วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ล่องกะลาดานเยือนมรัค อู ราชธานีแห่งสุดท้ายของอาณาจักรอาระกัน

ปลายเดือนเมษายน ปากแม่น้ำกะลาดาน เมืองซิตตวย รัฐอาระกัน
แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องกระทบพื้นผิวน้ำเป็นประกายสีทองระยับ เรือลำน้อยใหญ่ที่สัญจรไปมาในท้องน้ำที่กว้างสุดลูกหูลูกตาในเวลานี้ ดูไม่ต่างกับจุดเล็กๆ บนผืนผ้าขนาดใหญ่ หากย้อนเวลาไปในอดีต ผืนแผ่นดินอาระกัน ที่โอบล้อมแม่น้ำสายนี้เคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรือง ว่ากันว่า ในยุคที่เจริญถึงขีดสุด เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศบังกลาเทศเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรแห่งนี้มาแล้ว แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป เหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเพียงอดีต ทว่า ร่องรอยและกลิ่นไอของความรุ่งเรืองยังคงหลงเหลือและรอคอยให้เราสัมผัสอยู่ที่เมือง "มรัค อู" ราชธานีแห่งสุดท้ายของอาณาจักรอาระกัน

เมืองมรัคอูอยู่ห่างจากซิตตวย เมืองหลวงของรัฐอาระกันในปัจจุบันประมาณ 80 กิโลเมตร แต่เนื่องจากสภาพถนนที่ย่ำแย่ ผู้คนจึงนิยม
เดินทางโดยล่องเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 5 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว เราจึงเดินทางโดยเรือกันตั้งแต่เช้าตรู่ เรือยนต์ของเราค่อยๆ แล่นผ่านช่วงปากแม่น้ำที่กว้างสุดลูกหูลูกตาจนน่าตกตะลึง ทั้งคลื่นลมและความกว้างใหญ่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กลางทะเลไม่มีผิด เรามุ่งหน้าเข้าสู่ตัวแม่น้ำกะลาดาน ซึ่งแม้จะแคบกว่าช่วงปากแม่น้ำ แต่บางระยะก็มองเห็นคนที่เดินอยู่อีกฝั่งเท่ามดตัวเล็กๆ

เรือที่สัญจรไปมา มีทั้งเรือยนต์โดยสาร เรือใบ และเรือพายลำเล็ก หลากหลายรูปแบบ ผิวเข้มๆ ของชาวประมงที่โบกมือทักทายเราตัดกับสีทองอร่ามของนาข้าวที่ทอดยาวตลอดสองฝั่ง ความยิ่งใหญ่ของที่นี่ไม่ใช่แค่ขนาดของแม่น้ำอย่างเดียว พื้นที่ปลูกข้าวก็กว้างใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะลุ่มน้ำกะลาดานเป็นอู่ข้าวอู่น้ำซึ่งมีการปลูกข้าวมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากลุ่มน้ำอิระวดี ขนาดเผลอหลับไปไม่รู้กี่ครั้ง ตื่นมาทุกทีภาพที่เห็นทั้งสองฝั่งก็ยังเป็นนาข้าวเหมือนเดิม

หลายชั่วโมงผ่านไป แม่น้ำเริ่มแคบลงทีละนิด สองข้างทางที่เคยเป็นนาข้าวเปลี่ยนเป็นบ้านเรือน เจดีย์ที่เรียงรายอยู่บนเนินเขาบ่งบอกว่าเรามาถึงเมืองมรัค อูแล้ว รวมเวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงพอดิบพอดี

บนตลิ่งใกล้ท่าเทียบเรือมีข้อความ "Welcome to Mrauk U" ต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งในหนังสือหรือในแผนที่ท่องเที่ยวมรัค อูหลายฉบับมักจะมีคำว่า "มเย่าก์ อู" อยู่ในวงเล็บเสมอ นั่นหมายถึงสามารถออกเสียงได้สองแบบ แม้จะหมายถึงสถานที่เดียวกัน แต่ทั้งสองคำก็มี
ที่มาที่ไปที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

คำว่า "มรัค อู"(Mrauk U) เป็นการออกเสียงแบบดั้งเดิมตามภาษายะไข่ แปลว่า "มหานครที่อยู่ทางทิศเหนือ" ส่วนคำว่า "มเย่าก์ อู"(Myauk U) เกิดขึ้นหลังจากอาณาจักรอาระกันตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า เนื่องจากภาษาพม่าไม่มีเสียง "ร" ซึ่งคำว่า "มเย่าก์ อู" ในภาษาพม่ามีสองความหมาย คือ "มหานครที่อยู่ทางทิศเหนือ" และอีกความหมายหนึ่งคือ "ไข่ลิง" อาจจะด้วยเหตุผลทางการเมือง พม่าจึงถือเอาความหมายที่สองเป็นหลัก แถมยังมีการแต่งเรื่องที่เป็นตำนานของชื่อเมืองขึ้นมาใหม่เป็นตุเป็นตะว่า 'นานมาแล้ว มีลิงตัวหนึ่ง
ตั้งท้องกับนกยูง ต่อมาแม่ลิงได้ออกลูกเป็นไข่ และวางไข่ในบริเวณที่เป็นเมืองมรัค อูในปัจจุบัน' สำหรับชาวยะไข่ เรียกว่าเป็นการหยามศักดิ์ศรีอย่างร้ายแรงเพราะนอกจากจะ เสียเมืองแล้ว ชื่อเมืองหลวงยังมาถูกปู้ยี่ปู้ยำอีก บรรดานักวิชาการชาวยะไข่สมัยใหม่ที่รับไม่ได้ก็พากันเขียนบทความทางวิชาการตอบโต้กันยกใหญ่ว่าไม่เป็นความจริง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


รถจี๊ปสีเขียวเข้มรับช่วงต่อพาเรามุ่งหน้าไปยังโบราณสถานคู่บ้านคู่เมือง รถม้าและสามล้อที่จอดรอผู้โดยสารอยู่ข้างทาง ล้อเกวียนบนทางลูกรัง รถโดยสารที่ดัดแปลงจากรถสิบล้อรุ่นแรก สาวยะไข่นุ่งซิ่นประแป้งทะนาคาเทินหม้อน้ำสีเงินบนศีรษะเดินกันเป็นทิวแถว รวมทั้งองค์เจดีย์ที่รายล้อม สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อมองไปรอบๆ บริเวณ รถของเราท่าทางจะทันสมัยที่สุดแล้วในละแวกนี้

หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวในมรัค อู คือ เจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์รวมแล้วหลายสิบแห่ง ซึ่งอาจมีไม่มากเท่าดงเจดีย์ที่เมืองพุกาม
แต่ความพิเศษอยู่ที่จำนวนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์เหล่านั้น หากนำตัวเลขทั้งหมดมารวมกันแล้วมีจำนวนเหยียบหลักแสนเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะดินแดนยะไข่รับเอาพุทธศาสนาเข้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวยะไข่และกษัตริย์จึงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การสร้างศาสนสถานและพระพุทธรูปส่วนหนึ่งยังเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองอีกด้วย อย่างเช่น เจดีย์ชิตตอง (Shittaung) ที่อยู่เบื้องหน้าเราขณะนี้

แดดจัดยามบ่ายและพื้นหินที่ร้อนระอุบังคับให้เราเร่งฝีเท้าเพื่อเข้าที่ร่มโดยอัตโนมัติ สวนทางกับเด็กๆ ที่กำลังวิ่งลงบันไดออกไปด้านนอก เท้าเล็กๆ เหยียบย่ำลงบนพื้นหินกลางแดดจ้า แต่ในมือยังคงถือรองเท้าแตะของตัวเอง แม้จะไม่มีผู้ใหญ่คอยถือไม้เรียวดูอยู่แถวนั้น แต่ก็ไม่มีใครลักไก่สวมรองเท้าจนกว่าจะก้าวพ้นบันไดขั้นสุดท้าย นี่คือธรรมเนียมปฏิบัติของคนที่นี่ที่จะไม่สวมรองเท้าเข้าไปในศาสนสถานอย่างเด็ดขาด แม้แต่เด็กๆ

อุณหภูมิด้านในเจดีย์ชิตตองแตกต่างจากด้านนอกอย่างสิ้นเชิง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่กำลังประชุมกันอยู่ภายในวิหารซึ่งเป็นห้องโถงหลังคาสูงโดยไม่ต้องง้อพัดลม สิ่งที่ทำให้ในอาคารเย็นเนื่องจากตัวผนังเป็นหินทราย ซึ่งกษัตริย์มินบินที่ว่ากันว่าเรืองอำนาจมากที่สุดในราชวงศ์มรัค อู สร้างขึ้นโดยใช้ฝีมือของช่างและแรงงานนับพัน เป็นการเฉลิมฉลองหลังจากสามารถต้านทานการรุกรานของโปรตุเกสได้สำเร็จ ส่วนคำว่า ชิตตอง แปลว่า แปดหมื่น ตามจำนวนพระพุทธรูปองค์ใหญ่น้อยที่ประดิษฐานอยู่ในห้องและตามช่องกำแพงทั่วเจดีย์  ด้านในเป็นทางเดินวกวนรอบอาคารคล้ายที่หลบภัยจากข้าศึก แต่ข้อมูลตามที่มีการจารึกไว้ยืนยันว่าจุดประสงค์ของการสร้างแท้จริงแล้วเป็นสถานที่สวดมนต์ภาวนา ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของกษัตริย์

ส่วนเจดีย์อีกแห่งที่เราได้ไปเยือนซึ่งมีชื่อเป็นตัวเลขเหมือนกัน คือ เจดีย์โกตอง (Kotaung) คำว่า โกตอง แปลว่า เก้าหมื่น ตามจำนวนพระพุทธรูปที่ประดิษฐาน ด้านนอกมีลักษณะเหมือนขั้นบันไดและมีเจดีย์องค์เล็กๆ จำนวนมากเรียงรายกันเป็นชั้นๆ เป็นฐานรองรับเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลาง ส่วนผู้ที่สร้างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นกษัตริย์มินไต้ก์ก๊ะ พระโอรสของกษัตริย์มินบินผู้สร้างเจดีย์ชิตตองนั่นเอง ซึ่งกษัตริย์มินไต้ก์ก๊ะสร้างขึ้นหลังจากสืบราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์มินบิน ทว่า ครั้งหนึ่งเจดีย์โกตองเคยถูกฟ้าผ่าลงมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยทำให้บางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้คนต่างเชื่อว่าเป็นเพราะกษัตริย์มินไต้ก์ก๊ะต้องการมีอำนาจเหนือบิดาจึงสร้างเจดีย์ที่มีจำนวนพระพุทธรูปมากกว่า ทำให้เกิดเหตุอาเพศดังกล่าวขึ้น

หากจะพูดถึงจำนวนพระพุทธรูป เจดีย์โกตองเหนือกว่าเจดีย์ชิตตองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ความแข็งแกร่งอาจเป็นรองอยู่มากเพราะกษัตริย์มินไต้ก์ก๊ะเชื่อโหรมากกว่าช่าง เวลานั้น โหรได้บวกลบคูณหารคำนวณระยะเวลาที่ควรใช้ในการก่อสร้างตามหลักโหราศาสตร์แล้ว
ออกมาเป็นหกเดือน แม้บรรดาช่างจะพากันปวดหัวเพราะในสมัยนั้นต้องนำหินทรายมาจากเกาะซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่มีใครกล้าขัดจึงต้องใช้วิธีนำอิฐดินเผาเข้ามาผสมเพื่อเร่งให้เสร็จตามกำหนด ความแข็งแกร่งทนทานและคุณภาพจึงด้อยกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงอย่างนั้น เจดีย์แห่งนี้ก็เรียกได้ว่ามีความสวยงามและเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

หากต้องการชมเจดีย์โกตองและทิวทัศน์ในมุมสูง ต้องขึ้นไปบนเนินเขาปีซี(Pizi) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์โกตองนัก จากจุดนี้ เมื่อมองลงมาจะเห็นเจดีย์โกตองตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของเรือกสวนไร่นาที่มีทิวเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง นอกจากจะเป็นจุดชมวิวมุมสูงแล้ว บนเนินเขาปีซียังมีพระพุทธรูปหินโบราณประดิษฐานอยู่กลางแจ้งแต่สภาพค่อนข้างทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงบ่ายแก่ๆ แล้ว แต่อากาศในเมืองมรัค อูยังไม่ลดดีกรีความร้อนแรง สาวๆ พากันไปตักน้ำที่บ่อที่มีอยู่เดินเฉิดฉายผ่านเจดีย์อันดอว์(Andaw) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าที่กษัตริย์มินบินนำมาจากศรีลังกา เราเดินทางต่อไปยังเจดีย์ทกขันเต่ง (Htukkanthein) ซึ่งตามความหมายของชื่อหมายถึง อุโบสถที่มีคานเป็นโครงสร้าง เจดีย์แห่งนี้ใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฟังดูอาจไม่ต่างจากเจดีย์แห่งอื่นในละแวกนี้เท่าไหร่แต่ความน่าสนใจอยู่ที่รูปปั้นแกะสลักของผู้หญิงที่กำลังบูชาพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในช่องตามผนัง ว่ากันว่า สตรีเหล่านี้คือภรรยาของบรรดาขุนนางที่มีทรงผมแตกต่างกันไปถึง 64 แบบ เรียกได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์แฟชั่นที่ซ่อนอยู่ในศาสนสถานที่เราคาดไม่ถึง
เราเดินทางกลับเมืองซิตตวยในวันรุ่งขึ้น แต่ดูเหมือนลมฟ้าอากาศจะไม่ค่อยเป็นใจสักเท่าไหร่ เพราะท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆหนาทึบ สายฝน เริ่มโปรยปราย คลื่นลมพัดกระหน่ำมาเป็นระยะๆ ซึ่งบางช่วงก็ทำให้เรือโคลงเคลงและน้ำกระเซ็นเข้ามาในเรือราวกับอยู่ในทะเลช่วงมรสุม แต่ในที่สุด เราก็มาถึงเมืองซิตตวยโดยสวัสดิภาพ เราเดินลงจากเรือเดินขึ้นฝั่งด้วยความดีใจและโล่งใจ เหมือนรอดชีวิตจากการผจญภัยบางอย่างลมเย็นๆ พัดโชยเข้ามาแทนที่ความร้อนระอุจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้ลับขอบฟ้า ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางมาทั้งวันทำให้เราต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ ขณะที่ปีนขึ้นบันไดหลายสิบขั้นเพื่อขึ้นไปยังเนินเขาฉ่วยตอง (Shwe Taung) หรือ ภูเขาทอง ตามความหมายของชื่อ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของบริเวณนี้และสามารถมองเห็นยอดเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาแห่งนี้จากแม่น้ำกะลาดาน เด็กๆ ชาวยะไข่สิบกว่าคนขึ้นมาชมทิวทัศน์ยามเย็นของเมืองมรัค อูพร้อมๆ กับเรา ยอดแหลมของเจดีย์น้อยใหญ่ผุดขึ้นเป็นระยะๆ ท่ามกลางแมกไม้ที่เขียวขจี เป็นภาพสวยงามและเงียบสงบราวกับภาพวาด ดวงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้าเช่นเดียวกับเราที่ต้องจากสถานที่แห่งนี้ไปในวันรุ่งขึ้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


แสงสว่างค่อยๆ เลือนหายไปจากท้องฟ้าทีละนิด ป่านนี้ความเงียบสงัดคงปกคลุมทั่วเมืองในมรัค อูแล้ว ในขณะที่ซิตตวยยังคงเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว รถกระบะพาเรามุ่งหน้าไปยังโรงแรมกลางเมืองที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของเมืองซิตตวย กลุ่มชายฉกรรจ์นับสิบช่วยกันแบกเสลี่ยงบรรจุร่างไร้วิญญาณของใครบางคนจากโรงพยาบาล วิ่งฝ่าผู้คนที่เดินขวักไขว่บนท้องถนนเพื่อนำกลับไปประกอบพิธีกรรมที่บ้าน ทันทีที่เปิดประตูลงจากรถ เราก็ถูกห้อมล้อมไปด้วยมือผอมเกร็งหลายคู่ที่ยื่นมาพร้อมสายตาอ้อนวอน สำหรับพวกเขา ความยิ่งใหญ่ใดๆ ในอดีตก็คงไม่อาจเรียกร้องความสนใจได้เท่ากับเศษเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวในเวลานี้

หากมรัค อูคือตัวแทนของอดีตและซิตตวยเป็นตัวแทนของปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวในซิตตวยกระชากเราจากอดีตอันหอมหวานในมรัค อูให้กลับมายังโลกแห่งความจริงในปัจจุบันอีกครั้งอย่างไม่ทันตั้งตัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น