวเราะและเปิดใจให้กับผู้คนได้ ผมจึงเลือกอาชีพนี้และผมรักอาชีพตลกมากที่สุด ส่วนวิธีถอนฟันผมลืมไปหมดแล้ว” ซาร์กานาร์กล่าวติดตลกระหว่างการบันทึกสารคดีชิ้นนี้

ซาร์กานาร์เคยถูกจับกุมครั้งแรกในปี 2531 หลังจากร่วมเดินขบวนประท้วง กับนักศึกษา โดยเขาถูกจำคุกและถูกปล่อยตัวอยู่หลายครั้งในช่วงเวลานี้ และต้องใช้ชีวิต อยู่ในคุกเป็นเวลา 5 ปี เมื่อเรกส์ถามซาร์กานาร์ว่า เหตุใดจึงให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติอย่างเขาทั้งๆ ที่เขาถูกห้ามจากรัฐบาลพม่า ซาร์กานาร์ตอบทันทีว่า ข้อห้ามดังกล่าวเป็นความคิดของรัฐบาล แต่ไม่ใช่ความคิดของเขา และเขามีสิทธิ์ที่จะพูดกับใครหรือสื่อไหนก็ได้ หากเขาถูกลงโทษเขาก็จะต่อสู้เพื่อสิทธิของเขา ในสารคดีเรื่องนี้ซาร์กานาร์ยังได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องใช้ชีวิตและสิ่งที่เขาเห็นตอนที่อยู่ในคุก รวมไปถึงการถูกทรมานทางร่างกายและจิตใจจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ “ผมบอกตัวเองว่าจะ ตายในนี้ไม่ได้ และจะไม่กลายเป็นคนบ้าอยู่ในคุก ดังนั้นผมจึงควบคุมจิตใจและฝึกฝนสมองอยู่เสมอๆ” นี่คือคำบอกเล่าจากปากซาร์กานาร์

และแม้จะถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2537 แต่ทว่า เขาก็ยังยึดมั่นในประชาธิปไตย และเสรีภาพเหมือนเดิม และเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เส้นทางบันเทิงของชายผู้นี้กลับไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกต่อไปเพราะเขาถูกสั่งห้ามจัดการแสดงตลกบนเวที แม้จะได้รับอนุญาตให้แสดงหนังและกำกับหนังได้ แต่ปี 2549 อาชีพในวงการบันเทิงกลับมืดมัวอีกครั้งเมื่อเขาถูกห้ามแสดง กำกับ และเขียนบท หรือแม้แต่เสียงหรือชื่อของเขาก็ถูกห้ามเผยแพร่ตามสื่อในพม่าหลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเป็นต้นมา

“แม้ว่าจะมีโรงหนังมากมาย แต่ผมกลับถูกห้ามไม่ให้มีส่วนร่วมในหนังแม้แต่เรื่องเดียว อย่างไรก็ตาม ผมไม่โกรธพวกเขา(รัฐบาลพม่า) ที่แบนผม เพราะผมเชื่อว่า ผมต้องทำให้ศัตรูทั้งหมดกลายเป็นเพื่อน”นี่คือคำพูดส่วนหนึ่งของซาร์กานาร์ในสารคดีเรื่องนี้

ต่อมาช่วงเดือนกันยายนปี 2550 ซาร์กานาร์ถูกจับอีกครั้งโดยถูกควบคุมตัวนาน 3 สัปดาห์หลังไปถวายน้ำและอาหารให้กับพระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมประท้วงในปีนั้น “ผมหวังว่าจะได้แสดงบนเวทีให้คุณชมสักวันหนึ่ง” นี่คือสิ่งที่ซาร์กานาร์กล่าวกับเรกส์ บลูมสไตน์ ก่อนที่ทั้งสองจะจากกันในปี 2550 แต่เรกส์กล่าวในสารคดีว่า มันไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างที่ซาร์กานาร์หวังเพราะหลังจากนั้นในเดือนมิถุนายนปี 2551 ซาร์กานาร์ก็ถูกจับกุมอีกครั้งและครั้งนี้ดูจะหนักหนากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา หลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีอีกครั้ง โดยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าที่ล่าช้าในการช่วยเหลือเหยื่อนาร์กิส และเจ้าหน้าที่ได้พบแผ่นซีดีบันทึกภาพงานแต่งงานของลูกสาวนายพลตานฉ่วย และภาพผู้ประสบภัยนาร์กิส รวมถึงซีดีหนังแรมโบ้ 4 ในบ้านพักของเขาซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า นั่นทำให้เขาถูกศาลตัดสิน จำคุก 59 ปี แม้ภายหลังศาลจะลดโทษเหลือ 35 ปีก็ตาม

ภาพตัดกลับมาที่เยอรมนี ผู้ชมจำนวนมากกำลังปรบมือต้อนรับศิลปินตลกชื่อดังที่สุดของเยอรมนีอย่าง ไมเคิล มิตเตอร์ไมร์พร้อมกับมุกตลกล้อเลียนการเมืองของเขา “เป็นเวลา 60 ปีแล้วที่คนทั่วโลกเกลียดชังเราชาวเยอรมัน แต่วันนี้ขอบคุณอเมริกาที่ทำให้โลกเกลียดเราน้อยลงและเกลียดอเมริกาแทน หลังจากที่อเมริกาไปโจมตีอิรัก” ไมเคิลได้รับการติดต่อและชักชวนจากเรกส์ บลูมสไตน์เพื่อทำสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งไมเคิลเองก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของซาร์กานาร์และเขาอยากเป็นตัวแทนเรียกร้องเสรีภาพให้กับศิลปินตลกพม่าผู้นี้ “ไม่ค่อยมีใครรู้จักตลกจากเยอรมนีและพม่า เหมือน กับว่าพวกเรากำลังร่วมแบ่งปันประสบการณ์ จิตวิญญาณ ร่วมกัน สิ่งที่ทำให้ผมสนใจในตัวซาร์กานาร์ก็คือ เขากล้าลุกขึ้นยืนเผชิญหน้ากับรัฐบาลทหาร ผมต้องไปพม่าเพื่อไปให้ใกล้ตัวซาร์กานาร์มากที่สุดและไปเรียนรู้จากเขา” นี่คือคำพูด ส่วนหนึ่งของไมเคิล

และแล้วช่วงต้นปี 2553 การเดินทางสู่พม่าเพื่อถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ก็เริ่มขึ้น สถานที่แรกที่ไมเคิลและเรกส์รวมถึงทีมงานเลือกไปก็คือบ้านของซาร์กานาร์ในกรุงย่างกุ้ง โดยทั้งหมดแอบเข้าไปที่บ้านของซาร์กานาร์อย่างลับๆ “คนที่พาเราไปยังบ้านของซาร์กานาร์ เขาเดินไปที่ประตูบ่อยครั้งเพื่อฟังเสียงว่ามีใครเดินมาที่ประตูหรือเปล่า นี่ไม่ใช่การแสดงแต่นี่เป็นความรู้สึกกลัวจริงๆ” ไมเคิลกล่าวในสารคดี และดูเหมือนว่าการ(แอบ)ถ่ายทำสารคดีครั้งนี้ในประเทศที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกด้านดูจะไม่ง่ายนัก เพราะคนที่รู้จักซาร์กานาร์ทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับทีมงานทั้งที่ก่อนหน้านี้คนเหล่านี้รับปากไว้แล้ว นอกจากนี้ทีมงานยังต้องคอยระวังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารติดตาม เพราะหากเมื่อไหร่ที่ถูกจับได้ว่าแอบมาถ่ายทำสารคดี พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะถูกขังเหมือนชาวพม่าทั่วๆ ไปได้

สถานที่แห่งที่สองที่พวกเขาเลือกไปถ่ายทำก็คือ หอประชุมที่ซาร์กานาร์เคยพาเรกส์ไประหว่างที่ทั้งสองพบกันในปี 2550 “ผมสัมผัส ได้ถึงความกลัว ความรู้สึกกดดันของผู้คนที่นี่” ไมเคิลกล่าว ส่วนสถานที่แห่งสุดท้ายที่พวกเขาเดินทางไปซึ่งถือว่าอันตรายที่สุดก็คือ เรือนจำมิตจีนาในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่ซาร์กานาร์ถูกคุมขัง โดยพวกเขาตั้งใจที่จะไปใกล้เรือนจำให้ได้มากที่สุดเพื่ออวยพรวันเกิดอายุครบ 50 ปีของซาร์กานาร์ “ผมมาถึงที่นี่ ผมอยากเข้าไปทักทายเขา แต่เราทำไม่ได้ ดูเหมือนเราจะห่างกันเพียงแค่นี้ แต่ผมกลับรู้สึกเราห่างไกลกันเหมือนอยู่กันคนละโลก” ไมเคิลกล่าวในระหว่างที่อยู่นอกรั้วของเรือนจำมิตจีนา

แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อทีมงานของพวกเขาอีกกลุ่มถูกทหารพม่าติดตาม แม้พวกเขาจะโชคดีที่สามารถหนีรอดมาได้และไม่มีใครถูกจับ แต่ข่าวร้ายก็คือ ทีมงานในมิตจีนาที่ช่วยเหลือพวกเขาในการถ่ายทำครั้งนี้ต้องหนีออกจากประเทศเพื่อความปลอดภัย และสิ่งที่พวกเขาได้รับรู้มาอีกในภายหลังก็คือ การแอบไปยังบ้านพักของซาร์กานาร์อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอดโดยที่ทีมงานทั้งหมดไม่รู้ตัว และเหตุที่คนใกล้ชิดของซาร์กานาร์ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ก็เพราะถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามไว้

แม้ท้ายสุดไมเคิลจะไม่ได้พบกับซาร์กานาร์และมันทำให้เขาโกรธและเสียใจทุกครั้งเมื่อคิดว่าเหตุใดรัฐบาลจึงต้องคุมขังเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันกับเขาเพียงเพราะพูดความจริงในสิ่งที่รัฐบาลไม่ชอบ แต่การเดินทางไปพม่าครั้งนี้ก็ไม่ได้เสียเปล่า เพราะมันทำให้เขาได้เห็นการต่อสู้ของตลกคนหนึ่งที่ยอมทิ้งและเสียสละทุกอย่างเพื่อประชาชน เพื่อ วันที่ดีกว่าของประเทศพม่า

“ซาร์กานารไม่ใช่แค่ตลก แต่เขาถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติ-ศาสตร์ ที่นี่ผู้นำเผด็จการและทหารกลัวศิลปินเพราะคนเหล่านี้พูดแทน ประชาชนและประชาชนก็ฟังพวกเขา ก็เหมือนกับสิ่งที่ซาร์กานาร์บอกว่า เขาคือกระบอกเสียงของประชาชน ผมดีใจที่ได้มาที่นี่เพราะผู้คนรู้จักซาร์กานาร์ ผู้คนรักเขาและเล่ามุกตลกของเขาได้ ซาร์กานาร์เคยบอกว่า เขาเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน แต่ตอนนี้ผมขอเป็นตัวแทนและกระบอกเสียงให้กับเขาเพื่อให้โลกข้างนอกเรือนจำ โลกข้างนอกพม่ารับรู้เกี่ยวกับเขา ผมหวังให้ซาร์กานาร์โชคดี และหวังว่าสักวันหนึ่งเราสองคนจะได้พบกัน” นี่คือสิ่งที่ไมเคิลกล่าวทิ้งท้ายในสารคดี

แต่สิ่งที่ไมเคิลหวังจะเป็นจริงได้ในเร็ววันนี้หรือไม่ เพราะมีข่าวจากคนในเรือนจำมิตจีนาบอกเล่าต่อกันมาว่า ซาร์กานาร์กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพย่ำแย่อยู่เป็นระยะๆ ซาร์กานาร์เป็นหนึ่งในจำนวนนักโทษการเมืองกว่าสองพันคนที่ถูกจับเพียงเพราะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐบาล หรืออาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลต่างหากที่ไม่ยอมฟังเสียงและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็แสดงให้เห็นว่านอกจาก รัฐบาลพม่าจะกลัวสูญเสียอำนาจแล้ว สิ่งที่พวกเขากลัวก็ยังมีตลกอย่างซาร์กานาร์ที่มุกตลกของเขาสามารถสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าได้เป็นอย่างดี เหมือนมุกตลกส่งท้ายของซาร์กานาร์นี้

ชายคนแรกกล่าวว่า “เราสามารถจับขโมยได้เมื่อคืนนี้”ชายคนที่สองถามว่า “แล้วเรื่องมันเกิดขึ้นได้ยังไง”ชายคนแรกจึงตอบว่า “ก็ตอนที่ไฟดับขโมยมันแอบขึ้นไปอยู่บนหลังคาแต่ทันใดนั้นไฟมา ขโมยจึงกระโดดด้วยความดีใจที่ไฟมาทำให้เขาตกลงมาและทำให้เราจับตัวเขาได้”.

 

(เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 66 (ก.ค. - ส.ค. 54))

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น