วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

พิธีกินข้าวใหม่ ตัวตนที่ไม่เคยเลือนหายของชาวคะฉิ่น

โดย ฐิรติ วสุนธรา



ต้นฤดูหนาวกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ณ บ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาวจ.เชียงใหม่ ชุมชนกลางขุนเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวคะฉิ่นเกือบพันชีวิตที่อพยพมาจากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่าเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ในยามค่ำคืนหมู่บ้านเล็กๆถูกปกคลุมไปด้วยความมืด ลมหนาวพัดพาเอาความเย็นมาปะทะร่างกายเป็นระยะๆ แม้เวลานี้จะล่วงเลยมาถึงสี่ทุ่มแล้ว แต่บรรยากาศไม่ได้เงียบเหงาเหมือนทุกวัน บ้านหลายหลังกลับคึกคักไปด้วยเสียงหัวเราะพูดคุยของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้เจอกันเป็นเวลานาน เพราะต้องจากบ้านไปทำงานในตัวเมือง แต่ในวันนี้ หลายคนต่างพร้อมใจกันเดินทางกลับบ้านเพื่อเตรียมงานสำคั¬ประจำปีที่จะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น นั่นคือ “พิธีกินข้าวใหม่” หรือ ในภาษาคะฉิ่นเรียกว่า “อึนลง อึนนัน เจซูดัมปอย”

สาวชาวคะฉิ่นอธิบายความเป็นมาของพิธีกินข้าวใหม่ให้ผู้มาเยือนฟังว่า เป็นพิธีฉลองการเก็บเกี่ยวและแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าที่ได้มอบผลผลิตและอาหารที่อุดมสมบูรณ์แก่เขาตลอดทั้งปี ซึ่งจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เดิมทีนั้นชาวคะฉิ่นนับถือผีบรรพบุรุษแต่ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ พิธีกรรมที่เป็นการเคารพภูตผีวิญญาณก็เปลี่ยนมาเป็นการสรรเสริญขอบคุณพระเจ้าแทน โดยจัดขึ้นในวันเดียวกับวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ของชาวคริสต์ทั่วโลก

 

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธีก็คือ ผลผลิตแรกจากไร่นาที่ดีที่สุดอย่างละเล็กละน้อย ทุกครอบครัวจะร่วมใจกันนำมาถวายและตกแต่งอย่างสวยงาม แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วิถีเมืองเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น



คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นเกษตรกรดังเช่นรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผัก ผลไม้ รวมถึงข้าวของที่จำเป็นบางอย่างก็ซื้อหามาแทน เช่น นมกล่อง ผลไม้กระป๋อง น้ำมันพืช แต่ทั้งหมดก็นำมาด้วยความตั้งใจ
บรรยากาศคืนก่อนถึงวันพิธีที่โบสถ์ดูจะวุ่นวายเล็กน้อยเพราะดอกไม้สำหรับตกแต่งสถานที่เพิ่งเดินทางมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ในเวลาพลบค่ำ กลุ่มสาวๆ ต้องรีบช่วยกันจัดช่อดอกไม้เพื่อนำไปจัดวางตามจุดต่างๆ ให้ทันการก่อนรุ่งเช้า ส่วนในครัวก็กำลังง่วนกับการเตรียมวัตถุดิบที่ได้จากการร่วมใจของชาวบ้านที่นำผลผลิตที่ได้จากไร่นา ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร ผักสด และเนื้อสัตว์ ทั้งหมดถูกลำเลียงมายังครัวที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากตัวโบสถ์เล็กน้อย การเตรียมงานเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแต่ละคนแทบไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยให้เห็นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังแบ่งปันรอยยิ้มให้กับคนต่างถิ่นที่มาเยือนอย่างเป็นกันเอง

นักดนตรีชาวคะฉิ่นนั่งล้อมรอบกองไฟบรรเลงเพลงภาษาคะฉิ่นขับกล่อมให้เคลิบเคลิ้ม ท่ามกลางดวงดาวนับพันส่องสว่างอยู่บนท้องฟ้าที่มืดสนิท แม้แสงดาวไม่สว่างพอให้มองเห็นบรรยากาศรอบตัวโบสถ์ได้ชัดเจนแต่เชื่อว่าเช้าวันรุ่งขึ้น ทุกสิ่งจะปรากฏขึ้นอย่างสวยงามด้วยความร่วมมือของทุกคน



วันรุ่งขึ้นชาวบ้านตื่นมาเตรียมความพร้อมอีกครั้งตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น จนกระทั่งท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นอย่างช้าๆ หมอกจางๆ ที่ปกคลุมอยู่เหนือยอดไม้เริ่มสลายตัวไปพร้อมกับอากาศเย็นที่ถูกละลายด้วยแสงแดดบนลานกลางบ้าน เด็กผู้หญิงวัยกำลังซนสามคนง่วนอยู่กับการแต่งตัวขณะที่คนหนึ่งกำลังใส่เสื้อ อีกคนก็นั่งนิ่งเพื่อให้แม่แต่งหน้า ดูเหมือนพวกเธอสนุกกับการแต่งตัวครั้งนี้มาก ซึ่งไม่ต่างกับทุกคนในบ้านที่พร้อมใจกันใส่ชุดประจำเผ่าเพื่อไปร่วมพิธีที่โบสถ์ซึ่งกำลังจะเริ่มในไม่ช้า

โบสถ์ของหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ มีทางลูกรังทอดยาวไปถึงตัวโบสถ์ นาข้าวที่อยู่บริเวณริมทางมีร่องรอยของการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้ถูกแทนที่ด้วยทุ่งดอกหญ้าสีเหลืองนวลตา ทิวทัศน์โดยรอบรายล้อมไปด้วยภูเขาที่ทอดตัวยาวไม่สิ้นสุด ประหนึ่งวอลเปเปอร์ที่สร้างสรรค์จากธรรมชาติพร้อมอวดความสวยงามโดยปราศจากตึกสูงมาบดบังให้รำคาญตา ลานด้านหน้าโบสถ์มีซุ้มประตูโค้งที่ทำจากไม้ไผ่ประดับด้วยต้นกล้วยและดอกไม้ด้วยฝีมือการตกแต่งเมื่อคืน

หน้าซุ้มประตูมีคุณลุงและคุณป้าในชุดประจำเผ่าคอยต้อนรับ แขกเหรื่อและชาวบ้านที่เริ่มทยอยกันมาเรื่อยๆ บ้างก็หอบลูกจูงหลาน เดินมากันเป็นขบวน บ้างก็ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถมากัน เด็กๆ จับกลุ่มพากันวิ่งเล่นอยู่รอบบริเวณส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว คุณป้าลุยามที่อพยพมาจากพม่าอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านบอกว่า ปีนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ต้อนรับผู้ที่มาร่วมพิธีร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน แต่ถึงแม้ไม่ได้รับหน้าที่นี้ก็จะมาช่วยงานอย่างอื่นตลอด และดีใจที่มีคนมาร่วมพิธีเยอะ คุณป้ากล่าว
ด้วยรอยยิ้ม



เก้าโมงตรง คุณลุงท่านหนึ่งผละจากงานต้อนรับแขกเดินตรงไปตีระฆังที่แขวนอยู่บนราวเหล็กหน้าโบสถ์ จนเสียงดังทั่วบริเวณเพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า พิธีกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว สิ้นเสียงระฆังได้ไม่นานนัก บรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ในชุดประจำเผ่าด้วยเสื้อแขนยาวสีดำประดับด้วยกระดุมเงิน นุ่งผ้าซิ่นสีแดงปักลายสลับสีเหลืองสะดุดตา ยกตะกร้าไม้ไผ่ทรงสูง (คล้ายตะกร้าเก็บใบชา ใช้สายคาดไว้กับศีรษะเวลายก) ที่บรรจุพืชผลต่างๆไม่ว่าจะเป็นฟักทอง กล้วย มะละกอ ถั่วฝักยาวและที่ขาดเสียไม่ได้คือรวงข้าวสีเหลืองทอง เมล็ดข้าวอวบอ้วนไร้ที่ติ ประดับตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้ ยืนเรียงแถวอยู่หน้าโบสถ์ โดยมีวงดนตรีบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านคะฉิ่นอยู่ท้ายแถว เสียงของศาสนาจารย์ประจำโบสถ์ประกาศข้อพระธรรมพร้อมทั้งนำแถวขบวนพืชผักก้าวเข้ามาในโบสถ์เป็นการเริ่มพิธี

 

ด้านหน้าเวทีมีโต๊ะที่ถูกจัดวางด้วยข้าวสารและผักผลไม้หลายชนิดส่วนตะกร้าที่แบกมาโดยผู้หญิง ก็จะมีชายหนุ่มทำหน้าที่รับไปวางไว้บนโต๊ะเช่นเดียวกัน จากนั้นทุกคนจึงร่วมกันอธิษฐานขอบคุณพระเจ้าและขอพรซึ่งเป็นไปอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง มีการแสดงจากเด็กๆ ทั้งการร้องเพลงประสานเสียง กล่าวคำสุภาษิตคะฉิ่น พร้อมแทรกมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากผู้ที่มาร่วมพิธีเป็นระยะๆ นอกจากนั้นยังมีแขกจากคริสตจักรในหมู่บ้านใกล้เคียง ร่วมแสดงการร้องเพลง น่าชื่นชมในความตั้งใจของนักร้องไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพทุกท่านที่ขับร้องด้วยความศรัทธาส่งไปถึงทุกคนที่นั่งฟัง ซึ่งล้วนสัมผัสได้ถึงความไพเราะด้วยใจ



พิธีในโบสถ์สิ้นสุดลงในเวลาเลยมื้อเที่ยงเล็กน้อย  แขกและชาวบ้านต่างรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเมนูทั้งหมดปรุงจากแม่ครัวชาวคะฉิ่น มีทั้งน้ำพริกรสชาติจัดจ้าน แกงเผือกที่ต้มจนเปื่อยนุ่มลิ้นแทบไม่รู้เลยว่าที่ละลายอยู่ในปากคือเผือก และคั่วไก่สมุนไพรหม้อใหญ่ที่แม่ครัวใหญ่ ประจำงานบอกว่า เป็นไก่ที่ชาวบ้านนำมาให้ บ้านละหนึ่งถึงสองตัว บ้านไหนมีมากก็ให้มากและให้ด้วยความเต็มใจไม่ต้องซื้อหา ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ได้ลิ้มลองอาหารคะฉิ่น บอกตามตรงโดยไม่ได้รับค่าโฆษณาว่าอร่อยเกินกว่าจะบรรยาย ตบท้ายมื้ออาหารด้วยน้ำมะนาวหวานอมเปรี้ยวที่เหล่าน้องๆ นักเรียนช่วยกันเสิร์ฟอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

หลังมื้ออาหาร คุณลุงมะก่ำประธานจัดงานในปีนี้บอกว่า ปีนี้ถือเป็นงานใหญ่สำหรับหมู่บ้านเพราะได้เชิญแขกจากหลายคริสตจักรมาร่วมพิธี ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ตื่นตัวและพร้อมใจร่วมมือกันจัดงานทำให้งานผ่านไปได้ด้วยดีจึงไม่มีปัญหาใดๆ ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ ความสามัคคีในชุมชน รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ก็ได้สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมา เป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตน สังเกตได้จากเสื้อผ้าที่พวกเด็กๆ สวมใส่ ถึงแม้บางคนจะไม่ใส่ชุด
ประจำเผ่าเต็มยศแต่ก็จะมีเครื่องประดับที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือคะฉิ่น เด็กผู้ชายวัยรุ่นหลายคนแม้แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตกางเกงยีนส์แต่ก็ยังนำผ้าโพกศรีษะลายสก๊อตสีแดงสลับดำแบบคะฉิ่นมาสวมไว้

 

“นั่นแสดงให้เห็นว่าเอกลักษณ์ของชนเผ่ายังไม่เลือนหายไป แค่นี้ลุงก็มีความสุขแล้ว” คุณลุงกล่าวทิ้งท้าย

แดดยามบ่ายเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้นจนลืมไปว่าอากาศเมื่อคืนเป็นอย่างไร ชาวบ้านและแขกในงานเริ่มทยอยเดินทางกลับ คุณลุงและคุณป้า ผู้่ต้อนรับก็ปฏิบัติหน้าที่จนจบงาน อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งกล่าวคำอวยพรและส่งแขก อาจเพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นมาจากใจทั้งสิ้น

ด้วยความสงสัยว่าพืชผลต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาร่วมในพิธีจะเดินทางไปไหนต่อ ผมจึงกลับเข้าไปในโบสถ์อีกครั้ง แล้วก็ได้ความกระจ่างจากอาจารย์หญิงนานตวัน ซึ่งเป็นผู้เชื้อเชิญให้มาร่วมพิธีในครั้งนี้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านนำมาจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ทำงานในโบสถ์ หรือเรียกอีกอย่างว่าผู้ที่รับใช้พระเจ้า เช่นภารโรง แม่บ้าน แม้กระทั่งครูสอนศาสนาและเพื่อนจากคริสตจักรที่มาร่วมพิธีก็จะแบ่งปันกันไป ไม่มีชาวบ้านคนไหนมาเอาของที่ตัวเองถวายกลับบ้าน จะมีก็เพียงแต่ตะกร้าเปล่าเท่านั้นที่พวกเขาจะขอกลับคืน

ในระหว่างที่เดินทางกลับ ภาพที่ชัดเจนสำหรับหมู่บ้านคะฉิ่นก็คือการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีแต่รอยยิ้มอยู่บนใบหน้า ไม่ว่าอากาศจะร้อนหนาวอย่างไรก็ไม่ทำให้อ่อนล้า พวกเขายังคงดำเนินตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งหมู่บ้านคะฉิ่น ที่ต้องการรักษาประเพณีดั้งเดิมไม่ให้เลือนหายไป

แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแนวทางการทำมาหากิน เข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น แต่ความผูกพันที่มีก็ดึงให้พวกเขากลับมาหารากเหง้าอย่างภาคภูมิใจและพร้อมจะอวดทุกคนที่มาเยือนว่า พวกเขาคือ “คนคะฉิ่น” ที่มีวิถีชีวิตงดงามไม่น้อยหน้าชนเผ่าใด.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น