วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ย่างกุ้งริมทาง

จิตติมา ผลเสวก

แม้จะเป็นคราที่สามที่ได้มายืนอยู่บนแผ่นดินพม่า ทว่าความตื่นเต้นดูเหมือนจะยังคงระดับใกล้เคียงกับคราแรกที่ได้มาถึงประเทศนี้ อาจจะตื่นเต้นเพราะการเมืองที่แปลกประหลาดและตื่นเต้น เพราะเป็นประเทศที่ดูเหมือนว่ามีหลาย สิ่งอย่างอยู่หลังประตู ซึ่งคนภายนอกยากจะคาดเดาและเข้าถึง

แต่การเดินทางมาพม่าครั้งนี้ แรกที่ก้าวเท้าสู่สนามบินมินกะลาดงฉันกลับรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งก่อสร้างที่เรียกว่าสนามบินแห่งนี้ กว้างขวางโอ่โถงขึ้น กลิ่นอายใหม่ๆ อวลอบอยู่ทั่ว บรรยากาศต่างกับครั้งแรกและครั้งสอง เมื่อหลายปีก่อน สนามบินมินกะลาดงมีสภาพเก่าและคับแคบกว่าเดี๋ยวนี้มากนัก

“ย่างกุ้งเปลี่ยนไปนะ”
ฉันพูดเมื่อปะหน้ายูวินหม่อง เพื่อนชาวย่างกุ้งที่มารอรับอยู่ด้านหน้าอาคารสนามบิน เขาเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์และศิลปิน
“อาจจะเปลี่ยนแต่ตัวสนามบิน” ยูวินหม่องหัวเรา

ครั้นนั่งรถออกมาจากบริเวณสนามบินได้สักพัก ฉันก็เริ่มเห็นด้วยกับคำพูดของยูวินหม่อง ภาพที่เคยคุ้นเมื่อหลายปีก่อนค่อยๆ ทยอยเรียงรายผ่านสายตา สถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียน มรดกของนักล่าอาณานิคมเบียดแทรกกับอาคารบ้านเรือนชาวพม่าเป็นระยะ ร้านค้าเล็กๆ ตั้งอยู่ริมทางผู้คนผิวคล้ำหน้าเข้มแต้มแต่งด้วยทานาคา นุ่งผ้า(ลองจี)กรอมเท้าเดินสวนกันไปมาแต่เมื่ออยู่ย่างกุ้งเข้าวันที่สาม ฉันก็กลับมาเห็นอีกว่าเปลี่ยนไป ย่างกุ้งเปลี่ยนไป จากหน้าตารถราบนถนนซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่รถเก่าใกล้ปลดระวาง แต่ตอนนี้มีรถใหม่ๆ หนาตาขึ้น

ครั้งแรกศิลปินชาวสิงคโปร์ที่เชิญฉันมา เป็นศิลปินพำนักที่พม่า เคยบอกว่ารถรุ่นใหม่ราคาแพงๆ ที่เห็นแล่นปรู๊ดปร๊าดอยู่บนถนนย่างกุ้งนั้น
มีอยู่ไม่กี่คันหรอก เขาจำได้ทุกคัน ครั้งที่ 2 เมื่อฉันกลับมาพม่าอีกครั้งศิลปินชาวสิงคโปร์คนเดิมก็บอกว่าปีนี้ที่ย่างกุ้งมีรถใหม่ราคาแพงเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่เป็นรถของนักลงทุนชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีนน่าจะมากที่สุด

นอกจากนักลงทุนจะมากมายแล้ว ความช่วยเหลือต่างๆ ที่จีนเทให้พม่าก็มหาศาลบานเบอะ เหลียวไปทางไหนก็เห็นความเป็นจีนแปะอยู่ตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด อีกไม่นานสถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียนของเจ้าอาณานิคมจากยุโรปอาจจะถูกลบเลือน  กรุงย่างกุ้ง หรือ ดะกอง ในสำเนียงชาวพม่า หมายถึงสิ้นสุดการต่อสู้  การยุติสงคราม อีกนัยหนึ่งคือการพ่ายแพ้ของเหล่าศัตรู เป็นชื่อที่ได้มาในยุคราชวงศ์อลองพญาสถาปนาเมืองนี้ขึ้นเป็นเมืองสำคัญของประเทศพม่าจากอดีตที่เคยเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ปากแม่น้ำย่างกุ้ง

กรุงย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของพม่ามาอย่างยาวนาน กระทั่งปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างเมืองปีนมะนาขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ แต่
ทุกวันนี้ฉันออกจะเชื่อว่าย่างกุ้งยังเป็นเมืองหลวงในความรู้สึกของคนทั่วไปเป็นเมืองสำคัญในจิตใจของชาวพม่า เช่นเดียวกับที่มหาเจดีย์ชเวดากองสถิตย์ศรัทธาเคียงคู่กรุงย่างกุ้ง

แม้ว่าฉันจะไม่ใช่คนที่นิยมเที่ยวเทียวไปตามวัดวา หรือต้องหาไหว้พระให้ครบตามจำนวนเท่านั้นเท่านี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ทว่า ทุกครั้งที่มาพม่าฉันต้องหาเวลามากราบพระที่มหาเจดีย์ชเวดากอง ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเขา แม้ต้องจ่าย 5 ดอลลาร์ ตามราคาชาวต่างชาติก็ไม่รู้สึกเสียดายเงินแม้แต่น้อย ด้วยความยิ่งใหญ่งดงามของมหาเจดีย์ และที่เหนือกว่าความอลังการเห็นจะเป็นภาพชีวิตของชาวพม่าที่มาด้วยแรงศรัทธาเต็มหัวใจ

ฉันสุขใจที่ได้เฝ้ามองผู้คนในอิริยาบถต่างๆ กัน บ้างเปลือยตีนย่ำเท้าจงกรมไปรอบมหาเจดีย์ แม้ตะวันตรงหัวสาดแสงแรงกล้าก็ไม่ย่อท้อต่อความร้อนที่แผดเผา บ้างนั่งสวดมนต์นับลูกประคำอยู่กลางลาน ดิ่งลึกสู่สมาธิอย่างไม่แยแสความเป็นไปรอบข้าง

บางทีฉันย้อนนึกถึงคำถามของคนภายนอกอย่างเราๆ ว่า ชาวพม่าเขาทานทนต่อระบอบการปกครองของประเทศตนเองได้อย่างไร คำตอบอาจจะอยู่ตรงนี้นี่เอง จิตศรัทธาที่ลึกซึ้งต่อพระพุทธศาสนา ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความพอต่อสิ่งที่ได้รับ ซึ่งที่สุดมันอาจจะกลายเป็นการจำนน ทนก้มหน้าฝืน และคิดว่าทุกอย่างเป็นกรรมที่พวกเขาต้องแบกรับมันแต่หากว่าผู้ปกครองประเทศมีหัวใจศรัทธาเดียวกับประชาชนชาวพม่าเข้าถึงพุทธศาสนาอย่างแท้จริง วันนั้น ประชาชนชาวพม่าคงได้ปลดปล่อยตัวเอง

ตามที่รู้มา นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาพม่าโดยมากมักจะมุ่งไปเที่ยวตามวัดต่างๆ ทำบุญ ดูหมอ จากนั้นก็ไปหาซื้อของที่ตลาดโปจ๊ก นักท่องเที่ยวชาวไทยลือชื่อในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย จนพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดโปจ๊กต่างพากันหัดพูดภาษาไทยและบางร้านยินดีรับธนบัตรไทย

แต่สำหรับฉัน นอกจากมหาเจดีย์ชเวดากองแล้ว ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะไปเที่ยววัดที่ไหนอีก ฉันชอบที่จะเสาะหาแกลเลอรี่หรือสถานที่อันเกี่ยวแก่งานศิลปะด้วยอยากจะรู้จักแวดวงศิลปะศิลปินของเขาแล้วก็ชอบที่จะเดินไปตามถนนหนทาง แม้ว่าอากาศเมืองย่างกุ้งจะไม่น่าพิศสมัยเท่าไรนัก ด้วยเครื่องยนต์รถเก่าหมดสภาพกับน้ำมันคุณภาพไม่ได้มาตรฐานพ่นควันไอเสียคลุ้งไปทั่วบรรยากาศ

ริมทางข้างถนนกรุงย่างกุ้งมีเรื่องราวและสีสันมากหลาย ตามย่านชุมชนจะมีตลาดเล็กๆ ริมทางที่แม่ค้าพ่อค้าจะนำข้าวของมาวางขายในช่วงเช้าตรู่หรือยามเย็น มีทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแพะ และปลาสดๆ จากแม่น้ำย่างกุ้ง สมกับที่เป็นเมืองประมงเก่าแก่ นอกจากนี้ยังมีผักหลากหลายประดามี

ผักบางชนิดเหมือนที่มีปลูกในเมืองไทย ผิดกันที่ขนาดเท่านั้นเอง  ไม่แน่ใจว่าเป็นที่เชื้อพันธุ์ ดินฟ้าอากาศ หรือว่าปุ๋ยกันแน่ ที่ทำให้ผักของพม่ามีขนาดใหญ่โตกว่าของไทยเรามากนัก อาหารสดของพม่าราคาถูก ด้วยเหตุนี้กระมังชาวพม่าจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้กับด้วยค่าตอบแทนรายวันรายเดือนที่แสนต่ำ และอีกวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้คนทำงานคือการนำข้าวปลาอาหารจากบ้านไปกินที่ทำงาน ภาพชาวพม่าหิ้วปิ่นโตเดินอยู่ตามถนนเป็นภาพวิถีชีวิตปกติ แทบจะไม่มีใครหิ้วถุงพลาสติกใส่อาหารเป็นพวงเต็มไม้เต็มมือ

ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังรณรงค์อย่างเอาเป็นเอาตายให้ลดการใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกใส่ของเพื่อลดภาวะโลกร้อน พม่าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ควรส่งเสริมนอกจากจะหิ้วปิ่นโตหรือกล่องข้าวกันเป็นปกติวิสัย แม่บ้านพ่อบ้านที่มาจ่ายกับข้าวในตลาดยังหิ้วตะกร้ามาใส่ข้าวของกันเป็นเรื่องธรรมดาอีกด้วย โดยไม่ต้องรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด ทว่า ภาพเหล่านี้ก็อาจจะหายไปในวันหนึ่ง เหมือนๆ กับที่เคยมีอยู่และหายไปจากวิถีชีวิตในบ้านเรา เมื่อสิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่าการพัฒนาโถมเข้ามา นักการตลาดนักการค้าก็พร้อมที่จะนำสิ่งใหม่ที่เขาขายได้เข้ามานำเสนอ

ภาพในจินตนาการของนักท่องเที่ยวชาวไทย ประเทศพม่าหรือ เมียนม่าร์ในปัจจุบันดูน่ากลัว ฉันมักจะได้รับคำถามว่าไปพม่าน่ากลัวไหม
ปลอดภัยไหม ยกเว้นระบอบการปกครองที่ชาวโลกรับไม่ได้แล้ว พม่าก็เหมือนกับประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ในโลก ชาวบ้านหรือประชาชนที่เดินเหินอยู่ตามถนนหนทางไม่ต่างกับผู้คนบ้านเรา มีน้ำใจกับนักท่องเที่ยว กับคนต่างบ้านต่างเมือง และแน่นอนว่าที่ไหนก็เหมือนกัน ย่อมมีทั้งคนดี คนเลว อยู่ที่ว่าเราจะไปพบเจอเข้ากับคนประเภทไหนเท่านั้นเองพม่ายังมีสถานที่และเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมาย นอกเหนือจากวัด เจดีย์ ราชวัง โบราณสถานหรือทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่งดงาม

ฉันอยากให้คนที่มาเยือนพม่าไม่ว่าจะเมืองไหนก็ตาม ลองก้มมองวิถีชีวิตข้างทางของชาวบ้านธรรมดาสามัญดูบ้าง แล้วจะพบว่าโลกใบนี้ยังมีอีกสีสันที่ผู้คนอาจมองข้าม ด้วยมายาคติที่บดบังสายตาและหัวใจ.

(สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 56 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2552)










ภาพประกอบ ย่างกุ้งริมทาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น