วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

จาก “ดาวใหม่” ถึง “เสียงไตลื้อ” สำนึกรักบ้านเกิดของชาวลื้อ - สิบสองปันนา

วสันต์ ปัญญาแก้ว



 

สาวไตไปฟ้อนเมืองฮ่อ กันว่า ใคร่ก้อแอ็ปบ่าวจายไต

อย่าไปเกิ๊ดค้างอยู่ตีไก๋ สาวงามไตอยู่ไหนอย่าลืมไต

อยู่ไก๋ตีไหนปานใด นางอย่าลืมไตเมืองเกิดของเฮา

 

สาวไตไปอยู่เมืองฮ่อ ปอกมาต๊อแอ็ปบ่าวจายไต

อย่าไปลืมกำปากไต ใจ๋ปายจายอยู่ไหนเบ่าลืมง่าย

อยู่ไก๋ตีไหนปานใด จายเบ่าลืมง่ายสาวอ่อนเมืองไต

 

เมืองสิบสองปันนาขึ้นใหญ่ใสมา ไพร่ภาษาเยิมจูผู้เบ่าใจ่อู้

อวดอยู่ สิบสองปันนา บัดเดี่ยวมา เหลียวตองหา

สาวตัวดีจาวนา หายกว่าวอยๆ เบ่าอยู่เมืองไต

 

ข้างต้นคือบทเพลงภาษาลื้ออันโด่งดังจากอัลบัมแรก?(และสุดท้าย) ของวง ดาวใหม่ เมื่อราวๆ 14 ปีก่อน ชาวลื้อสิบสองปันนาต่างตื่นตาตื่นใจไปกับเนื้อหาและลีลาการร้องที่กินใจของวงดนตรีอันเกิดจากการรวมตัวของคนหนุ่มสาวชาวลื้อ?แม้ว่าตอนที่ผมเดินทางถึงเชียงรุ่ง?เมืองหลวงของสิบสองปันนา?เพื่อเริ่มงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาราวๆ 8 ปีก่อน (ตุลาคม 2545) นั้น สมาชิกวงดาวใหม่จะ?“วงแตก” หลังจากออกอัลบัมประวัติศาสตร์ได้เพียงหนึ่งปี ทว่า ความโด่งดังของพวกเขาไม่ได้จางหายไปกับกาลเวลา?แต่กลับยังคงถูกเล่าขานจนกลายเป็นตำนานวงดนตรีสมัยใหม่ของหนุ่มสาวชาวไทลื้อมาจนถึงปัจจุบัน

 

หลังจากสืบค้นความเป็นมาของวงดนตรีดาวใหม่ คำตอบที่ได้รับสร้างความแปลกใจไม่น้อยเมื่อวงดนตรีนี้ถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของอดีตรองเจ้าอาวาสวัดป่าเจซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านพุทธศาสนาของคนเมืองลื้อ - สิบสองปันนายุคใหม่ ท่านมีนามว่า “มหา” และเป็นเจ้าของนามปากกา “ดาวใหม่” แกนนำคนสำคัญผู้ก่อตั้งและพัฒนาเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 2540

 

อดีตรองเจ้าอาวาสท่านนี้ (ปัจจุบันอายุอยู่ในวัยปลาย 40) เกิดและเติบโตที่เมืองยอง เขาคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนักเรียนเณรพระข้ามพรมแดนรัฐชาติรุ่นที่ 2 จากเมืองยองที่ดั้นด้นเดินทางเข้ามาศึกษาร่ำเรียนพุทธศาสนาและภาษาไทย

 

หลังจากใช้เวลา 8 ปีเต็มศึกษาร่ำเรียนเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเมืองไทย มหาจึงตัดสินใจบอกลาพระอาจารย์เดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองยอง รัฐฉาน หลังจากนั้นไม่นานก็เดินทางต่อขึ้นเหนือไปยังเมืองลวง (ทางตอนใต้ของสิบสองปันนา – ประเทศจีน) อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของแม่ เพื่อที่จะศึกษาภาษาจีนกลางไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่สืบสานพระพุทธศาสนาและแผ่ผลบุญให้กับญาติพี่น้องสาธุชนคนเมืองลื้อ

 

ณ บ้านเกิดของแม่ มหารับตำแหน่งเจ้าอาวาสนำพระลูกวัดและชาวบ้านพัฒนาสร้างวัด วิหาร และอุโบสถขึ้นใหม่ และ ณ ที่นี่เองที่เขา “นำเข้า” วัฒนธรรมใหม่จากเมืองไทยสู่สิบสองปันนาในฐานะ เจ้าอาวาส มหาเปิดชั้นเรียนสอนภาษาไทยควบคู่ไปกับการร่วมมือกับฆราวาสในชุมชนก่อตั้งวงดนตรีและเขียนเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่ โดยริเริ่มจากการถอดความหรือ “แปล” เอาจากเพลงลูกทุ่งไทยที่มหาชื่นชมและดื่มด่ำ โดยเฉพาะในด้านวรรณศิลป์เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่วัดสุวรรณวิหารนั่นเอง

 

ราวๆ ต้นทศวรรษ 2530 ทาง “สิบสองปันนาพุทธสมาคม” จึงได้นิมนต์เชิญชวน มหาพร้อมๆ กับตุ๊จอมเดินทางเข้าเชียงรุ่งเพื่อร่วมทำงานด้านการพัฒนารื้อฟื้นพุทธศาสนากับทางสมาคมฯ ที่วัดป่าเจแห่งเมืองเชียงรุ่ง ขณะที่ตุ๊จอม (ผู้ซึ่งต่อมาจะได้รับสถานะยกย่องเป็น“ครูบาเมือง” ของสิบสองปันนายุคใหม่) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มหารับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสและกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญ ตรากตรำทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าอาวาส พัฒนาสร้างวัด ฝึกอบรมพระเณรทั่วสิบสองปันนารุ่นแล้วรุ่นเล่าเพื่อที่จะส่งมาศึกษาร่ำเรียนหลักธรรมพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ควบคู่ไปกับการทำงานรื้อฟื้นพุทธศาสนาและการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาที่วัดป่าเจ

 

มหาสานต่อการพัฒนางานเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่ที่เขาริเริ่มไว้กับฆราวาสในบ้านเกิดของแม่ คือเมืองลวง ด้วยความมุ่งหวังที่จะใช้เป็นแนวรบทางวัฒนธรรมเพื่อต้านทานอำนาจการครอบงำของวัฒนธรรมภาษาฮั่นซึ่งถาโถมโหมกระหน่ำสังคมของคนเมืองลื้ออย่างเข้มข้นรุนแรงมากว่าสองทศวรรษ คือนับจากปี 1980 ขณะที่ “ภาษาลื้อ”นับวันก็จะถูกทำให้หลงลืมไป หรือกลายเป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวมองว่า “ไร้ค่า” ใน สิบสองปันนายุคชาติจีนสมัยใหม่ กระทั่งก่อตั้งวงดาวใหม่ขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนอย่าง แข็งขันของ “ครูบาเมือง”

 

สมาชิก 2 คน (กีตาร์และมือกลอง) มาจากเมืองลวง จากวงดนตรีที่มหาเคยร่วมกับฆราวาสในบ้านเกิดเมืองนอนของแม่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายปี ขณะที่สมาชิกอีก 2 คน (กีตาร์-ร้องนำและมือเบส) มาจากวงดนตรีที่ครูบาเมืองก็ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเช่นกันที่เมืองแช่ (ทางด้านตะวันตกของสิบสองปันนา)

 

ราวๆ ปลายปี 2540 อัลบัมชุดแรกของเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่ภายใต้ชื่อวงดาวใหม่ก็ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับสามัญชนคนเมืองลื้อเมื่อผลงานเพลงถูกผลิตและนำออกจำหน่ายสู่สามัญชนคนสิบสองปันนาในวงกว้างผ่านคาสเซตเทป ผลงานเพลงของดาวใหม่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม กระทั่งดาวใหม่ (และวัดป่าเจ) กลายเป็นชื่อฮิตติดปากคนเมืองลื้อทั่วแผ่นดินสิบสองปันนา ไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาวจนถึงคนแก่เฒ่าชรา

 

แม้ว่าวงดาวใหม่จะอยู่ได้เพียงแค่ 1 ปีกับอัลบัมประวัติศาสตร์ชุดแรกและชุดเดียว(วงแตกระหว่างที่มีการพยายามจะผลิตงานเพลงชุดที่ 2 ) อย่างไรก็ตาม ผลสะเทือนของ “ดาวใหม่” กับงานเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่ที่มหาเขียนขึ้นได้กลายเป็นพลังปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้คนเมืองลื้อรู้ตื่น ทั้งกระทุ้งและกระแทกหยั่งลึกลงไปในจิตใจของสามัญชนคนเมืองลื้อทั่วสิบสองปันนา เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงไปในหัวใจของชาวไทลื้อ จนทำให้ในเวลาต่อมาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้งอกงามกลายเป็นวงดนตรีไทลื้อรุ่นใหม่สืบทอดตามมาอีกหลายวง

 

ในที่สุดบทเพลงของชาวไทลื้อก็ได้รับการยอมรับอย่างมีเกียรติทั้งจากชาวไทลื้อและรัฐบาลจีน

 

กลางเดือนเมษายน 2546 ณ งานเทศกาลสงกรานต์ในเขตสิบสองปันนา มณฑล ยูนนาน ประเทศจีน วันนี้เป็นวันสำคัญ วงดนตรี “เสียงไตลื้อ” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวงดาวใหม่กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับชาวไทลื้อได้ภาคภูมิใจ เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้จัดงานมหกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาเขตปกครองตนเองแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดให้มีงานพิธีการเฉลิมฉลองและงานแสดง แสง สี เสียง ซึ่งลงทุนจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ สนามกีฬากลางเมืองเชียงรุ่ง และวงดนตรีเสียงไตลื้อได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ร่วมเฉลิมฉลองในพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน

 

งานนี้ผู้หลักผู้ใหญ่บินลงมาจากปักกิ่งและคุนหมิงไม่น้อย สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นได้ลิขสิทธิ์จาก CCTV ผู้รับเหมาแคมเปญงานนี้ ถ่ายทอดสดงานคืนนั้นไปทั่วเมืองสิบสองปันนา แม้ว่าบัตรเข้างานคืนนั้นจะขายหมดไปก่อนหน้าอย่างรวดเร็ว วงดนตรีเสียงไตลื้อและผมในฐานะผู้ติดตาม ได้ตั๋วฟรีกรณีพิเศษกันมา เพราะงานมี 2 คืน คือวันที่ 13 และ 14 เมษายน 2546 โดยในคืนแรกเน้นการจัดงานพิธีกรรมแห่งชาติเฉลิมฉลองการ “ปลดปล่อย” และสถาปนาสิบสองปันนาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนในคืนที่ 2 เป็นเวลาและ “พื้นที่”ของชนชาติส่วนน้อยกลุ่มต่างๆ ในเขตปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งวงดนตรีเสียงไตลื้อ (ที่ขณะนั้นผมติดสอยห้อยตามนานกว่า 6 เดือน) จะต้องร่วมแสดงในงานรัฐพิธีแห่งการเฉลิมฉลองนี้ด้วยเท่าที่ได้คุยกับเพื่อนพ้องชาวลื้อและเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นสิบสองปันนา (ที่ผมรู้จัก) ในเชียงรุ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “งานปอยหลวง” หรืองานเฉลิมฉลองวาระพิเศษที่ว่านี้น่าจะเป็นงานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดกันขึ้นมาในเขตปกครองตนเองแห่งนี้หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติจีน ดังนั้นการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานรัฐพิธีที่ว่านี้ สำหรับผู้คนในเขตชนบทของชาติจีนสมัยใหม่แห่งนี้จึงนับว่ามีความหมายและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

ในเชิงสัญลักษณ์กล่าวได้ว่า การจัดงานเฉลิมฉลองวาระพิเศษ 50 ปี แห่งการสถาปนาเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่รัฐ(ชาติจีน) “เขียน”ประวัติศาสตร์ เป็นวิถีทางหนึ่งของ “การเขียน” ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในสิบสองปันนาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะประวัติศาสตร์ดังที่ Yi-Fu Tuan กล่าวไว้ “ไม่ใช่แค่เพียงเหตุการณ์ที่จดจารบนหน้ากระดาษ ทว่าคือสำนึก (ในเรื่องหนึ่งๆ) ที่ถูกสร้างซ้ำ สร้างใหม่ บรรจุจารึก แฝงฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนและมีผลอย่างสำคัญต่อการหล่อหลอมสำนึกเกี่ยวกับสถานที่และดินแดนของผู้คน/พลเมืองของรัฐ”

 

ด้วยเหตุนี้ การมีโอกาสเข้าร่วมแสดงในฐานะ “ตัวแทน” ของชนชาติไตในงานเฉลิมฉลอง50 ปีสิบสองปันนาของวงเสียงไตลื้อด้วยการเป็นวงเปิดงาน (ที่แม้จะเป็นงานคืนที่ 2) บนเวทีแสดง ใหญ่กลางสนามกีฬาของเมืองเชียงรุ่งจึงถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อผู้คนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเขตปกครองตนเองแห่งนี้ไม่ว่าไต ฮั่น หรืออาข่า และกลุ่มอื่นๆ กล่าวอย่างถึงที่สุด งานแสดงดังกล่าวอาจจะเป็นเพียงโอกาสเดียวที่ “เสียงไตลื้อ” ซึ่งเวลานั้นเปรียบเสมือน“ตัวแทน” ของพลเมืองชนชาติส่วนน้อยชาวไตในสิบสองปันนาจะมีโอกาสร่วม “เขียน” ประวัติ-ศาสตร์หน้าใหม่ของสิบสองปันนาที่ถูกสถาปนาเป็นส่วนหนึ่งของจีนมากว่า 50 ปีบนเวทีแสดงงานรัฐพิธีแห่งชาติที่ว่านี้

 

ดอน ผู้จัดการวงดนตรี “เสียงไตลื้อ” เล่าให้ผมฟังสั้นๆ ถึงที่มาที่ไปของการที่เสียงไตลื้อได้มีโอกาสเข้าร่วมงานระดับชาติครั้งนี้ว่าทางสภาวัฒนธรรมชนชาติไตสิบสองปันนาได้ติดต่อมาและขอให้วงเสียงไตลื้อแสดงงานดนตรีแบบสดๆ เปิดงานคืนที่ 2 ด้วยผลงานประวัติศาสตร์ 2 เพลง

 

เสียงไตลื้อถูกกำหนด (จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม) ให้เป็น “ภาพตัวแทน” ของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมสมัยใหม่ของชนชาติไตสิบสองปันนาที่จะนำเสนอต่อผู้ชมในสนามกีฬากลางเมืองเชียงรุ่งซึ่งส่วนใหญ่คือชาวจีนฮั่น และทางจอทีวีของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นซึ่งถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลองที่ว่านี้ไปทั่วเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา

 

ขณะที่งานเฉลิมฉลองในคืนแรกซึ่งมีทั้งพิธีการต่างๆ และรายการแสดงประกอบแสง สี เสียง และงานแสดงเต้นรำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นประกอบเพลงอักขระภาษาไต(ที่แต่งโดยมหา) ของเด็กๆที่ดูเหมือนพระเณรจากวัดเส้าหลิน และระบำบัลเลต์นางนกยูงซึ่งถือเป็นไฮไลต์ (ตาม Concept ของหน่วยงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา)การแสดงทั้งหมดนำเสนอผ่านบทเพลงและพิธีกรที่พูดเป็นภาษาจีนกลาง งานคืนที่สองเปิดตัวด้วย 2 เพลงของเสียงไตลื้อ(ในภาษาลื้อ) ที่ดอนเลือกและ “วางแผน” เตรียมการไว้ล่วงหน้าหลายสิบวัน

 

ดอนเลือก 2 เพลงประวัติศาสตร์ที่น่าจะโด่งดังและกินใจผู้ฟัง ชาวลื้อมากที่สุด (ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานับจากการออกอัลบัมแรกของดาวใหม่ในปี 2540) คือ “สิบสองปันนาของเฮา” (งานชุดแรกของปอยหลวงแสงสว่าง 2542) และ “ยินดีต้อนฮับมาแอ่วสิบสองปันนา”(บทเพลงอันโด่งดังของงานชุดแรกและชุดเดียวของไตเจริญ 2543)สำหรับเพลงแรกซึ่งเป็นเพลงเปิด ดอนร่วมกับคำจันทร์เรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เสียงไวโอลิน “ขับขาน” แทนเสียงร้อง(ของคำจันทร์) ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่ทั้งบ่งบอกถึง“ความทันสมัยของชนชาติไต” และถ่ายสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและสำนึกรักบ้านเกิดของชาวลื้อสิบสองปันนาได้เป็นอย่างดี “อีคำ” คือ สาวนักสีไวโอลินชาวลื้อ (ทำงานอยู่ในสำนักงานวัฒนธรรมชนชาติส่วนน้อยของรัฐบาลสิบสองปันนา) ที่ดอนติดต่อทาบทามและคำจันทร์ส่งโน้ตดนตรีไปให้ฝึกซ้อมก่อนหน้านั้นหลายสิบวัน

 

ส่วนเพลงที่ 2 คือ “ยินดีต้อนฮับมาแอ่วสิบสองปันนา”บทเพลงซึ่งคำจันทร์เขียนขึ้นตาม “ใบสั่ง” ของดอนโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อขับขานต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสิบสองปันนา เมื่อครั้งที่พวกเขาพยายามพัฒนาเพลงภาษาลื้อสมัยใหม่จนกลายมาเป็นชื่อเดียวกับอัลบัมแรกของไตเจริญที่ออกวางแผงในเดือนตุลาคม 2543 (ดังที่ กล่าวมาก่อนหน้านี้) งานแสดงสดของวงเสียงไตลื้อในค่ำคืนนั้นผ่านไปด้วยดี ทั้ง 2 เพลงที่ดอนเลือกมานำเสนอต่อผู้ชม (ทั้งในสนามกีฬาและในสิบสองปันนา) ในคืนนั้น “ทำงาน” ของมันอย่างเหมาะเจาะลงตัวในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ใหม่ให้กับสิบสองปันนาในฐานะแดนดินชนบท อันห่างไกลในผืนแผ่นดินใหญ่ของชาติจีนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ “ชาวลื้อ” ที่กลายมาเป็น “ชนชาติไต” อย่างเป็นทางการภายใต้การกำกับควบคุมบงการของรัฐชาติจีน มากไปกว่านั้น ผมอยากจะกล่าวว่าทั้ง 2 บทเพลงยัง “พูดแทน” ความรู้สึกนึกคิดของชาวลื้อเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาในบ้านเกิดเมืองนอน ของพวกเขาด้วยการ “ไม่พูด” ผ่านเสียงร้องแต่ระบายออกไปผ่านเสียงโอดครวญของสายไวโอลินที่ฟังดูเศร้าๆ อยู่ภายใน ปล่อยให้ผู้ฟังไม่ว่าฮั่นหรือไตรู้สึกได้เอง ครั้นเมื่อต้องพูด(ผ่านเพลงที่ 2) เสียงไตลื้อก็บอกผู้มาเยือนทั้งหลายแทนชาวเมืองสิบสองปันนาว่า “ยินดีต้อนรับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา” ทั้งตอกย้ำสถานะที่เลือกไม่ได้ของคนเมืองลื้อที่ต้องแบ่งรับขับสู้กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและความเป็นเจ้าของหรือ “คนพื้นเมือง” ที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในแดนดินถิ่นนี้มาอย่างยาวนาน

 

แม้เสียงไตลื้อจะมีโอกาสได้ร่วมงานเฉลิมฉลองในคืนนั้นผ่านการแสดงสดแค่ 2 เพลง แต่ก็เป็น 2 เพลงที่มีความหมายและส่งเสียงที่ทรงพลังยิ่ง ที่น่าจะปลุกเร้าสำนึกรักบ้านเกิดของคนเมืองลื้อที่มีโอกาสเห็นหรือได้ยินได้ฟังทั้งในสนามกีฬาและหน้าจอทีวี คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักหากจะสรุปว่า สำนึกรักบ้านเกิดของชาวลื้อที่ถูกสร้างขึ้นผ่านปฏิบัติการของการแสดงของเสียงไตลื้อในงานคืนที่ 2 ของ การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสิบสองปันนาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติจีนยุคใหม่ก็คือส่วนหนึ่งของการ “ร่วมเขียน” ประวัติศาสตร์ของสามัญชนคนเมืองลื้อและการกำหนด “ตัวตนทางภูมิ- ศาสตร์” ของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนาขึ้นมาใหม่ ดังที่ Yi-Fu Tuan กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ตัวตนทางภูมิศาสตร์ของสถานที่หนึ่งๆ นั้น นอกจากจะสะท้อนผ่านลักษณะบางอย่างทางกายภาพของมัน ยังเป็นเรื่องของสำนึกรักบ้านเกิดและกระบวนการต่างๆ ที่ผู้คนปฏิบัติต่ออดีตของพวกเขาเพื่อสร้างสรรค์หรือจรรโลงรักษาไว้ซึ่งสำนึกประวัติศาสตร์ที่พวกเขามีต่อถิ่นฐานอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น