วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

"บ้าน"ที่ยังกลับไม่ได้

[caption id="attachment_3133" align="alignnone" width="495" caption="ภาพ KATE KELLY"][/caption]

ดิกสัน ฮู ชายหนุ่มวัย 24 ปี เขาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ชั้น 10 และรองผู้อำนวยการของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ดิกสันเป็นชายหนุ่มที่เฉลียวฉลาดและจำชื่อนักเรียนได้ทุกคน แต่แทนที่จะเป็นห้องเรียนปรับอากาศเต็มไปด้วยจอคอมพิวเตอร์เรียงราย เขากลับต้องสอนพีชคณิตบนกระดานดำที่ได้มาจากการบริจาค กับเศษชอล์กชิ้นเล็กชิ้นน้อย ในขณะที่นักเรียนนั่งเบียดเสียดกันอยู่บนเก้าอี้ไม้ โดยที่เท้าเท้าลอยอยู่เหนือพื้นดินที่ถูกปัดกวาดจนเรียบ

 

ดิกสันอยู่และสอนที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ค่ายแม่หละเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย -พม่าที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยที่บอบช้ำและสิ้นหวังกว่า 5 หมื่นคน

 

พ่อของดิกสันเป็นบาทหลวงผู้เคร่งขรึม เขาและเดซี ภรรยา พร้อมกับลูกๆ หนีรัฐบาลเผด็จการมาจากย่างกุ้งเมื่อปี 2006 ดิกสันกับครอบครัวเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่ต้องทนทุกข์ทรมาณจากฝีมือของรัฐบาลพม่านับตั้งแต่ประเทศพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี 1948

 

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR รายงานว่า ร้อยละ 90 ของผู้ลี้ภัยในค่ายแม่หละอพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่หนีการสู้รบที่เกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า

 

ดิกสันบอกว่า บรรดานักเรียนทั้งหญิงชายกว่า 1,300 คน ที่มีอายุระหว่าง 11-20 ปี พวกเขาเหล่านั้นคือคนที่โชคดี

"ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถมาเรียนได้ เพราะเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า เราไม่มีห้องเรียนพอสำหรับพวกเขา"

 

เขาพาฉันไปดูห้องสมุดเล็กๆ ด้วยความภูมิใจ ชั้นหนังสือทำจากไม้ที่ทำขึ้นมาง่ายๆ มีหนังสือที่ได้มาจากการบริจาคจากองค์กรเอ็นจีโอวางเรียงอยู่ เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่มุมห้อง ดิกสันบอกว่าเธอกำลังยุ่งอยู่กับการอ่านหนังสือสอบปลายภาค แม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสเรียนต่อหลังจากที่จบจากเรียนจบจากที่นี่

 

"นักเรียนประมาณร้อยละ 1 หรือ 2 มีโอกาสเดินทางไปประเทศที่สามกับครอบครัว แน่นแน มันความหวังของทุกคนที่นี่" เขาบอก

 

นิกสัน พี่ชายคนโตของดิกสัน เป็นหนึ่งในผู้โชคดี เขาเพิ่งได้รับการตอบรับจากโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามของ UNHCR ซึ่งขณะนี้เขาอยู่ที่อเมริกา ดวงตาของดิกสันเปล่งประกายเมื่อเขาเล่าให้ฟังถึงความฝันที่จะตามพี่ชายไปและเรียนต่อจนจบในมหาวิทยาลัยที่นั้น

 

"ผมอยากมีการศึกษาที่ดี เพื่อที่จะเป็นครูที่มีคุณภาพแล้วกลับมาช่วยพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่นี่" เขาบอก

 

ดิกสันได้เรียนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งถึงแค่ชั้นปี 2 ก่อนที่จะถูกสถานการณ์บังคับให้จากการศึกษา บ้าน และเพื่อนๆ ในวัยเด็กตอนที่ครอบครัวหนีมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

 

เขาบอกว่า ได้พยายามขึ้นทะเบียนชื่อของเขาและครอบครัวกับ UNHCRและสมัครโครงการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามตั้งแต่มาถึงที่ค่ายแม่หละเมื่อปี 2006 แต่เจ้าหน้าที่ในค่ายฯ แจ้งว่า ยูเอ็นไม่รับผู้ลี้ภัยรายใหม่เพิ่ม เขารู้สึกทั้งสับสนและโกรธเพราะข้อมูลที่สับสนของเจ้าหน้าที่ "เมื่อปี 2007 พวกเขาบอกให้ผมรอจนถึงปี 2010 พอผมกลับไปอีกครั้งเขาก็บอกว่า ปี 2011 ตอนนี้พวกเขาก็บอกอีกว่า เราอาจจะขึ้นทะเบียนได้ในปี 2013 หรือ 2014"

 

เจ้าหน้าที่ในค่ายฯ คนหนึ่งบอกให้เขาเลิกถามเรืองนี้ได้เแล้ว เพราะยูเอ็นไม่รับจดทะเบียนผู้ลี้ภัยรายใหม่แล้ว "เธอจะได้อยู่ในค่ายแห่งนี้ไปตลอดชีวิต เขาบอกผม"

 

ไม่มีใครบอกดิกสันว่า ถ้า UNHCR ไม่สามารถรับประกันกับรัฐบาลไทยได้ว่าจะขึ้นทะเบียนและตรวจสอบผู้ลี้ภัยใหม่ได้ อนาคตของดิกสันและผู้ลี้ภัยอีกว่า 7 หมื่นก็เหมือนจ่ออยู่ที่ปากขุมนรก

 

เนื่องจากครอบครัวของเขามาถึงหลังจากรัฐบาลไทยได้ยกเลิกโครงการสำรวจผู้ลี้ภัยไปเมื่อปลายปี 2005 เขาจึงไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยโดยการรับรองของ UNHCR และไม่สามารถสมัครโครงการตั้งรกรากในประเทศที่สามได้ นอกจากนี้ยังทำให้เขาไม่สามารถออกไปจากค่ายฯ ไปห้องสมุด อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือแม้แต่สำนักงาน UNHCR ในแม่สอด เพราะไม่มีบัตรประจำตัวจาก UNHCR สิ่งเดียวที่จะทำให้เขาไม่ถูกตำรวจจับ

 

องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัย TBBC (Thai Burma Border Consortium) รายงานเมื่อเดือนตุลาคม 2011 ว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวน 7 หมื่นคนจากทั้งหมด 150,000 คนจากค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และส่วนใหญ่ในจำนวนนั้นคือผู้ที่มาถึงตั้งแต่ปี 2005

 

นับตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน UNHCR ได้ส่งผู้ลี้ภัยไปตั้งฐิ่นฐานใหม่ยังประเทศที่สามมาแล้วกว่า 58,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อบรรเทาความแออัดในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งรวมไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ที่มีอายุกว่า 20 ปี

 

นอกจากนี้ รายงานของ TBBC ยังระบุว่า แม้ว่าจะมีโครงการส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามจำนวนมาก แต่ประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยกลับยังคงหนาแน่น ในขณะที่อีกหลายพันชีวิตยังต่องหนีเอาชีวิตรอดจากการกดขี่ข่มเหงในประเทศ

 

ถึงอย่างไรก็ตาม ดิกสันและคนอื่นๆ อีกมากมายหวังว่าจะสามารถลืมเรื่องอดีตที่ขมขื่นและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม แต่ถ้าเขาไม่ได้มาถึงประเทศไทยก่อนปี 2005 เขาก็หมดโอกาส

 

รัฐบาลไทยถูกรัฐบาลพม่ากดดันให้ปิดค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด ส่งผลให้ชาวค่ายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องกลับไปยังสถานที่ที่สถานการยังไม่แน่นอนและการกดขี่ข่มเหงที่พวกเขาหนีมาตั้งแต่แรก

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยพูดถึงแผนการปิดค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งภายใน 3 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ แซลลี ทอมสันบอกว่า เป็นไปไม่ได้และยังไม่ถึงเวลา

 

"เราต้องการปิดค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเขากลับบ้าน แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถานการณ์ในประเทศพม่าดีขึ้น และชาวบ้านได้รับการรับรองสวัสดิภาพและความปลอดภัย แต่ ณ ขณะนี้ พวกเขารู้สึกว่ายังไม่ปลอดภัยที่จะกลับ" แซลลีกล่าว

 

สำหรับพ่อของดิกสัน เขาท้อแท้และหมดหวังกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ "มันเหมือนการกักบริเวณ เราไม่ใช่นักโทษ" เขากล่าวด้วยความเศร้า แววตาจ้องมองที่พื้น "เจ้าหน้าที่ไทยไม่อนุญาตให้เราออกนอกค่ายฯ แต่เราก็ไม่สามารถกลับไปพม่าได้ เพราะเราจะถูกฆ่า"

 

ท่ามกลางทิวเขาที่ทอดตัวยาวอยู่บนแนวชายแดนระหว่างไทยกับพม่า ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละในยามนี้ถูกอาบด้วยไอร้อนจากแสงแดดในเดือนธันวาคม ค่ายแม่หละถูกล้อมด้วยลวดหนามและรั้วไม้ไผ่ปลายแหลม ชายหนุ่มในเครื่องแบบเอกเขนกอยู่ในใต้ร่มเงาจากป้อมยามชั่วคราว

 

จุดตรวจที่อยู่ไม่กี่ร้อยเมตรจากจุดนั้น เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธคอยตรวจสอบยานพาหนะทุกคันที่เข้าออก ผู้ลี้ภัยถูกจับเพราะไม่มีบัตรประจำตัว จากนั้นจะถูกกักขังและส่งกลับประเทศต่อไป

 

แต่นั่นก็ไม่สามารถขัดขวางกลุ่มวัยรุ่นที่ยืนท้าทายอยู่ข้างถนน ตามมุมต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่มองไม่เห็น สำหรับพวกเขา ที่นี่ไม่ใช่ศูนย์การค้า ร้านวิดีโอเกม และโรงภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

 

ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถโดยสารรถระยะทาง กว่า 60 กิโลเมตร หลบเลี่ยงด่านตำรวจไปจนถึงแม่สอดได้ โดยที่ไม่มีเงินและไม่เข้าใจภาษาไทย พวกเขาก็จะตกเป็นเป้าหมายของการหาประโยชน์จากนายจ้างที่ไร้ศีลธรรมอยู่ดี ซึ่งนายจ้างเหล่านั้นชอบแรงงานพม่าเพราะสามารถจ่ายค่าแรงแค่ประมาณ 60 บาท เทียบเท่ากับหนึ่งในสามของค่าแรงขั้นต่ำ

 

ดิกสันบอกว่า แม้ว่าพวกเขาจะรู้ดีถึงอันตรายเหล่านั้น แต่ก็ยอม เพราะหลายคนรู้สึกท้อแท้และหมดหวังที่จะรอคอยความช่วยเหลืออยู่ในค่ายฯ "บางคนอยู่ที่นี่มานานถึง 20 ปี ...บางส่วนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม และพวกเราหลายคนยังคงอยู่ที่นี่ รอคอยและใช้ชีวิตโดยเปล่าประโยชน์"

 

"ถ้าไม่มีโรงเรียน...กับครอบครัวอยู่ที่นี่กับผม บางทีผมอาจจะไม่รู้ว่าจะทำอะไร" เขาพูดเบาๆ "แน่นอน เราอยากกลับบ้าน...ผมอยากเห็นพม่า ประเทศของผม แต่ที่นั่นยังไม่ปลอดภัยสำหรับเรา"

 

เสียงระฆังดังขึ้นส่งสัญญาณเริ่มต้นการเรียนการสอน เขายกไหล่และเดินตามแถวนักเรียนเข้าไปในอาคารหลังคาสังกะสีเพื่อเริ่มงานอีกวันหนึ่งในโรงเรียนมัธยมค่ายแม่หละ

 

 

แปลจาก บทความ ‘I want to see Burma, my country. But it’s not safe for us there’โดย Kate Kelly/ Thursday, 29 December 2011 /dvb.no

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น